ศาลฯเลื่อนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีลักลอบขุดหินปูน 12 ล้านคัน 1.6 พันล้าน หลัง ‘กพร.’ ร้องขอ เหตุยังไม่พอใจแผนนำแร่หินปูนมาถมคืนพื้นที่เดิมของ ‘ทีพีไอโพลีน’ ศาลฯนัดไกล่เกลี่ยอีกครั้ง 13 พ.ค.นี้
.....................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 29 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ฯนัดกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ฝ่ายโจทก์ และบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ฝ่ายจำเลย ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีที่ บมจ.ทีพีไอโพลีน ลักลอบนำเอาแร่อุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไปโดยผิดกฎหมายในพื้นที่แนวกันเขตห้ามทำเหมือง (Buffer Zone) น้ำหนักรวม 12.48 ล้านตัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงวันนัดไกล่เกลี่ยฯ กพร.แจ้งศาลฯว่า ยังไม่พอใจกับแผนการนำแร่หินปูนกลับไปถมคืนพื้นที่เดิมตามที่ บมจ.ทีพีไอโพลีน เสนอ ดังนั้น กพร.และ บมจ.ทีพีไอโพลีน จึงขอเลื่อนการไกล่เกลี่ยฯออกไปก่อน ซึ่งศาลฯได้มีคำสั่งให้เลื่อนการไกล่เกลี่ยฯตามที่ทั้ง 2 ฝ่ายร้องขอ โดยศาลฯนัดไกล่เกลี่ยฯอีกครั้งในวันที่ 13 พ.ค.2564
“เดิมทีศาลฯนัดไกล่เกลี่ยฯกันในวันที่ 29 มี.ค.2564 แต่เนื่องจาก กพร. เห็นว่าแผนของทีพีไอโพลีนที่ขอเสนอนำแร่หินปูน 12 ล้านตันเศษมาถมคืนพื้นที่เดิม และทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิมนั้น ยังไม่เป็นที่น่าพอใจของ ก.พ.ร. ดังนั้น ก.พ.ร. และทีพีไอโพลีน จึงได้ขอเลื่อนการไกล่เกลี่ยฯไปก่อน ซึ่งศาลฯมีคำสั่งให้เลื่อน และนัดไกล่เกลี่ยกันอีกครั้งในวันที่ 13 พ.ค.นี้” รายงานข่าวจากกระทรวงอุตสาหกรรม ระบุ
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า การเลื่อนการไกล่เกลี่ยฯคดีลักลอบขุดแร่หินปูนโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไปเป็นวันที่ 13 พ.ค.2564 ส่งผลกระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีนี้ต้องใช้เวลาไปแล้วอย่างน้อย 7 เดือน
สำหรับคดีลักลอบนำเอาแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไปโดยผิดกฎหมายในพื้นที่แนวกันเขตห้ามทำเหมือง (พื้นที่ Buffer Zone) น้ำหนัก 12.48 ล้านตันนั้น ศาลแพ่ง (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ สว 5/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 5/2562 จ. เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562 ให้บมจ.ทีพีไอโพลีน นำเอาแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 12.48 ล้านตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิม (พื้นที่ Buffer Zone) พร้อมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม
หรือให้ บมจ.ทีพีไอโพลีน ชำระเงินต้น 1,602.94 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ทราบผลการรังวัด (ทราบวันที่ 31 ส.ค.2558) จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 207 วัน เป็นเงิน 68.18 ล้านบาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 1,671.12 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี บมจ.ทีพีไอโพลีน ได้ยื่นอุทธรณ์ แต่ก่อนจะถึงวันที่ศาลอุทธรณ์นัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 22 ก.ย.2563 เวลา 10.00 น. ปรากฏว่า กพร. ได้มีการตกลงที่จะไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกับบมจ.ทีพีไปโพลีน และศาลอุทธรณ์ มีหนังสือที่ ศย 200/5500 ฉบับลงวันที่ 17 ก.ย.2563 ขอยกเลิกวันนัดฟังคำพิพากษาและ/หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ล่วงหน้า คดีหมายเลขดำที่ สว 5/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 5/2562 จ. ระหว่าง กพร. และ บมจ.ทีพีไอโพลีน ในวันดังกล่าว
ในเวลาต่อมา กพร. และบมจ.ทีพีไอลีน นัดไกล่เกลี่ยคดีนัดแรกเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2563 และมีการนัดไกล่เกลี่ยคดีนัดอื่นๆรวมกันอย่างน้อย 5 ครั้ง โดยบมจ. ทีพีไอโพลีน เสนอว่าจะนำแร่หินปูน 12.46 ล้านตันมาถมคืนพื้นที่เดิม พร้อมทั้งฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม แต่ขอใช้เวลาดำเนินการ 10 ปี
แต่ในระหว่างที่มีการไกล่เกลี่ยฯนั้น นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร. มีหนังสือที่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่อก 0502/4804 ลงวันที่ 4 ธ.ค.2563 ไปยังกระทรวงการคลังแจ้งเรื่องการขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทดังกล่าวให้กระทรวงการคลังพิจารณา
ต่อมานายจำเริญ โพธิยอด รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่แทนรมว.คลัง มีหนังสือด่วนที่สุดที่ กค 0407.3/1727 ลงวันที่ 1 ก.พ.2564 แจ้งกลับไปยังอธิบดี กพร. ว่า การที่บมจ.ทีพีไอโพลีน ยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์ โดยขอปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดย บมจ.ทพีไอโพลีน จะดำเนินการถมแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ จำนวน 12.48 ล้านตัน พร้อมทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี นั้น
กระทรวงการคลังมองว่า อาจเป็นการประวิงเวลาเพื่อไม่ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการบังคับคดี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จึงอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า ในส่วนคดีที่ศาลแพ่ง (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สว 4/2559, สว 6/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 7/2562, สว 8/2562 จ. ให้ บมจ.ทีพีไอโพลีน นำเอาแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 31.52 ล้านตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิม (พื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709) ที่ทำเหมืองแร่เอาไปโดยผิดกฎหมาย พร้อมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม
หรือให้ ทีพีไอโพลีน ชำระเงินต้น 4,047.47 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่พบการลักลอบการทำเหมืองแร่ (พบเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2557) จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 350 วัน เป็นเงิน 291.08 ล้านบาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 4,338.55 ล้านบาท ซึ่งต่อมา บมจ.ทีพีไอโพลีน ได้ยื่นอุทธรณ์เช่นกันนั้น ล่าสุดศาลอุทธรณ์ยังไม่มีกำหนดนัดอ่านคำพิพากษา
อ่านประกอบ :
อาจประวิงเวลา!โชว์หนังสือ‘คลัง’ค้านไกล่เกลี่ย ‘ทีพีไอโพลีน’ คดีลอบขุดหินปูน 6.3 พันล.
พลิกคดี'ทีพีไอโพลีน' ลักลอบขุด‘หินปูน’ 46 ล้านตัน 6.3 พันล. เผือกร้อนในมือ ‘สุริยะ’
พลิกคดี บ.ทีพีไอ-พวก ออกเอกสารสิทธิ์ จ.สระบุรี 2.6 พันไร่ ก่อนโฉนดปลอมโผล่ซ้ำ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage