โซนปากน้ำ-สะพานใหม่-คูคต เตรียมควักกระเป๋าจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วงแบริ่ง - สมุทรปราการ และ หมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต กทม. หลังฟรีมานาน คาดเริ่มเก็บเดือน พ.ย. 2566 นี้ เล็งชง ‘ชัชชาติ’ ลงนามในประกาศ กทม. ภายในเดือน ต.ค.นี้ คาดการเก็บค่าโดยสารจะทำให้ กทม.มีรายได้พันล้านบาท แต่ยังไม่พอจ่ายหนี้เดินรถที่ต้นทุนพุ่ง 5,000 ล้านบาท/ปี
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า วันที่ 16 ตุลาคม 2566 แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศราว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กทม.ได้นัดการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.), กรมการขนส่งทางราง (ขร.) และกระทรวงการคลังหารือถึงการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ซึ่งส่วนต่อขยายดังกล่าวไม่ได้เก็บค่าโดยสารเป็นเวลากว่า 3-4 ปีแล้วนับตั้งแต่ที่มีการเปิดให้ประชาชนใช้บริการเต็มรูปแบบ
โดย กทม.เสนอจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายดังกล่าวที่ 15 บาทตลอดสายในช่วงเดือน พ.ย. 2566 นี้ ซึ่งประชาชนที่เดินทางข้ามจากส่วนต่อขยายที่ 2 ไปส่วนอื่นๆของรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะไม่ได้รับกระทบอะไร แต่ประชาชนที่เดินทางเฉพาะสถานีที่อยู่ในส่วนต่อขยายที่ 2 (ส่วนเหนือคือ สถานีห้าแยกลาดพร้าว - สถานีคูคต และส่วนใต้ตั้งแต่สถานีแบริ่ง - สถานีเคหะสมุทรปราการ) จะต้องเสียค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย โดยอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวจะยังอยู่ในระหว่างราคาเริ่มต้นที่ 17 บาท สูงสุดที่ 62 บาทตามปกติ และจากการแจ้งกับ รฟม.และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) ทั้งสองหน่วยงานไม่มีอะไรขัดข้อง ทำให้ขั้นตอนหลังจากนี้จะเร่งเสนอนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ออกประกาศ กทม.เพื่อจัดเก็บค่าโดยสารภายในเดือน ต.ค. 2566 นี้ เพื่อแจ้งให้ประชาชนทราบก่อน 30 วัน
แหล่งข่าวจากกทม.ประเมินว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 มีผู้โดยสารใช้บริการที่ 240,000 เที่ยวคน/วัน และจากการกำหนดเก็บค่าโดยสารนี้จะทำให้ กทม.มีรายได้เข้ามาประมาณ 3.7 ล้านบาท/วัน คิดเป็นรายได้/ปีประมาณ 1,000 ล้านบาท และหลังจากมีกำหนดเก็บค่าโดยสารคาดว่า ผู้โดยสารจะลดลงประมาณ 10%
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายได้เข้ามาประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 2 จริงอยู่ที่ปีละ 5,000 ล้านบาท ดังนั้น รายได้ดังกล่าวก็ยังไม่พอสำหรับใช้จ่ายส่วนนี้อยู่ดี
เมื่อถามว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ยังมีประเด็นการรับมอบทรัพย์สินหนี้สินจาก รฟม. ไม่สมบูรณ์ โดยยังไม่ได้จ่ายค่าทรัพย์สินและหนี้สิน วงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท การที่ กทม.จะเก็บค่าโดยสารจะทำได้หรือไม่ แหล่งข่าวจากกทม.ตอบว่า จริงๆมีการรับโอนโครงการกันไปแล้ว แต่เรื่องของหนี้ 50,000 ล้านบาท ยังสามารถคุยกันได้ เพราะมีข้อตกลงกับ รฟม.อยู่
โครงข่าวรถไฟฟ้าสายสีเขียวในปัจจุบัน
ที่มา: กรุงเทพธนาคม
@จ่อคุย 'คมนาคม' ปมตั๋วร่วม-อุดหนุนค่าแรกเข้า
ทั้งนี้ ในอนาคต กระทรวงคมนาคมมีนโยบายทำระบบตั๋วร่วม ก็จะต้องคุยกับ กทม.กันอีกครั้งหนึ่ง เพราะในระบบรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปัจจุบันจะเชื่อมได้เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว - สำโรง กับรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย - มีนบุรีเท่านั้น เพราะมีผู้รับสัมปทานคนเดียวกันคือ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) แต่การเชื่อมโครงข่ายรถไฟฟ้าของกระทรวงคมนาคมยังทำไม่ได้ เพราะรถไฟฟ้าสายสีเขียวยังไม่ได้ปรับปรุงระบบรองรับไว้ ซึ่งของกระทรวงคมนาคมมีระบบของ MRT และการเชื่อมต่อผ่าน EMV (EMV ย่อมาจาก Europay, MasterCard, VISA สามองค์กรที่ได้พัฒนาและจัดตั้ง EMV ในฐานะมาตรฐานระดับโลกของธุรกรรมเครดิตและเดบิตที่ใช้ชิพ) หากกระทรวงคมนาคมมีหนังสือนัดหารือเมื่อไหร่ ก็พร้อมจะเข้าไปร่วมด้วย
แหล่งข่าวจากกทม.กล่าวต่อไปว่า นอกจากเรื่องการปรับปรุงระบบแล้ว อีกประเด็นที่จะต้องหารือกันคือ ค่าแรกเข้า เพราะตามนโยบายที่จะทำตั๋วร่วม ประเด็นการทำอัตราค่าโดยสารร่วมรูปแบบ Common Fair ซึ่งจะมีค่าแรกเข้าเพียงครั้งเดียว และระบบรถไฟฟ้าปัจจุบันลักษณะที่เป็นค่าโดยสารร่วมมีเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อ - ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง กับรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงคลองบางไผ่ - เตาปูน เท่านั้น โดยยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าของ กทม.และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ และปลายทางของประเด็นนี้รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณมาอุดหนุนค่าแรกเข้าแน่นอน เพียงแต่ว่าหน่วยงานใดจะต้องเข้ารับภาระตรงนี้ ก็เป็นอีกประเด้นที่จะต้องพูดคุยกันต่อไป
@หนี้สายสีเขียวท่วม 9.8 หมื่นล้านบาท
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ สภากรุงเทพมหานคร (สภากทม.) โดยณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เคยรายงานค่าใช้จ่ายของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้งส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงตากสิน - บางหว้าและช่วงอ่อนนุช - แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต ประกอบด้วยค่าใช้จ่าย 3 ส่วนคือ ค่าใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐาน ค่าใช้จ่ายงานระบบเดินรถ (E&M) และค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M ) วงเงินรวม 98,369.68 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย)
แจกแจงค่าใช้จ่ายค่างๆ ประกอบด้วย ค่าใช้จ่ายโครงสร้างพื้นฐาน ประกอบด้วย เงินกู้งานโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงินรวม 43,879 ล้านบาท แบ่งเป็น ช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ วงเงินรวม 15,019.14 ล้านบาท และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 28,860 ล้านบาท, เงินยืมค่าจัดกรรมสิทธิ์ส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงินรวม 11,155 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ วงเงิน 4,170 ล้านบาท และช่วงหมอชิต * สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 6,984 ล้านบาท, รายได้ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในการจ้างที่ปรึกษาส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 92.6 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ วงเงิน 14.1 ล้านบาท และช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 78.4 ล้านบาท,
ค่าใช้จ่ายในการติดตั้งระบบเดินรถ (E&M) ส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 19,173 ล้านบาท
และค่าใช้จ่ายในการเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 วงเงิน 4,832.97 ล้านบาท และส่วนต่อขยายที่ 2 วงเงิน 24,068.62 ล้านบาท แบ่งเป็นช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ วงเงิน 9,771.1 ล้านบาท และชาวงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต วงเงิน 9,474.54 ล้านบาท (อ่านประกอบ: สรุปผลศึกษาสายสีเขียว หนี้บาน 9.8 หมื่นล้าน แนะทำสัญญาแยก ‘ระบบ-เดินรถ’)
@เริ่มเปิดส่วน 2 ปี 2560
สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 ดำเนินการเปิดให้บริการเป็นช่วงๆ นับตั้งแต่ปี 2560-2563 โดยส่วนต่อขยายที่ 2 ด้านใต้คือช่วงแบริ่ง - เคหะสมุทรปราการ เป็นช่วงที่เปิดบริการก่อน นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเดินทางไปเปิดให้บริการช่วงแบริ่ง - สำโรง ก่อนที่จะเปิดส่วนที่เหลือยาวถึงเคหะสมุทรปราการในวันที่ 6 ธ.ค.2561
ขณะที่ด้านเหนือช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต เริ่มเปิดให้บริการเป็นช่วงๆเช่นกัน โดยเริ่มต้นเปิดให้บริการจากสถานีหมอชิต - สถานีห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2562 ก่อนที่ช่วงปลายปี คือ วันที่ 4 ธ.ค. 2562 พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น จะเดินทางมาเปิดบริการช่วงห้าแยกลาดพร้าว - สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมาเปิดให้บริการเต็มสายถึงสถานีคูคตเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีเปิดการเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง – สำโรง เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 2560
ที่มาภาพ: กรุงเทพมหานคร (กทม.)
อ่านประกอบ
- สรุปผลศึกษาสายสีเขียว หนี้บาน 9.8 หมื่นล้าน แนะทำสัญญาแยก ‘ระบบ-เดินรถ’
- สภากทม.ชี้ ‘ชัชชาติ’ ต้องจัดการหนี้-เก็บค่าโดยสารต่อขยาย ‘สายสีเขียว’ เอง
- ‘รถไฟฟ้าสายสีเขียว’ ต้องเป็นธรรมทุกฝ่าย ‘ชัชชาติ’ ไม่ตอบขอรัฐบาลยกเลิกคำสั่ง คสช.หรือไม่
- ป.ป.ช.ให้ BTS ทำหนังสือชี้แจงปมจ้างเดินรถสายสีเขียว ก่อนส่งสำนวนให้อัยการฯ
- กทม.เล็งถาม ป.ป.ช.ชี้มูลสายสีเขียว ‘ธงทอง’ มองยังไม่กระทบการเดินรถ
- เลขาฯป.ป.ช.คอนเฟิร์ม! ชี้มูลคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว' ยังไม่รู้ผู้ถูกกล่าวหา 12 ราย ใครบ้าง
- 'สุขุมพันธ์-คีรี-พวก 10 ราย'โดนยกก๊วน! 'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯคดีรถไฟฟ้า'สายสีเขียว'แล้ว
- ‘บีทีเอส’แจงคดีสายสีเขียว! อ้างขอนัดหมายชี้แจงข้อกล่าวหา แต่กลับถูก'ป.ป.ช.'ชี้มูลฯ
- ‘องค์คณะไต่สวน’ชง‘ป.ป.ช.’ชี้มูล‘สุขุมพันธ์-คีรี-BTSC’ คดีรถไฟฟ้า‘สายสีเขียว’
- กรุงเทพธนาคม’ ขอ ป.ป.ช. กันเป็นพยาน คดีฮั้วจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- ‘คีรี’ เปิดใจ ป.ป.ช.แจ้งข้อหา BTS เหมือนถูกแกล้ง
- 'วัชรพล' สั่งสอบเอกสารแจ้งข้อกล่าวหาคดีรถไฟฟ้าสีเขียวหลุด-พนง.BTSC ยกพลจี้ถาม
- ป.ป.ช.ตั้ง 7 ประเด็น สอบเพิ่ม คดี ‘สุขุมพันธุ์' จ้าง BTS เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ปี 55