‘แกนนำกลุ่มคัดค้านเหมืองหินฯ’ ปลุกชาวบ้าน ‘แก่งคอย-มวกเหล็ก’ คัดค้าน ‘ทีพีไอโพลีน’ เข้าทำ ‘เหมืองปูน’ ใน พื้นที่ลุ่มน้ำ ‘1 เอ-1 บี’ หลัง ครม.อนุมัติผันผันใช้พื้นที่ทำเหมือง
...............................
เมื่อวันที่ 8 พ.ค. นายเรืองเกียรติ สุวรรณโนภาส ประธานองค์กรคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรป่ามิตรภาพ และแกนนำกลุ่มคัดค้านเหมืองหินและโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 8-17 พ.ค.นี้ จะมีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์การทำเหมืองปูนของ บริษัท ทีพีไอโพลีน จํากัด (มหาชน) หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติผ่อนผันให้ ทีพีไอโพลีน ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ที่ จ.สระบุรี
“ขอเชิญพี่น้องชาวมวกเหล็ก ,มิตรภาพ ,ปากช่องและพญาเย็น และประชาชนทุกท่าน ออกมาร่วมกันแสดงความคิดเห็น ร่วมทำประชาพิจารณ์คัดค้านการทำเหมืองปูนทีพีไอ” นายเรืองเกียรติ กล่าว
สำหรับกำหนดการการเปิดเวทีประชาพิจารณ์การทำเหมืองปูนของ บริษัท ทีพีไอโพลีน จํากัด (มหาชน) มีดังนี้ วันที่ 8 พ.ค.2565 หมู่ที่ 7 บ้านไทรงาม ต.มิตรภาพ ,วันที่ 8 หมู่ 5 ต.ทับกวาง อ. แก่งคอย ,วันที่ 9 พ.ค.2565 หมู่ที่ 8 บ้านคลองระบัง ต. มิตรภาพ ,วันที่ 10 พ.ค.2565 หมู่ที่ 10 บ้าน อมรศรี ต.มิตรภาพ ,วันที่ 11 พ.ค.2565 หมู่ที่ 3 ต.มิตรภาพ ,วันที่ 12 พ.ค.2565 หมู่ที่ 4 บ้านซับพริก ,วันที่ 13 พ.ค.2565 หมู่ที่ 2 บ้านคั่นตะเคียน ,วันที่ 15 พ.ค.2565 หมู่ 10 บ้านน้ำพุ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย และวันที่ 17 พ.ค.2565 บ้านไทย ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย
นายเรืองเกียรติ กล่าวถึงปัญหาการทำเหมืองหินและโรงฟ้าถ่านหิน จ.สระบุรี ว่า เมื่อประมาณกลางปี 2564 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี(ครม.) มีมติผ่อนผันในการขอต่ออายุเหมืองปูนของ ทีพีไอโพลีน แม้ว่าชาวบ้านจะคัดค้านการอายุเหมืองปูนมาตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากที่ผ่านมาเหมืองปูนดังกล่าวไม่เคยมีการฟื้นฟูพื้นที่ป่าเลย อีกทั้งมีขอพื้นที่ทำเหมืองปูนแปลงใหม่แอบแฝงเข้าไป ซึ่งเป็นแปลงที่ละเมิดบุกรุกไปยังพื้นที่ข้างเคียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งยังพบว่ามีการขนแร่อื่นๆออกจากพื้นที่ด้วย
“เรากลัวว่าเรื่องนี้จะเป็นการทำผิดให้เป็นถูก เราจึงคัดค้าน ซึ่งในครั้งนั้นมีการเวทีรับฟังความคิดเห็นที่สนามกีฬามวกเหล็ก โดยรวมทุกหมู่บ้านเข้ามาทำประชาพิจารณ์ร่วมกัน แต่ก็มีการล้มเวที เพราะชาวบ้านไม่เอาด้วยกับโรงปูนทีพีไอ จากนั้นอีกประมาณ 3 เดือน ก็มีการจัดใหม่ แต่เปลี่ยนเป็นการทำประชาพิจารณ์แบบแยกหมู่ และยังจัดในยามวิกาล ผมและชาวบ้านจึงออกไปคัดค้านอีก ซึ่งก็พบว่าฝ่ายตรงข้ามมีการพกพาอาวุธเข้าไป ชาวบ้านจึงไล่จับการ์ดของทีพีไอ ส่งไปที่โรงพัก แต่โรงพักก็ไม่ยอมนำเข้าห้องขัง คนของผมจึงต้องตามไปถึงโรงพัก” นายเรืองเกียรติ กล่าว
นายเรืองเกียรติ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ต่อมาในช่วงกลางปี 2564 ครม.มีมติให้ผ่อนผันให้ ทีพีไอโพลีน ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 บี เพื่อทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนและหินดินดานเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ซึ่งพวกเราไม่ยอมเช่นกัน อีกทั้งพื้นที่ที่ พีไอโพลีน จะเข้าทำเหมืองปูน ซึ่งอยู่ใน อ.ทับกวาง ติดต่อกับ อ.แก่งคอยกับ และ อ.มวกเหล็ก นั้น พบว่าอยู่ใกล้กับสถานที่สำคัญหลายแห่ง
เช่น วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และได้รับการอนุรักษ์จากกรมศิลปากร ซึ่งเดิมเหมืองอยู่ห่างจากถ้ำ 2 กิโลเมตร แต่ตอนนี้ห่างกันเพียง 500 เมตร ซึ่งไม่ทราบว่าเหมืองกินพื้นที่เข้ามาได้อย่างไร อีกทั้งวัดถ้ำพระโพธิสัตว์ รัชกาลที่ 5 เคยทรงเสด็จประพาส และข้างบนเขาเป็นศิลา มีพระนามาภิไธยของรัชกาลที่ 5 มีการอนุรักษ์ไว้ และถ้ำแห่งนี้มีภาพสลักนูนต่ำสมัยทวาราวดีอายุประมาณ 3000 ปี รวมทั้งยังมีถ้ำลำพูทอง ซึ่งเป็นถ้ำที่มีความยาวที่สุดในพื้นที่ภาคกลาง โดยมีความยาวของถ้ำประมาณ 4 กิโลเมตร เชื่อมจากหมู่ 3 ต.มิตรภาพไปยังหมู่ 10 ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย
“พื้นที่บริเวณนี้เป็น Buffer Zone ติดกับเขตเขาใหญ่ สมัยก่อนไม่มีฝุ่นเลยอากาศเย็น แต่ทุกวันนี้อุณหภูมิเพิ่มขึ้น 4-5 องศา เคยเจาะน้ำบาดาลลงไปประมาณ 10 กว่าเมตร แต่ปัจจุบันต้องเจาะลงไป 50–60 เมตร เนื่องจากเหมืองนำน้ำไปใช้หมด ส่วนลำน้ำมวกเหล็กลงไปสู่น้ำตกมวกเหล็ก และน้ำตกเจ็ดสาวน้อยน้ำ ก็เริ่มแห้ง ถ้าฝนไม่ตก เราจึงต้องออกมาป้องกันเคลื่อนไหว ไม่ให้เป็นการทำลายธรรมชาติรอบรอบตัวเรา โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งถือว่าอุดมสมบูรณ์ มีทั้งเลียงผา , กระทิงและสัตว์ป่า และการรัฐบาลอนุมัติเรื่องนี้ โดยอ้างว่าเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม แห้งแล้ง รกร้างว่างเปล่า ถูกทอดทิ้งนั้น ความจริงแล้วไม่ใช่ และทุกวันนี้เหมืองเริ่มขยับเข้ามายังพื้นที่นี้อีก” นายเรืองเกียรติ ระบุ
นายเรืองเกียรติ ระบุว่า นอกจากชาวบ้านจะได้รับความเดือดร้อนจากการทำเหมืองปูนแล้ว ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการแอบสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 150 เมกะวัตต์ โดยที่ชาวบ้านไม่ทราบ ชาวบ้ายจึงได้สอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังอุตสาหกรรมจังหวัด และยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ด้วย และจากการสำรวจพื้นที่บริเวณโรงปูนพบว่า ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าทั้งหมด 7 แห่ง กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 440 เมกกะวัตต์
“เหมืองปูนและโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้ก่อให้เกิดมลพิษ ฝุ่นละออง สารพิษตกค้างไปทั่วบริเวณ เกิดปัญหาสุขภาพ ด้านระบบทางเดินหายใจ ปอด และมะเร็ง อีกทั้งยังมีผลกระทบต่ออาชีพเลี้ยงโคนม และอาชีพทางการเกษตร การปลูกผักปลอดสารพิษ และกระทบการท่องเที่ยว นอกจากนี้ สารพิษดังกล่าวได้กระจายไปยังแปลงผัก แปลงหญ้า ลงไปยังดิน และน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภค ซึ่งในระยะยาวจะทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ และรัฐบาลจะต้องเพิ่มงบประมาณค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ รวมทั้งยังเป็นการทำลายวิถีชุมชน ความหลากหลายทางชีวภาพ และวงจรชีวิตของสัตว์ป่า” นายเรืองเกียรติ กล่าว