3 นักเศรษฐศาสตร์ ‘มธ.’ หนุนนโยบายจัด ‘สวัสดิการผู้สูงอายุ’ แต่ต้องปฏิรูปภาษีทั้งระบบ หาเงินมาสนับสนุนนโยบาย พร้อมเสนอตั้ง ‘หน่วยงานเฉพาะ’ ดูแล เพื่อลดปัญหาความซ้ำซ้อนการจัดสวัสดิการ
............................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) สภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวที Policy Dialogue ครั้งที่ 2 เรื่อง ‘ตอบโจทย์ประชาชน : พรรคการเมืองกับนโยบายสวัสดิการ เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ’ โดยมีผู้แทนจากพรรคการเมือง 9 พรรค เข้าร่วมเวทีฯ นั้น
เมื่อเร็วๆนี้ ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ ,ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล และ ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย แห่งคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เสนอความคิดเห็นต่อ ‘ข้อเสนอพรรคการเมืองเรื่องความยากจนในผู้สูงอายุ’ ใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.การบูรณาการนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ 2.แหล่งรายได้สำหรับงบประมาณ 3.การดำเนินเป็น ‘สวัสดิการ’ หรือ ‘การสงเคราะห์’ และ 4.นโยบายและแนวทางในการดำเนินการรองรับสังคมสูงวัยควรจะเป็นอย่างไร
@เสนอตั้ง ‘หน่วยงานเฉพาะ’ดูแล‘ระบบบำนาญแห่งชาติ’
โดย ผศ.ดร.ดวงมณี ระบุว่า ในเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุนั้น ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานที่ดำเนินการในเรื่องนี้อยู่แล้ว แต่ทำแบบแยกส่วนและซ้ำซ้อนกัน ดังนั้น ประเทศไทยควรจะมีการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยมีหน่วยงานเฉพาะขึ้นมาดูแลระบบบำนาญแห่งชาติ ส่วนแหล่งรายได้สำหรับงบประมาณที่จะนำมาดำเนินการเพื่อรองรับนโยบายสังคมสูงวัยด้านสวัสดิการนั้น ควรจะมีแหล่งงบประมาณหรือรายได้ของรัฐ ได้แก่
การจัดเก็บภาษีจากความมั่งคั่ง (Wealth Tax) ,การจัดเก็บภาษีส่วนเพิ่มของทุน (Capital Gains Tax) ซึ่งอาจเริ่มเก็บจากการซื้อขายหลักทรัพย์รายใหญ่ก่อน หรืออาจเพิ่มอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลได้อีกเล็กน้อย ,การยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับผู้ที่มีรายได้สูง ,การยกเลิกหรือลดการให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อการส่งเสริมการลงทุน (BOI)
การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เช่น ลดการยกเว้นและลดหย่อนภาษี เพิ่มอัตราภาษี ลดช่องโหว่ทางกฎหมาย และจัดเก็บภาษีให้ตรงตามวัตถุประสงค์การใช้ประโยชน์ เป็นต้น ,การปรับปรุงการจัดเก็บภาษีมรดก เช่น ลดการยกเว้นภาษี และเพิ่มอัตราภาษี เป็นต้น ,เปิดเผยรายจ่ายภาษี (Tax Expenditure) ให้สาธารณชนได้รับทราบ ,การเปิดโอกาสให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถหารายได้และจัดเก็บภาษีเองได้มากขึ้น
การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) โดยต้องเสนอควบคู่กับการยกเลิกการให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับกลุ่มที่มีความมั่งคั่ง และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเพิ่ม Vat ดังกล่าว จะทำให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสหรือมีรายได้น้อยได้รับผลกระทบจากการเพิ่มอัตราภาษี Vat มากกว่าเมื่อเทียบกับรายได้ นอกจากนี้ ประชากรวัยทำงานทุกคนต้องรายงานรายได้ทุกปี ซึ่งอาจรายงานผ่านระบบของกรมสรรพากร เพื่อรัฐจะได้มีฐานข้อมูลรายได้ของประชากรเพื่อประโยชน์ในการดำเนินนโยบายต่างๆ
“อีกด้านหนึ่งที่สำคัญ คือ ด้านรายจ่ายของรัฐบาล จำเป็นต้องมีการปรับปรุงด้านรายจ่าย โดยมีการจัดลำดับความสำคัญของรายจ่ายให้สอดคล้องกับประเด็นปัญหาและความต้องการของประชาชน ตัดและลดงบประมาณที่ไม่มีความจำเป็นหรือมีความซ้ำซ้อนลง เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้จ่ายของรัฐบาล การใช้จ่ายงบประมาณต้องมีความโปร่งใส ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของงบประมาณ รวมทั้งต้องส่งเสริมให้ประชากรในวัยทำงาน มีการออมเงิน เพื่อเป็นหลักประกันในยามชราภาพ” ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว
@ชี้'สวัสดิการผู้สูงอายุ'แบบ‘พุ่งเป้า’มีความเป็นไปได้มากกว่า
ผศ.ดร.ดวงมณี เห็นว่า แนวคิดด้านความคุ้มครองความยากจนในผู้สูงอายุนั้น ควรจะต้องมีลักษณะเป็นแบบ ‘สวัสดิการ’ ไม่ใช่การสงเคราะห์ เนื่องจากเป็นสิทธิที่ประชาชนควรจะได้รับและคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
อย่างไรก็ดี ผศ.ดร.ดวงมณี ระบุว่า แม้ว่านโยบายและแนวทางในการดำเนินการรองรับสังคมสูงวัยควรมีเป้าหมายเป็นแบบถ้วนหน้า แต่ด้วยข้อจำกัดด้านสถานะทางการคลังของรัฐบาล การไปสู่ระบบสวัสดิการผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้าอาจต้องใช้เวลา และหากจะให้สามารถคุ้มครองความยากจนในผู้สูงอายุ ณ ปัจจุบัน โดยให้ผู้สูงอายุควรได้รับอย่างต่ำเดือนละ 2,000 บาท และจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ก็ยังคงต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากอยู่ดี
ดังนั้น ณ ปัจจุบัน เพื่อให้สามารถคุ้มครองความยากจนในผู้สูงอายุ การจัดสวัสดิการแบบมุ่งเป้าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะหากจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า ณ ปัจจุบัน ผู้สูงอายุก็จะได้รับไม่ถึง 2,000 บาท ซึ่งไม่สามารถคุ้มครองความยากจนในผู้สูงอายุได้
(ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล)
@ชง‘ปฏิรูปภาษีทั้งระบบ’เพื่อระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า
ด้าน ดร.ทีปกร กล่าวว่า เรื่องนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุนั้น ต้องกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนเป็นวาระแห่งชาติร่วมกัน และมีหน่วยงานกำกับดูแลภาพรวมของระบบบำนาญแห่งชาติ ตลอดจนดำเนินการตามรายงานเรื่อง ‘แนวทางการเสนอกฎหมายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ’ ซึ่งผ่านความเห็นชอบในสภาฯเมื่อ พ.ค.2565 กล่าวคือ มีการแก้ไขกฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เป็นข้อจำกัด มีการบริหารงานในรูปแบบ ‘กองทุน’ และหารายได้จากแหล่งอื่นเพิ่มเติมสำหรับงบประมาณ
พร้อมกันนั้น จะต้องกำหนดให้สิทธิบำนาญพื้นฐานแห่งชาติให้เป็นสิทธิที่ทุกคนพึงได้รับ และประชาชนสามารถเลือกรับสิทธิที่ดีกว่าได้ เช่น สิทธิข้าราชการบำนาญ
สำหรับแหล่งรายได้สำหรับงบประมาณที่จะนำมาสนับสนุนนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ ดร.ทีปกร ระบุว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (status quo) แล้ว งบประมาณรายจ่ายด้านบำนาญผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วภายในสองทศวรรษข้างหน้า ขณะที่งบประมาณส่วนมากจะเป็นบำนาญข้าราชการ และยังต้องมีส่วนของงบค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการด้วย
ดังนั้น เมื่อประเทศไทยจะต้องหารายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสำหรับงบประมาณที่ใช้ในการดูแลข้าราชการด้านสวัสดิการบำนาญและการรักษาพยาบาล ก็ควรจะใช้โอกาสนี้ในการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของประเทศไปเลย
“รัฐบาลสามารถมีแหล่งรายได้ที่สำคัญสำหรับระบบบำนาญแห่งชาติ ได้แก่ การเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Increase), การปฏิรูปภาษีทั้งระบบเพื่อระบบสวัสดิการสังคมถ้วนหน้า และการจัดลำดับความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณใหม่ (Budget Reprioritization) ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะเป็นสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำของประเทศได้สนับสนุนมานานแล้ว และเป็นนโยบายปกติที่ทำกันในประเทศพัฒนาแล้ว” ดร.ทีปกรกล่าว
@นโยบาย‘สวัสดิการผู้สูงอายุ’ต้องเป็นแบบเดียวกับ‘บัตรทอง’
ดร.ทีปกร มองว่า ประเทศไทยควรสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความคุ้มครองความยากจนในกลุ่มผู้สูงอายุ และทำให้เป็น social safety net ของสังคม เพื่อช่วยคุ้มครองความเสี่ยงโดยการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ขณะเดียวกัน สวัสดิการด้านการคุ้มครองความยากจนผู้สูงอายุนั้น ควรต้องพัฒนาระบบเหมือนสวัสดิการระบบบัตรทองที่สามารถคุ้มครองทุกคนได้
“หลังวิกฤตต้มยำกุ้งประเทศไทยสามารถมีระบบบัตรทอง และในยุคหลังวิกฤตโควิดเราควรจะมีระบบบำนาญแห่งชาติเป็นสวัสดิการที่ป้องกันวิกฤตความยากจนผู้สูงอายุจากสึนามิประชากร” ดร.ทีปกรกล่าว
ดร.ทีปกร ยังแนวทางในการดำเนินการรองรับสังคมสูงวัยว่า ควรจะสร้างระบบคุ้มครองได้ทุกคนอย่างพอเพียงและยั่งยืนทางการคลัง รวมทั้งมีระบบตามหลักวิชาการ คือ ก.ระบบบำนาญพื้นฐานพอยังชีพ ข.ระบบการออมภาคบังคับ และ ค.ระบบการออมภาคสมัครใจ โดยภาพรวมสามารถคุ้มครองความยากจนได้ตามเส้นความยากจน และใช้เป็นกลไกในการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม
“ควรยกเลิกการมุ่งเป้า เพราะขาดประสิทธิภาพอย่างมาก จากการที่ครัวเรือนยากจนตกหล่นจากกระบวนการคัดกรองความยากจน” ดร.ทีปกร กล่าว
(ดร.ทีปกร จิร์ฐิติกุลชัย)
@จัด‘สวัสดิการผู้สูงอายุ’ปชช.ต้องยอมรับ‘ได้หรือเสียอะไร’
ขณะที่ ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวว่า เมื่อพูดถึงนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุ ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปพิจารณาว่า เราต้องมีวัตถุประสงค์สำคัญร่วมกัน คือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนสูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว มีอย่างน้อย 2 เงื่อนไขที่จะขาดไม่ได้ คือ 1.นโยบายต้องทำได้จริง ตามขีดความสามารถของประเทศ แล 2.ประชาชนต้องรับทราบความจริงว่าจะได้อะไร และจะเสียอะไร และยอมรับนโยบายนั้น
“นโยบายต่างๆ ที่แต่ละพรรคการเมืองได้นำเสนอเกี่ยวกับสวัสดิการผู้สูงอายุสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มนโยบายการเพิ่มรายได้ของผู้สูงอายุ เช่น เบี้ยหรือบำนาญผู้สูงอายุ การออมระยะยาว การพัฒนาผลิตภาพประชากร ฯลฯ และ 2.กลุ่มนโยบายการลดค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ เช่น เงินอุดหนุนและบริการสังคมที่จำเป็นจากภาครัฐ การเข้าถึงหลักประกันสุขภาพ และ Long-term care การดูแลโดยครอบครัว ชุมชนและท้องถิ่น ฯลฯ
แต่หากจะกล่าวถึงนโยบายบำนาญผู้สูงอายุ ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนโยบายการเพิ่มรายได้ของผู้สูงอายุนั้น มีคำถามตามมา คือ เท่าไรถึงจะพอ ดังนั้น ในการนี้จำเป็นต้องพิจารณานโยบายในภาพรวมแบบบูรณาการ คือ ทั้งฝั่งนโยบายการเพิ่มรายได้ และนโยบายการลดค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุทั้งหมดว่า สุทธิแล้วเพียงพอหรือไม่ โดยเลือกนโยบายที่มีต้นทุนที่เหมาะสมตามขีดความสามารถของประเทศและประชาชนยอมรับได้” ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าว
ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวว่า เพื่อให้ภาครัฐมีแหล่งเงินงบประมาณที่จะนำสนับสนุนสวัสดิการผู้สูงอายุได้นั้น ต้องกลับมาดูเรื่องขีดความสามารถของประเทศว่า จะหารายได้จากที่ไหนมาสนับสนุน ซึ่งมีข้อถกเถียงเรื่องการขึ้นภาษีต่างๆ แต่ตรงนี้ต้องขอย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุด คือ ประชาชนต้องได้รับทราบความจริง และยอมรับว่าจะได้อะไรและจะเสียอะไร เพราะไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ได้มาฟรี ซึ่งจะเห็นส่วนที่ว่าจะต้องเสียอะไรนั้น มีการกล่าวถึงไม่ชัดเจนเท่ากับฝั่งที่ว่าจะได้อะไร
“ในหลายๆประเทศ เช่น สวีเดน ฟินแลนด์ ซึ่งเป็นประเทศในฝันของหลายคนในเรื่องบำนาญผู้สูงอายุนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่าประชาชนได้รับสวัสดิการมาก แต่ต้องจ่ายภาษีมาก เช่นกันกับงบประมาณที่ใช้จ่ายในเรื่อง old-age cash pension ของประเทศ OECD ที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 6-8% ของ GDP หรือ 18-20% ของรายจ่ายรัฐบาล แต่สำหรับประเทศไทยตอนนี้เรามีค่าใช้จ่ายส่วนนี้ที่ 0.5% ของ GDP หรือประมาณร้อยละ 2 ของรายจ่ายรัฐบาลเท่านั้น” ศ.ดร.เอื้อมพรระบุ
ศ.ดร.เอื้อมพร ย้ำว่า ในขณะที่นโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ เป็นทางเลือกประชาชนที่สามารถเลือกได้นั้น แต่ก็ต้องยอมรับด้วยว่าจะได้อะไรและจะต้องเสียอะไร และส่งสัญญาณผ่านกระบวนการทางเมือง
“เมื่อเร็วๆนี้ ในประเทศฝรั่งเศส มีการออกนโยบายด้านผู้สูงอายุ ซึ่งประชาชนไม่ได้สนับสนุน เมื่อเกิดการประท้วง การดำเนินนโบายไม่ราบรื่น ดังนั้น ทางเลือกใดก็ตาม หากทำได้จริงภายใต้ขีดความสามารถของประเทศ และประชาชนรับทราบความจริงและยอมรับ นโยบายนั้นก็สามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น” ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าว
ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวต่อว่า เมื่อย้อนกลับมาดูประเทศไทย ในการแถลงนโยบายการใช้จ่ายของแต่ละพรรคการเมืองในทุกเรื่องนั้น มีการกล่าวถึงแหล่งที่มาของเงินงบประมาณจากแหล่งเดียวกันหมด คือ เพิ่มภาษี ลดรายจ่าย หรือเพิ่มหนี้สาธารณะ แต่ทุกนโยบายใช้เงินในถังเดียวกันและมีจำกัด เมื่อเป็นอย่างนี้แล้วจะเหลืองบประมาณสำหรับนโยบายสวัสดิการผู้สูงอายุได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้น จึงจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องต้นทุนที่เหมาะสมที่สุดด้วย
“นโยบายแต่ละชุดย่อมมีต้นทุนที่แตกต่างกัน และนโยบายเพิ่มรายได้ ก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะการแจกเงินเสมอไป อาจมีนโยบายอื่นๆ เช่น การเพิ่มศักยภาพทำงาน การเพิ่มทางเลือกการทำงานหลังเกษียณ เปิดช่องทางให้สูงวัยสามารถเลือกทำงานได้มากขึ้น ดังเช่นในยุโรปที่ผู้สูงอายุทำงานกันจนถึง 67 หรือ 69 ปี ขณะที่ไทยเราพบว่าเกิน 30% ของผู้สูงอายุไทยมีแหล่งรายได้หลักมาจากการทำงาน ก็แสดงว่ามีผู้สูงอายุที่มีศักยภาพที่จะเลือกทำงานได้” ศ.ดร.เอื้อมพรระบุ
(ศ.ดร.เอื้อมพร พิชัยสนิธ)
ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าวด้วยว่า สำหรับประเทศไทย หากพูดถึงเรื่องสวัสดิการผู้สูงอายุเมื่อ 20 ปีก่อนหน้านี้ ซึ่งเกิน 60% ของคนทำงานยังมีอายุน้อย ในช่วงนั้นคนทำงานส่วนใหญ่อาจจะมีแนวโน้มที่จะมองไม่เห็นถึงคุณประโยชน์ต่อสังคมในองค์รวมของระบบสวัสดิการผู้สูงอายุมากเท่าที่ควร เพราะอาจจะมองแต่เฉพาะส่วนที่จะต้องเสีย เช่น เสียภาษีในอัตราที่สูงขึ้น หรือถูกลดทอนสวัสดิการด้านอื่นเหลือน้อยลง และมองว่าส่วนผลประโยชน์ที่จะได้ยังเป็นเรื่องไกลตัว
แต่ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง แต่เกิน 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุ ยังมีฐานะยากจน และเกินร้อยละ 40 มีเงินออมต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ประชาชนวัยทำงานมีภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปจาก 20 กว่าปีก่อน
ดังนั้น ด้วยโครงสร้างประชากรที่มีคนใกล้จะเกษียณมากขึ้น และมีสัดส่วนเกินครึ่งของคนทำงานทั้งหมด จึงมีแนวโน้มที่สังคมจะหันมาเห็นพ้องต้องกันว่า สวัสดิการผู้สูงอายุเป็นสิทธิพึงได้ของประชาชน มากกว่าเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว ซึ่งกระแสปัจจุบันในเรื่องนี้ได้สะท้อนอย่างเด่นชัดจากปรากฎการณ์ที่หลายๆพรรคการเมืองชูความสำคัญในการนำเสนอแนวนโยบายสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุให้เป็นหนึ่งในนโยบายลำดับต้นๆ
“เพื่อให้นโยบายประสบความสำเร็จและยั่งยืน ฝ่ายการเมืองต้องทำงานใกล้ชิดกับฝ่ายราชการผู้เข้าใจถึงปัญหาเชิงปฏิบัติ นักวิชาการในเชิงหลักการที่ถูกต้อง และที่สำคัญที่สุดคือประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เพื่อผลักดันให้นโยบายออกมาอย่างเป็นรูปธรรม” ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าว
อ่านประกอบ :
รายจ่ายยากลดทอน 2 ล้านล.! เปิด‘ความเสี่ยงการคลัง’ล่าสุด หลัง‘นักการเมือง’โหม‘ประชานิยม’
สำรวจนโยบาย 'บำนาญแห่งชาติ-เพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุ' สู้ศึกเลือกตั้ง-เสี่ยงภาระการคลัง?
เวทีเสวนาฯชงรีดภาษีมั่งคั่ง-ขึ้นVat หางบโปะ‘บำนาญแห่งชาติ’-ห่วง‘รุ่นเกิดล้าน’แก่แล้วจน
จุดยืนล่าสุด 5 พรรคการเมือง หนุน‘บำนาญแห่งชาติ’ แต่ไม่ฟันธงได้เดือนละ 3 พันบาท ปีไหน!
ข้อเสนอ 'บำนาญถ้วนหน้า' เดือนละ 3 พันบาท ทำได้-ไม่ได้ ใช้เงินเท่าไหร่-หาเงินจากไหน?
จี้เลิกลดหย่อนภาษีคนรวย-เจ้าสัว! ‘ภาคปชช.’เคลื่อนไหวผลักดัน‘บำนาญถ้วนหน้า’ 3 พันบาท/ด.
จาก'สงเคราะห์'สู่'สวัสดิการ' เพิ่ม'เบี้ยผู้สูงอายุ' 3 พันบาท ทางเลือกที่รัฐบาลทำได้?
ครม.อนุมัติ 8.3 พันล้าน เพิ่มเบี้ยยังชีพคนชรา 100-250 บาท 6 เดือน
ผลวิจัยฯชี้เพิ่ม‘เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ’เป็น 3 พันบาท/ด. ต้นทุนเทียบเท่าขึ้นแวต 16.9%
รมว.พม.รับข้อเสนอเครือข่ายประชาชน พัฒนา 'เบี้ยผู้สูงอายุ' เป็นระบบบำนาญ