‘พาณิชย์’ เผย ‘เงินเฟ้อทั่วไป’ ก.ย. ขยายตัว 0.61% เฉลี่ย 9 เดือนแรก 0.2% พร้อมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 67 เหลือ 0.2-0.8% จากเดิม 1-2% เผยผลสำรวจแจก ‘เงินหมื่น’ รอบแรก ช่วยเพิ่มกำลังซื้อ-ราคาสินค้าไม่เพิ่ม
............................................
เมื่อวันที่ 5 ต.ค. นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงดัชนีเศรษฐกิจการค้า เดือน ก.ย.2567 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน ก.ย.2567 เท่ากับ 108.68 ขยายตัว 0.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดีเซล รวมทั้งผักบางชนิดได้รับความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่เพาะปลูก
อย่างไรก็ตาม มีสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ปลาทู น้ำมันพืช และแก๊สโซฮอล์ เป็นต้น
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการขยายตัวเป็นรายหมวดสินค้าในเดือน ก.ย.2567 พบว่า หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ขยายตัว 2.25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการสูงขึ้นของราคาผักสดและผลไม้สด เช่น ต้นหอม ผักกาดขาว ผักคะน้า พริกสด ผักชี เงาะ กล้วยน้ำว้า มะม่วง แตงโม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ไข่ไก่ กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำหวาน น้ำตาลทราย และกะทิสำเร็จรูป ขณะที่สินค้าที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันพืช หัวหอมแดง และกระเทียม
ส่วนหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.55% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มน้ำมันเชื้อเพลิง ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน เสื้อเชิ้ต เสื้อยืดบุรุษและสตรี แชมพู สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น น้ำมันดีเซล ค่ากระแสไฟฟ้า และค่าโดยสารเครื่องบิน
นอกจากนี้ เมื่อเทียบราคาสินค้าและบริการในเดือน ก.ย.2567 กับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ก.ย.2566) พบว่าสินค้าที่ราคาเพิ่มขึ้นมีจำนวน 274 รายการ จากสินค้าทั้งหมด 430 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว พริกสด ผักชี ต้นหอม กล้วยน้ำว้า เงาะ ไข่ไก่ น้ำตาลทราย ค่าโดยสารเครื่องบิน น้ำมันเชื้อเพลิง (ดีเซล)
สินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 49 รายการ เช่น ชุดนอนเด็ก รองเท้ากีฬาสตรี ค่าบริการขนขยะ ค่าน้ำประปา ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารเรือ ค่าโดยสารรถแท็กซี่ ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี และนิตยสารรายเดือน เป็นต้น ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมีจำนวน 107 รายการ เช่น ปลาทู กระเทียม ส้มเขียวหวาน น้ำมันพืช ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม สบู่ถูตัว แชมพู และน้ำมันเชื้อเพลิง (แก๊สโซฮอล์) เป็นต้น
นายพูนพงษ์ ระบุว่า ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2567) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยขยายตัว 0.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.ย.2567 เท่ากับ 105.18 ขยายตัว 0.77% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 9 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ย.2567) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวเฉลี่ย 0.48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาสที่ 4/2567 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นจากไตรมาสที่ 3/2567 โดยมีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.ผลกระทบจากฝนตกหนักและน้ำท่วมในบางพื้นที่ อาจสร้างความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร ซึ่งส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะผักสดปรับตัวสูงขึ้น แต่คาดว่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น
และ 3.สินค้าและบริการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน ซึ่งเป็นการปรับตัวที่สอดคล้องกับฤดูกาลท่องเที่ยว
ส่วนปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้เงินเฟ้อชะลอตัว ได้แก่ 1.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำกว่าปีก่อน ซึ่งส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศปรับตัวลดลง 2.การแข็งค่าของเงินบาท ทำให้ต้นทุนการนำเข้าสินค้าลดลง โดยเฉพาะสินค้าที่มีสัดส่วนในตะกร้าเงินเฟ้อสูงขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เป็นต้น และ 3.ผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีก จะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดอย่างต่อเนื่อง หลังจากภาครัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบแรกไปแล้ว
นายพูนพงษ์ กล่าวว่า สนค. ได้ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2567 เป็น 0.2-0.8% (มีค่ากลาง 0.5%) จากเดิมที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ 0-1% (ค่ากลาง 0.5%) ภายใต้สมมติฐานว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 2.3-2.8% จากเดิมขยายตัว 2-3% ,ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี 75-85 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล จากเดิม 80-90 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 34.5-35.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จากเดิม 35-37 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
“ตอนนี้ (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) เราเฉลี่ย 9 เดือนอยู่ที่ 0.2% โดยไตรมาส 3/2567 อยู่ที่ 0.6% และเราคาดการณ์ว่าเดือน ต.ค.2567 อยู่ที่ 1.25% ส่วนไตรมาส 4/2567 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.49% และตลอดทั้งปี 2567 จะอยู่ 0.2-0.8% โดยมีค่ากลาง 0.5%” นายพูนพงษ์ กล่าว
นายพูนพงษ์ กล่าวถึงสถานการณ์การสู้รบในตะวันออกกลาง ว่า คงต้องติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน โดยสถานการณ์ในตะวันออกกลาง โดยเฉพาะระหว่างอิสราเอลและอิหร่าน ซึ่งล่าสุดอิสราเอลประกาศจะเอาคืนนั้น จะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศ ในขณะที่ราคาน้ำมันมีผลค่อนข้างมากต่อตะกร้าเงินเฟ้อ รวมทั้งสถานการณ์ในตะวันออกลางจะมีผลกระทบต่อการขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยุโรปและสหรัฐด้วย
นายพูนพงษ์ ยังระบุว่า สนค.ได้สำรวจผลการดำเนินโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2567 รอบแรก วงเงินประมาณ 1.45 แสนล้านบาท โดยสำรวจร้านค้าทั่วประเทศ 133 ร้านค้า เช่น ร้านข้าวสาร ร้านเนื้อสุกร ร้านไข่ไก่ ร้านไก่สด ร้านผลไม้ และร้านขายของชำ ระหว่างวันที่ 1-2 ต.ค.2567 พบว่า สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน มียอดจำหน่ายดีขึ้น และราคาไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร ส่วนใหญ่ราคาคงที่
“การแจกเงิน อันนี้เป็นการเพิ่มกำลังซื้อ…อยากให้ดูข้อเท็จจริงที่ได้สำรวจและข้อมูล โดยไม่ได้ใช้ความรู้สึก ซึ่งจะเห็นได้ว่ายอดจำหน่ายดีขึ้น และราคาไม่ได้ปรับ ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ก็ติดตามอยู่แล้ว ไม่ปล่อยให้มีการฉวยโอกาสขึ้นราคา” นายพูนพงษ์ กล่าว
อ่านประกอบ :
ราคา'ผัก-อาหาร'เพิ่มขึ้น ดันเงินเฟ้อทั่วไป ส.ค.67 ขยายตัว 0.35%-เฉลี่ย 8 เดือนโต 0.15%
เงินเฟ้อทั่วไป ก.ค.67 ขยายตัว 0.83%-‘พาณิชย์’เชื่อ‘ดิจิทัลวอลเลต’ไม่ทำราคาสินค้าขยับขึ้น
‘พาณิชย์’เผย‘เงินเฟ้อทั่วไป’พ.ค.67 ขยายตัว 1.54% สูงสุดในรอบ 13 เดือน-คงเป้าทั้งปี 0-1%
‘พาณิชย์’เผย‘อัตราเงินเฟ้อทั่วไป’ เม.ย.67 ขยายตัว 0.19% พลิกบวกครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.67 ติดลบ 0.47%-ปรับคาดการณ์ทั้งปีเป็นขยายตัว 0-1%
‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ.67 ติดลบ 0.77% หดตัวเป็นเดือนที่ 5-'Core CPI'ยังโต 0.43%
หดตัวต่อเนื่อง 4 เดือน! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป ม.ค.67 ติดลบ 1.11%-Core CPI บวก 0.52%
หดตัวเดือนที่ 3! เงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.66 ลบ 0.83%-‘พาณิชย์’ย้ำยังไม่ถึงจุดเป็นภาวะเงินฝืด
ต่ำสุดรอบ 33 เดือน! เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.66 หด 0.44%-ธ.ค.ส่อลบอีก แต่ไม่เข้านิยาม‘เงินฝืด’
ยันไม่ใช่เงินฝืด! เงินเฟ้อ พ.ย. ลบ 0.31% หดตัวครั้งแรกรอบ 25 เดือน รับอานิสงส์มาตรการรัฐ