‘พาณิชย์’ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค. หดตัว 0.47% ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 แต่มองไตรมาส 2/67 พลิกบวก 0.5-0.6% เหตุราคา ‘พลังงาน-สุกร-ผักสด’ มีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 67 เป็นขยายตัว 0-1%
......................................
เมื่อวันที่ 5 เม.ย. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน มี.ค.2567 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน มี.ค.2567 เท่ากับ 107.25 หดตัว 0.47% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสัตว์และผักสด เนื่องจากผลผลิตในตลาดมีจำนวนมาก และฐานราคาเดือน มี.ค.2566 อยู่ในระดับสูง รวมถึงค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันดีเซล ยังคงต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาเป็นรายหมวดสินค้า พบว่า ในเดือน มี.ค.2567 หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ หดตัว 0.57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการลดลงของราคาเนื้อสุกร ปลาทู ปลากะพง และผักสด เนื่องจากผลผลิตมีจำนวนมาก และฐานราคาในเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งใช้คำนวณเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสาร ไข่ไก่ นมสด ผลไม้ น้ำตาลทราย กาแฟผงสำเร็จรูป และกับข้าวสำเร็จรูป
ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม หดตัว 0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากค่ากระแสไฟฟ้าและราคาน้ำมันกลุ่มดีเซล ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าเดือน มี.ค.2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงการลดลงของราคาสินค้าใน 3 กลุ่ม ได้แก่ สินค้าที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างห้องน้ำ และน้ำยาปรับผ้านุ่ม ,กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และตู้เย็น ,กลุ่มเครื่องใช้ส่วนบุคคล เช่น ผลิตภัณฑ์ป้องกันกันและบำรุงผิว สบู่ถูตัว และแป้งผัดหน้า
ขณะที่สินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ค่าแต่งผมบุรุษและสตรี ค่าตรวจรักษาคลินิกเอกชน ค่าทัศนจรหรือค่าเดินทางทั้งในและต่างประเทศ บุหรี่ สุรา และไวน์
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน มี.ค.2567 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (มี.ค.2566) พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 261 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ ไข่ไก่ ขิง ส้มเขียวหวาน กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) กาแฟผงสำเร็จรูป ค่าเช่าบ้าน แป้งทาผิวกาย น้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มแก๊สโซฮอล์และเบนซิน เป็นต้น
สำหรับสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 50 รายการ เช่น ชุดนอนเด็ก รองเท้ากีฬาสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ค่าโดยสารรถไฟ ค่าใบอนุญาตขับขี่ ค่าบริการจอดรถ หนังสือพิมพ์ และค่าเช่าสระว่ายน้ำ เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 119 รายการ เช่น เนื้อสุกร ปลาทู กุ้งขาว กะหล่ำปลี มะนาว กระเทียม ลองกอง น้ำมันพืช ค่ากระแสไฟฟ้า ผงซักฟอก และน้ำมันเชื้อเพลิงกลุ่มดีเซล เป็นต้น
นายพูนพงษ์ ระบุว่า ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 107.15 ลดลง 0.79% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน มี.ค.2567 เท่ากับ 104.61 ขยายตัว 0.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 3 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.2567) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยขยายตัว 0.44% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงไตรมาส 2/2567 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาส 1/2567 จากปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่การอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลมีแนวโน้มจำกัด และต้องติดตามว่ารัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือด้านราคาดีเซลอย่างไร ,อัตราแลกเปลี่ยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่ากว่าไตรมาส 1/2567 ส่งผลให้สินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น
ฐานค่ากระแสไฟฟ้าในปี 2566 อยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะในเดือน พ.ค.2566 ซึ่งรัฐบาลมีการดำเนินมาตรการลดค่ากระแสไฟฟ้าค่อนข้างมาก และการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการในหมวดที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น
ส่วนปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ได้แก่ ฐานราคาเนื้อสุกรและผักในช่วงไตรมาส 2/2566 ที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งราคาในปีนี้มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างช้าๆ จากปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ,เศรษฐกิจขยายตัวในระดับต่ำต่อเนื่อง และมีแนวโน้มต่ำกว่าคาดการณ์เดิมในช่วงต้นปี และการแข่งขันที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกขนาดใหญ่ รวมถึงการเติบโตของการค้าอีคอมเมิร์ซ เป็นผลทำให้ผู้ประกอบการใช้นโยบายส่งเสริมการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะการปรับลดราคาอย่างต่อเนื่อง
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน เม.ย.2567 ว่า “เดือน เม.ย. มีโอกาสที่จะติดลบ โดยตัวเลขคาดการณ์อยู่ที่บวกลบ 0.1% โดยประมาณ ก็ยังมีโอกาสลบ แต่ลบน้อยมาก อาจจะประมาณลบ 0.05% หรือกลับขึ้นมาบวก 0.05% ก็ได้ แต่ทั้งไตรมาส 2/2567 น่าจะกลับมาเป็นบวก โดยเดือน พ.ค. และ มิ.ย.2567 คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับมาบวก และแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยไตรมาส 2/2567 และไตรมาส 3/2567 ไม่น่าจะต่างกันมาก โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ประมาณ 0.5-0.6%”
นายพูนพงษ์ ระบุว่า สนค. ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2567 มาอยู่ที่ 0-1% โดยมีค่ากลางที่ 0.5% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2567 จะอยู่ที่ระหว่างลบ 0.3% ถึง 1.7% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 0.7% ภายใต้สมมติฐานว่า อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ขยายตัว 2.2-3.2% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 34.5-36.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
“ที่เราปรับตรงนี้ ส่วนหนึ่งมาจากพลังงาน ซึ่งตอนนี้ราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นแก๊สโซฮอล์หรือเบนซิน วันนี้จะ 40 บาท/ลิตรแล้ว และต้องรอดูในกลุ่มดีเซล รวมทั้งจะมีเรื่องของราคาสุกร ผักสด ซึ่งคาดว่าจะมีการปรับราคาสูงขึ้น แต่กรมการค้าภายในก็ยังดูแลให้เกิดความสมดุล โดยเฉพาะราคาสุกร” นายพูนพงษ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.67 ติดลบ 0.77% หดตัวเป็นเดือนที่ 5-'Core CPI'ยังโต 0.43%
หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.67 ติดลบ 1.11%-Core CPI บวก 0.52%
หดตัวเดือนที่ 3! เงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ลบ 0.83%-‘พาณิชย์’ย้ำยังไม่ถึงจุดเป็นภาวะเงินฝืด
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ
อานิสงส์รัฐลด‘ค่าไฟ-ดีเซล’! เงินเฟ้อ ก.ย.66 โต 0.3%-‘สนค.’หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1-1.7%
ราคาพลังงานสูงขึ้น! เงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.66 ขยายตัว 0.88%-8 เดือนแรก Core CPI โต 1.61%
ราคาอาหาร-น้ำมันลดต่อเนื่อง! เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.ขยายตัว 0.38%-เฉลี่ย 7 เดือนแรกโต 2.19%
หั่นเป้าเงินเฟ้อทั้งปีเหลือ 1-2%! ‘พาณิชย์’เผย CPI มิ.ย.66 โต 0.23% ต่ำสุดในรอบ 22 เดือน
ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค.66 ขยายตัว 0.53%-Core CPI ชะลอตัวเหลือ 1.55%
ต่ำสุดในรอบ 15 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.ขยายตัว 2.83%-หั่นคาดการณ์ทั้งปีเหลือ 1.7-2.7%
ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.66 ขยายตัว 3.79%-สินค้าขยับขึ้นราคา 334 รายการ