‘กพร.-ทีพีไอโพลีน’ ยกเลิกไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีลักลอบขุดหินปูน 12 ล้านตัน หลัง ‘ก.คลัง’ ไม่เห็นด้วย ‘อธิบดี กพร.’ เผยคืนสำนวนศาลอุทธรณ์แล้ว ขณะที่ ครม. ผ่อนผัน ‘พีไอโพลีน’ ใช้พื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ และ 1 บี กว่า 2.7 พันไร่ ทำเหมืองหินปูนต่อ
..........................
สืบเนื่องจากกรณี บมจ.ทีพีไอโพลีน (TPIPL) ได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีลักลอบนำเอาแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ไปโดยผิดกฎหมายในพื้นที่แนวกันเขตห้ามทำเหมือง (Buffer Zone) น้ำหนักรวม 12.48 ล้านตัน กับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) หลังจาก บมจ.ทีพีไอโพลีน ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอไกล่เกลี่ยคดี โดยอ้างว่าจะนำหินปูน 12.48 ล้านตัน ไปถมคืนในพื้นที่ Buffer Zone
ต่อมาศาลอุทธรณ์นัดคู่กรณี คือ บมจ.ทีพีไอโพลีน และ กพร. เข้าไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนัดแรก เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2563 แต่การไกล่เกลี่ยยังไม่ได้ข้อยุติ หลังจากมีการนัดเจรจาไกล่เกลี่ยอย่างน้อย 7 ครั้ง ในขณะที่ กพร. ยื่นเงื่อนไขให้ บมจ.ทีพีไอโพลีน นำหินปูนมาถมคืนพื้นที่เดิมภายในระยะเวลา 5 ปี จากแผนเดิมที่บริษัทฯเสนอว่า ขอเวลาถมหินภายใน 10 ปี (อ่านประกอบ : เบื้องหลังไกล่เกลี่ย! กพร.-ทีพีไอโพลีน คืนหินปูน 12 ล.ตัน 5 ปี แลกจ่าย 1.6 พันล้าน)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 22 ก.ย. นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า เมื่อเร็วๆนี้ บมจ.ทีพีไอโพลีน และ กพร. ได้ยกเลิกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีลักลอบขุดหินปูนน้ำหนักรวม 12.48 ล้านตัน แล้ว เนื่องจากกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วยกับการไกล่เกลี่ยฯ โดยขณะนี้ได้คืนสำนวนคดีให้ศาลอุทธรณ์ไปแล้ว ซึ่งจากนี้ไปคงต้องรอว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาอย่างไร
“การไกล่เกลี่ย (ข้อพิพาท) ไม่จบ เพราะกระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย และตอนนี้ได้คืนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ไปแล้ว เพราะถือว่าเจรจาไม่สำเร็จ การไกล่เกลี่ยจบไปแล้ว จากนี้ไปคงต้องรอว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาอย่างไร และเมื่อศาลอุทธรณ์ตัดสินแล้ว ก็ขึ้นอยู่กับเขาว่า จะฎีกาอีกหรือไม่” นายวิษณุกล่าว
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ กค 0407.3/1727 ลงวันที่ 1 ก.พ.2564 ระบุว่า กรณีที่ บมจ.ทีพีไอโพลีน ขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในคดีลักลอบขุดหินปูน 12.48 ล้านตัน โดยเสนอนำแร่หินปูน 12.48 ล้านตัน มาถมคืนพื้นที่เดิม โดยใช้เวลา 10 ปี ว่า อาจเป็นการประวิงเวลาเพื่อไม่ให้ กพร.ดำเนินการบังคับคดี จึงอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ (อ่านประกอบ : อาจประวิงเวลา!โชว์หนังสือ‘คลัง’ค้านไกล่เกลี่ย ‘ทีพีไอโพลีน’ คดีลอบขุดหินปูน 6.3 พันล.)
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562 ศาลแพ่งมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สว 5/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 5/2562 จ. ให้ บมจ.ทีพีไอโพลีน นำเอาแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 12.48 ล้านตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิม (พื้นที่เขต Buffer Zone) ที่ทำเหมืองเอาแร่ไปโดยผิดกฎหมาย พร้อมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม หรือให้ชำระเงินต้น 1,602.94 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมเงินต้นและดอกเบี้ย 1,671.12 ล้านบาท
นอกจากนี้ ศาลแพ่งยังมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สว 4/2559, สว 6/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 7/2562, สว 8/2562 จ. ให้ บมจ.ทีพีไอโพลีน นำเอาแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 31.52 ล้านตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิม (พื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709) ที่ทำเหมืองแร่เอาไปโดยผิดกฎหมาย พร้อมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม หรือให้ชำระเงินต้น 4,047.47 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมเงินต้นและดอกเบี้ย 4,338.55 ล้านบาท
และให้ บมจ.ทีพีไอโพลีน นำเอาแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 2.44 ล้านตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิม (พื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709) ที่ทำเหมืองแร่เอาไปโดยผิดกฎหมาย พร้อมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม หรือให้ชำระเงินต้น 314.31 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 327.68 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม บมจ.ทีพีไอโพลีน ได้ยื่นอุทธรณ์ทั้ง 2 คดี แต่ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในคดีลักลอบขุดแร่หินปูน 12.48 ล้านตันนั้น บมจ.ทีพีไอโพลีน ยื่นคำร้องต่อศาลฯขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติผ่อนผันให้ บมจ.ทีพีไอโพลีน ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ตามคำขอประทานบัตรที่ 2-3/2553 และที่ 1-8/2555 ที่จ.สระบุรี ตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 พ.ค.2533 ,วันที่ 21 ก.พ.2538 และวันที่ 6 ก.พ.2544 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ
ทั้งนี้ บมจ.ทีพีไอโพลีน เป็นผู้ถือประทานบัตร จำนวน 10 แปลง ในพื้นที่คำขอประทานบัตรที่ 2-3/2553 และที่ 1 -8/2555 ชนิดแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย และ ต.มิตรภาพ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี รวมเนื้อที่ 2,706 ไร่ 79 ตารางวา ซึ่งอยู่ในพื้นที่บลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี ของลุ่มน้ำป่าสัก โดยปัจจุบันประทานบัตรดังกล่าวบางส่วนได้หมดอายุแล้ว
ขณะที่พื้นที่ทั้ง 10 แปลงในพื้นที่คำขอประทานบัตรฯ เป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564 นอกจากนี้ อบต.มิตรภาพ และสำนักงานเทศบาลเมืองทับกวางได้เห็นชอบการขอประทานบัตรแล้ว และในการปิดประกาศการขอประทานบัตรไม่มีผู้ร้องเรียนคัดค้าน อีกทั้งไม่มีปัญหาการร้องเรียนคัดค้านเกี่ยวกับคำขอประทานบัตร และการเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะและความขัดแย้งกับราษฎรในพื้นที่
“โครงการมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและสังคมต่อท้องถิ่นและประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหายจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้น โดยพบว่าผลตอบแทนทางการเงินของโครงการอยู่ในระดับที่ดีมาก ซึ่งมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เท่ากับ 6,359.57 ล้านบาท มูลค่าโครงการสุทธิภายหลังหักมูลค่าที่สูญเสียไปของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โครงการเท่ากับ 5,953.64 ล้านบาท” กระทรวงอุตสาหกรรม ระบุ
อ่านประกอบ :
เลื่อนนัดไกล่เกลี่ย! คดี ‘ทีพีไอโพลีน’ ลอบขุดแร่ 12 ล.ตัน-กพร.รอแผนถมคืนหินปูน 5 ปี
เบื้องหลังไกล่เกลี่ย! กพร.-ทีพีไอโพลีน คืนหินปูน 12 ล.ตัน 5 ปี แลกจ่าย 1.6 พันล้าน
นัดใหม่ 13 พ.ค.! 'กพร.' ขอศาลฯเลื่อนไกล่เกลี่ยคดี ‘ทีพีไอโพลีน’ ลอบขุดแร่ 1.6 พันล.
อาจประวิงเวลา!โชว์หนังสือ‘คลัง’ค้านไกล่เกลี่ย ‘ทีพีไอโพลีน’ คดีลอบขุดหินปูน 6.3 พันล.
พลิกคดี'ทีพีไอโพลีน' ลักลอบขุด‘หินปูน’ 46 ล้านตัน 6.3 พันล. เผือกร้อนในมือ ‘สุริยะ’
พลิกคดี บ.ทีพีไอ-พวก ออกเอกสารสิทธิ์ จ.สระบุรี 2.6 พันไร่ ก่อนโฉนดปลอมโผล่ซ้ำ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage