‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ติดลบ 0.83% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ต่ำสุดในรอบ 34 เดือน เหตุรัฐบาลตรึงราคา ‘น้ำมัน-ไฟฟ้า’ ราคาเนื้อสัตว์-เครื่องประกอบอาหาร-ผักสด ลดลงต่อเนื่อง ขณะที่เงินเฟ้อทั้งปีขยายตัว 1.23% ‘ผอ.สนค.’ ย้ำยังไม่ถึงจุดที่เป็นภาวะ ‘เงินฝืด’
...........................................
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน ธ.ค.2566 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน ธ.ค.2566 เท่ากับ 106.96 หดตัว 0.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ.2564
โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน น้ำมันเชื้อเพลิง ค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นผลจากนโยบายลดค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหารมีราคาลดลงต่อเนื่อง ทั้งผักสดที่ราคาลดลงค่อนข้างมาก สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ราคายังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
“3 เดือนที่ผ่านมา ที่เงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง สาเหตุหลักมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ อันนี้สำคัญเลย โดยเฉพาะด้านพลังงาน ทั้งราคาน้ำมัน ค่ากระแสไฟฟ้า และอีกตัวหนึ่ง คือ การลดลงของราคาสินค้าและบริการนั้น ยังเป็นการลดลงบางกลุ่ม ไม่ใช่การลดลงของสินค้าและบริการส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ยังไม่อยู่ในจุดที่เป็นภาวะเงินฝืด” นายพูนพงษ์ ตอบคำถามสื่อที่ถามว่า เงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลง 3 เดือนติดต่อกันนั้น ถือเป็นสัญญาณเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่
นายพูนพงษ์ ระบุว่า เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้า พบว่า ในเดือน ธ.ค.2566 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หดตัว 0.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของราคาเนื้อสุกร ไก่สด เนื้อโค ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และซอสหอยนางรม สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว กาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และข้าวราดแกง
ขณะที่หมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม หดตัว 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุหลักมาจากการลดลงของค่ากระแสไฟฟ้า สิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 ค่าโดยสารรถไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง บุหรี่ สุรา และเบียร์
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน ธ.ค.2566 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 274 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไก่ย่าง ไข่ไก่ นมสด พริกสด ขิง มะเขือเทศ กระเทียม กับข้าวสำเร็จรูป อาการกลางวัน (ข้าวราดแกง) และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 49 รายการ เช่น ชุดนอนเด็ก รองเท้าแตะหนังสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าใต้ดิน ค่าใบอนุญาตขับขี่ ภาษีรถยนต์ประจำปี หนังสือพิมพ์ และค่าเช่าสระว่ายน้ำ เป็นต้น และสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 107 รายการ เช่น เนื้อสุกร ปลาทู ผักบุ้ง ผักชี มะเขือ ถั่วฝักยาว ต้นหอม ลองกอง น้ำมันพืช ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอง แก๊สโซฮอล์ 91 และน้ำมันดีเซล เป็นต้น
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 12 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ธ.ค.2566) อยู่ที่ 107.78 ขยายตัว 1.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 1-1.7% และยังเท่ากับในปี 2564 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1.23% ขณะที่ในปี 2565 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.08% โดยสาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับสูง เนื่องจากมีการสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันและปุ๋ยมีราคาแพง
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ธ.ค.2566 เท่ากับ 104.58 ขยายตัว 0.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 12 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ธ.ค.2566) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 1.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในปี 2567 ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับต่ำ และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ม.ค.2567 ยังมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสำคัญจาก 1.มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย และการลดราคาน้ำมันเบนซิน
2.ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มลดลง 3.ผลกระทบจากเอลนีโญ่มีแนวโน้มลดลง และ4.มาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ ภายใต้มาตรการ Easy E-Receipt
ส่วนปัจจัยที่มีผลกระทบทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้น ได้แก่ 1.อุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น และ 2.สถานการณ์ความขัดแย้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์ในหลายประเทศ ซึ่งล่าสุดมีสถานการณ์การโจมตีเรือสินค้าในทะเลแดง ที่อาจส่งผลให้ต้นทุนการขนส่งทางทะเลปรับตัวสูงขึ้น แต่คาดว่าน่าจะเป็นผลกระทบเพียงชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่ยืดเยื้อ
นายพูนพงษ์ ระบุว่า สนค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 จะอยู่ระหว่าง ลบ 0.3% ถึง 1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7% ภายใต้สมมติฐานว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัว 2.7-3.7% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 34-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
“ถ้าดูตัวจีดีพี แบงก์ชาติคาดว่าปี 2566 จะอยู่ที่ 2.4% และปี 2567 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.2% เพราะฉะนั้น จึงยังอยู่ในโหมดเศรษฐกิจที่ยังขยายตัว” นายพูนพงษ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ที่สอบถามถึงแนวโน้มสถานการณ์กำลังซื้อในประเทศ
อ่านประกอบ :
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ
อานิสงส์รัฐลด‘ค่าไฟ-ดีเซล’! เงินเฟ้อ ก.ย.66 โต 0.3%-‘สนค.’หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1-1.7%
ราคาพลังงานสูงขึ้น! เงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.66 ขยายตัว 0.88%-8 เดือนแรก Core CPI โต 1.61%
ราคาอาหาร-น้ำมันลดต่อเนื่อง! เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.ขยายตัว 0.38%-เฉลี่ย 7 เดือนแรกโต 2.19%
หั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือ 1-2%! ‘พาณิชย์’เผย CPI มิ.ย.66 โต 0.23% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน
ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค.66 ขยายตัว 0.53%-Core CPI ชะลอตัวเหลือ 1.55%
ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.ขยายตัว 2.83%-หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1.7-2.7%
ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.66 ขยายตัว 3.79%-สินค้าขยับขึ้นราคา 334 รายการ