"...มันประวิงเวลาไม่ได้ ถ้าเจรจาไม่จบ ถมไม่ได้ เขาก็ต้องจ่ายเงิน ซึ่งดอกเบี้ยวิ่งทุกวัน และที่กรมฯไม่ยอมโดยเร็ว เพราะเราไม่พอใจกับแผนการถม และขอยืนยันว่าที่เราคุยกับเขา เราคุยภายใต้คำสั่งศาล เพราะศาลสั่งมา ซึ่งกรณีอื่นศาลฯให้ปรับเป็นเงิน แต่กรณีนี้เป็นครั้งแรกที่ศาลสั่งให้ถม (หินปูน) ก่อน ถ้าถมไม่ได้จึงให้ชดใช้เป็นเงิน..."
......................
สืบเนื่องจากเมื่อปี 2562 ศาลแพ่ง (ศาลชั้นต้น) มีคำพิพากษาใน 2 คดี ให้ บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ซึ่งลักลอบขุดแร่หินปูนในพื้นที่นอกประทานบัตร และพื้นที่แนวกันชนห้ามทำเหมือง ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย นำแร่หินปูนรวม 46.22 ล้านตัน ไปถมกลับคืนพื้นที่เดิม หรือยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรวม 6,337 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ต่อมาบมจ.ทีพีไอโพลีน ยื่นอุทธรณ์ทั้ง 2 คดี แต่ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ สว 5/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 5/2562 จ. ในวันที่ 22 ก.ย.2563 นั้น ปรากฏว่า บมจ.ทีพีไอโพลีน ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอไกล่เกลี่ยคดีกับ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
โดยบมจ.ทีพีไอโพลลีน ยื่นข้อเสนอขอนำหินปูน 12.48 ล้านตัน ไปถมคืนในพื้นที่ Buffer Zone แทนการชดใช้เงิน 1,602.94 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี (อ่านประกอบ : พลิกคดี'ทีพีไอโพลีน' ลักลอบขุด‘หินปูน’ 46 ล้านตัน 6.3 พันล. เผือกร้อนในมือ ‘สุริยะ’)
อย่างไรก็ตาม หลังจากบมจ.ทีพีไอโพลีน เข้าเจรจาไกล่เกลี่ยคดีดังกล่าวกับ กพร. ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2563 แต่ผ่านมาแล้วเกือบ 7 เดือน การเจรจาไกล่เกลี่ยยังไม่ได้ข้อยุติ (อ่านประกอบ : อาจประวิงเวลา!โชว์หนังสือ‘คลัง’ค้านไกล่เกลี่ย ‘ทีพีไอโพลีน’ คดีลอบขุดหินปูน 6.3 พันล.)
ล่าสุด วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงเบื้องหลังในการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีลักลอบขุดแร่หินปูนระหว่าง กพร. และบมจ.ทีพีไอโพลีน ที่คงยังไม่ได้ข้อยุติจนถึงปัจจุบันนี้ ดังนี้
@ศาลฯสั่งให้ถมหินปูนก่อน-หากทำไม่ใด้จึงชดใช้เป็นเงิน
วิษณุ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กพร.ฟ้อง บมจ.ทีพีไอโพลีน ในคดีลักลอบขุดแร่หินปูนรวม 5 คดี ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้ กพร.ชนะทั้ง 5 คดี โดยศาลฯมีคำสั่งเป็น 2 แนวทาง คือ อันดับแรกให้ บมจ.ทีพีไอโพลีน นำหินปูนที่ขุดไปมาถมคืนพื้นที่เดิม แต่หาก บมจ.ทีพีไอโพลีน ทำไม่ได้ ให้ชดใช้เป็นเงินพร้อมดอกเบี้ย
อย่างไรก็ตาม ต่อมา บมจ.ทีพีไอโพลีน ยื่นอุทธรณ์ทันที พูดง่ายๆ คือ ไม่ยอมรับคำสั่งนี้ แต่ระหว่างที่ศาลอุทธรณ์กำลังพิจารณาตัดสินคดีแรก (คดีหมายเลขดำที่ สว 5/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 5/2562 จ.) บมจ.ทีพีไอโพลีน ยื่นคำร้องต่อศาลฯขอไกล่เกลี่ยคดี กระบวนการไกล่เกลี่ยจึงเริ่มต้นขึ้น
“กรณีนี้เป็นกรณีแรกที่ศาลฯสั่งให้เอาหินมาถมคืน หรือให้ชำระเป็นเงิน ต่างจากคดีแพ่งอื่นๆที่กรมฯเคยชนะ ซึ่งทั้งหมดศาลฯสั่งให้ชำระเป็นเงินทั้งหมด แต่นี่เป็นครั้งแรกที่ศาลให้ทางเลือก” วิษณุกล่าว
ต่อมาในการเจรจาไกล่เกลี่ยคดีนัดแรกที่มีผู้เข้าร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ ผู้ประนีประนอมประจำศาลอุทธรณ์ (ผู้พิพากษา) ซึ่งเป็นประธานไกล่เกลี่ย อัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งเป็นเจ้าของคดี ฝ่ายโจทก์ คือ กพร. และฝ่ายจำเลย คือ บมจ.ทีพีไอโพลีน นั้น ปรากฎว่า บมจ.ทีพีไอโพลีน ได้ยื่นข้อเสนอว่าจะนำหินมาถมคืน
ทั้งนี้ ตนได้บอกกับ บมจ.ทีพีไอโพลีน ว่า หากจะถมก็ทำได้ แต่ต้องเสนอแผนการถมมาให้ กพร. พิจารณาก่อนว่า การถมจะใช้เวลานานเพียงใด จะถมอย่างไร ใช้วิธีอะไร มีการบดอัดหรือไม่ และจะฟื้นฟูปลูกต้นไม้อย่างไร เพราะสิ่งที่ กพร.กังวลที่สุด คือ เมื่อถมแล้วเกิดความไม่เสถียรหรือพัง
“การเจรจาไกล่เกลี่ยทีแรก ผมตั้งโจทย์เลยว่า การที่เขาจะมาขอไกล่เกลี่ยกับกรมเหมืองฯ คุณมีสิทธิ์เลือกได้ 2 ทางตามคำสั่งศาลฯ คือ จะถมหรือใช้เป็นเงิน ผมเจรจาแค่นี้ ซึ่งนัดแรกเขามาบอกว่าพร้อมจะถม ผมก็บอกว่าถ้าจะถม ก็ให้เอาหินมาคืนและฟื้นฟูพื้นที่ให้เป็นสภาพดังเดิม ถ้าทำไม่ได้ให้ใช้เป็นเงิน เพราะศาลฯเรียงลำดับมาให้แล้ว” วิษณุย้ำ
@ที่มาข้อเสนอทีพีไอโพลีนขอถมหินปูนนาน 10 ปี
ส่วนที่มาข้อเสนอแผนถมหินปูน 10 ปี ของ บมจ.ทีพีไอโพลีน นั้น วิษณุ กล่าวว่า ในการไกล่เกลี่ยคดี ผู้ไกล่เกลี่ยของศาลฯถามว่า การชดใช้กรณีทั่วไป กพร.ทำอย่างไร จึงชี้แจงว่ากรณีศาลตัดสินให้จ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน กพร.จะเสนอแผนชำระเงินไปให้กรมบัญชีกลางพิจารณา เช่น ผ่อนกี่งวด กี่ปี ดอกเบี้ยเป็นเท่าไหร่
ผู้พิพากษาจึงถามต่อว่า ปกติเขาผ่อนกันกี่ปี กรมฯบอกว่า ที่ผ่านมาเอกชนรายอื่นๆขอผ่อนชำระ 10 ปี และกรมบัญชีกลางก็อนุญาตรายอื่นๆให้มีระยะเวลาผ่อน 10 ปี มาตลอด เมื่อ บมจ.ทีพีไอโพลีน ได้ยินอย่างนี้ จึงเสนอแผนถมเป็นเวลา 10 ปีบ้าง โดยอิงจากที่ กพร. เคยปฏิบัติกับกรมบัญชีกลาง และเป็นที่มาของแผนการถมหินคืน 10 ปี
อย่างไรก็ตาม อัยการเจ้าของสำนวนคดีรู้สึกกังวลและไม่แน่ใจว่า กรมบัญชีกลางจะเห็นด้วยหรือไม่ จึงแนะนำให้กรมฯถามความเห็นไปยังกรมบัญชีกลางก่อนว่าที่ บมจ.ทีพีไอโพลีน ขอถมหิน 10 ปี กรมบัญชีกลางเห็นด้วยหรือไม่ เพราะจะได้ไม่ต้องเสียเวลาในการจัดทำแผนการถมหิน
“เราก็รีบถามไปเลย แต่กรมบัญชีกลางตอบกลับมาว่า ที่ทีพีไอยื่นแผนขอถม 10 ปี กรมบัญชีกลางไม่เห็นด้วย เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นการประวิงเวลาไม่ให้เราไปบังคับคดีเขา พอตอบมาอย่างนี้ เราก็นำกลับมาคุยในกรรมการประนีประนอม แต่เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้ว ก็เห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะถมหินคืนตามคำสั่งศาลฯ” วิษณุ กล่าว
@กพร.ลดเวลาถมหินเหลือ 5 ปี-สั่งแก้แผนให้ครบถ้วน
วิษณุ ระบุว่า แม้ว่ากรมฯจะเห็นว่าการนำหินมาคืนนั้น มีความเป็นไปได้ แต่ยังกังวลเรื่องความปลอดภัยและความมั่นคงของการถมหิน จึงสอบถามไปยัง บมจ. ทีพีไอโพลีน ว่าจะทำอย่างไร ซึ่งขณะนั้น บมจ.ทีพีไอโพลีน ว่าจ้างที่ปรึกษา คือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้มาช่วยคิดจะถมอย่างไร และใช้เวลานานเพียงใด
ต่อมากรมฯได้นำผลศึกษาของที่ปรึกษาฯ มาพิจารณาก็พบว่า แผนการถมหิน 10 ปีของบมจ.ทีพีไอโพลี น่าจะนานเกินความจำเป็น
“แผนการถม 10 ปี น่าจะนานเกินความจำเป็น เพราะจากข้อเท็จจริง การถม การบดอัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่วิเคราะห์ว่า ภายในเวลา 5 ปีน่าจะเหมาะสมแล้ว อยู่ตัวแล้ว ไม่พังแล้ว เราจึงตกลงกับทีพีไอใหม่ว่า ผมดูข้อมูลทางเทคนิคของคุณแล้ว ให้เวลาถม 5 ปี พอ อย่าเกินกว่านี้
แต่ถ้าเร็วกว่านี้ เราเป็นห่วงเรื่องความมั่นคงแข็งแรง อาจเกิดการสไลด์ จึงตกลงใหม่ว่า ให้ บมจ.ทีพีไอโพลีน ไปเสนอแผนถมได้ไม่เกิน 5 ปี และดูแลรักษาต้นไม้อีก 2 ปี รวมเบ็ดเสร็จแล้วไม่เกิน 7 ปี ซึ่งในหลักการเบื้องต้นตกลงกันอย่างนี้ก่อน แต่ทีพีไอต้องจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจนที่สุด
อาทิ แผนงานการถม การบดอัด การฟื้นฟูและการปลูกต้นไม้ การสร้างจุดเฝ้าระวังเพื่อให้เจ้าหน้าที่ของกรมฯเข้าไปตรวจสอบว่ามีการถมตามแผนที่กำหนดหรือไม่ ซึ่งแผนที่ทีพีไอเสนอมาล่าสุดในเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา กรมฯพิจารณาแล้วยังไม่พอใจ เพราะยังขาดรายละเอียดที่สำคัญอีกหลายเรื่อง
เช่น ระยะเวลารายปีจะถมตรงไหน ปริมาณเท่าไหร่ เพราะที่เขาส่งมามันหยาบกว่าที่เราต้องการ หรืออย่างจุดตรวจวัดว่าการถม เขาก็ไม่แสดงให้เราดู และเขาไม่ได้มีการวิเคราะห์ว่าถ้าฝนตกเยอะๆ จะมีน้ำขังตรงไหนและหินสไลด์หรือไม่ เราจึงให้เขาวิเคราะห์ข้อมูลให้ครบถ้วน และส่งให้เราพิจารณาใหม่” วิษณุระบุ
(วิษณุ ทับเที่ยง)
@คาดทีพีไอยอมถมหินคืนดีกว่าชดใช้เป็นเงิน
เมื่อถามว่าหินปูนที่บมจ.ทีพีไอโพลีน จะมาถมคืนจะนำมาจากแหล่งใด วิษณุ กล่าวว่า หินที่นำมาถมจะนำมาจากประทานบัตรของ บมจ.ทีพีโพลีน ที่ปัจจุบันมีอยู่ 30 แปลงในพื้นที่แก่งคอย สระบุรี และในแผนการถมหิน กรมฯให้บริษัทฯกำหนดเลยว่า หินปูนที่นำมาถมจะนำมาจากประทานบัตรแปลงใด
“เราจะกำหนดให้ชัดเจนว่า ถ้ามาถมตรงนี้ จะเอาหินปูนจากประทานบัตรแปลงไหน และการไปขุดหินมาจากประทานบัตรที่มีอายุ เขาต้องมีค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียตามกฎหมายแร่ให้ครบถ้วน เช่น ค่าภาคกลาง ค่าบำรุงพิเศษ และไม่มีสิทธิ์ทำเหมืองนอกเขต” วิษณุกล่าว
เมื่อถามว่า การที่ บมจ.ทีพีไอโพลีน ขุดหินปูนจากประทานบัตรแปลงอื่นมาถมคืนพื้นที่เดิม จะคุ้มค่าหรือไม่ วิษณุ ระบุว่า ในการคิดความเสียหายจากมูลค่าแร่ กพร. จะคิดจากราคาประกาศที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเรียกเก็บค่าภาคหลวง โดยประเมินมาจากราคาซื้อขาย ซึ่งหากเป็นแร่ทั่วไป จะคิดจากต้นทุนการผลิต บวกค่าขนส่ง และบวกกำไรของคนทำเหมือง
ส่วนที่ บมจ.ทีพีไอโพลีน เลือกที่จะนำหินปูนจากประทานบัตรของบริษัทฯมาถมคืนนั้น คิดว่าบริษัทฯน่าจะคำนวณมาแล้วว่า ค่าใช้จ่ายในการนำหินมาถมคืนจะน้อยกว่าการชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน
“ถ้าทีพีไอ ทำเหมืองในประทานบัตรของตัวเอง และขนหินมาถม ต้นทุนจะถูกกว่าราคาที่เราประกาศ เพราะค่าขนส่งจะไม่มากเท่ากับแร่ที่ขนส่งมาจากที่อื่น และไม่มีการนำกำไรเข้ามาเกี่ยวข้อง จึงเป็นเรื่องของต้นทุนการผลิตล้วนๆ
ดังนั้น ถ้ายึดจากราคาที่เราเรียกค่าเสียหายจากเขา เขาคิดว่าทำเองจะถูกกว่า และเขาเองมีความสามารถในการทำเหมืองอยู่แล้ว เพียงแต่เขาต้องแยกแผนการทำเหมืองเพื่อป้อนโรงปูนซีเมนต์ และแยกการทำเหมืองขุดแร่แยกต่างหากเพื่อนำมาถมคืน ซึ่งเขาต้องหาเครื่องไม้เครื่องมือเข้ามาเพิ่ม…
แต่ถ้าเขาจะเอาเงินมาใช้เรา เงินจะหายไปจากบริษัท ซึ่งบริษัทเขาอยู่ในตลาดหุ้น ถ้าเขาเสียเงินระดับพันล้าน เพื่อชดใช้ค่าทำเหมือง ก็จะกระทบกับผลกำไรของบริษัทฯเขา แต่ถ้าถม ไม่กระทบอะไร แค่ทำงานเพิ่ม ผลิตหินเพิ่มเท่านั้น” วิษณุประเมิน
เมื่อถามว่า มั่นใจได้อย่างไรว่าหินที่ บมจ.ทีพีไอโพลีน นำมาถมคืนจะเป็นหินปูนจริง 100% วิษณุ กล่าวว่า บมจ.ทีพีไอโพลีน ต้องเอาแร่หินปูนมาจากประทานบัตรที่กรมฯอนุญาตเท่านั้น และกรมฯต้องมั่นใจว่าประทานบัตรที่อนุญาตไปนั้นแร่ทุกเม็ดเป็นแร่หินปูน แต่หากบริษัทฯเอาแร่มาจากที่อื่นมาก็จะเจอข้อหาลักลอบทำเหมืองเถื่อน
@นัดไกล่เกลี่ยครั้งที่ 7 จบหรือไม่ขึ้นอยู่แผนการถม
วิษณุ กล่าวว่า หลังจากเจรจาไกล่เกลี่ยคดีกับ บมจ.ทีพีไอโพลีน มาแล้ว 6 ครั้ง ในวันที่ 13 พ.ค.นี้ จะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยครั้งที่ 7 ส่วนจะเป็นการเจรจาไกล่เกลี่ยนัดสุดท้ายหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับแผนการถมหินของ บมจ.ทีพีไอโพลีน ว่า แผนที่เสนอกรมฯพอใจหรือไม่ และงานนี้กรมฯต้องพิจารณาให้รอบคอบ
“งานนี้กรมฯต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ เราต้องมั่นใจว่าเขาจะเสนอแผนที่ดีที่สุดสำหรับเรา ต้องถมหินให้ได้ตามปริมาณที่กำหนดไม่น้อยกว่า 12 ล้านตัน สภาพพื้นที่ต้องใกล้เคียงกับสภาพเดิม การฟื้นฟูต้นไม้ต้องดี ต้นไม้ต้องโต ไม่ตาย และในระหว่างทางเราต้องมั่นใจว่าเราต้องไม่ถูกหลอก
เราจึงต้องมีระบบกำกับ ไม่ให้เขาเอาหินอะไรแปลกมาไส่ให้เรา ซึ่งจะมีการบินโดรนสำรวจ และส่งคนไปเฝ้าหน้างานว่าหินตรงหรือเปล่า รวมทั้งจะใช้ระบบติดตามการทำเหมือง ซึ่งเรารู้ว่าจุดใดเขาทำเหมืองเพื่อเอาหินไปป้อนโรงงาน และจุดไหนที่เขาทำเหมืองเพื่อเองแร่มาถม” วิษณุกล่าว
วิษณุ ยังระบุว่า ในเดือนพ.ค.นี้ ศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาคดีลักลอบขุดหินปูนของ บมจ.ทีพีไอโพลีนอีก 2 คดี แต่จนถึงขณะนี้ บมจ.ทีพีไอโพลีน ยังไม่ได้ยื่นคำร้องไกล่เกลี่ยคดีแต่อย่างใด และในความเป็นจริงแล้ว บมจ.ทีพีไอโพลีนไม่จำเป็นต้องมาไกล่เกลี่ยเลย เพราะหากต้องการถมหินคืนตามคำสั่งศาลฯก็จบ
“ที่จริงเขาไม่ควรไกล่เกลี่ย แค่มาบอกว่ายินดีปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯก็จบเลย เพราะศาลฯสั่งว่าอันดับหนึ่งให้ไปถมก่อน ถ้าถมไม่ได้ ก็ชดใช้เงิน ผมเองจะไปบอกว่าไม่ยอม ก็ไม่ได้ และถ้าจะให้เขาชดใช้เป็นเงินเลย ผมก็ขัดคำสั่งศาลฯ” วิษณุกล่าว
วิษณุ กล่าวทิ้งท้ายว่า “มันประวิงเวลาไม่ได้ ถ้าเจรจาไม่จบ ถมไม่ได้ เขาก็ต้องจ่ายเงิน ซึ่งดอกเบี้ยวิ่งทุกวัน และที่กรมฯไม่ยอมโดยเร็ว เพราะเราไม่พอใจกับแผนการถม และขอยืนยันว่าที่เราคุยกับเขา เราคุยภายใต้คำสั่งศาล เพราะศาลสั่งมา ซึ่งกรณีอื่นศาลฯให้ปรับเป็นเงิน แต่กรณีนี้เป็นครั้งแรกที่ศาลสั่งให้ถม (หินปูน) ก่อน ถ้าถมไม่ได้จึงให้ชดใช้เป็นเงิน”
อ่านประกอบ :
นัดใหม่ 13 พ.ค.! 'กพร.' ขอศาลฯเลื่อนไกล่เกลี่ยคดี ‘ทีพีไอโพลีน’ ลอบขุดแร่ 1.6 พันล.
อาจประวิงเวลา!โชว์หนังสือ‘คลัง’ค้านไกล่เกลี่ย ‘ทีพีไอโพลีน’ คดีลอบขุดหินปูน 6.3 พันล.
พลิกคดี'ทีพีไอโพลีน' ลักลอบขุด‘หินปูน’ 46 ล้านตัน 6.3 พันล. เผือกร้อนในมือ ‘สุริยะ’
พลิกคดี บ.ทีพีไอ-พวก ออกเอกสารสิทธิ์ จ.สระบุรี 2.6 พันไร่ ก่อนโฉนดปลอมโผล่ซ้ำ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage