‘พาณิชย์’ เผย ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ ก.พ.67 ติดลบ 0.77% เหตุราคา ‘อาหารสด-ผักสด-ดีเซล-ค่าไฟฟ้า’ ลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่ ‘เงินเฟ้อพื้นฐาน’ ขยายตัวที่ 0.43% ประเมินเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.-เม.ย.67 ลดลงต่อเนื่อง ก่อนพลิกเป็นบวกเดือน พ.ค.
..........................................
เมื่อวันที่ 5 มี.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน ก.พ.2567 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน ก.พ.2567 เท่ากับ 107.22 หดตัว 0.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5
โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และผักสด รวมถึงราคาน้ำมันดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้า ซึ่งต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน ประกอบกับฐานราคาในเดือน ก.พ.2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูง ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่นๆ ราคายังเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
นายพูนพงษ์ ระบุว่า เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้า พบว่า ในเดือน ก.พ.2567 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หดตัว 0.97% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของราคาเนื้อสุกร ปลาทู กุ้งขาว และปลากะพง ผักสด มะนาว แตงกวา ผักกาดขาว มะเขือเทศ และกะหล่ำปลี รวมถึงน้ำมันพืชและน้ำปลา สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง ครีมเทียม น้ำตาลทราย กะทิสำเร็จรูป กาแฟผงสำเร็จรูป ข้าวราดแกง และอาหารกลางวัน
ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม หดตัว 0.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสาเหตุจากราคาน้ำมันกลุ่มดีเซล และค่ากระแสไฟฟ้า ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าเดือน ก.พ.2566 รวมทั้งสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ถูตัว แชมพูสระผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ราคาลดลง
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน ก.พ.2567 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 264 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ปลานิล ไข่ไก่ นมสด อาหารเช้า กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) น้ำตาลทราย ค่าเช่าบ้าน น้ำมันแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เป็นต้น
ขณะที่สินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 47 รายการ เช่น ชุดนอนเด็ก รองเท้าแตะหนังสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ค่าโดยสารรถไฟฟ้า ค่าใบอนุญาตขับขี่ นิตยสารรายเดือน หนังสือพิมพ์ และค่าเช่าสระว่ายน้ำ เป็นต้น และสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 119 รายการ เช่น เนื้อสุกร ปลาทู กุ้งขาว แตงกวา มะนาว กระเทียม ลองกอง น้ำมันพืช ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก และน้ำมันดีเซล เป็นต้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.พ.2567 เท่ากับ 104.62 ขยายตัว 0.43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ในช่วง 2 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ.2567) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยอยู่ที่ 0.47%
“จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ มีสินค้า 264 รายการที่ราคายังสูงขึ้น และเมื่อดูอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งตัดอาหารสดและพลังงานออกไป โดยมีการเก็บข้อมูลสินค้า 304 รายการ เงินเฟ้อพื้นฐานก็ยังบวกอยู่ 0.43%” นายพูนพงษ์ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า เงินเฟ้อทั่วไปที่ติดลบต่อเนื่อง เป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงหรือไม่
นายพูนพงษ์ กล่าวด้วยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค.2567 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งการตรึงค่ากระแสไฟฟ้า สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย การตรึงราคาดีเซลไม่เกินลิตรละ 30 บาท ไปจนถึงวันที่ 19 เม.ย.2567 ,ฐานราคาของเนื้อสุกรและผักสดในปี 2566 ที่อยู่ในระดับค่อนข้างสูง และเศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง
ขณะที่ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับสูงขึ้น ,เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคานำเข้าสินค้ามีราคาสูง ,สภาพอากาศที่แปรปรวน อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและปริมาณผลผลิตการเกษตร และภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องสูงขึ้น
“คาดว่าในช่วงไตรมาส 1/2567 เงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบที่ประมาณ 0.7-0.8% และเงินเฟ้อทั่วไปน่าจะลดลงต่อเนื่องในเดือน มี.ค.และ เม.ย.2567 ก่อนจะกลับมาเป็นบวกในเดือน พ.ค.2567 จากฐานราคาที่อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพในด้านพลังงานและค่ากระแสไฟฟ้าที่จะสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย.2567 แต่ก็ต้องติดตามว่าภาครัฐจะมีมาตรการเพิ่มเติมอย่างไร” นายพูนพงษ์ กล่าว
นายพูนพงษ์ ระบุว่า สนค. ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 ไว้เท่าเดิม โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี จะอยู่ระหว่าง ลบ 0.3% ถึง 1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7% ภายใต้สมมติฐานว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัว 2.7-3.7% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 34-36 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
อ่านประกอบ :
หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.67 ติดลบ 1.11%-Core CPI บวก 0.52%
หดตัวเดือนที่ 3! เงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ลบ 0.83%-‘พาณิชย์’ย้ำยังไม่ถึงจุดเป็นภาวะเงินฝืด
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ
อานิสงส์รัฐลด‘ค่าไฟ-ดีเซล’! เงินเฟ้อ ก.ย.66 โต 0.3%-‘สนค.’หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1-1.7%
ราคาพลังงานสูงขึ้น! เงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.66 ขยายตัว 0.88%-8 เดือนแรก Core CPI โต 1.61%
ราคาอาหาร-น้ำมันลดต่อเนื่อง! เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.ขยายตัว 0.38%-เฉลี่ย 7 เดือนแรกโต 2.19%
หั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือ 1-2%! ‘พาณิชย์’เผย CPI มิ.ย.66 โต 0.23% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน
ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค.66 ขยายตัว 0.53%-Core CPI ชะลอตัวเหลือ 1.55%
ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.ขยายตัว 2.83%-หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1.7-2.7%
ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.66 ขยายตัว 3.79%-สินค้าขยับขึ้นราคา 334 รายการ