“...ถ้าต้องการภาษี ก็ต้องไปขึ้น VAT เพราะเป็นวิธีที่มีผลกระทบต่อการลงทุนน้อยที่สุด คือ ไม่ใช่ไม่กระทบผลกระทบมีแน่ คือ จะทำให้การบริโภคตก แต่อย่างน้อยจะไม่กระทบต่อ Return on Investment และจริงๆแล้ว Vat อยู่ที่ 10% แต่เขามีการไปออกข้อยกเว้นทุกปี ขอให้ Vat กลับไปอยู่ที่ 7%...”
...........................................
เมื่อวันที่ 29 พ.ค. สถาบันคึกฤทธิ์ ภายใต้มูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ฯ จัดเวทีอภิปรายเรื่อง ‘ปัญหาเศรษฐกิจที่รอรัฐบาลใหม่’ โดยมี 2 นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำ ได้แก่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี อดีต รมว.พลังงาน และ ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร เข้าร่วมการอภิปรายฯ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้
@ชี้ปัญหา‘ค่าครองชีพสูง-ของแพง’โจทย์สำคัญของรัฐบาลใหม่
ดร.ณรงค์ชัย ระบุว่า กว่าจะมีรัฐบาลใหม่น่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือน และคิดว่าปัญหาสำคัญที่สุดที่รออยู่ คือ ปัญหาค่าครองชีพและสินค้าราคาแพง เพราะแม้ว่าในปีนี้เงินเฟ้อจะปรับขึ้นเพียง 2-3% แต่หากรวมกับปีที่แล้วที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 6% แล้ว เงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นไปถึง 8-9% ซึ่งหมายถึงค่าครองชีพที่อยู่ในระดับสูง และประชาชนจะต้องเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ แต่รัฐบาลคงตอบสนองได้น้อยมาก เพราะฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลไม่ดี
ส่วนข้อสัญญาของพรรคการเมืองต่างๆ ที่บอกว่าจะให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ นั้น ส่วนตัวเห็นว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำคงปรับไม่ได้มากนัก เพราะการปรับขึ้นค่าจ้างฯ จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าเป็นอย่างไร แต่ต้องถือว่าเป็นโจทย์ของรัฐบาลใหม่ ที่จะทำอย่างไรให้ค่าจ้างปรับเพิ่มขึ้นทันเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่จะต้องมีแนวทางในการทำให้ภาวะการมีงานทำกลับมา หลังจากงานหายไปเป็นจำนวนมากในช่วงโควิดที่ผ่านมา
นอกจากนี้ ในระยะสั้น ตนอยากให้รัฐบาลใหม่เร่งรัดการลงทุนโครงการของภาครัฐที่ยังล่าช้าอยู่ ให้แล้วเสร็จและเปิดใช้บริการให้โดยเร็ว ซึ่งจะช่วยได้มาก
“ประเทศมีตังค์ แต่รัฐบาลไม่มีตังค์ ฐานะการคลังไม่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ที่ (รัฐบาลใหม่) จะเข้าไปช่วยเหลือ เช่น เรื่องพลังงาน คงช่วยอะไรไม่ได้มาก เรื่องค่าแรงก็อาจเจรจากัน แล้วก็ขยับขึ้นบ้าง ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้ภาคการคลังเรามีข้อจำกัด เป็นเพราะหนี้สาธารณะเราชนเพดาน แม้เราจะปรับเป็นหนี้สาธารณะเป็น 70% แต่อีก 10 ปี จะต้องกลับมาที่ 60% ฉะนั้น ที่รัฐบาลบอกจะให้โน่น ให้นี่ ให้อะไรต่ออะไร เขาไม่มีตังค์ให้หรอก คุณทั้งหลายอย่าไปเชื่อ เพราะภาระหนี้สูง
ส่วนฐานะการเงินประเทศนั้น ดี ประเทศ คือ เงินของทุกๆคน ดีมาก เรามีเงินสำรองฯเกิน 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หนี้ระยะสั้นก็นิดเดียว หนี้ต่างประเทศมีพอสมควร แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้เอกชน สภาพคล่องส่วนเกินเราเยอะ ซึ่งหลักฐาน คือ ดอกเบี้ยเงินฝากยังนิดเดียวเอง เพราะเขาไม่อยากได้ตังค์เรา แบงก์มีเงินกองทุนฯเกือบ 19% แล้วแบงก์ชาติยังต้องออกพันธบัตรไปดูดซับสภาพคล่องฯเข้ามาอีก 2.3 ล้านล้านบาท แล้วตลาดทุนของเราก็ดี และดีมาก
เรื่องหนี้ภาคประชาชนที่อยู่ในระดับสูง และประชาชนบ่นว่าลำบากนั้น คิดว่าคงไม่ทำให้เศรษฐกิจพัง เพียงแต่ทำให้เศรษฐกิจหงอย แต่หากสถาบันการเงินพัง เศรษฐกิจก็พัง และหากการคลังพัง เศรษฐกิจก็พังเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ รัฐบาลจะต้องทำให้เงินหมุนเวียนมากขึ้น แล้วตอนนั้นที่เขาโฆษณาว่าจะให้เงินพวกเราคนละ 1 หมื่นบาท ผมก็คิดว่าไม่เลวนะ ไวดี และที่จริงๆแล้ว ผลของมัน คือ ทุกคนจะทำบล็อกเชนเป็นหมดเลยทั้งประเทศ เพราะต้องการได้ 1 หมื่น
และที่ผมชอบ ไม่ใช่เพราะแจกตังค์ แต่ที่ชอบ เพราะเป็นดิจิทัลอีโคโนมี (Digital Economy) โดยบังคับ ซึ่งไม่จำเป็นต้องแจกถึง 1 หมื่นบาทก็ได้ และหากจะใช้จ่าย ก็ต้องเป็นการใช้จ่ายที่มีตัวคูณสูง แล้วจะต้องสร้างรายได้ให้แก่รัฐด้วย ขณะเดียวกัน มีหลายๆอย่างที่ทำได้เลย โดยไม่ต้องคอยรัฐบาลใหม่ เช่น การอำนวยความสะดวกให้ภาคเอกชนโดยใช้ IT ซึ่งเขาก็ทำอยู่ แต่ต้องทำให้ดีขึ้น การส่งออกก็เหมือนกัน หากใช้ IT เข้ามา ก็ทำได้หมด
แล้วโครงการของรัฐที่บอกว่า ช้า ช้า ซึ่งไม่รู้ว่าช้าเพราะอะไรนั้น ไม่เสร็จซักที สร้างแล้วก็ยังไม่ได้ใช้ หรือยังไม่พร้อมใช้งาน เช่น ทางด่วนที่ไปโคราช หรือรถไฟฟ้าสายสีส้ม ก็ควรเร่ง คือ สรุปแล้วโครงการทั้งหลาย ต้องเร่งทำให้เร็วขึ้น แต่ตอนนี้เขาบอกว่า ทำไม่ได้แล้ว เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ ซึ่งแปลว่า ถ้ารัฐบาลใหม่เข้ามา แล้วทำเรื่องพวกนี้ให้เสร็จ ก็ช่วยได้แล้ว อันนี้ คือ สิ่งที่เป็นระยะสั้นที่ต้องทำตอนนี้” ดร.ณรงค์ชัย กล่าว
(ณรงค์ชัย อัครเศรณี)
@แนะรัฐบาลใหม่‘ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ-แก้ปัญหาคอร์รัปชั่น’
ดร.ณรงค์ชัย กล่าวถึงประเด็นในระยะยาวหรือในระยะต่อไปที่รัฐบาลชุดใหม่ควรผลักดัน ว่า มี 5 เรื่อง ได้แก่ 1.ไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ และการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจดังกล่าวจะต้องพิจารณาภาพรวมของโลกด้วย ซึ่งขณะนี้ปัญหาใหญ่ของโลก คือ ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ,ปัญหาโลกร้อน และความเสี่ยงเรื่องการเมืองโลก เพราะโลกกำลังทะเลาะกัน โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐและจีน ที่ส่งผลกระทบต่อตลาดทั้งโลก
2.ข้อมูลของธนาคารโลกและไพรซ์วอเทอร์เฮาส์คูเปอส์ ระบุว่า ขณะนี้เอเชียและตะวันออกลางกำลังมาแรงในเรื่องกำลังทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ปัญหาความขัดแย้งและการสู้รบในตะวันออกกลางลดลงมาก ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสใหม่ๆให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะการเป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระเบียงเศรษฐกิจระหว่างเอเชีย-ตะวันออกกลาง ทั้งในด้านการเป็นซัพพลายเชน และโลจิสติกส์ 3.ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เพื่อรองรับความเสี่ยงต่างๆในโลก
“เมื่อก่อนชุมชนอาจช่วยตัวเองไม่ได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่ หลายจังหวัดช่วยตัวเองได้ ผมไปขอนแก่นมาตลอด เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่นมา 10 กว่าปีแล้ว เห็นความเปลี่ยนแปลงของ จ.ขอนแก่น อย่างมาก เขาดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องไปยุ่งกับเขา ผู้ว่าฯไม่มียังจะดีกว่า เพราะผู้ว่าฯบางคน เขาต้องการมาเกษียณที่จังหวัดใหญ่ บางทีมาปีเดียว มาถึงก็เลี้ยงรับ อีก 6 เดือนก็เลี้ยงส่ง มีเวลาทำงาน 3 เดือน ผู้ว่าฯหลายจังหวัด เช่น จังหวัดใหญ่ จึงไม่จำเป็น” ดร.ณรงค์ชัย กล่าว
4.การผลักดันการลงทุนด้าน IT ระดับชุมชน ซึ่งจะช่วยในเรื่องการศึกษา สุขภาพ และการประกอบอาชีพ เป็นต้น และ 5.การจัดการปัญหาคอร์รัปชั่น
“ผมอยู่ในวงราชการ วงธุรกิจมานาน ถ้าบรรเทาปัญหาคอร์รัปชั่นได้ มันช่วยทุกเซ็กเตอร์ของเศรษฐกิจ ใครที่เขาบ่นเรื่องปฏิรูปการศึกษานั้น ปัญหาหนึ่ง ก็คือแย่งตำแหน่งเป็น ผอ.กัน บอกว่าจะปฏิรูปตำรวจ แต่ ปัญหาก็คือแย่งตำแหน่งกันอีก แล้วก็จ่ายตังค์กันเยอะ ผมเป็นพยานจ่ายตังค์ และเห็นมาหลายรอบแล้ว ถ้าไม่มีเรื่องพวกนี้ ไม่มีการวิ่งเต้น ไม่ต้องอะไร คนจะดีกว่านี้เยอะ เพราะหลายคนบอกว่าจ่ายไปตั้งเยอะ ถ้าไม่จ่ายเขาก็ไม่ให้
ดังนั้น ในเรื่องคอร์รัปชั่น ผมจึงเห็นด้วยที่สุดว่า ต้องทำทุกอย่างให้โปร่งใส เป็นธรรม ก็จะช่วยแก้ปัญหาทุกเรื่อง และถ้าจะแก้คอร์รัปชั่น ผมคิดว่าต้องใช้วิธี Whistleblower (คนเป่านกหวีด-ผู้แจ้งเบาะแส) จะช่วยได้เยอะ เรามีมือถืออยู่แล้ว ถ้าเจอที่ไหน ก็แอบถ่ายรูปแล้วส่ง ถ้าคอร์รัปชั่นน้อยลง ประเทศไทยเจริญขึ้นเยอะ ผมอยู่ในวงการธุรกิจ เจ็บปวดมาก เวลาต้องจ่ายตังค์ค่า Paper ต่างๆ” ดร.ณรงค์ชัย กล่าว
ดร.ณรงค์ชัย ยังกล่าวถึงนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะทำงบประมาณฐานศูนย์ (Zero-Based Budgeting) ว่า คนที่ทำเรื่องนี้คงเข้าใจอยู่แล้วว่าคืออะไร และที่บอกว่างบประมาณฐานศูนย์นั้น คงไม่ใช่ว่าเป็น 0 ทุกด้าน เพราะเงินเดือนของข้าราชการคงไม่ใช่ 0 อยู่แล้ว ซึ่งการจัดทำงบประมาณในลักษณะนี้น่าจะเป็นประโยชน์ เพราะจะได้มาวิเคราะห์กันให้ชัดเจนว่าโครงการนั้นๆควรให้งบหรือไม่ ไม่ใช่ว่าปีนี้ได้งบ 1,000 ล้านบาท แล้วปีหน้าจะได้ 1,000 ล้านบาท บวกๆขึ้นไป
@ทำ‘รัฐสวัสดิการ’ใช้เงินสูง หนุนขึ้น VAT ดีกว่ารีดภาษีเอกชน
ด้าน ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นสิ่งที่ต้องยอมรับและสะท้อนว่า ที่ผ่านมาคนไทยรู้สึกว่าเศรษฐกิจขยายตัวไม่ดีนัก ขยายตัวช้า แล้วก็มีสิ่งที่คนพูดกันบ่อยๆ คือ รวยกระจุกจนกระจายนั้น จึงเป็นกระแสที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้พรรคก้าวไกลได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และหากจะสรุปนโยบายเศรษฐกิจของพรรคก้าวไกล ซึ่งจะเป็นตัวชี้นำว่าเศรษฐกิจจะไปทางไหนแล้ว ก็สรุปได้ 2 ข้อ คือ 1.การทลายระบบทุนผูกขาด และ2.การทำรัฐสวัสดิการ
โดยเฉพาะการทำรัฐสวัสดิการ โดยการเก็บภาษีจากคนรวยไปให้คนจน เพื่อทำให้ความเหลื่อมล้ำลดลง นั้น เมื่อพิจารณาจากรายจ่ายสวัสดิการฯ 6.5 แสนล้านบาทแล้ว จะพบว่ารายจ่ายส่วนใหญ่ หรือ 4.2 แสนล้านบาท ถูกจัดสรรไปเป็นสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ และอีก 1 แสนล้านบาท เป็นการจัดสรรเพื่อนำไปจัดทำสวัสดิการสำหรับเด็ก แต่ประเด็น คือ การทำรัฐสวัสดิการดังกล่าว จะทำให้ภาครัฐจะต้องมีการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการลงทุนของเอกชนได้
“ถ้าทำ รัฐจะต้องเก็บภาษีค่อนข้างมาก โดยจะเป็นการเก็บภาษีจากคนรวยเสียส่วนใหญ่ เช่น ภาษีความมั่งคั่ง ภาษีที่ดินรายแปลง และภาษีบุคคลทุนใหญ่ เป็นต้น แต่ประเด็นของผม คือ ในยุคนี้ ถ้าเราจะฟื้นเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจฟื้นอย่างต่อเนื่อง หากมีการเก็บภาษีจากกำไรแล้ว จะมีผลต่อความอยากหรือไม่อยากในการลงทุน ซึ่งการเก็บภาษีจากบริษัทขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทในตลาดหลักทรัพย์
การเก็บภาษีซื้อขายหุ้น (transaction tax) การเก็บภาษีกำไรจากการขายหุ้น (capital gain tax) และยังมีการเก็บภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) ด้วยนั้น จะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนของการลงทุน ซึ่งในยุคที่เราอยากจะให้เศรษฐกิจฟื้น จะต้องคิดภาพด้วยว่า อันนี้เป็น trade off และไม่มีอะไรฟรีในโลก
โดยเฉพาะในภาวะที่ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเร็วและแรงในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา จนอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 5.25% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อ (PCE inflation) เดือน เม.ย.ของสหรัฐออกมาสูงเกินคาด ทำให้ตลาดคิดว่าการประชุมธนาคารกลางสหรัฐครั้งหน้า ดอกเบี้ยสหรัฐจะขึ้นอีกรอบ
ดังนั้น ในยุคที่ทุนมีราคาแพงขึ้น แล้วเราจะเก็บภาษีกำไรเพิ่มขึ้น นั่นจะทำให้ผลตอบแทนจากการลงทุนลง แล้วถ้าค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้นด้วย ต้นทุนแรงงานก็เพิ่มขึ้น ถ้าน้ำมันยังแพงอยู่ ต้นทุนพลังงานก็ยังสูง ฉะนั้น คำถามที่ผมเป็นห่วง คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้น จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะเดินต่อไปได้ในภาวะแบบนี้ และตอนนี้แบงก์เองเริ่มไม่ปล่อยสินเชื่อแล้ว” ดร.ศุภวุฒิระบุ
ดร.ศุภวุฒิ ให้ความเห็นอีกว่า หากรัฐบาลต้องการหาแหล่งรายได้จากภาษี เพื่อนำมาจัดทำสวัสดิการสังคม ตนเห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลสามารถทำได้ และเป็นวิธีที่ไม่ส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุน แต่จะมีผลกระทบต่อการลงทุนเอกชนบ้าง เพราะจะทำให้การบริโภคลดลง คือ การปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) กลับไปที่ 10% ในขณะที่การขึ้น Vat 1% จะมีรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้น 8 หมื่นล้านบาท แต่แนวทางนี้รัฐบาลไม่ค่อยกล้าทำ เพราะไม่เป็นที่นิยม
“ถ้าต้องการภาษี ก็ต้องไปขึ้น VAT เพราะเป็นวิธีที่มีผลกระทบต่อการลงทุนน้อยที่สุด คือ ไม่ใช่ไม่กระทบนะผลกระทบมีแน่ คือ จะทำให้การบริโภคตก แต่อย่างน้อยจะไม่กระทบต่อ Return on Investment และจริงๆแล้ว Vat อยู่ที่ 10% แต่เขามีการไปออกข้อยกเว้นทุกปี ขอให้ Vat กลับไปอยู่ที่ 7%” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว
ดร.ศุภวุฒิ ระบุด้วยว่า อีกปัญหาที่น่าเป็นห่วง คือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) ได้ออกมาเตือนเรื่องหนี้เสียของรายย่อยว่า ปัจจุบันลูกหนี้รายย่อยมีหนี้เสียรวมกันสูงถึง 9 แสนล้านบาท และมีหนี้ที่กำลังเป็นลูกผีลูกคน คือ ลูกหนี้เริ่มมีปัญหาการจ่ายหนี้อีก 6 แสนล้านบาท รวมกันแล้วก็ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งปัจจัยพื้นฐานที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปได้ยาก
ดร.ศุภวุฒิ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) ในกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ประเทศ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย และไทย พบว่าในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ไทยไม่สามารถดึงเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศได้ดีเท่ากับคู่แข่งแล้ว โดยในช่วงปี 2016-2021 ไทยสามารถดึงดูด FDI คิดเป็นสัดส่วนเพียง 8.9% เท่านั้น แตกต่างจากในช่วงปี 2001-2006 ที่ไทยมีเงินลงทุนจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงกว่า 40%
“ตอนนี้จะต้องมีการยื้อแย่งเงินลงทุน (FDI) เข้ามา แต่ผมคิดว่าไม่ง่าย เพราะประเทศอื่นๆ เขาก็ต้องการนักลงทุนพวกนี้เหมือนกัน แล้วทรัพยากรพื้นฐานของเขาในหลายกรณีดีกว่าเรา เช่น เวียดนาม ตลาดของเขาใหญ่กว่า และแรงงานมีมากกว่า” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว
(ศุภวุฒิ สายเชื้อ)
@ชี้ 8 ปัญหาท้าทายเศรษฐกิจไทย-แนะต้องปฏิรูปการศึกษาจริงๆ
ดร.ศุภวุฒิ กล่าวว่า มีหลายเรื่องที่เป็นปัจจัยที่ท้าทายสำหรับประเทศไทย เช่น มีการคาดการณ์ว่าจำนวนแรงงานของไทยในปี 2050 หรืออีกไม่ถึง 30 ปีข้างหน้า จะหายไปถึง 11 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานในปัจจุบัน และเมื่อแรงงานของไทยมีแนวโน้มน้อยลง ก็ต้องทำให้แรงงานมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ดังนั้น การปฏิรูปการศึกษาจริงๆ จึงเป็นสิ่งจำเป็น รวมทั้งต้องมีการ Upskill และ Reskill แรงงานไปพร้อมๆกันด้วย
“มีโรงเรียนภาคบังคับ 1.5 หมื่นแห่ง ที่มีครูประมาณ 5 คนต่อ 1 โรงเรียน แต่ต้องสอน 6 ชั้น มีนักเรียน 50-60 คน ซึ่งไม่มี economy of scale เพราะครูต้องไปทำด้านการคลัง และด้านบริหารด้วย จึงไม่ได้สอน หรือถ้าสอนก็ต้องสอน 2 ชั้นพร้อมๆกัน ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็เดินไม่ได้
แล้วครูที่มีอยู่ 9 แสนคน ปลดเกษียณไปแล้วหลายแสนคน เหลืออยู่ 5-6 แสนคน แต่พบว่าครูโดยรวมมีหนี้เฉลี่ยคนละ 1.5 ล้านบาท เทียบกันครัวเรือนทั่วไปที่มีหนี้ 5 แสนบาท ครูจึงมีหนี้เยอะมาก แล้วถ้ามีหนี้มากขนาดนี้ จะมีกระจิตกระใจในการสอนแค่ไหน” ดร.ศุภวุฒิ กล่าว
ส่วนปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคธุรกิจนั้น ตนเห็นด้วยกับพรรคก้าวไกลในการจัดการกับทุนผูกขาด เนื่องจากปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่ 5% ในประเทศไทย ทำรายได้ถึง 85% ของรายได้ของบริษัททั้งหมด และครอบครองกำไรถึง 60% ของกำไรของธุรกิจทั้งหมด จึงเห็นด้วยที่ต้องมีการจัดการ และเมื่อจัดการแล้วจะต้องมีแนวทางช่วยเหลือ SME ด้วย ซึ่งนโยบายหวย SME แม้ว่าจะน่าสนใจ แต่ตนอยากเห็น SME ที่ไม่ใช่ SME แต่ต้องเป็นธุรกิจที่เป็นยูนิคอร์นหรือมากกว่า
ดร.ศุภวุฒิ ระบุว่า อีกหนึ่งปัญหาที่ท้าทาย คือ อุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยที่ถูก Disruption จากรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และแม้ว่าจะมีนักลงทุนเข้ามาตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ EV ในไทย แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์แน่นอน เพราะรถยนต์ EV ใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่ามาก ในขณะที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทที่ไทยต้องดึงเข้ามาลงทุนในไทยให้ได้ คือ อุตสาหกรรมผลิต Printed Circuit Board (PCB) เพื่อให้ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทาน เป็นต้น
สำนักข่าวอิศรารายงานว่า จากเอกสารของ ดร.ศุภวุฒิ ที่นำเสนอในงานอภิปรายฯครั้งนี้ ได้สรุปความท้าทายที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าไว้ทั้งสิ้น 8 เรื่อง ได้แก่ 1.ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่ทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจสูงขึ้น 2.การหวังพึ่งพาการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศทำได้ยากขึ้น 3.อุตสาหกรรมรถยนต์แบบดั่งเดิมที่มีสัดส่วนถึง 12% ของจีดีพี กำลังถูกกระทบจากรถยนต์ไฟฟ้า
4.ธุรกิจใหม่แข่งขันได้ยาก และไม่มีโอกาสเติบโต 5.ทรัพยากรมนุษย์ไม่ได้รับการพัฒนาเต็มที่ และศักยภาพในการผลิตตกต่ำ 6.รายรับภาครัฐลดลงและรายจ่ายสูงขึ้นจากประชากรที่สูงวัยขึ้น 7.ต้นทุนค่าไฟฟ้าจะแพงขึ้นจากการนำเข้า LNG ที่เพิ่มสูงขึ้น และ 8.อุปสรรคในการใช้ชีวิตและปัญหาสุขภาพของคนไทยในระยะยาว
ขณะที่ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ประธานกรรมการมูลนิธิคึกฤทธิ์ 80 ในพระราชูปถัมภ์ฯ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินรายการ ให้ความเห็นในการอภิปรายฯ เกี่ยวกับการจัดทำ Zero-Based Budgeting ของว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ ว่า การทำงบประมาณฐานศูนย์นั้น ตนเชื่อว่ารัฐบาลใหม่คงไม่ทำในปีงบ 2567 เพราะถ้าต้องไปรื้อทำใหม่ทั้งหมด เดี๋ยวเศรษฐกิจจะหยุดไปเลย เพราะกว่าจะมีรัฐบาลก็ต้องเดือน ส.ค.ไปแล้ว และต้องใช้เวลาทำอีก 6 เดือน ตนจึงเชียร์ให้ทำในปีงบ 2568 จะดีกว่า
อ่านประกอบ :
ต่อรองแก้สัญญา-รื้อกม.แข่งขัน! โจทย์ว่าที่รบ.ใหม่‘ทลายทุนผูกขาด’-ปรับกติกาธุรกิจพลังงาน
คนรวย1%ถือทรัพย์สิน77%! ย้อนดูปัญหา‘เหลื่อมล้ำฯ’ ก่อนว่าที่‘รบ.ใหม่’ปักธง‘ทลายทุนผูกขาด’
เผยไทย'เหลื่อมล้ำด้านรายได้'สูงอันดับ 4 ในเอเชียตะวันออก-แปซิฟิก ปี 64 คนจน 4.4 ล้าน
ส่องกลยุทธ์'แผนพัฒนาชาติฯฉบับ 13' แก้โจทย์'ยากจนข้ามรุ่น'-TDRI จี้สกัดทุนใหญ่ผูกขาด
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วง 5 ปีคอร์รัปชันไทยแย่ลง-เหลื่อมล้ำสูง-ทุนใหญ่เอาเปรียบผู้บริโภค
วิรไท สันติประภพ : เกษตรกรตกไปอยู่ใน ‘กับดักหนี้’ โจทย์สำคัญที่ต้องแก้ไข
'วิรไท'ชี้'เกษตรกรรายย่อย'ปรับตัวยาก เหตุติด'กับดักหนี้'-TDRI แนะรัฐลดอุดหนุนซ้ำซ้อน