“…ไม่มีหลักประกันใดๆว่า ทีพีไอโพลีน จะทำหินปูนทั้ง 12 ล้านตันเศษมาถมคืนได้ เพราะก่อนที่ ทีพีไอโพลีน จะถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง กพร. เคยสั่งให้ ทีพีไอโพลีน นำหินปูนกลับมาถมคืนที่เดิมหลายครั้งแล้ว แต่ ทีพีไอโพลีน ไม่ได้มีการดำเนินการตามคำสั่งของ กพร….”
..................
นับเป็นอีกหนึ่งคดีประวัติศาสตร์
สำหรับคดีที่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL กรณีลักลอบทำเหมืองเอา ‘แร่หินปูน’ ไปจากพื้นที่นอกเขตประทานบัตรที่ได้รับอนุญาตที่อยู่ติดกับประทานบัตร 27833/14709 และในพื้นที่แนวกันเขตห้ามทำเหมือง (Buffer Zone)
ย้อนกลับไปในปี 2537 ทีพีไอโพลีน เริ่มทำเหมืองแร่ในเขตพื้นที่ประทานบัตร 27833/14709 หลังได้รับอนุญาตให้ทำเหมืองแร่หินปูน ในเขตท้องที่ ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1A ติดกับศูนย์วิจัยพันธุ์สุกร อ.ทับกวาง ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ต่อมาเจ้าหน้าที่ กพร. ตรวจสอบพบว่าทีพีไอโพลีน มีการลักลอบทำเหมืองเอาแร่หินปูนในพื้นที่นอกเขตประทานบัตรที่ได้รับอนุญาติ และในเขต Buffer Zone โดยเจ้าหน้าที่ได้ทำการเปรียบเทียบปรับหลายครั้ง เช่น ปี 2547 ,2549 และปี 2558
แต่ อธิบดี กพร. ในสมัยนั้นๆ ไม่ได้มีการลงโทษถึงขั้น ‘เพิกถอน’ ประทานบัตรแต่อย่างใด
มีการฟ้องร้องดำเนิน ‘คดีอาญา’ กับ ทีพีไอโพลีน ที่มีการลักลอบทำเหมืองเอาแร่ในพื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709 ในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ และในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยแร่
แต่อัยการมีคำสั่ง ‘ไม่ฟ้อง’ ทั้ง 2 คดี
ส่วนการดำเนินคดีทางแพ่งนั้น พนักงานอัยการสระบุรี ได้ยื่นฟ้อง ทีพีไอโพลีน ต่อศาลจังหวัดสระบุรี 2 ครั้ง รวม 3 คดี ได้แก่
คดีแรก เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2558 อัยการฯยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสระบุรี ให้ ทีพีไอโพลีน นำแร่หินปูนที่ทำเหมืองเอาแร่ไปโดยผิดกฎหมายในพื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709 น้ำหนัก 31 ล้านตันเศษ มาคืน โดยการนำไปถมกลับที่เดิม หรือชดใช้เงินค่าเสียหายประมาณ 4,300 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
คดีที่สอง เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2559 อัยการฯยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสระบุรี ให้ ทีพีไอโพลีน นำแร่หินปูนที่ทำเหมืองเอาแร่ไปโดยผิดกฎหมายในพื้นที่แนวกันเขตห้ามทำเหมือง (Buffer Zone) น้ำหนัก 12 ล้านตันเศษ มาคืน โดยการนำไปถมกลับที่เดิม หรือชดใช้เงินค่าเสียหายประมาณ 1,670 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
คดีที่สาม เมื่อวันที่ 24 มี.ค.2559 อัยการฯยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดสระบุรี ให้ ทีพีไอโพลีน นำแร่หินปูนที่ทำเหมืองเอาแร่ไปโดยผิดกฎหมายในพื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709 น้ำหนัก 2.5 ล้านตัน มาคืน โดยการนำไปถมกลับที่เดิม หรือชดใช้เงินค่าเสียหายประมาณ 320 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
ต่อมาศาลจังหวัดสระบุรี มีคำสั่งให้โอนคดีแพ่งทั้ง 3 คดี ไปยังศาลแพ่งแผนกคดีสิ่งแวดล้อม ซึ่งศาลฯได้พิจารณาแล้ว และมีคำสั่งให้รวมคดีเหลือ 2 คดี คือ
1.คดีนำแร่หินปูนที่ทำเหมืองเอาแร่ไปโดยผิดกฎหมายในพื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709 แต่คนละช่วงเวลา ให้เป็นคดีเดียวกัน
2.คดีนำแร่หินปูนที่ทำเหมืองเอาแร่ไปโดยผิดกฎหมายในพื้นที่แนวกันเขตห้ามทำเหมือง (Buffer Zone)
ในระหว่างพิจารณาทั้ง 2 คดี ทีพีไอโพลีน ต่อสู้คดีว่า บริษัทฯ ไม่ได้ทำเหมืองเอาแร่จากพื้นที่ตามคำฟ้อง กระทั่งต่อมาในปี 2562 ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ กพร.ชนะคดี ทีพีไอโพลีน ทั้ง 2 คดี ประกอบด้วย
คดีแรก เมื่อวันที่ 2 ส.ค.2562 ศาลแพ่งมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สว 5/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 5/2562 จ. ให้ ทีพีไอโพลีน นำเอาแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 12.48 ล้านตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิม (พื้นที่เขต Buffer Zone) ที่ทำเหมืองเอาแร่ไปโดยผิดกฎหมาย พร้อมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม
หรือให้ ทีพีไอโพลีน ชำระเงินต้น 1,602.94 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ทราบผลการรังวัด (ทราบวันที่ 31 ส.ค.2558) จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 207 วัน เป็นเงิน 68.18 ล้านบาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 1,671.12 ล้านบาท
คดีที่สอง ศาลแพ่งมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ สว 4/2559, สว 6/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 7/2562, สว 8/2562 จ. ให้ ทีพีไอโพลีน นำเอาแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 31.52 ล้านตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิม (พื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709) ที่ทำเหมืองแร่เอาไปโดยผิดกฎหมาย พร้อมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม
หรือให้ ทีพีไอโพลีน ชำระเงินต้น 4,047.47 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่พบการลักลอบการทำเหมืองแร่ (พบเมื่อวันที่ 24 ก.ค.2557) จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 350 วัน เป็นเงิน 291.08 ล้านบาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 4,338.55 ล้านบาท
และให้ ทีพีไอโพลีน นำเอาแร่หินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ 2.44 ล้านตัน ไปถมกลับคืนยังพื้นที่เดิม (พื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709) ที่ทำเหมืองแร่เอาไปโดยผิดกฎหมาย พร้อมฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม
หรือให้ ทีพีไอโพลีน ชำระเงินต้น 314.31 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5% ต่อปีของเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่พบการลักลอบการทำเหมืองแร่ (พบเมื่อวันที่ 31 ส.ค.2558) จนถึงวันฟ้องเป็นเวลา 207 วัน เป็นเงิน 13.36 ล้านบาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงินทั้งสิ้น 327.68 ล้านบาท
รวมทั้ง 2 คดี ทีพีไอโพลีนต้องนำเอาแร่หินปูนไปถมคืนพื้นที่เดิมทั้งสิ้น 46.22 ล้านตัน หรือยอมชดใช้เงินต้นและดอกเบี้ยรวม 6,337.35 ล้านบาท ให้กับภาครัฐ
(ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายป่าไม้ภาคกลาง กรมป่าไม้ นำหมายศาลค้น บมจ.ทีพีไอ โพลีน ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย จ.สระบุรี หลังได้รับการร้องเรียนอาจจะมีการบุกรุกที่ป่า และประกอบกิจการเหมืองหินนอกเขตประทานบัตร เมื่อวันที่ 16 พ.ค.2555 ที่มา : กรมประชาสัมพันธ์)
ทีพีไอโพลีน ยื่นอุทธรณ์ทั้ง 2 คดี และศาลฯนัดอ่านคำพิพากษาในช่วงปลายปี 2563
แต่ทว่าก่อนศาลฯจะอ่านคำพิพากษาในคดีนำแร่หินปูนที่ทำเหมืองเอาแร่ไปโดยผิดกฎหมายในพื้นที่แนวกันเขตห้ามทำเหมือง (พื้นที่ Buffer Zone) จำนวน 12.48 ล้านตัน ทีพีโพลีน ยื่นคำร้องต่อศาลอุทธรณ์ขอไกล่เกลี่ยคดีกับ กพร. โดยอ้างว่าจะนำหินปูน 12.48 ล้านตัน ไปถมคืนในพื้นที่ Buffer Zone
แต่ขอเวลาดำเนินการ 10 ปี
อย่างไรก็ตาม อัยการเจ้าของสำนวนและกรมบัญชีกลาง ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว เพราะตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้ กพร.ชนะคดีนั้น กพร.อาจใช้สิทธิบังคับให้ ทีพีไอโพลีน ต้องนำแร่หินปูนมาถมคืนอยู่แล้ว อีกทั้งไม่มีความชัดเจนว่า ทีพีไอโพลีน จะนำหินแร่จำนวนมากดังกล่าว มาจากที่ใด
เพราะหินแร่ที่ยังไม่ได้มีการทำเหมืองล้วนมาจาก ‘ภูเขาหินปูน’ ซึ่งเป็นสมบัติของแผ่นดิน และมี กพร.ทำหน้าที่ดูแล แต่ปรากฏว่าอธิบดี กพร. ให้ความเห็นว่า การนำหินปูนกลับไปถมคืนนั้นสามารถ ‘ทำได้’
ท้ายที่สุดในการไกล่เกลี่ยของศาลอุทธรณ์ เมื่อเดือนก.พ.2564 คู่กรณี คือ กพร. และ ทีพีไอโพลีน ไม่สามารถไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ เนื่องจากข้อเสนอของ ทีพีไอโพลีน ที่เสนอว่าจะนำหินปูน 12.48 ล้านตัน ไปถมคืนในพื้นที่ Buffer Zone โดยใช้เวลาดำเนินการ 10 ปี ไม่เป็นที่พอใจของ กพร.
จึงเกิดคำถามที่ตามมาอย่างน้อย 3 ประเด็น คือ
ประเด็นแรก คดีนี้ภาครัฐเป็นผู้เสียหาย การที่ ทีพีไอโพลีน ประวิงเวลาออกไป โดยการขอไกล่เกลี่ยกับ กพร. ซึ่งจะมีการยื่นข้อเสนอใหม่ๆเข้ามาเรื่อยๆ จะทำให้สังคมเกิดความสงสัย หรือมีความไม่เชื่อมั่นในกระบวนการไกล่เกลี่ย หรืออาจต้องข้อสงสัยว่า จะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับเอกชนหรือไม่
ในเมื่อศาลอุทธรณ์กำลังจะนัดอ่านคำพิพากษาในคดีนำแร่หินปูนที่ทำเหมืองเอาแร่ไปโดยผิดกฎหมาย ในพื้นที่แนวกันเขตห้ามทำเหมือง (พื้นที่ Buffer Zone) และพื้นที่นอกเขตประทานบัตร 27833/14709 อยู่แล้ว
ประเด็นที่สอง การที่ ทีพีไอโพลีน อ้างว่าจะนำหินปูนน้ำหนัก 12 ล้านตันเศษ มาถมคืนในพื้นที่ Buffer Zone นั้น ทีพีไอโพลีน จะนำหินปูนจำนวนมหาศาลดังกล่าวมาจากแหล่งใด และหากมีการนำแร่หินปูนมาแหล่งอื่นมาถมคืนในพื้นที่ Buffer Zone ได้จริง ค่าใช้จ่ายในการดำเนินจะสูงมาก
เพราะการทำเหมืองเอาแร่หินปูนขึ้นมา มีค่าใช้จ่ายทั้งกำลังคน เชื้อเพลิง และเครื่องจักร รวมถึงค่าขนส่งเพื่อขนย้ายหินปูนมาถมคืนในพื้นที่ Buffer Zone ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวจะสูงกว่ามูลค่าหนี้ที่ ทีพีไอโพลีน ต้องชดใช้ให้ กพร. ตามคำพิพากษาของศาลฯชั้นต้นเสียอีก
จึงทำให้เกิดความถามว่า ทีพีไอโพลีน มีเจตนาที่จะนำหินปูนไปถมคืนพื้นที่ที่ถูกฟ้องจริงหรือไม่
ประเด็นที่สาม การที่ ทีพีไอโพลีน ยื่นข้อเสนอว่าจะนำหินปูนมาถมคืนพื้นที่เดิม โดยขอใช้เวลา 10 ปีนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลแพ่งฯ (ศาลชั้นต้น) พิพากษาให้ ทีพีไอโพลีน นำหินปูนมาถมคืนเต็มทั้งจำนวนตามคำฟ้องอยู่แล้ว
จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่ กพร.จะต้องผ่อนผันเวลาให้ ทีพีไอโพลีน เพราะ กพร. สามารถบังคับคดีได้เต็มจำนวนหนี้ได้ทันที
นอกจากนี้ ยังไม่มีหลักประกันใดๆว่า ทีพีไอโพลีน จะนำแร่หินปูนทั้ง 12 ล้านตันเศษมาถมคืนได้ เพราะก่อนที่ ทีพีไอโพลีน จะถูกฟ้องเป็นคดีแพ่ง กพร. เคยสั่งให้ ทีพีไอโพลีน นำหินปูนกลับมาถมคืนที่เดิมหลายครั้งแล้ว แต่ ทีพีไอโพลีน ไม่ได้มีการดำเนินการตามคำสั่งของ กพร.
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โทรศัพท์สอบถามกรณีดังกล่าวกับ วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร. คนปัจจุบัน โดยติดต่อผ่านหน้าห้องของอธิบดี กพร. ซึ่งหน้าห้องอธิบดี กพร. บอกว่าจะรับเรื่องไว้ และเรียนให้ อธิบดี กพร. ทราบ วันต่อมาสำนักข่าวอิศราโทรศัพท์เข้าไปสอบถามอีกครั้ง และได้รับคำตอบจากหน้าห้องอธิบดี กพร. ว่า “ท่านอธิบดีไม่สะดวกให้สัมภาษณ์”
นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศราโทรศัพท์ไปยัง ทีพีไอโพลีน เพื่อสอบถามความคืบหน้าในคดีนี้ และมีการโอนสายไปยังฝ่ายกฎหมาย ซึ่งผู้รับสายบอกว่า ฝ่ายกฎหมายที่ดูแลคดีนี้กำลังประชุมอยู่ ให้ฝากเบอร์โทรไว้แล้วจะติดต่อกลับ แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการติดต่อกลับมา
ท่ามกลางฝุ่นที่ยังไม่หายตลบ
จึงต้องติดตามต่อไปว่าคดีลักลอบทำเหมืองหินปูนโดยผิดกฎหมาย จะได้สรุปอย่างไรก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาออกมา และเป็นหน้าที่รับผิดชอบของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เจ้ากระทรวง ที่จะต้องลงมากำกับดูแลเรื่องนี้
เพื่อไม่ให้ภาครัฐเสียประโยชน์ และไม่ให้มีการ ‘เกี้ยเซียะ’ กันเกิดขึ้น!
อ่านประกอบ :
พลิกคดี บ.ทีพีไอ-พวก ออกเอกสารสิทธิ์ จ.สระบุรี 2.6 พันไร่ ก่อนโฉนดปลอมโผล่ซ้ำ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage