4 กสทช. แจงมติ กสทช. อนุญาตรวมธุรกิจ AIS-3BB ส่งผลกระทบในวงจำกัด เหตุมีบริการทดแทน-ค่าย NT เข้ามาถ่วงการแข่งขัน ยอมรับค่าบริการอาจ ‘แพงขึ้น’ แต่ ‘มาตรการเฉพาะ’ ป้องกัน-ชดเชยผลกระทบได้ ส่งผลดีเศรษฐกิจภาพรวม ด้าน 'สภาผู้บริโภค' ออกแถลงการณ์ผิดหวัง 'มติ กสทช.'
...................................
จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีมติ 4 ต่อ 1 เสียง อนุญาตการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) ในเครือ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ AIS และบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ หรือ 3BB และกำหนดมาตรการเฉพาะ นั้น (อ่านประกอบ : ห้ามขึ้นราคา-ลดคุณภาพ! มติ 4:1 กสทช.อนุญาตรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AIS-3BB กำหนด 22 มาตรการเฉพาะ)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในช่วงค่ำของวันเดียวกันนั้น (10 พ.ย.) กรรมการ กสทช. 4 ราย ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ ,รศ.ดร.พิรงรอง รามสูต ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ แถลงมติ กสทช. ที่อนุญาตการรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB โดยระบุว่า แม้ว่าการรวมธุรกิจครั้งนี้จะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดอินเตอร์เน็ตประจำที่ แต่ระดับผลกระทบอยู่ในวงจำกัด และมาตรการเฉพาะสามารถชดเชยผลกระทบได้
@หลังควบรวมเหลือ 3 รายใหญ่-NT เป็นตัวถ่วงการแข่งขัน
รศ.ดร.ศุภัช กล่าวว่า หลังจาก กสทช. มีมติอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB แล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจอินเตอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) ลดจาก 4 รายใหญ่เหลือ 3 รายใหญ่ คือ AIS-3BB ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 41% ,ค่าย TRUE ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 35% และค่าย NT (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) ซึ่งมีส่วนแบ่งตลาด 16-17% ส่วนรายจิ๋วรายเล็ก มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 2% ซึ่งทำให้ค่า HHI (ดัชนีที่ใช้วัดการกระจุกตัว) สูงขึ้น
“คราวนี้จะเหลืออยู่ 3 ราย แต่โอกาสที่จะเกิด collusion (การฮั้ว) ระหว่าง 3 ราย เป็นไปได้ยากมาก เพราะ NT เป็นของรัฐบาล เป็นรัฐวิสาหกิจที่ถูกควบคุมโดยกระทรวงดีอี (กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) บอร์ด NT คงไม่เคาะอะไรที่มีลักษณะเป็นการ collusion แน่นอน ดังนั้น NT จึงเป็นตัวถ่วงการแข่งขัน หน่วงไม่ให้ไปไกล และแม้ว่า NT จะมีส่วนแบ่งตลาดไม่มากนัก แต่ถ้าโครงสร้างพื้นฐานที่ NT มีอยู่ จะพบว่าของ NT ใหญ่มาก
โดย NT มีโครงข่ายฯครอบคลุมพื้นที่ 111,000 ตารางกิโลเมตรทั่วประเทศ TRUE มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่ 82,000 ตารางกิโลเมตร ส่วน 3BB ครอบคลุม 118,000 ตารางกิโลเมตร และ AIS น้อยสุด 42,000 ตารางกิโลเมตร ดังนั้น ถ้าหากรายใหญ่ 2 เจ้าไปฮั้วกันหรือไม่ทำอะไรกัน ทาง NT ก็จะเข้ามาทดแทน เพราะมีพื้นที่ครอบคลุมเยอะ อีกทั้งยังมีสินค้าทดแทน คือ เน็ตประชารัฐ เกือบ 4 หมื่นจุด รวมถึงมีบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่เข้ามาทดแทนได้” รศ.ดร.ศุภัช กล่าว
รศ.ดร.ศุภัช ระบุว่า จากผลการศึกษาของที่ปรึกษาฯทั้งในและต่างประเทศ และผลการศึกษาของสำนักงาน กสทช. เอง พบว่า การรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB นั้น มีทั้งผลการศึกษาฯที่ระบุว่า จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น และผลการศึกษาฯที่ระบุว่า จะทำให้ค่าบริการลดลง โดยผลการศึกษาของสำนักงาน กสทช. พบว่า หากมีการแข่งขันกัน ค่าบริการจะทำให้ราคาเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1% จากปัจจุบัน แต่หากมีการแข่งขันระดับปานกลาง ราคาจะเพิ่มขึ้น 4%
และหากทั้ง 3 ราย คือ AIS-3BB ,TRUE และ NT มีการฮั้วกัน จะทำให้ค่าบริการเพิ่มขึ้น 16% แต่เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะ NT ไม่น่าจะไปร่วมฮั้วราคาด้วย ส่วนผลศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ คือ SCF Associates Ltd. ระบุว่า ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น 1-17% จากปัจจุบัน ในขณะที่ผลการศึกษาฯของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พบว่า หากมีการแข่งขันอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ราคาค่าบริการจะลดลง
@รับค่าบริการอาจแพงขึ้น แต่มีการชดเชยผลกระทบ
รศ.ดร.ศุภัช กล่าวต่อว่า แม้ว่าการรวมธุรกิจ AWN และ 3BB จะทำให้ค่าบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่สิ่งที่เป็นบวกจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้ (Efficiency Gain) คือ จะลดการลงทุนที่ซ้ำซ้อนของ AIS และ 3BB ประมาณ 10,000-15,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี หรือเฉลี่ยปีละ 3,000 ล้านบาท ซึ่งในมาตรการเฉพาะกำหนดให้ AIS และ 3BB นำเงินตรงนี้ไปลงทุนโครงข่าย 5G หรือโครงข่าย Fixed line ในพื้นที่ห่างไกล จะทำให้ GDP เพิ่มขึ้น 0.18-0.49%
“ถ้าเอาเงินลงทุนที่ซ้ำซ้อนกันไปลงทุน จะทำให้เกิด Net Gain ประมาณ 0.18-0.49% ต่อ GDP ซึ่งจะชดเชยผลกระทบเชิงลบจากราคาค่าบริการที่อาจจะเพิ่มขึ้นได้ จึงเป็นที่มาของหนึ่งในมาตรการเฉพาะที่กำหนดให้เอกชนที่ควบรวมกัน ต้องลงทุนอย่างน้อย 10,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี” รศ.ดร.ศุภัช กล่าว
รศ.ดร.ศุภัช กล่าวด้วยว่า ในเรื่องควบคุมราคาค่าบริการนั้น กสทช.ได้กำหนดไว้มาตรการเฉพาะ ให้ AWN และ 3BB ห้ามขึ้นค่าราคาค่าบริการ ต้องรักษาคุณภาพบริการ และต้องคงแพ็คเกจที่มีราคาถูกสุดเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี เป็นต้น แตกต่างจากกรณีการควบรวม TRUE และ DTAC ที่ใช้วิธีหาราคาเฉลี่ย ซึ่งแม้ว่าจะทำให้ราคาค่าบริการต่อแพ็คเกจลดลง เพราะมีการให้ปริมาณการใช้งานอินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้น แต่กลับพบว่าแพ็คเกจที่มีราคาถูกสุดหายไป
นอกจากนี้ กสทช.ได้กำหนดมาตรการส่งเสริม ให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายสามารถเข้ามาใช้โครงข่ายของผู้ที่ขอรวมกิจการ โดยได้รับสิทธิเงื่อนไขในการเข้าใช้โครงข่ายได้เช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ ซึ่งจะทำให้มีผู้ให้บริการ fixed broadband ในระดับพื้นที่เพิ่มขึ้น
@ผลกระทบอยู่ในวงจำกัด-มาตรการเฉพาะป้องกันได้
รศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า การรวมธุรกิจระหว่าง AWN และ 3BB จะส่งผลกระทบต่อตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) และราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ เนื่องจากทำให้ผู้ให้บริการลดจาก 4 รายใหญ่ เหลือ 3 รายใหญ่ ซึ่งในการลงมติอนุญาตการรวมธุรกิจในครั้งนี้ กสทช. นำหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence Based) มาใช้พิจารณาค่อนข้างมาก รวมทั้งนำผลการศึกษาฯของที่ปรึกษาฯ มาประกอบการพิจารณาตัดสินใจด้วย
“ขอบเขตของผลกระทบ (การรวมธุรกิจ AWN และ 3BB) ค่อนข้างอยู่ในวงจำกัด และบอร์ดเห็นว่าไม่ถึงขั้นผูกขาดแน่นอน แต่เมื่อมีการควบรวมกัน ย่อมมีผลต่อการลดการแข่งขันแน่นอน ซึ่งการออกมาตรการเฉพาะจะสามารถป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือเกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันได้ รวมทั้งสามารถส่งต่อผลประโยชน์จากการรวมธุรกิจ ไปสู่ผู้บริโภคและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย” รศ.ดร.พิรงรอง กล่าว
รศ.ดร.พิรงรอง กล่าวว่า การออกแบบมาตรการเฉพาะในครั้งนี้ ได้นำบทเรียนจากกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE-DTAC มาทบทวน เช่น ที่บอกให้ลดราคาค่าแพ็คเกจโดยเฉลี่ย 12% นั้น พบว่าเป็นไปได้ยาก เพราะไม่รู้ว่าจริงๆแล้วแพ็คเกจมีจำนวนเท่าไหร่ และการหาค่าเฉลี่ยทำอย่างไร รวมทั้งศักยภาพในการบังคับฯของสำนักงาน กสทช. มีจำกัด ดังนั้น ในครั้งนี้ กสทช.จึงกำหนดให้มีการคงแพ็คเกจราคาต่ำสุดไว้ 5 ปี และห้ามขึ้นราคาบริการ ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้
นอกจากนี้ ในส่วนคณะอนุกรรมการ merger monitor ที่ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะนั้น กสทช. กำหนดอนุกรรมการฯชุดนี้ มีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชากร องค์กรวิชาชีพด้านโทรคมนาคม และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมเป็นอนุกรรมการฯด้วย จากเดิมที่เฉพาะคนจากสำนักงาน กสทช. เข้ามาเป็นอนุกรรมการฯ รวมทั้งให้มีการพัฒนาระบบเพื่อให้ผู้บริโภคตรวจสอบคุณภาพบริการได้ด้วยตนเอง
ขณะที่ รศ.ดร.สมภพ กล่าวว่า ในการกำหนดมาตรการเฉพาะนั้น กสทช.กำหนดให้ AWN และ 3BB ต้องคงแพ็คเกจราคาต่ำสุดที่มีอยู่ในปัจจุบันไว้เป็นเวลา 5 ปี และให้คงแพ็คเกจที่ผู้ใช้บริการใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นเวลา 5 ปีด้วย รวมทั้งให้บริษัทฯ ทำแผนการลงทุนโครงข่ายฯในพื้นที่ชายขอบเข้ามาให้ กสทช.พิจารณาให้ความเห็นชอบด้วย ซึ่งแผนดังกล่าวต้องไม่รวมอยู่ในแผนการลงทุนประจำปีของบริษัทฯ และไม่ซ้ำกับแผน USO (Universal Service Obligation)
ส่วนมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายสามารถเข้ามาใช้โครงข่ายของผู้ที่ขอรวมกิจการ (AWN และ 3BB) นั้น มาตรการเฉพาะ กำหนดให้การเช่าบริการโครงข่ายฯของ AWN และ 3BB จะต้องไม่มีการกำหนดเพดานขั้นต่ำ เพราะหากมีการกำหนดเพดานขั้นต่ำไว้ ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายฯ คงไม่สามารถเข้าไปเช่าโครงข่ายฯได้
@‘ประธาน กสทช.’ไม่ร่วมพิจารณา‘มาตรการเฉพาะ’
ด้าน พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ ระบุว่า การพิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB ใช้แนวทางเดียวกับกรณีการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ซึ่งในการลงมติว่า กสทช.จะมีกระบวนการพิจารณาอย่างไร นั้น กรรมการ 5 เสียง ลงมติว่า กสทช. มีอำนาจ ‘อนุญาต’ การรวมธุรกิจครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปตามข้อ 8 ของประกาศฯ เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดฯ ปี 2549 (ประกาศฯปี 2549)
ส่วนกรรมการ 2 เสียง คือ ศ.คลินิก นพ.สรณ และ พล.ต.อ.ดร. ลงมติว่า กสทช.มีอำนาจเพียง ‘รับทราบ’ รายงานการรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกากับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปี 2561 (ประกาศฯปี 2561) เท่านั้น
“การขอรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB เป็นกรณีที่ บริษัท A มาซื้อหุ้น บริษัท B ทำให้บริษัท A ใหญ่ขึ้น และบริษัท B เล็กลง แต่บริษัท A และบริษัท B ยังอยู่ จึงถือเป็นการรวมธุรกิจประเภทเดียวกัน ซึ่ง กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาว่า จะ ‘อนุญาต’ หรือ ‘ไม่อนุญาต’ ให้รวมธุรกิจหรือไม่ และหากเห็นว่าการอนุญาตจะส่งต่อการผูกขาดหรือลดการแข่งขัน ก็สามารถกำหนดมาตรการเฉพาะ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการรวมธุรกิจได้” พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ระบุ
พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ กล่าวว่า หลังจากที่ประชุมฯ มีมติ 5 ต่อ 2 ว่า กสทช. มีอำนาจในการอนุญาตหรือไม่อนุญาต การรวมธุรกิจ AIS และ 3BB ไม่ใช่เพียง ‘รับทราบ’ รายงานการรวมธุรกิจฯเท่านั้น ศ.คลินิก นพ.สรณ ในฐานะประธาน กสทช. จึงบอกว่า ไม่ขอร่วมพิจารณาว่าจะ ‘อนุญาต’ ให้รวมธุรกิจหรือไม่ และบอกว่าเมื่อกลับจากงานรับกฐินพระราชทานแล้ว จะเข้าร่วมพิจารณาเกี่ยวกับมาตรการเฉพาะ แต่ ศ.คลินิก นพ.สรณ รวมถึง พล.ต.อ.ดร. ณัฐธร ไม่เข้าร่วมการประชุม
กระทั่งในเวลาต่อมาที่ประชุม กสทช. ได้มีมติ 4 ต่อ 1 เสียง ‘อนุญาต’ การรวมธุรกิจระหว่าง AIS และ 3BB และกำหนดมาตรการเฉพาะ ส่วนกรรมการอีก 2 เสียง คือ ศ.คลินิก นพ.สรณ และ พล.ต.อ.ดร. ณัฐธร ไม่เข้าร่วมประชุม
@ผลกระทบ‘รวมธุรกิจ’ไม่รุนแรง เหตุมีบริการทดแทน
นอกจากนี้ กสทช. ทั้ง 4 ราย ได้เผยแพร่เอกสารข่าวความยาว 3 หน้ากระดาษ โดยมีเนื้อหาว่า “หลังจากใช้เวลาประชุมรวมกว่า 6 ชั่วโมง ในวาระเพื่อพิจารณาการรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (TTTBB)
บอร์ด กสทช. มีมติเสียงข้างมาก 4 เสียง ได้แก่ พล.อ.ท.ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการกระจายเสียง , ศ.กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ ,รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ และ รศ.ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรคมนาคม อนุญาตให้ AWN บริษัทในเครือ AIS และ TTTBB ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตภายใต้แบรนด์ 3BB รวมธุรกิจแบบมีเงื่อนไข
โดยมีกรรมการ กสทช. 2 คน ได้แก่ ศ.คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานบอร์ด กสทช. และ พล.ต.อ.ดร. ณัฐธร เพราะสุนทร กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย ลงมติ “รับทราบ” การรวมธุรกิจ ขณะที่นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน งดออกเสียง
ทั้งนี้ กรรมการเสียงข้างมากพิจารณาว่า แม้การรวมธุรกิจจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันในตลาดอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) และราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ แต่ขอบเขตและระดับของผลกระทบไม่รุนแรง เพราะมีบริการทดแทนกันได้สูงจากบริการอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่
จากการสำรวจข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคบริการโทรคมนาคมของผู้ใช้บริการทั่วประเทศโดยสำนักงาน กสทช. จำนวน 6,486 ตัวอย่าง พบว่า มีผู้ตอบแบบสอบถามเพียง 3 รายเท่านั้น ที่ใช้บริการ Fixed Broadband เพียงอย่างเดียว ส่วนผู้ใช้บริการ Mobile Broadband เพียงอย่างเดียวมีจำนวน 642 ราย (ร้อยละ 10) และผู้ใช้บริการทั้ง Fixed Broadband และ Mobile Broadband มีจำนวน 5,730 ราย (ร้อยละ 90)
ดังนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่จึงมีน้อย เพราะสามารถแทนที่ด้วยบริการ Mobile Broadband ได้ นอกจากนี้ สำหรับพื้นที่ห่างไกลก็ยังมีเน็ตประชารัฐ และ USO Net (ศูนย์ที่ กสทช. จัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม: Universal Service Obligation) เกือบ 50,000 จุดทั่วประเทศ
@ลดลงทุนซ้ำซ้อน 1.5 หมื่นล.-ขยายโครงข่ายพท.ห่างไกล
ในแง่ของการแข่งขันในตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ (fixed broadband) นั้น ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ 13 ล้านราย ภายหลังการรวมธุรกิจจะมีจำนวนผู้ประกอบการลดลงจาก 4 รายใหญ่เหลือ 3 รายใหญ่ ซึ่งตลาดยังมี NT (บมจ.โทรคมนาคมแห่งชาติ) เป็นผู้ให้บริการที่มีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 16% และมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะร่วมมือกับอีกสองรายใหญ่ เนื่องจากเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงยังสร้างความกดดันในการแข่งขันได้
ในขณะเดียวกัน กสทช. ยังพบว่ามีข้อมูลที่สอดคล้องกันของรายงานการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของสำนักงาน การศึกษาของที่ปรึกษาในประเทศ (สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) และการศึกษาของที่ปรึกษาต่างประเทศ (SCF Associates Ltd.) ที่เห็นตรงกันว่าการรวมธุรกิจครั้งนี้จะก่อให้เกิดประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นต่อตลาด
จากรายงานของที่ปรึกษาต่างประเทศ ภายหลังการรวมธุรกิจ ผู้รวมธุรกิจไม่ต้องลงทุนซ้ำซ้อนนำไปสู่ประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น (Efficiency Gain) มูลค่าสูงสุดได้ถึง 10,000-15,000 ล้านบาท ในช่วง 5 ปี
ทาง กสทช. จึงกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ให้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปลงทุนในโครงข่าย Fixed Broadband Access ในพื้นที่ที่มูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำหรือพื้นที่ห่างไกล อันจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สุทธิ (Net Benefit) ต่อเศรษฐกิจในภาพรวม 88,690 ล้านบาทในช่วง 5 ปีคิดเป็นร้อยละ 0.18-0.49 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ณ ราคาปัจจุบัน (Nominal GDP)
การกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะในการนำเงินไปลงทุนดังกล่าวข้างต้น จะทำให้โครงข่าย Fixed Broadband Access ขยายครอบคลุมมากขึ้นในพื้นที่ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำที่ยังไม่มีโครงข่ายในปัจจุบัน
@คงแพ็คเกจราคาต่ำสุด 5 ปี-ตั้งอนุกรรมการฯติดตาม
สำหรับในเรื่องของการควบคุมราคานั้น ได้มีการกำหนดมาตรการเฉพาะกำหนดห้ามขึ้นราคาหรือลดคุณภาพบริการ และให้คงแพ็คเกจราคาต่ำสุดสำหรับอินเทอร์เน็ตประจำที่เป็นเวลา 5 ปี
นอกจากนี้ กำหนดให้มีอนุกรรมการทำหน้าที่เป็น merger monitor เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและป้องกันการขึ้นราคาจากผู้รวมธุรกิจเป็นเวลา 5 ปี โดยมีส่วนร่วมจากองค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และองค์กรวิชาชีพ โทรคมนาคม
การจัดตั้งคณะอนุกรรมการ merger monitor ดังกล่าว มุ่งเน้นให้ติดตามตรวจสอบให้มีการปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะที่กำหนด โดยเป็นการถอดบทเรียนจากการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคมที่บอร์ด กสทช. เคยพิจารณา ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบจากภาคประชาสังคมในครั้งนี้จึงได้ออกแบบให้อนุกรรมการมีตัวแทนจากองค์กรผู้บริโภคและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องด้วย
อนึ่ง ยังมีมาตรการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่ายสามารถเข้ามาใช้โครงข่ายของผู้ที่ขอรวมกิจการ โดยได้รับสิทธิเงื่อนไขในการเข้าใช้โครงข่ายได้เช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตที่เกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันในพื้นที่เฉพาะในเชิงภูมิศาสตร์ของประเทศ โดยลดเงื่อนไขการเข้ามาประกอบกิจการผู้ประกอบการที่ไม่มีโครงข่าย
“บอร์ดเสียงข้างมากยืนยันว่า การพิจารณาครั้งนี้ต้องเป็นการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาต และไม่ใช่เพียงการรับทราบตามกฎหมายแล้ว กรณีการรวมธุรกิจ AWN-TTTBB เข้าข่ายเป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันตามข้อ 8 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ซึ่งระบุว่าจะกระทำมิได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ
ในทางปฏิบัติ บริษัท AWN ได้ส่งหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และ สำนักงาน กสทช. ระบุถึงการขออนุญาต กสทช. ในการรวมกิจการดังกล่าวด้วย” เอกสารข่าวระบุ
@สภาผู้บริโภคออกแถลงการณ์ผิดหวังมติ กสทช.ควบ AIS-3BB
รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย. สภาองค์กรของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค) ได้ออกแถลงการณ์ แสดงความผิดหวังต่อมติคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ได้อนุญาตให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัทในเครือเอไอเอส (AIS) และบริษัท ทริปเปิลบี บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือทรีบีบี (3BB) ควบรวมกิจการได้ ด้วยคะแนนเสียง 4 ต่อ 1 ในการประชุมเมื่อวานนี้ (10 พ.ย.2566)
โดยในแถลงการณ์ดังกล่าวนั้น สภาผู้บริโภคระบุว่า การลงมติดังกล่าวเป็นมติที่ไม่รักษาผลประโยชน์ผู้บริโภค กล่าวคือ แทนที่ กสทช. จะป้องกันปัญหาการผูกขาด กลับสร้างภาระให้ผู้บริโภคต้องจ่ายแพงขึ้น ที่แม้คณะกรรมการ กสทช. ได้ใช้อำนาจในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่มติดังกล่าวจะเพิ่มภาระผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งเมื่อตลาดด้านโทรคมนาคมในประเทศกำลังเดินเข้าสู่ภาวะการผูกขาดมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่เกิดจากการที่คณะกรรมการ กสทช. ชุดนี้เปิดทางให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระดับยักษ์ใหญ่ถึง 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 1 ปี 1 เดือน
ทั้งนี้ จากมติข้างต้น คณะกรรมการ กสทช. ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าการควบรวมครั้งนี้จะทำให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร อีกทั้งยังส่งผลให้สภาพของระบบโทรคมนาคมในประเทศไทยถอยหลังกลับไปหลายทศวรรษ กระทบต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญอย่างลึกซึ้งจนยากเกินเยียวยาในอนาคต โดยเฉพาะสังคมไทยที่เปลี่ยนผ่านสู่สังคมดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ แต่ผู้บริโภคกลับถูกจำกัดทางเลือก
นอกจากนี้ ยังทำให้การแข่งขันในระบบตลาดเสรีกลายเป็นตลาดผูกขาดเมื่อเหลือผู้แข่งระดับใหญ่เพียง 2 ราย อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะพิจารณาด้านหลักรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือหลักด้านเศรษฐศาสตร์ การปล่อยให้เกิดการผูกขาดของกิจการใด ๆ ในประเทศไทยที่ยึดหลักการค้าเสรีเป็นสิ่งที่ต้องหลีกเลี่ยง เพราะจะก่อให้เกิดการเสียเปรียบของประโยชน์สาธารณะ เป็นการละเลยสิทธิของประชาชนที่จะได้รับทางเลือกในการใช้บริการ ความเป็นธรรม ความเท่าเทียมและการเข้าถึงบริการต่าง ๆ อย่างทั่วถึง
แถลงการณ์ ยังระบุว่า ปัจจุบันสังคมโลกและสังคมไทยต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสื่อสารในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าทางด้านการสื่อสารเพื่อความบันเทิงหรือในภาวะวิกฤติ แต่เมื่อกิจการด้านสื่อเทคโนโลยีอยู่ในภาวะผูกขาดจะทำให้ราคาค่าบริการและทางเลือกที่ประชาชนเคยได้รับจะถูกตัดทอนลง ในขณะที่ค่าบริการจะเพิ่มขึ้น
โดยการศึกษาวิจัยที่สภาผู้บริโภคได้ดำเนินการ ได้ที่ชี้ถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคหากบริษัททั้งสองได้รับว่า “ราคาค่าบริการอินเทอร์เน็ตบ้านจะสูงขึ้นระหว่างร้อยละ 9.5 - 22.9 ซึ่งจะเป็นภาระหนักสำหรับผู้บริโภค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่ประเทศมีหนี้ครัวเรือนสูงถึงกว่า 5 แสนบาทต่อครอบครัวซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 15 ปี ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงการถูกบังคับซื้อบริการพ่วง การถูกลดทางเลือกการถูกจำกัดการเข้าถึงบริการของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล”
ดังนั้น สภาผู้บริโภคจึงขอให้คณะกรรมการ กสทช. ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการของ กสทช. อย่างเคร่งครัด เกิดประสิทธิภาพได้จริงที่จะสามารถป้องกันการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งเรื่องอัตราค่าบริการและคุณภาพการให้บริการ อาทิ การห้ามขึ้นราคาและลดคุณภาพการให้บริการ โดยให้คงรายการส่งเสริมการขาย (Package) ซึ่งมีราคาต่ำที่สุดที่มีอยู่ก่อนการรวมธุรกิจ และแจ้งให้ กสทช. ทราบ
พร้อมกับต้องคงคุณภาพการให้บริการและราคาสำหรับรายการส่งเสริมการขาย (Package) ดังกล่าวเป็นระยะเวลา 5 ปี รวมถึงการรักษาคุณภาพการให้บริการ (QoS) ตามประกาศของ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมอย่างเคร่งครัดและต้องมีความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจ เพื่อให้คุณภาพในการให้บริการต่อผู้ใช้บริการไม่ด้อยไปกว่าเดิม
รวมทั้งการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าจะคงไว้ซึ่งบริการที่มีคุณภาพ และราคาค่าบริการที่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ โดยไม่ปล่อยให้เกิดช่องว่างหรือการย่อหย่อนต่อการบังคับใช้มาตรการเฉพาะของ กสทช. ที่เกิดขึ้นแล้วในกรณีการควบรวมระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในเดือนตุลาคม 2565
ทั้งนี้ สภาผู้บริโภคจะนำประเด็นมติ กสทช. ในครั้งนี้ เดินหน้าปรึกษาและหารือร่วมกับเครือข่ายสมาชิกของสภาผู้บริโภคที่มีอยู่ทั่วประเทศ ในการดำเนินการใดๆ ที่จะเป็นการรักษาสิทธิผู้บริโภคต่อไป
อ่านประกอบ :
ห้ามขึ้นราคา-ลดคุณภาพ! มติ 4:1 กสทช.อนุญาตรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AIS-3BB กำหนด 22 มาตรการเฉพาะ
ตีตราวาระลับ แต่คนนอกฟังการประชุมได้! ‘ประธาน กสทช.’นัดถกควบเน็ตบ้าน AIS-3BB แบบเปิดเผย
อาจจ่ายแพงขึ้น 9.5-22.9%! ‘สภาผู้บริโภค’ค้าน ‘กสทช.’ ไฟเขียวรวมธุรกิจเน็ตบ้าน AWN-3BB
องค์ประชุมไม่ครบ! ถกบอร์ด‘กสทช.’ล่มรอบ3-‘สรณ’พร้อมรับ‘แรงกระแทก’ปมควบรวมเน็ตบ้าน AWN-3BB
กรรมการ 3 รายติดภารกิจ! 4 กสทช.ทักท้วง‘นพ.สรณ’นัดประชุม‘บอร์ด’โดยไม่ปรึกษาหารือล่วงหน้า
แจ้ง‘กสทช.’ดูข้อกม.อีกครั้ง ก่อนชง‘คกก.ดิจิทัล’เคาะงบ 5.2 พันล.-บอร์ดเลื่อนถกควบ AWN-3BB
‘บอร์ด กสทช.’นัดถกควบรวมเน็ตบ้าน‘AWN-3BB’-ยังไม่พิจารณาวาระแต่งตั้ง‘เลขาธิการฯ’คนใหม่
'สำนักงานฯ'แพร่ข่าวโต้'4 กสทช.' ยันเสนอร่างงบปี 67 กว่า 5.2 พันล. ถูกต้องตามขั้นตอนกม.
อาจมีปัญหาการตีความกม.ต่างกัน! 'ธนพันธุ์' กก.กสทช.ตอบสว.ปมขัดแย้งภายใน
‘4 กสทช.’ร้อง‘นายกฯเศรษฐา’สั่ง‘บอร์ดดิจิทัล’ชะลอ-ทบทวนบรรจุวาระถกงบสำนักงานฯ 5.2 พันล.
ไม่เสนอบอร์ดพิจารณาก่อน! 4 กรรมการฯจี้‘สรณ’ทบทวน ชง‘คกก.ดิจิทัล’เคาะ‘งบ กสทช.’5.2 พันล.
ถก‘บอร์ด กสทช.’ล่ม! 4 กรรมการฯค้านประชุม‘แบบเปิดเผย’-ห่วงข้อมูลผู้ประกอบการหลุดจะโดนฟ้อง