'ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ' แจงไม่ได้มีปัญหากับประธาน-กก.กสทช. คนใด แต่อาจมีปัญหาในเรื่องตีความข้อกฎหมายต่างกัน หลังสว.ถามจี้ปมขัดแย้งภายใน ด้านกตป.ไล่ไทม์ไลน์ความขัดแย้ง-แนะควรมีคนกลางไกล่เกลี่ย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2566 ที่ประชุมวุฒิสภา มีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา คนที่สอง พล.อ.สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภา คนที่หนึ่ง และศาสตราจารย์พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย สลับกันทำหน้าที่ประธานในการประชุม ในวาระที่ 6.3 การรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ประจำปี 2565 และรายงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติงาน กสทช. สำนักงาน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ประจำปี 2565
โดยหนึ่งในข้อกังวลที่สว.หลายรายกล่าวอภิปราย คือ การที่คณะกรรมการ กสทช.มีข้อขัดแย้ง มีการฟ้องร้องกันไปมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานและกระทบประโยชน์ของประชาชน
พลอากาศโท ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า รับทราบถึงความห่วงใยของสว.ต่อปัญหาของ กสทช. ส่วนตัวตนเองไม่มีปัญหาใด ๆ กับท่านประธานและกรรมการท่านอื่น ๆ แต่อย่างใด แต่อาจจะมีปัญหาในเรื่องการตีความข้อกฎหมายที่แตกต่างกัน เช่น เรื่องการแต่งตั้งเลขาธิการ กสทช. การจัดสรรงบประมาณ เป็นต้น
"ด้วยความเคารพต่อทุกท่าน แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะให้ผมไปยอมรับในสิ่งที่ผมมองว่าอาจจะไม่ถูกต้อง ก็เป็นการตีความในลักษณะนั้น เรามีความพยายามที่จะปรองดองพูดคุยกัน สรุปสุดท้าย คือ ในแง่การตีความกฎหมาย ผมอาจจะผิดก็ได้ แต่มองแล้วว่าองค์กรกลางที่จะเป็นทางออกที่จะตัดสินปัญหา จึงเป็นที่มาที่พึ่งศาลปกครองในการตัดสิน อันนี้เป็นที่มาจริง ๆ แต่ส่วนตัวก็ไม่มีปัญหาหรือข้อขัดแย้งใด และผมก็น้อมรับว่าแม้จะมีปัญหาบ้างแต่ในภาระหน้าที่ที่รับผิดชอบก็ยังทำงานตามหน้าที่เต็มความสามารถเท่าที่จะทำได้" พลอากาศโท ธนพันธุ์ กล่าว
@ เปิดไทม์ไลน์ความขัดแย้ง กสทช.
รศ.คลินิก พลเอก สายัณห์ สวัสดิ์ศรี กรรมการติดตาม ประเมินผลด้านกิจการกระจายเสียง(กตป.กสทช.)กล่าวสรุปความขัดแย้งที่สว.เป็นกังวลว่า เริ่มจากปี 2563 นายไตรรัตน์ รักษาราชการเลขาธิการ กสทช.มาตลอด จากนั้น 13 เม.ย. 2565 กสทช. 5 ท่าน เข้ามาดำรงตำแหน่ง แต่ยังไม่มีข้อยุติ
20 ต.ค. 2565 กสทช.มีมติ 2:2 ซึ่งประธานกสทช.ใช้สิทธิ์ยกมือเบิ้ล เป็นมติ 2:3 ทำให้เกิดการควบรวมทรู-ดีแทค ความขัดแย้งจึงอุบัติขึ้น
22 ต.ค. 2565 พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร เข้ามาเป็น กสทช.คนที่ 6 จากนั้นมีคำสั่งลับ 7/2566 แต่งตั้งอนุกรรมการตรวจสอบฟุตบอลโลก 6 ร้อยล้าน ซึ่งเป็นชนวนของความขัดแย้ง
18 มี.ค. 2566 รศ. ดร.สมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ เข้ามารับตำแหน่ง ทำให้ กสทช.ครบ 7 ท่าน
20 เม.ย. 2566 ที่ประชุมอนุกรรมการตรวจสอบกรณีฟุตบอลโลก ครั้งที่ 6/2566 4 ใน 6 ลงความเห็นว่าอาจมีการทำกระทำความผิด 2 ใน 6 ไม่ลงความเห็น ไม่ลงมติ
28 เม.ย. 2566 ที่ประชุมอนุกรรมการตรวจสอบฯครั้งที่ 7/2566 มาประชุม 4 คน ปราศจาก 2 ใน 6 คน ที่ไม่ลงความเห็น โดยเพิ่มรายละเอียดให้มีมติที่ประชุมจากครั้งที่ 6 ว่าอาจมีการกระทำแต่ยังไม่มีความเห็นว่าผิดวินัยข้อใด
9 มิ.ย. 2566 ที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 13/2566 มีมติเปลี่ยนตัวรักษาการเลขาธิการ กสทช. และแต่งตั้ง ผศ.ดร. ภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ. รองเลขาธิการ กสทช. เป็นรักษาการเลขาฯ และแต่งตั้งอนุกรรมการสอบวินัยนายไตรรัตน์ ในวันที่ 9 ถือว่าเป็นจุดวิกฤต
14-16 มิ.ย. 2566 กรรมการ กสทช. 4 คนออกหนังสือด่วนที่สุดเพื่อเสนอร่างรายงานต่อที่ประชุมครั้งที่ 13/2566 เพื่อรับรองการประชุมวันที่ 9 มิ.ย.
"ทั้งหมดนี้ผมเรียนว่าไม่มีสิทธิ์ตัดสินว่าใครผิดใครถูก แต่พยายามดำเนินการโดยการสัมภาษณ์เชิงลึก ซึ่งตอนนี้สัมภาษณ์ไปแล้ว 3-4 ท่าน" รศ.คลินิก พลเอก สายัณห์ กล่าว
@ สรุป 5 เหตุการณ์ฟ้องร้องของ กสทช.
รศ.คลินิก พลเอก สายัณห์ กล่าวสรุปเหตุการณ์การฟ้องร้องว่า มีการฟ้อง 5 คดี ดังนี้
1. 4 ก.ย. ทรู-ดีแทคฟ้องกสทช.
2. 11 ก.ย. 2566 นายไตรรัตน์ รักษาการเลขาธิการฯ ฟ้องกสทช. 4 ท่าน + 1รองเลขาฯ กสทช.ต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ
3. 12 ก.ย. 2566 กสทช. 4 คน ฟ้องประธานกสทช.ไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุม กสทช.
4. 21 ก.ย. 2566 ผู้สมัคร กสทช. 4 ท่านฟ้องประธาน กสทช.
5. 27 ก.ย. 2566 รองเลขาฯกิจการกระจายเสียงฟ้องประธาน กสทช.ไม่ปฏิบัติตามมติที่ประชุมลงนามแต่งตั้งให้รักษาการ เลขาธิการ กสทช.และมีเจตนากลั่นแกล้ง
สถานการณ์ความขัดแย้งส่วนนี้ตนเองและ กตป.ทั้ง 5 ท่านประชุมกันและมองว่า สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นรัฐบาลต้องรีบแก้ไขโดยด่วน ฉะนั้นเรื่องความขัดแย้งของ กสทช.มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย คือ ให้กระทรวงดิจิทัลเพื่แเศรษฐกิจและสังคม คลี่คลายปัญหานี้ ให้ทาง กสทช.คุยกันโดยมีคนกลาง
"สิ่งที่อยากจะเห็นให้เป็นรูปธรรมคือเกิดการปรองดอง โดยละเลิกคดีการฟ้องต่าง ๆ ทุกฝ่ายออมชอม โดยมีคนกลาง กตป.พร้อมเป็นคนกลางพร้อมกับท่านอื่น" รศ.คลินิก พลเอก สายัณห์ กล่าว
@ ประธาน กสทช.รายงานผลงาน
ทั้งนี้ ศ.คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. กล่าวชี้แจงและนำเสนอผลงานว่า เวลา 1 ปีที่ผ่านมา กสทช.ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการกำกับกิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ได้แก่
1. ได้กำหนดมาตรฐานเฉพาะเพื่อป้องกันการผูกขาดทรู-ดีแทค โดยยึดโยงตามม.77 วรรค 3 ตามรัฐธรรมนูญ 2560 และม.27 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรความถี่ 2553 และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
2. จัดให้มีประมูลวงโคจรดาวเทียมแบบแพ็คเกจได้สำเร็จ ภายใน 3 วงโคจร
3. บูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการปราบปรามจับกุมการใช้อุปกรสื่อสารในการก่ออาชญากรรมทางการเงิน
4. กำหนดหน้าที่บทเวทีสหประชาชาติจนประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาบริหาร ITU
นอกจากนี้ยังมีเรื่องคงค้างที่เร่งแก้ไข และต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว ได้แก่
1. สนับสนุนรัฐพัฒนาระบบแจ้งการเตือนภัยผ่านโทรศัพท์มือถือ ทั้งนี้ทางกสทช.ได้มีการศึกษารูปแบบการเตือนภัยในรูปแบบต่าง ๆ ก่อนจะมีเหตุการณ์กราดยิงสยามพารากอน
2. จัดทำเบอร์ฉุกเฉิน หรือเบอร์ 191 ให้สำเร็จ
3. การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือที่เท่าเทียม
ทั้งนี้ 1 ปีที่ผ่านมายังคงมีอุปสรรค ที่ทำให้การทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ได้แก่
1. การปฏิบัติหน้าที่ของรักษาการเลขาธิการ กสทช. เป็นระยะเวลา 3 ปี ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน ซึ่งตนเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจจึงประกาศรับสมัครเมื่อ 17 มี.ค. 2566 และสัมภาษณ์ในวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา ขอย้ำว่าเรื่องดังกล่าวยึดระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด
2. กสทช.ยังขาดการทำงานที่เป็นเอกภาพ เนื่องจากข้อขัดแย้งต่าง ๆ เกิดจากการตีความกฎหมายที่แตกต่างกัน