‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หดตัว 0.44% หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ต่ำสุดในรอบ 33 เดือน ขณะที่ ‘สนค.’ มองแนวโน้มเดือน ธ.ค.66 ส่อหดตัวอีก แต่ยังไม่เข้านิยาม ‘เงินฝืด’ พร้อมประเมินปี 67 เงินเฟ้อทั่วไป -0.3 ถึง 1.7%
......................................
เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน พ.ย.2566 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน พ.ย.2566 เท่ากับ 107.45 หดตัว 0.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.พ.2564
โดยมีสาเหตุสำคัญจากดำเนินมาตรการภาครัฐที่ทำให้สินค้าในกลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 ประกอบกับเนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช มีราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้า พบว่า ในเดือน พ.ย.2566 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 0.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามราคาสินค้าสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น ข้าวสาร แป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ไข่ นมข้นหวาน นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง กาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารเช้า
ขณะที่หมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม หดตัว 0.87% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ราคาลดลงต่อเนื่อง ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซลและแก๊สโซฮอล์ 91 รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ ที่มีราคาลดลงต่อเนื่องเช่นกัน
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน พ.ย.2566 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (พ.ย.2565) พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 291 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไก่ย่าง เป็ดพะโล้ ไข่ไก่ กระเทียม ผักคะน้า ขิง มะนาว กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น ส่วนสินค้าฯที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 47 รายการ เช่น รองเท้ากีฬาสตรี ค่าแรงช่างประปา นิตยสารรายเดือน และค่าโดยสารรถตู้ เป็นต้น
และสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 92 รายการ เช่น เนื้อสุกร ไก่สด แตงกวา ถั่วฝักยาว พริกสด ต้นหอม แชมพู แก๊สโซฮอล์ 91 น้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้า เป็นต้น
นายพูนพงษ์ ระบุว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.2566) อยู่ที่ 107.85 ขยายตัว 1.41% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ในกรอบล่างของเป้าหมายเงินเฟ้อปี 2566 และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2566 จะอยู่ที่ 1-1.7% โดยมีค่ากลาง 1.35%
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน พ.ย.2566 เท่ากับ 104.52 ขยายตัว 0.58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ย.2566) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 1.33% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.2566 โดยคาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากราคาสินค้ากลุ่มอาหารยังคงมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหาร ประกอบกับมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ซึ่งส่งผลให้ราคากลุ่มพลังงานทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซลและแก๊สโซฮอล์ 91 ปรับลดลง รวมถึงฐานราคาของเดือนที่แล้วในปี 2565 ที่ใช้ในการคำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
“ของเดือนหน้า เราก็คิดว่า ยังติดลบ แต่ถ้าไปดูนิยามทางเทคนิคจะพบว่า เข้าข้อเดียว คือ ติดลบติดต่อกัน 1 ไตรมาส เงินเฟ้อต่ำกว่าศูนย์ น่ะใช่ แต่ยังมีเรื่องราคาสินค้าและบริการส่วนใหญ่ที่ต้องลดลงด้วย ซึ่งถ้าไปดูในตะกร้าเงินเฟ้อ ส่วนใหญ่จะมาจากมาตรการในลดค่าครองชีพ คือ เรื่องพลังงาน ทั้งค่าน้ำมันและค่าไฟฟ้า รวมไปถึงตัวสำคัญ คือ ตัวเลขทางเศรษฐกิจ ซึ่งที่ผ่านมาทางสภาพัฒน์ (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ)
เพิ่งประกาศคาดการณ์ว่าในปี 2566 จีดีพีจะขยายตัวที่ 2.5% ก็ยังขยายตัวอยู่ ส่วนในปีหน้า สภาพัฒน์ ก็คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 2.7-3.7% เพราะฉะนั้น ทางเทคนิค ยังครับ เพิ่งมีประเด็นอยู่เพียงเงินเฟ้อติดลบตัวเดียว” นายพูนพงษ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าว ที่ถามว่าเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.2566 ที่ติดลบเป็นเดือนที่ 2 และมีแนวโน้มจะติดลบอีกในระยะถัดไปนั้น มีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดหรือไม่
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สนค.คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 โดยคาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 จะอยู่ที่ -0.3 ถึง 1.7% มีค่ากลาง 0.7% ภายใต้สมมติฐานว่า เศรษฐกิจปี 2567 ขยายตัวที่ 2.7-3.7% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีอยู่ที่เฉลี่ย 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 34-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปดังกล่าว ได้รวมนโยบายเติมเงินดิจิทัลวอลเลตเอาไว้แล้ว
ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้เงินเฟ้อลดลง ได้แก่ ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ,ราคาสินค้าสำคัญมีแนวโน้มปรับขึ้นราคาอย่างจำกัด ,เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งสหรัฐ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคู่ค้า 3 อันดับแรกของไทย และหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม
ส่วนปัจจัยที่สนับสนุนให้เงินเฟ้อขยายตัว ได้แก่ ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 ขณะที่ปัจจัยอื่นๆที่อาจทำให้เงินเฟ้อไม่เป็นตามที่คาด เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้แก่ อิสราเอล-ฮามาส และรัสเซีย-ยูเครน ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญ ค่าเงินบาทที่อาจผันผวนจากนโยบายการเงินของต่างประเทศ และมาตรการช่วยค่าครองชีพของรัฐที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคา
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงกรณีที่จะมีการปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ว่า ในช่วงเช้าวันนี้ (7 ธ.ค.) ได้พูดคุยกับกระทรวงพลังงาน ได้รับทราบข้อมูลว่าอัตราค่าไฟฟ้างวดเดือน ม.ค.-เม.ย.2567 ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศว่าจะอยู่ที่ 4.68 บาท/หน่วย นั้น เป็นการประกาศตามกฎหมาย แต่ยังมีระดับนโยบายที่ได้ขอให้มีการทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าวไปแล้ว
“ท่านนายกฯก็ร้องโอ้ยไปแล้วนี่ เฉพาะฉะนั้น เขาคงไม่ให้ไปถึง 4.68 บาท/หน่วย ทราบว่ากำลังช่วยกันดูอยู่ เพราะยังจะมีการดูแลเรื่องค่าครองชีพของพี่น้องประชาชนอยู่ รวมถึงต้นทุนการผลิตสินค้าด้วย จึงต้องไปดูตัวเลขที่ชัดๆว่าค่าไฟจะเป็นเท่าไหร่ แต่ถ้าดูในตะกร้าเงินเฟ้อแล้ว ค่าไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 3.9% ในตะกร้า CPI” นายพูนพงษ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ
อานิสงส์รัฐลด‘ค่าไฟ-ดีเซล’! เงินเฟ้อ ก.ย.66 โต 0.3%-‘สนค.’หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1-1.7%
ราคาพลังงานสูงขึ้น! เงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.66 ขยายตัว 0.88%-8 เดือนแรก Core CPI โต 1.61%
ราคาอาหาร-น้ำมันลดต่อเนื่อง! เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.ขยายตัว 0.38%-เฉลี่ย 7 เดือนแรกโต 2.19%
หั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือ 1-2%! ‘พาณิชย์’เผย CPI มิ.ย.66 โต 0.23% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน
ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค.66 ขยายตัว 0.53%-Core CPI ชะลอตัวเหลือ 1.55%
ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.ขยายตัว 2.83%-หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1.7-2.7%
ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.66 ขยายตัว 3.79%-สินค้าขยับขึ้นราคา 334 รายการ
ต่ำสุดในรอบ 9 เดือน! ‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.66 โต 5.02%-Core CPI ยังเกิน 3%
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.65 ขยายตัว 5.89% เฉลี่ยทั้งปีโต 6.08%-คาดปีนี้เหลือ 2-3%
เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.โต 5.55% ชะลอเป็นเดือนที่ 3-ส่งผ่านต้นทุนพลังงานดัน Core CPI แตะ 3.22%
ชะลอตัวเป็นเดือนที่ 2! ‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.ขยายตัว 5.98%-Core CPI โต 3.17%
‘พาณิชย์’ เผย ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ เดือน ก.ย.65 ขยายตัว 6.41%-Core CPI ยังโตเกิน 3%
ถึงจุดสุดสูงแล้ว! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.ขยายตัว 7.86%-เฉลี่ย 8 เดือน 6.14%