ที่ประชุม ‘ศธ.-หน่วยงานรัฐ’ ห่วงข้อเสนอจัดสวัสดิการกลุ่มเปราะบางแบบ ‘ถ้วนหน้า’ ใช้งบประมาณสูง แนะควรจัดสวัสดิการเฉพาะ ‘ที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน’ พร้อมกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสม-คำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลัง
........................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบผลการพิจารณา รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เสนอ และที่ประชุม ครม.ให้แจ้งผลการพิจารณารายงานฯฉบับดังกล่าว ให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภารับทราบต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการรายงาน ครม. ว่า กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาศึกษารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม โดยที่ประชุมฯ เห็นด้วยกับรายงานการพิจารณาศึกษาฯในภาพรวม และมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมใน 3 ประเด็น ได้แก่
ประเด็นที่ 1 เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา นั้น ที่ประชุมฯมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ควรนำแนวคิดด้านความเสมอภาคทางเพศ มาประยุกต์ใช้ในการให้ความรู้ที่เท่าเทียม ,ในการผลิตบัณฑิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ ควรมีการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ,เสนอให้เพิ่มรูปแบบการเรียนที่หลากหลาย เช่น การเรียนออนไลน์ และควรใช้ช่องทางทางกฎหมาย ให้โรงเรียนสามารถสร้างรายได้ได้เอง เพื่อลดภาระงบประมาณภาครัฐ
นอกจากนี้ ควรมีการปรับอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน ให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และจัดสรรให้ตามจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษทั้งหมดของสถานศึกษาเป็นรายบุคคล รวมทั้งขยายการจัดสรรเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนให้ครอบคลุมนักเรียนยากจนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นต้น
ประเด็นที่ 2 เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจ ที่ประชุมฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ให้ส่งเสริมการยกระดับเกษตรกรรมด้วยนวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและมูลค่าสินค้าเกษตร ,ให้เร่ง Reskill แรงงานกลุ่มเดิมที่เปลี่ยนอาชีพไปแล้วให้กลับมาทำงานในระบบจ้างงาน รวมถึงการสร้างแรงงานกลุ่มใหม่เข้าสู่ระบบการจ้างงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้มีคุณภาพและปริมาณที่สอดคล้องกับความต้องการ
สำหรับข้อเสนอเรื่องการจัดสวัสดิการสำหรับกลุ่มเปราะบางแบบถ้วนหน้า ต้องใช้งบประมาณสูง จึงควรพิจารณาดำเนินการเฉพาะสวัสดิการที่เป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐาน รวมทั้งกำหนดสิทธิประโยชน์ให้เหมาะสมและคำนึงถึงความยั่งยืนทางการคลังด้วย
ประเด็นที่ 3 ความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุข ที่ประชุมฯมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เช่น ควรสนับสนุนงบประมาณในการส่งเสริมสุขภาพด้านการป้องกันเป็นลำดับแรง ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์และลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขด้วย ,ควรมุ่งเน้นการวางแผนผลิตกำลังคน และสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรด้านสาธารณสุขกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆให้เพียงพอ
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย.2565 ที่ประชุมวุฒิสภา ได้พิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา โดยรายงานฉบับนี้มีข้อเสนอแนะเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมใน 3 ประเด็น ได้แก่
1.ข้อเสนอแนะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านการศึกษา เช่น รัฐควรออกนโยบายของการสร้างการเรียนรู้ตลอดชีวิตแบบไม่มีค่าใช้จ่าย สนับสนุนและจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อุดมศึกษาต้องปรับการทำงานในด้านการบริการเชิงวิชาการให้สอดคล้องกับแรงงานไร้ฝีมือ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของแรงงาน เป็นต้น
2.ข้อเสนอแนะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจในระยะสั้น ภาครัฐควรเร่งดำเนินมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคบริการขนาดเล็กและขนาดย่อมและกลุ่มเปราะบาง จัดสรรงบประมาณที่ผ่อนคลายเงื่อนไขการเข้าถึงแหล่งเงิน เพื่อให้สามารถกลับมารองรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิดผ่อนคลาย
และในระยะยาว ภาครัฐควรมีมาตรการทางภาษี มาตรการช่วยเหลือครัวเรือนเปราะบาง ครัวเรือนยากจนแบบทั่วถึง ปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคมให้ครอบคลุมครัวเรือนเปราะบางและครัวเรือนยากจน รวมทั้งมีการบังคับใช้กฎหมายภาษีอย่างเข้มข้น
3.ข้อเสนอแนะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านสาธารณสุข เช่น รัฐควรสนับสนุนด้านงบประมาณในการบริหารจัดการระบบสุขภาพ กำหนดนโยบายหรือแนวทางในการบริหารกองทุนระบบสุขภาพ ที่สามารถให้ประชาชนทุกคนที่สามารถเข้าถึงและได้รับสิทธิประโยชน์พื้นฐานเท่ากัน รวมถึงควรดำเนินการแก้ไขระบบบริการสาธารณสุขเพื่อให้คนไทยทุกคนได้บริการที่มีคุณภาพและมาตรฐานเดียวกัน โดยไม่ต้องคำนึงถึงเศรษฐานะของบุคคล เป็นต้น
โดยที่ประชุมวุฒิสภา มีมติเห็นด้วยกับรายงานและข้อเสนอแนะ เรื่อง การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ของคณะกรรมาธิการการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม วุฒิสภา และให้ส่งรายงานฯฉบับดังกล่าว ให้รัฐบาลพิจารณา
ทั้งนี้ หลังจากรัฐบาลได้รับทราบรายงานฉบับนี้แล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกฯ ได้มีคำสั่งให้กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานหลักในการรับรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ไปหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสรุปผลการพิจารณาส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี และ ครม. ก่อนที่กระทรวงศึกษาธิการฯจะเสนอรายงานผลการพิจารณาฯให้ ครม.รับทราบในวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา
อ่านประกอบ :
มุมมอง 2 กูรูเศรษฐกิจ! ชี้โจทย์รอ‘รบ.ใหม่’แก้ หนุนทลายทุนผูกขาด-ชงขึ้นVATหางบทำสวัสดิการ
ไม่มีอะไรได้มาฟรี! นักเศรษฐศาสตร์‘มธ.’ชี้จำเป็นต้องปฏิรูปภาษี หางบจัดสวัสดิการผู้สูงอายุ
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?