‘พาณิชย์’ เผย ‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ พ.ค.67 โต 1.54% ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน หลังสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ ‘ค่าไฟฟ้า’ ราคา ‘เบนซิน-แก๊สโซฮอล์-ผักสด-ไข่ไก่’ เพิ่มขึ้น ขณะที่ 5 เดือนแรกปีนี้ เงินเฟ้อยังติดลบ 0.13% ก่อนพลิกกลับมาเป็น ‘บวก’ ในเดือนหน้า คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 67 อยู่ที่ 0-1%
.................................
เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน พ.ค.2567 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน พ.ค.2567 เท่ากับ 108.84 ขยายตัว 1.54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 เดือน และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากเดือน เม.ย.2567 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 0.19%
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ค.2567 ขยายตัวที่ 1.54% ดังกล่าว มาจากการสูงขึ้นของค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นปัจจัยชั่วคราวจากฐานราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ต่ำในเดือน พ.ค.ปีที่แล้ว ที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัย รวมทั้งการสูงขึ้นของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเบนซิน และแก๊สโซฮอล์ ประกอบกับการสูงขึ้นของราคากลุ่มอาหารสด ผักสด และไข่ไก่
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า เมื่อพิจารณาการขยายตัวเป็นรายหมวดสินค้าในเดือน พ.ค.2567 พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 1.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาผักสด เช่น ถั่วฝักยาว มะเขือ กะหล่ำปลี ผักชี ,ผลไม้สด อาทิ มะม่วง องุ่น กล้วยหอม และไข่ไก่ ไข่เป็ด รวมอาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน กับข้าวสำเร็จรูป อาหารตามสั่ง ข้าวราดแกง กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน รวมทั้งน้ำตาลทราย และพริกแกง ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร มะนาว ปลาทู น้ำมันพืช และกระเทียม
สำหรับหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัว 1.84% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งแก๊สโซฮอล์ 91 ,95 ,อี20 และน้ำมันเบนซิน 95 ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน ของใช้ส่วนบุคคล เช่น แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน รวมถึงสุรา บุหรี่ และไวน์ ส่วนสินค้าที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันดีเซล ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว เสื้อบุรุษและสตรี
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน พ.ค.2567 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ค.2566) พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 269 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว มะเขือเทศ ถั่วฝักยาว ผักชี ขิง อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) ค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 53 รายการ เช่น ชุดนอนเด็ก รองเท้ากีฬาสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าน้ำประปา ค่าโดยสารเรือ ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศชั้น 1 และหนังสือพิมพ์ เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 108 รายการ เช่น เนื้อสุกร ปลาทู มะนาว มะละกอดิบ กระเทียม ลองกอง น้ำมันพืช เสื้อยืดสตรี ผงซักฟอก สบู่ถูตัว และน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซล เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 107.69 ลดลง 0.13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน พ.ค.2567 เท่ากับ 104.74 ขยายตัว 0.39% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยขยายตัว 0.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือน มิ.ย.2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในอัตราชะลอตังลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน มิ.ย.2567 จะขยายตัวที่ 1-1.1% โดยมีปัจจัยสำคัญจาก 1.ผลกระทบจากฐานต่ำของค่ากระแสไฟฟ้าสิ้นสุดลง เนื่องจากฐานค่าไฟฟ้าในเดือน มิ.ย.2566 กลับมาสู่ระดับปกติ 2.การต่ออายุมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของครัวเรือนอีก 4 เดือน (พ.ค.-ส.ค.2567) ซึ่งต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
3.ราคาพืชผลทางการเกษตร โดยเฉพาะผักสด มีแนวโน้มลดลง หลังสิ้นสุดสภาพอากาศร้อนจัด และเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และ4.การเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ผู้ประกอบการมีข้อจำกัดในการส่งผ่านต้นทุนไปยังราคาขาย รวมทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่มีการทำโปรโมชั่นส่งเสริมการขาย
ส่วนปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันดีเซลภายในประเทศปรับตัวมาอยู่ที่ 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 2.ความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อาจทำให้ราคาน้ำมันและค่าระวางเรือปรับสูงขึ้นได้ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นตาม ขณะที่ปัจจัยต้องติดตาม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนจาก ‘เอลนีโญ’ เป็น ‘ลานีญ่า’
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2567) จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกเล็กน้อยที่ระดับ 0.9-1% จากในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยติดลบ 0.13% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วงครั้งปีหลัง (ก.ค.-ธ.ค.2567) น่าจะขยายตัวเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2567 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มขยายตัว จากฐานของปีที่แล้วที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ
นายพูนพงษ์ ระบุว่า สนค.ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2567 อยู่ระหว่างร้อยละ 0-1% โดยมีค่ากลาง 0.5% ภายใต้สมมติฐานดังนี้ 1.อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัว 2.2-3.2% 2.น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และ3.อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 34.5-36.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านประกอบ :
‘พาณิชย์’เผย‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ เม.ย.67 ขยายตัว 0.19% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.67 ติดลบ 0.47%-ปรับคาดการณ์ทั้งปีเป็นขยายตัว 0-1%
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.67 ติดลบ 0.77% หดตัวเป็นเดือนที่ 5-'Core CPI'ยังโต 0.43%
หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.67 ติดลบ 1.11%-Core CPI บวก 0.52%
หดตัวเดือนที่ 3! เงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ลบ 0.83%-‘พาณิชย์’ย้ำยังไม่ถึงจุดเป็นภาวะเงินฝืด
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ
อานิสงส์รัฐลด‘ค่าไฟ-ดีเซล’! เงินเฟ้อ ก.ย.66 โต 0.3%-‘สนค.’หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1-1.7%
ราคาพลังงานสูงขึ้น! เงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.66 ขยายตัว 0.88%-8 เดือนแรก Core CPI โต 1.61%
ราคาอาหาร-น้ำมันลดต่อเนื่อง! เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.ขยายตัว 0.38%-เฉลี่ย 7 เดือนแรกโต 2.19%
หั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือ 1-2%! ‘พาณิชย์’เผย CPI มิ.ย.66 โต 0.23% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน
ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค.66 ขยายตัว 0.53%-Core CPI ชะลอตัวเหลือ 1.55%
ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.ขยายตัว 2.83%-หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1.7-2.7%
ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.66 ขยายตัว 3.79%-สินค้าขยับขึ้นราคา 334 รายการ