‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค.67 ขยายตัว 0.83% จากราคา ‘น้ำมันเชื้อเพลิง-ข้าว-อาหารสำเร็จรูป’ ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มอง ‘ดิจิทัลวอลเลต’ เป็นการเพิ่ม ‘กำลังซื้อ’ แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าปรับราคาขึ้น
...........................................
เมื่อวันที่ 7 ส.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน ก.ค.2567 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน ก.ค.2567 เท่ากับ 108.71 ขยายตัว 0.83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อในเดือน ก.ค.2567 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2567
สำปรับปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มิ.ย.2567 ขยายตัวที่ 0.83 นั้น มาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก ประกอบกับการสูงขึ้นของราคาสินค้ากลุ่มอาหาร โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และอาหารสำเร็จรูป
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการขยายตัวเป็นรายหมวดสินค้าในเดือน ก.ค.2567 พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 1.27% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาสินค้าสำคัญในกลุ่มอาหารสำเร็จรูป เช่น กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวราดแกง อาหารตามสั่ง ,กลุ่มผลไม้สด เช่น เงาะ ทุเรียน มังคุด ,กลุ่มผักสด เช่น มะเขือเทศ ต้นหอม ขิง รวมถึงข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ นมสด กาแฟผงสำเร็จรูป และน้ำตาลทราย ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง เช่น เนื้อสุกร ปลาทู ส้มเขียวหวาน ผักคะน้า น้ำมันพืช มะนาว และกระเทียม
ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ขยายตัว 0.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ทั้งแก๊สโซฮอล์ น้ำมันดีเซล และน้ำมันเบนซิน สำหรับสินค้าที่ราคาลดลง เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า แชมพู ครีมนวดผม สบู่ถูตัว ผงซักฟอก ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน ก.ค.2567 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ก.ค.2566) พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 269 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ มะเขือ ต้นหอม ทุเรียน มะม่วง กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) นมสด และน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น
สินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 48 รายการ เช่น ชุดนอนเด็ก รองเท้ากีฬาสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าน้ำประปา ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ และนิตยสารรายเดือน เป็นต้น ขณะที่สินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 113 รายการ เช่น เนื้อสุกร ปลาทู มะนาว ผักคะน้า กระเทียม ส้มเขียวหวาน น้ำมันพืช ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก สบู่ถูตัว แชมพู และผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว เป็นต้น
นายพูนพงษ์ ระบุว่า ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยขยายตัว 0.11% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.ค.2567 เท่ากับ 104.93 ขยายตัว 0.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวเฉลี่ย 0.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค.2567 มีแนวโน้มใกล้เคียงกับเดือน ก.ค.2567 โดยปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว ได้แก่ 1.ค่ากระแสไฟฟ้าภาคครัวเรือนอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า จากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ 2.ราคาเนื้อสุกรอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อนหน้า เนื่องจากมีเนื้อสุกรเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้ราคาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป
3.ราคาผักมีแนวโน้มลดลง หลังเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ และ 4.ฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกในปีก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูง โดยในเดือน ส.ค.2566 ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 86.61 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เทียบกับค่าเฉลี่ยล่าสุดอยู่ที่ 79.69 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีแล้ว 2.ราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ตามการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว และ 3.ราคาผลไม้ปรับตัวสูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เนื่องจากอุปสงค์ที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทุเรียน และเงาะ
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สนค. ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 ไว้ที่ 0-1% โดยมีค่ากลาง 0.5% ภายใต้สมมติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 2-3% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 35-37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวยังไม่รวมผลกระทบของโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet
“เรื่องดิจิทัลวอลเลต เป็นเรื่องของกำลังซื้อมากกว่า เป็นการเพิ่มหรือสร้างกำลังซื้อในประเทศให้มีมากขึ้น คงไม่ใช่การเพิ่มต้นทุนของฝั่งการผลิต เพราะฉะนั้นราคาสินค้าไม่น่ามีการปรับตัวอะไร แต่ในทางกลับกัน น่าจะมีการจัดทำโปรโมชั่นแข่งขันมากกว่าด้วยซ้ำ” นายพูนพงษ์ กล่าวและย้ำว่า “ราคาสินค้าเป็นคนละส่วน เพราะดิจิทัลวอลเลตเป็นฝั่งผู้บริโภค ซึ่งรัฐบาลดูในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ มันไม่ได้ไปเพิ่มต้นทุนการผลิตสินค้าอะไรเลย และกระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายในก็ดูแลในเรื่องราคาสินค้าอยู่แล้ว จะสูงจะต่ำเกินสมควร ก็มีการดูแลอยู่”
นายพูนพงษ์ ระบุด้วยว่า สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3/2567 น่าจะใกล้เคียงกับในช่วงไตรมาสที่ 2/2567 แต่ในช่วงไตรมาส 4/2567 เงินเฟ้อมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากในช่วงไตรมาส 4/2566 รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือเรื่องราคาพลังงาน โดยตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ที่ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร แต่ในช่วงไตรมาส 4/2567 ได้ปรับเพิ่มเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซลเป็นไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ในขณะที่น้ำมันดีเซลมีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อ 10%
“เดี๋ยวไตรมาสสุดท้าย ตั้งแต่เดือน ต.ค.2567 เป็นต้นไป จะเห็นตัวเลขที่ชัดเจน เพราะมีความต่างของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ กับ 3 เดือนสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งต่างกันเยอะ” นายพูนพงษ์กล่าว
ส่วนสถานการณ์การสู้รบจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้เพียงใด นั้น นายพูนพงษ์ กล่าวว่า หากการสู้รบในตะวันออกลางรุนแรงและขยางวง จะทำให้มีปัญหาในเรื่องซัพพลายน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งจะทำให้มีผลต่อราคาพลังงาน โดย สนค.จะมีการติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
อ่านประกอบ :
‘พาณิชย์’เผย‘เงินเฟ้อทั่วไป’พ.ค.67 ขยายตัว 1.54% สูงสุดในรอบ 13 เดือน-คงเป้าทั้งปี 0-1%
‘พาณิชย์’เผย‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ เม.ย.67 ขยายตัว 0.19% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.67 ติดลบ 0.47%-ปรับคาดการณ์ทั้งปีเป็นขยายตัว 0-1%
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.67 ติดลบ 0.77% หดตัวเป็นเดือนที่ 5-'Core CPI'ยังโต 0.43%
หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.67 ติดลบ 1.11%-Core CPI บวก 0.52%
หดตัวเดือนที่ 3! เงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ลบ 0.83%-‘พาณิชย์’ย้ำยังไม่ถึงจุดเป็นภาวะเงินฝืด
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ
อานิสงส์รัฐลด‘ค่าไฟ-ดีเซล’! เงินเฟ้อ ก.ย.66 โต 0.3%-‘สนค.’หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1-1.7%
ราคาพลังงานสูงขึ้น! เงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.66 ขยายตัว 0.88%-8 เดือนแรก Core CPI โต 1.61%
ราคาอาหาร-น้ำมันลดต่อเนื่อง! เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.ขยายตัว 0.38%-เฉลี่ย 7 เดือนแรกโต 2.19%
หั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือ 1-2%! ‘พาณิชย์’เผย CPI มิ.ย.66 โต 0.23% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน
ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค.66 ขยายตัว 0.53%-Core CPI ชะลอตัวเหลือ 1.55%
ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.ขยายตัว 2.83%-หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1.7-2.7%
ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.66 ขยายตัว 3.79%-สินค้าขยับขึ้นราคา 334 รายการ