“…ที่ผมถามไป 10 กว่าราย ทุกคนบอกว่าถูกนักการเมืองในพื้นที่เรียกไปเคลียร์ที่บ้าน ทุกคนถูกเสนอราคาหมดเลย ถ้าใครพูดมากเสียงดัง เขาจะให้ราคาสูง แต่คนไหนที่อ้อแอ้หน่อยก็จะยอมง่ายๆ ไร่ละ 20,000-30,000 บาท เขาก็เอา เพื่อไม่ให้มีปัญหากับนักการเมืองในพื้นที่…”
..................
แม้จะสั่งยุติโครงการชั่วคราว
แต่ทว่า ‘โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ หรือโครงการเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต อ.จะนะ จ.สงขลา เนื้อที่ประมาณ 2 หมื่นไร่ ที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับกลุ่มทุนใหญ่ ‘ปัดฝุ่น’ โครงการตั้งแต่เมื่อปี 2562 (อ่านประกอบ : เปิด 2 มติครม."นับหนึ่ง"นิคมอุตฯจะนะ ขีดกรอบหน่วยงานรัฐทำตามกฎหมาย)
กำลังสร้างปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่อย่างหนัก
เพราะหลังเสร็จศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อวันที่ 16-19 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่ง ประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่ไว้วางใจพุ่งเป้าไปที่เครือญาติใกล้ชิด ‘นักการเมืองดัง’ กว้านซื้อที่ดินชาวบ้านในราคาถูกและนำไปขายต่อให้ ‘กลุ่มทุน’ กินส่วนต่างกำไรหลายเท่าตัวนั้น (อ่านประกอบ : จัดหนัก "จะนะ" ก้าวไกลปะทะ มท.2)
ปรากฏว่ากลุ่มทุนใหญ่มีเดินหน้าฟ้องร้อง ‘ขับไล่’ ชาวบ้านในพื้นที่หลายราย
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 มี.ค.2564 บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP โดย สิรภพ เริงฤทธิ์ ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง เจะเส็น ยีระมัน และชาวบ้านอีก 2 ราย เป็นจำเลย โดยขอให้ศาลจังหวัดนาทวีสั่งขับไล่จำเลยทั้ง 3 ออกจากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 เลขที่ดิน 81 ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา เนื้อที่ 28 ไร่ 3 งาน 85.2 ตารางวา
TPIPP ฟ้องว่า ชาวบ้านทั้ง 3 ราย เข้าไปไถ พรวน ปรับสภาพดินเพื่อปลูกแตงโมและปลูกไม้อื่นๆ บนที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 ซึ่งบริษัทฯได้ซื้อต่อจาก ธรขวัญ ยอไทย และจดทะเบียนซื้อขายที่ดินเมื่อวันที่ 17 ธ.ค.2561 ทำให้ต้นกระถินเทพาที่บริษัทฯปลูกไว้ 22,400 ต้น ล้มตายหมด
จึงขอให้ศาลฯพิพากษาให้ TPIPP เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 เลขที่ดิน 81 และให้จำเลยทั้ง 3 ออกจากพื้นที่ รวมทั้งจ่ายค่าเสียหายเป็นเงิน 2,523,097 บาท
(บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน 3 ราย ออกจากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 เลขที่ดิน 81)
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น 2 สัปดาห์ คือ เมื่อวันที่ 12 มี.ค.2564 เจะเส็น ยีระมัน และชาวบ้าน 2 ราย เข้ายื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลา โดยขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 เลขที่ดิน 81 ของ TPIPP เนื่องจากเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินทำกินที่ได้อาศัยอยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่และรุ่นพ่อ
นอกจากนี้ มีชาวบ้านอีก 2 กลุ่ม รวม 8 ราย ได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสงขลาใน 2 คดี โดยขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ดิน น.ส.3 ก. ของ TPIPP อีก 2 แปลง เนื่องจากเป็นการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินทำกินของชาวบ้านเช่นกัน
“ที่ดินทั้ง 3 แปลงมีการออกเอกสาร น.ส.3 ก เมื่อประมาณปี 2518 และส่วนใหญ่ได้โอนขายเปลี่ยนมือในปีถัดมา แล้วท้ายที่สุดมีการขายให้แก่บริษัท TPIPP และแม้ว่าที่ดินทั้ง 3 แปลงซึ่งการออกเอกสารสิทธินี้ กลับไม่ได้มีหลักฐานใดๆก่อนการออกเอกสารสิทธิทั้งสิ้น คงเป็นเพียงการอ้างจากการเดินสำรวจเท่านั้น
และที่บริษัท TPIPP อ้างว่า หลังจากซื้อที่ดินก็ได้ทำการปลูกกระถินเทพาเต็มพื้นที่ทุกแปลง แต่เมื่อตรวจสอบพื้นที่จริงพบว่าที่ดินส่วนใหญ่เป็นพื้นที่นา พื้นที่ปลูกแตงโม สภาพเป็นดินปนทราย มีทรายมากกว่า ไม่มีต้นไม้ใหญ่หรือกระถินเทพาอยู่ในพื้นที่ดังที่บริษัทให้การต่อเจ้าหน้าที่” ใบแจ้งข่าวมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ระบุ
(แนวเขตที่ดิน 3 แปลงที่ชาวบ้านบริเวณนิคมอุตสาหกรรมจะนะมีปัญหาฟ้องร้องกับ TPTPP)
@ทีพีไอเพาเวอร์ฟ้องชาวบ้านเพิ่มชนวนขัดแย้ง
ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยตั้งข้อสังเกตว่า คดีที่ TPIPP ฟ้องชาวบ้าน 3 ราย และขอให้ศาลฯขับไล่ออกจากที่ดิน น.ส.3 ก. เลขที่ 437 น่าจะมีสาเหตุสืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ชาวบ้านทั้ง 3 ราย ไปร้องคัดค้านการที่บริษัทฯขอรังวัดที่ดินเพื่อเปลี่ยนจาก น.ส.3 เป็นโฉนดที่ดิน
“ถ้าหาก TPI ยังใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการดำเนินการกับชาวบ้านในลักษณะแบบนี้ การจะบริษัทจะมาร่วมกันสร้างหรือเข้ามาลงทุนในพื้นที่นั้น จะทำให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น เพราะหาก TPI ใช้กระบวนการเจรจาและการพูดคุย ความขัดแย้งจะไม่รุนแรง แต่พอใช้ตัวกฎหมายเข้ามา ระดับความรุนแรงก็จะเพิ่มขึ้นตาม” ส.รัตนมณีกล่าว
ส.รัตนมณี กล่าวว่า ศูนย์ฯเข้าใจว่ากรณีนี้ทั้ง TPIPP และชาวบ้านต่างก็ใช้สิทธิ์ของตัวเอง แต่กรณีของชาวบ้านนั้น มีกฎหมายบังคับว่า หากชาวบ้านไม่ฟ้องก็จะสูญเสียที่ดินไปเลย ต่างจาก TPIPP ที่ยังพอมีเวลาที่จะเจรจา พูดคุย และทำความเข้าใจกับชาวบ้านได้
"ในฐานะที่ TPI เป็นบริษัทที่อยู่ในสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (Global Compact Network Thailand) ซึ่งมีหลักการว่าต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน เมื่อมีชาวบ้านคัดค้านโครงการนิคมฯจะนะ เพราะไปแย่งชิงทรัพยากรของเขา ไปเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวบ้าน TPI จึงต้องกลับไปทบทวนท่าที” ส.รัตนมณีกล่าว
@นักการเมืองกว้านซื้อที่ดินถูกขายต่อกำไร 8 เท่า
ด้าน สมบูรณ์ คำแหง แกนนำกลุ่มเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น บอกกับสำนักข่าวอิศราว่า ประเด็นปัญหาเรื่องที่ดินบริเวณพื้นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะนั้น กลุ่มฯมีข้อมูลว่า ชาวบ้านเป็นจำนวนมากถูก ‘นายหน้า’ ที่มีความเกี่ยวพันกับนักการเมืองในพื้นที่ เข้าไปเจรจาขอซื้อขายที่ดินในลักษณะที่เรียกว่า ‘บังคับซื้อ บังคับขาย’
“ที่ผมถามไป 10 กว่าราย ทุกคนบอกว่าถูกนักการเมืองในพื้นที่เรียกไปเคลียร์ที่บ้าน ทุกคนถูกเสนอราคาหมดเลย ถ้าใครพูดมากเสียงดัง เขาจะให้ราคาสูง แต่คนไหนที่อ้อแอ้หน่อยก็จะยอมง่ายๆ ไร่ละ 20,000-30,000 บาท เขาก็เอา เพื่อไม่ให้มีปัญหากับนักการเมืองในพื้นที่” สมบูรณ์กล่าว
สมบูรณ์ ประเมินว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา TPIPP เข้าซื้อที่ดินของชาวบ้านในบริเวณนิคมฯจะนะได้แล้ว 1 หมื่นไร่ โดยส่วนใหญ่ซื้อต่อจากนายหน้าในเครือข่ายนักการเมือง เพราะ TPIPP เป็นคนนอก แต่เชื่อว่าด้วยราคาที่ดินที่ซื้อต่อจากนายหน้าที่ไร่ละ 8 แสนถึง 1 ล้านบาท TPIPP ไม่น่าจะขาดทุน เพระที่ดินทุกแปลงเป็นโฉนด และเป็นที่ดินใกล้ทะเล
“เราพบกลุ่มชาวบ้านที่ขายที่ดินไปนั้น เป็นการขายแบบถูกกดราคา ซึ่งมีเยอะมาก เมื่อถามว่าขายไร่ละเท่าไร่ ต่ำสุดที่ชาวบ้านได้ คือ ไร่ละ 9,000 บาท และสูงสุดที่เรารู้ ไร่ละ 5 แสนบาท แต่คนที่ได้ 5 แสนบาท มีน้อยมาก ไม่น่าจะถึง 5 ราย โดยส่วนใหญ่จะขายได้ไร่ละ 30,000-60,000 บาท ซึ่งถูกมาก เทียบกับราคาปกติที่ขายกันที่ไร่ละ 2-3 แสนบาท
เราเคยถามทีมงานของนายหน้า เขาบอกว่าเขาเอาไปขายต่อได้ไร่ละ 8 แสนถึง 1 ล้านบาท ถ้าซื้อไร่ละ 1 แสน แล้วเอาไปขายไร่ละ 8 แสน กำไรเท่าไหร่ลองคิดดู และเมื่อ TPI เป็นคนนอก การซื้อที่ดินจึงต้องผ่านนายหน้า แต่เราคิดว่า TPI ไม่น่าจะขาดทุน เพราะถ้านิคมฯสร้างไม่ได้ แต่ที่ดินหมื่นไร่ ที่ดินริมทะเลพอเป็นโฉนดแล้ว ราคาก็สูงอยู่ดี” สมบูรณ์ระบุ
(สมบูรณ์ คำแหง ขอบคุณภาพ : www.naewna.com)
สมบูรณ์ ย้ำว่า “แม้ว่า TPI จะต้องเสียทั้งเงินซื้อที่ดิน และต้องฟ้องขับไล่ชาวบ้าน แต่ TPI ก็ไม่มีทางเลือก และเป็นภาวะจำเป็นที่เขาถอยไม่ได้ เพราะได้ที่ดินมาแล้ว”
สมบูรณ์ ยังระบุว่า ชาวบ้านเขากลัวมากเวลาเป็นคดีความขึ้นโรงขึ้นศาล เมื่อฟ้องแล้ว และหนังสือถึงชาวบ้าน เขาก็ตกใจแล้ว พอเรียกเคลียร์ก็ยอมง่ายๆ ทำให้ชาวบ้านขายที่ดินไม่ได้ราคา ส่วนชาวบ้านที่ฟ้องกลับ เขาก็เสี่ยง เพราะนักการเมืองในพื้นที่เล็งอยู่ ซึ่งถ้าเขามั่นใจ จะมีชาวบ้านฟ้องกันมากกว่านี้ แต่ที่กล้าออกมาก็มีประมาณ 10 ราย
@แยก 3 ปมปัญหาออกเอกสารสิทธิ์บริเวณนิคมฯจะนะ
สมบูรณ์ กล่าวถึงปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณนิคมฯจะนะ โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
ประเด็นแรก ชาวบ้านที่มีที่ดินเป็นมรดกตกทอด ซึ่งไม่เคยมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินใดๆเลย เนื่องจากหากเป็นชาวบ้านทั่วไป การขอออกเอกสารสิทธิ์จะทำได้ยากมา และเป็นปัญหาของชุมชนบริเวณชายฝั่งริมทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทย แต่จะพบว่าเมื่อชาวบ้านขายที่ดินไปให้รายที่ 2 หรือ 3 แล้ว ปรากฏว่าที่ดินดังกล่าวสามารถออกเอกสารสิทธิ์ได้ทันที
ประเด็นที่สอง ปัญหาการออก ‘เอกสารบิน’ หรือการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินอื่นๆทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ซึ่งมีหลายคดี เช่น เดิมชาวบ้านถือครอง ส.ค.1 (ใบแจ้งการครอบครองที่ดิน) และ ภ.ท.บ. 5 (เอกสารการเสียภาษีบำรุงท้องที่) โดยได้อาศัยทำมาหากินมานานแล้ว แต่ปรากฏว่าชาวบ้านมารู้ทีหลังว่าที่ดินที่ตนเองครอบครองถูกนำไปออกเป็น น.ส.3
“มีหลายคดีที่ชาวบ้านถือ ส.ค.1 อยู่ แต่มารู้ทีหลังว่าที่ดินถูกนำไปออกเป็น น.ส. 3 แล้ว พอรู้แล้ว ก็ไปแจ้งความ เมื่อเป็นคู่ความกัน ก็จะมีคนมาเจรจาว่า เพื่อให้จบๆคดีกัน จะเอาไร่ละกี่บาท แบบนี้มีหลายราย และเขาก็ยอม เพราะรู้สึกว่าเพลี่ยงพล้ำไปแล้ว เนื่องจากอีกฝั่งมีเอกสารสิทธิ์ เขาต้องยอมรับเงิน ซึ่งเป็นบังคับซื้อบังคับขายแบบหนึ่ง” สมบูรณ์กล่าว
(แนวพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมจะนะ ขอบคุณข้อมูล เพจเฟซบุ๊ก น.พ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ)
ประเด็นที่สาม ชาวบ้านถือครอง น.ส.3 ก. มาแต่เดิม แต่ต่อมาศูนย์รังวัดฯได้เดินสำรวจรังวัดที่ดินเพื่อออกโฉนดตาม ‘โครงการพิเศษ’ ของรัฐมนตรีมหาดไทยที่กำกับดูแลกรมที่ดิน แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่ไปเดินสำรวจที่ดินของชาวบ้านทั้งที่เป็นคนละแปลงกัน และออกโฉนดทับที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทั้งๆเป็นที่ดินมรดกที่ชาวบ้านทำกินมาตั้งแต่รุ่นพ่อ
นอกจากนี้ ยังมีการกรณีการปลอมแปลงลายนิ้วมือของชาวบ้าน และนำที่ดิน น.ส.3 ไปออกเป็นโฉนด เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ ซึ่งชาวบ้านไปแจ้งความที่โรงพักไว้แล้ว
“รายนี้เพิ่งรู้ตัวหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะเขารู้สึกผิดปกติ จึงไปตรวจสอบดูว่าที่ดินของเขายังอยู่หรือไม่ ปรากฏว่าที่ดินเขาเป็น น.ส.3 ตอนนี้เป็นโฉนดและกลายเป็นชื่อของคนอื่นไปแล้ว เขาก็งงว่าไปออกโฉนดได้อย่าง เขาจึงไปแจ้งความที่โรงพักว่ามีการปลอมลายนิ้วมือ” สมบูรณ์กล่าว
จากนี้ยังคงต้องติดตามบทสรุปของ ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะ’ ว่ารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตัดสินใจเดินหน้าโครงการต่อหรือไม่ และอย่างไร!
อ่านประกอบ :
ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.สอบอีก 2 รมต. ที่ดินเขากระโดง ‘ศักดิ์สยาม’-‘นิพนธ์’โดนนิคมฯจะนะ
อธิบดีดีเอสไอ-จนท.ลงพื้นที่‘นิคมฯจะนะ’สอบ‘บิ๊กทุน’รุกที่สาธารณะ-ป่าชายเลนพันไร่
ด่วน! สั่งยุติชั่วคราว "นิคมอุตสาหกรรมจะนะ"
จัดหนัก "จะนะ" ก้าวไกลปะทะ มท.2
จับกระแส "นิคมฯจะนะ - คดีเก่า อบจ.สงขลา" รับศึกซักฟอก มท.2
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/