ครม.รับทราบ 5 ข้อเสนอแนะ ‘กสม.’ ปมเหมืองปูนซีเมนต์ จ.สระบุรี ของ ‘ทีพีไอโพลีน’ ส่อละเมิดสิทธิชุมชนฯ หลังตรวจสอบพบไม่มีการให้ข้อมูลกับ ‘ชุมชน’ อย่างเพียงพอ ในการแสดงความคิดเห็น แนะรัฐออกมาตรการคุ้มครองฯ
............................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบข้อเสนอแนะกรณีปัญหากระบวนการขอประทานบัตรเหมืองแร่เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และการประกอบกิจการเหมืองแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ตามที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เสนอ
พร้อมกันนั้น ครม.ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลัก รับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะดังกล่าว โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรม สรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายเรืองเกียรติ สุวรรณโนภาส ขอให้ตรวจสอบกระบวนการขอประทานบัตรเหมืองแร่เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ของ บมจ.ทีพีไอโพลีน (TPIPP) และนายสุเมธ เชาวนปรีซา ซึ่งจัดรับฟังความคิดเห็นโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีและการประกอบกิจการเหมืองแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ของ บมจ.ทีพีไอโพลีน ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี
จากนั้น กสม. ได้ตรวจสอบเรื่องร้องเรียนฯแล้วเห็นว่า
1.ประเด็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการขอประทานบัตรเหมืองแร่เพื่ออุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ของ บมจ.ทีพีไอโพลีน และนายสุเมธ เชาวนปรีชา ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรี ไม่ได้ให้ข้อมูลแก่ผู้ร้องและชุมชนอย่างเพียงพอแก่การแสดงความคิดเห็น จึงเป็นการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน กสม. จึงมีข้อเสนอแนะให้สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสระบุรีจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง โดยต้องเผยแพร่ข้อมูลที่เพียงพอต่อการแสดงความคิดเห็น
2.ประเด็นการประกอบกิจการเหมืองแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ของ บมจ.ทีพีไอโพลีน แม้ยังไม่อาจรับฟังได้ว่า มีการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน แต่เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพของประชาชน ตลอดจนสิทธิชุมชนในการมีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน จึงเห็นควรควรมีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีข้อเสนอแนะต่อ ครม. เพื่อพิจารณามอบหมายต่อไป
ดังนั้น กสม.จึงอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 247(3) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2560 มาตรา 26 (3) ประกอบมาตรา 42 จัดทำข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีปัญหากระบวนการขอประทานบัตรเหมืองแร่เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และการประกอบกิจการเหมืองแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เสนอต่อ ครม. เพื่อมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.ศึกษา รวบรวม และติดตามข้อมูลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่ของ บมจ.ทีพีไอโพลีน และผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่ขนาดใหญ่รายอื่นในลักษณะที่เป็นโครงการระยะยาว เช่น การเก็บข้อมูลสุขภาพรายปีเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 10 ปี ตามความเหมาะสม การเฝ้าระวังและเก็บข้อมูลสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับโรคจากฝุ่นซิลิกา เป็นต้น เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับการบังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อมลพิษ ตลอดจนการชดเชยเยียวยาหากเกิดผลกระทบในอนาคต
2.ศึกษา รวบรวม และติดตามผลกระทบจากการประกอบกิจการเหมืองแร่ในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ที่อาจส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงโคนม กลุ่มเกษตรกรรมทั่วไป และแบบอินทรีย์ รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการพิจารณาอนุญาตคำขอประทานบัตรในพื้นที่ต่อไป
3.ศึกษาและรวบรวมข้อมูลพื้นที่ป่าในพื้นที่อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี เพื่อจำแนกส่วนที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับสงวนหวงห้ามต่อไป และส่วนที่จะสามารถอนุญาตหรือผ่อนผันให้ใช้พื้นที่ เพื่อทำเหมืองแร้ได้โดยไม่กระทบกับสิทธิของชุมชนในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ ตลอดจนศึกษาข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์ป่าในพื้นที่โดยรอบการประกอบกิจการเหมืองแร่ เพื่อนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลสำหรับการพิจารณาอนุญาตประทานบัตรในพื้นที่ต่อไป
4.ศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิกถอนประทานบัตรบางแปลงหรือบางส่วนของ บมจ.ทีพีไอโพลีน ที่สงวนไว้เป็นพื้นที่กันชน ซึ่งจะไม่มีการเปิดพื้นที่เพื่อทำเหมืองแร่ เพื่อให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสมดุลและยั่งยืน
ทั้งนี้ ในการดำเนินการตามข้อ 1-4 ควรประสานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภาคประชาสังคม องค์กรชุมชน สถาบันการศึกษา และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ เข้าร่วมด้วย
5.ปรับปรุงแนวทางการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน ให้เป็นรายงานฉบับเดียวกันเพื่อใช้ประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในภาพรวมทั้งหมด
อ่านประกอบ :
อสส.ชี้ขาดฟ้อง 'อดีตจนท.รังวัดที่ดิน-เสี่ยประชัย-บมจ.ทีพีไอ' คดีออกโฉนดปลอมสระบุรี
ปลุกชาว'แก่งคอย-มวกเหล็ก' คัดค้าน'ทีพีไอโพลีน'ทำ'เหมืองปูน'พื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ-1 บี
ยกเลิกไกล่เกลี่ยฯ! คดี ‘ทีพีไอโพลีน’ ลักลอบขุดหินปูน 1.6 พันล้าน-คืนสำนวนศาลอุทธรณ์
ฟ้องนัว! ที่ดินนิคมฯจะนะ TPIPP ขับไล่ชาวบ้าน-‘นักการเมือง’ กว้านซื้อถูกขายแพง
เลื่อนนัดไกล่เกลี่ย! คดี ‘ทีพีไอโพลีน’ ลอบขุดแร่ 12 ล.ตัน-กพร.รอแผนถมคืนหินปูน 5 ปี
เบื้องหลังไกล่เกลี่ย! กพร.-ทีพีไอโพลีน คืนหินปูน 12 ล.ตัน 5 ปี แลกจ่าย 1.6 พันล้าน
นัดใหม่ 13 พ.ค.! 'กพร.' ขอศาลฯเลื่อนไกล่เกลี่ยคดี ‘ทีพีไอโพลีน’ ลอบขุดแร่ 1.6 พันล.
อาจประวิงเวลา!โชว์หนังสือ‘คลัง’ค้านไกล่เกลี่ย ‘ทีพีไอโพลีน’ คดีลอบขุดหินปูน 6.3 พันล.
พลิกคดี'ทีพีไอโพลีน' ลักลอบขุด‘หินปูน’ 46 ล้านตัน 6.3 พันล. เผือกร้อนในมือ ‘สุริยะ’
พลิกคดี บ.ทีพีไอ-พวก ออกเอกสารสิทธิ์ จ.สระบุรี 2.6 พันไร่ ก่อนโฉนดปลอมโผล่ซ้ำ