ราชกิจจานุเบกษา ประกาศใช้ ‘พ.ร.ก.แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากรฯ’ แล้ว
............................
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. เว็บไซต์ราชกิจจาบุเบกษา ได้เผยแพร่ พ.ร.ก.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ.2566 โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ทั้งนี้ พ.ร.ก.ดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อผูกพันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากร และข้อมูลบัญชีทางการเงินตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร และเพื่อให้การจัดเก็บภาษี เกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ขณะที่การตรา พ.ร.ก.ฉบับนี้ สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า หลังจาก พ.ร.ก.กำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลฯ มีผลบังคับใช้แล้ว กระทรวงการคลังและกรมสรรพากร จะมีการออกกฎหมายลูกอีก 3 ฉบับ เพื่อรองรับ พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว ได้แก่
1.กฎกระทรวง 1 ฉบับ โดยมีสาระสำคัญ คือ การกำหนดวิธีการส่งเอกสารด้วยโฆษณาทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์สาธารณะ (มาตรา 4 วรรคสอง) เช่น ให้โฆษณาบน website กรมสรรพากร ,กำหนดวิธีการส่งหนังสือด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างอธิบดีกรมสรรพากรและบุคคลตามพระราชกำหนดนี้ (มาตรา 5)
กำหนดลักษณะหรือการให้บริการหรือทำธุรกรรมของบุคคลที่เป็นผู้มีหน้าที่รายงาน (มาตรา 15 เช่น การประกอบกิจการรับฝากเงินประกอบกิจการฝากหลักทรัพย์หรือประกอบกิจการประกันภัยเป็นบุคคลที่เป็นผู้มีหน้าที่รายงาน,กำหนดยกเว้นบุคคลผู้มีหน้าที่รายงานให้ไม่ต้องมีหน้าที่รายงาน (มาตรา 16) เช่น หน่วยงานของรัฐ องค์กรระหว่างประเทศ ธนาคารแห่งชาติ
กำหนดกระบวนการตรวจสอบบัญชีทางเงินที่เปิดใหม่ที่เป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน (มาตรา 17) เช่น กำหนดวิธีการทำ Self certification เพื่อยืนยันถิ่นที่อยู่ทางภาษีของลูกค้า และกำหนดกระบวนการตรวจสอบบัญชีทางการเงินที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่ พ.ร.ก.ใช้บังคับที่เป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน (มาตรา 32 วรรคสอง) เช่น กำหนดวิธีการตรวจสอบข้อมูลบัญชีเก่าที่เปิดก่อน พ.ร.ก.มีผลบังคับใช้ เพื่อยืนยันถิ่นที่อยู่ทางภาษีของลูกค้า
2.ประกาศกระทรวงการคลัง 1 ฉบับ โดยกำหนดรายชื่อรัฐหรือประเทศภาคีตามความตกลงที่ต้องแลกเปลี่ยน ข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ (มาตรา 3)
3.ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร 1 ฉบับ ซึ่งเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรูปแบบการส่งข้อมูลแบบอัตโนมัติ (มาตรา 18) เช่น กำหนดให้ส่งข้อมูล 3 ประเภท ได้แก่ 1.ข้อมูลเจ้าของบัญชีทางการเงิน เช่น ชื่อ รัฐถิ่นที่อยู่และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เป็นต้น) 2.ข้อมูลสถาบันการเงินที่มีบัญชีทางการเงินดังกล่าว เช่น ชื่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และ 3.ข้อมูลยอดเงินและรายรับที่จ่ายเข้าบัญชีทางการเงิน
ขณะที่ก่อนหน้านี้ กรมสรรพากร ได้จัดทำเอกสาร ‘คำถาม-คำตอบ’ เพื่อชี้แจง ครม. เกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก.กำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ... อาทิ เช่น
ร่างพระราชกำหนดนี้ขัดต่อกฎหมาย PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562) หรือไม่
ตอบ : ไม่ขัดต่อกฎหมาย PDPA เพราะตามมาตรา 4 (2) แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 กำหนดไว้ว่า พ.ร.บ.นี้ ไม่ใช้บังคับแก่การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ ซึ่งรวมถึงความมั่นคงทางการคลังของรัฐด้วย ดังนั้น การดำเนินการตามร่าง พ.ร.ก.นี้ อันเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี จึงได้รับยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562
มาตรฐานการรักษาความลับของข้อมูลตามร่าง พ.ร.ก.นี้ เป็นอย่างไร
ตอบ : กฎหมายกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดเปิดเผยข้อมูล เว้นแต่เป็นการเปิดตามหน้าที่หรืออำนาจตาม พ.ร.ก.นี้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาความลับของข้อมูลตามความตกลงอนุสัญญาภาษีซ้อน (DTA) ความตกลง MAC และความตกลง MCAA CRS เพื่อไม่ให้ข้อมูลของผู้เสียภาษีอากรและผู้ที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายนี้รั่วไหลไปยังผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องได้
การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามร่าง พ.ร.ก.นี้ เป็นไปตามหลักต่างตอบแทนหรือไม่
ตอบ : การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามร่าง พ.ร.ก.นี้ เป็นไปตามหลักต่างตอบแทน อันสอดคล้องกับพันธกรณีตามความตกลงที่ประเทศไทยได้ทำการตกลงไว้ ไม่ว่าจะเป็นความตกลงตามอนุสัญญาภาษีซ้อน (DTA) ความตกลง MAC หรือความตกลง MCAA CRS
เหตุใดต้องนำการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอมากำหนดใน พ.ร.ก.ฉบับนี้
ตอบ : เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าเป็นพันธกรณีของ Global Forum ซึ่งทำให้ประเทศไทยมีภาระผูกพันในการยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างประเทศใน 2 ส่วน ได้แก่ การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอและการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ
ทั้งนี้ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอนั้น ประเทศไทยมีภาระผูกพันที่จะต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลที่คู่สัญญาร้องขอ หากคู่สัญญาได้ดำเนินร้องขอตามกระบวนการภายใต้พันธกรณี ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในการจัดเก็บภาษีในประเทศของตนหรือไม่ (Domestic Interest) ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดอำนาจในการรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอตามความตกลงด้วย
เหตุใดต้องมีการกำหนดบทลงโทษอาญาในร่าง พ.ร.ก.นี้ ในเมื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นเพื่อการนำข้อมูลไปส่งให้กับสรรพากรต่างประเทศ
ตอบ : เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีในส่วนที่เกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มีความถูกต้ององครบถ้วน รวมถึงไปการรักษาความลับของข้อมูลดังกล่าว ร่าง พ.ร.ก.นี้ จึงจำเป็นต้องมีบทกำหนดโทษอาญา ในส่วนที่เกี่ยวกับเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ การไม่เก็บรักษาข้อมูลที่ได้มาตามร่าง พ.ร.ก.นี้ รวมไปถึงการเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่น เพื่อให้ร่าง พ.ร.ก.นี้ มีผลบังคับใช้ตามพันธกรณี
ประเภทของการกำหนดบทลงโทษตาม พ.ร.ก.นี้ เป็นอย่างไร
ตอบ : มีการกำหนดบทลงโทษเป็น 2 ประเภท
1.โทษทางปกครอง มาตรา 26 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งอธิบดี กรณีอธิบดีสั่งให้ส่งข้อมูล โดยปราศจากเหตุอันสมควร (การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ) มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 200,000 บาท ,มาตรา 27 ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดี กรณีอธิบดีสั่งให้รายงานข้อมูลแบบอัตโนมัติ หรือสั่งให้แก้ไขรายงานข้อมูลแบบอัตโนมัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนด (การแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ) มีโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 200,000 บาท
2.โทษทางอาญา มาตรา 28 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 50,000 บาท ถึง 500,000 บาท ,มาตรา 29 ผู้มีหน้าที่รายงานไม่เก็บรักษาข้อมูลที่ได้มาตาม พ.ร.ก.นี้เป็นระยะเวลา 6 ปี ระวางโทษปรับไม่เกิน 300,000 บาท และมาตรา 30 ผู้ใดเปิดเผยข้อมูลที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.ก.นี้ ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร เคยให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีและบัญชีทางการเงินระหว่างประเทศ จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก คือ กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลำดับสูงสุดอยู่ในประเทศไทย จะสามารถยื่นรายงานข้อมูลการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report : CbCR)
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะได้รับรายงานข้อมูล จากประเทศภาคีที่เป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัทข้ามชาติและมีกิจการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมความโปร่งใส สร้างความเป็นธรรม และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ รวมถึงส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป
อ่านเพิ่มเติม : พระราชกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ.2566
อ่านประกอบ :
‘คลัง-สรรพากร’ ดันออก ‘กฎหมายลูก’ 3 ฉบับ รับ ‘พ.ร.ก.แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างปท.'
สกัดเลี่ยงภาษีข้ามชาติ! ครม.เคาะ‘ร่างพ.ร.ก.แลกข้อมูลฯ’-ให้‘สรรพากร’ไล่บี้‘บ.นอกอาณาเขต’
ชำแหละร่างกม.แลกข้อมูล'ภาษี-บัญชีการเงิน'ระหว่างปท. กรุยทาง'สรรพากร'ไล่บี้'บ.นอกอาณาเขต'
ให้อำนาจสรรพากรบี้‘บ.นอกอาณาเขต’! ลุ้น กม.ภาษีระหว่างประเทศมีผล มิ.ย.-ป้องกันโยกทรัพย์สิน
ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง:เบื้องลึก 'ปานามา-แพนโดรา' เปเปอร์ส ย้อนรอย'คนดัง' ซุกทรัพย์สิน
ส่องคดีทุจริตโลก:บ.ลับปานามาเปเปอร์สรับโอน 1.5 พัน ล.โครงการเรือรบมาเลเซีย 7.2 หมื่นล้าน
แพนโดราเปเปอร์ส :'คองเกรส'เล็งออก กม.จี้ บ.ทรัสต์ตรวจประวัตินักลงทุน
แพนโดรา เปเปอร์ส! เจาะฐานข้อมูล บ.นอกอาณาเขตทั่วโลก 'มหาเศรษฐีไทย’ หลายตระกูล
ส่องท่าทีโลก หลังเปิดโปง 'แพนโดราเปเปอร์ส' ปลุกกระแสสกัดกลธุรกิจมหาเศรษฐี-ไทยยังเงียบ?
ส่วนร่วมเล็กๆ 'อิศรา' ในข่าวพูลิตเซอร์ 'ปานามาเปเปอร์ส' กับงานข่าวโลกยุค 'Big Data'