“…กรณีบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์ โดยขอปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ให้จำเลยดำเนินการถมแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ จำนวน 12,484,023.50 เมตริกตัน พร้อมทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี นั้น อาจเป็นการประวิงเวลาเพื่อไม่ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการบังคับคดี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จึงอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ…”
................
กำลังถูกตั้งคำถามว่าเป็นการ ‘ประวิงเวลา’ หรือไม่?
สำหรับคดีที่ศาลแพ่งฯ มีคำพิพากษาใน 2 คดี ให้ บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL ซึ่งลักลอบขุดแร่หินปูนในพื้นที่นอกประทานบัตร และพื้นที่แนวกันชนห้ามทำเหมือง ต.ทับกวาง อ.แก่งคอย นำแร่หินปูนรวม 46 ล้านตัน ไปถมกลับคืนพื้นที่เดิม หรือยอมชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินรวม 6,337 ล้านบาท
เพราะหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาทั้ง 2 คดีไปเมื่อปี 2562 และต่อมา ทีพีไอโพลีน ได้ใช้สิทธิขอยื่นอุทธรณ์ฯ ก่อนที่ในเวลาต่อมา ทีพีไอโพลีน จะยื่นขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาท กับ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ก่อนถึงวันนัดฟังคำพิพากษาหรือฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ คือ วันที่ 22 ก.ย.2563
แต่ปรากฏว่ากระบวนการ ‘ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท’ กลับใช้เวลากว่า 5 เดือนเศษแล้ว แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ ท่ามกลางเสียงคัดค้านทั้งจาก ‘กระทรวงการคลัง’ และ ‘อัยการเจ้าของสำนวน’ (อ่านประกอบ : พลิกคดี'ทีพีไอโพลีน' ลักลอบขุด‘หินปูน’ 46 ล้านตัน 6.3 พันล. เผือกร้อนในมือ ‘สุริยะ’)
หากย้อนกลับไปในวันที่ 17 ก.ย.2563 ศาลอุทธรณ์ มีหนังสือที่ ศย 200/5500 ฉบับลงวันที่ 17 ก.ย.2563 ขอยกเลิกวันนัดฟังคำพิพากษาและ/หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ล่วงหน้า คดีหมายเลขดำที่ สว 5/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 5/2562 จ. ระหว่าง กพร. และ ทีพีไอโพลีน ในวันที่ 22 ก.ย.2563 เวลา 10.00 น.
เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ศาลอุทธรณ์จึงแจ้งยกเลิกวันนัดฟังคำพิพากษาและ/หรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ล่วงหน้าตามวันและเวลาดังกล่าว
ต่อมาวันที่ 22 ก.ย.2563 ศาลอุทธรณ์เลื่อนนัดฟังคำพิพากษา และในวันที่ 7 ต.ค.2563 กพร. และ ทีพีไอโพลีน มีการไกล่เกลี่ยนัดแรก โดย ทีพีไอโพลีน ยื่นข้อเสนอว่าจะนำแร่หินปูนมาถมกลับคืนพื้นที่เดิม และจะจัดทำแผนปฏิบัติการกลับมาเสนอ กพร. ในการไกล่เกลี่ยนัดหน้า คือ ในวันที่ 5 พ.ย.2563
“ฝ่ายจำเลย (ทีพีไอโพลีน) เสนอทำการถมแร่หินปูนปริมาณ 12,484,023.50 เมตริกตัน (12.48 ล้านตัน) พร้อมทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ที่จำเลยทำเหมืองให้กลับคืนดีดังเดิม แต่ยังมีข้อขัดข้องในเรื่องของวิธีการปฏิบัติว่าต้องปฏิบัติอย่างไร เพื่อให้ถูกระเบียบของทางราชการ
ฝ่ายจำเลยจึงขอนำข้อเสนอและการจัดทำแผนปฏิบัติกลับไปปรึกษาตัวความก่อน แล้วจะแจ้งผลให้ทราบในนัดหน้า
พิเคราะห์แล้ว คดีมีทางตกลงกันได้ จึงให้เลื่อนนัดเพื่อฟังผลว่า ฝ่ายจำเลยจะยืนยันที่จะถมพื้นที่หรือไม่ หรือจะใช้วิธีการอย่างไร โดยให้นัดไกล่เกลี่ยออนไลน์ในวันที่ 22 ต.ค.2563 เวลา 9.00 นาฬิกา และนัดไกล่เกลี่ยที่ศาลอุทธรณ์เพื่อให้จำเลยเสนอแผนต่อโจทก์ในวันที่ 5 พ.ย.2563 เวลา 9.00 นาฬิกา” รายงานการไกล่เกลี่ยครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2563 คดีหมายเลขดำที่ พ กธ 99/2563 ระหว่าง กพร. และ บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) ระบุ
แต่ทว่าการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนัดที่ 2 ยังไม่ได้ข้อยุติ จนกระทั่งมีการไกล่เกลี่ยนัดถัดๆมาอย่างน้อย 2-3 ครั้ง แต่การไกล่เกลี่ยยังไม่ได้ข้อยุติเช่นเดิม
ล่าสุดมีการนัดไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกันอีกครั้งในวันที่ 29 มี.ค.2564 ที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ กพร. และ ทีพีไอโพลีน เดินหน้ากระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทนั้น เนื่องจาก กพร. เห็นว่า การไกล่เกลี่ยจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ประกอบกับจำเลยมีความตั้งใจที่จะขอไกล่เกลี่ยเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของคาลชั้นต้น
แต่ฝั่งกระทรวงการคลังมีความเห็นในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยกระทรวงการคลัง มองว่า การไกล่เกลี่ยดังกล่าวอาจเป็นการประวิงเวลา เพื่อไม่ให้ กพร. ดำเนินการบังคับคดี จึงอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ และอัยการผู้เจ้าของสำนวนเอง ก็ไม่เห็นด้วยกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นอุทธรณ์ดังกล่าว
โดยมีหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0407.3/1727 เรื่อง ขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์ของบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 ลงนามโดย จำเริญ โพธิยอด รองปลัดกระทรวงการคลัง ปฏิบัติหน้าที่แทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ส่งถึง วิษณุ ทับเที่ยง อธิบดี กพร. เนื้อหาว่า
“บริษัท ทีพีไอโพลีน จำกัด (มหาชน) จำเลย ได้ยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์ ขอปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยการถมแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จำนวน 12,484,023.50 เมตริกตัน พร้อมทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม
ซึ่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เห็นว่า การไกล่เกลี่ยจะเป็นประโยชน์ต่อรัฐ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ประกอบกับจำเลยมีความตั้งใจที่จะขอไกล่เกลี่ยเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จึงขอให้กระทรวงการคลังพิจารณา...นั้น
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ขอเรียนว่า กรณีบริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในชั้นอุทธรณ์ โดยขอปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ที่ให้จำเลยดำเนินการถมแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูนเพื่ออุตสาหกรรมปูนชีเมนต์ จำนวน 12,484,023.50 เมตริกตัน พร้อมทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่ให้กลับคืนดีดังเดิม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาถึง 10 ปี นั้น
อาจเป็นการประวิงเวลาเพื่อไม่ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ดำเนินการบังคับคดี การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท จึงอาจไม่เป็นประโยชน์ต่อทางราชการ ประกอบกับพนักงานอัยการผู้ดำเนินคดีมีความเห็นว่า ไม่เห็นด้วยกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทชั้นอุทธรณ์
ในชั้นนี้กระทรวงการคลังจึงมีความเห็นตามความเห็นของพนักงานอัยการผู้ดำเนินคดี จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบและดำเนินการต่อไป ผลเป็นประการใด โปรดแจ้งให้ทราบด้วย” หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0407.3/1727 ลงวันที่ 1 ก.พ.2564 ระบุ
จึงต้องติดตามต่อไปว่า คดีลักลอบขุดแร่หินปูนของ ‘ทีพีไอโพลีน’ ในพื้นที่แนวกันชนห้ามทำเหมือง ปริมาณ 12.48 ล้านตัน มูลค่า 1,671 ล้านบาท ซึ่งศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาไปแล้วนั้น จะยุติลงเช่นใด และเมื่อใด หลังจากใช้เวลาไกล่เกลี่ยคดีกว่า 5 เดือนเศษแล้ว
รวมทั้งต้องติดตามว่า คดีลักลอบขุดแร่หินปูนของ 'ทีพีโอโพลีน' ในคดีหมายเลขดำที่ สว 4/2559, สว 6/2559 คดีหมายเลขแดงที่ สว 7/2562, สว 8/2562 จ. ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ 'ทีพีโอโพลีน' นำแร่หินปูนไปถามคืนพื้นที่เดิม ปริมาณ 33.96 ล้านตัน หรือให้ชดใช้ความเสียหาย 4,666.23 ล้านบาทนั้น
จะมีการนำกระบวนการ 'ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท' มาใช้อีกหรือไม่?
อ่านประกอบ :
พลิกคดี'ทีพีไอโพลีน' ลักลอบขุด‘หินปูน’ 46 ล้านตัน 6.3 พันล. เผือกร้อนในมือ ‘สุริยะ’
พลิกคดี บ.ทีพีไอ-พวก ออกเอกสารสิทธิ์ จ.สระบุรี 2.6 พันไร่ ก่อนโฉนดปลอมโผล่ซ้ำ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage