“…กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจสั่งให้บุคคลรวบรวม และนำส่งข้อมูลของตนเองหรือของผู้อื่นที่อยู่ในการครอบครองหรือการควบคุมของตน ตามที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา โดยไม่คำนึงว่าข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ก็ตาม…”
....................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.วิสามัญฯ) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ...ได้พิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ... เสร็จเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี ในขณะที่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำลังอยู่ในขั้นตอนนำเสนอให้ที่ประชุม 'สภาผู้แทนราษฎร' พิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 นั้น ลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ได้ออกมาระบุว่า กรมสรรพากรอยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ได้ทันภายในเดือน มิ.ย.2566 นี้
เพราะหากไทยไม่สามารถเข้าร่วมกติกาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอากรระหว่างประเทศได้ อาจทำให้ไทยถูกกดดันจากประเทศทั่วโลก เช่น การแซงก์ชั่นเรื่องการค้าขาย เพราะทั่วโลกได้เข้าร่วมกติกานี้แล้ว (อ่านประกอบ : ให้อำนาจสรรพากรบี้‘บ.นอกอาณาเขต’! ลุ้น กม.ภาษีระหว่างประเทศมีผล มิ.ย.-ป้องกันโยกทรัพย์สิน)
“การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก คือ กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลำดับสูงสุดอยู่ในประเทศไทย จะสามารถยื่นรายงานข้อมูลการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report : CbCR)
และไทยจะได้รับรายงานข้อมูล จากประเทศภาคีที่เป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัทข้ามชาติและมีกิจการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมความโปร่งใส สร้างความเป็นธรรม และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ” ลวรณ ย้ำ
เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอนำเสนอสาระของ ร่าง พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. .... ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯแล้ว ซึ่งประกอบด้วย 4 หมวด 1 บทเฉพาะกาล รวมทั้งสิ้น 33 มาตรา มีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
@แลกเปลี่ยน‘ข้อมูลภาษี-บัญชีการเงิน’ ตามกรอบความร่วมมือ OECD
หลักการและเหตุผล
โดยที่ประเทศไทยมีพันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรแบบร้องขอ ตามความตกลงหรืออนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน และการป้องกันการเลี่ยงรัษฎากรและความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี และมีพันธกรณีในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ ตามความตกลงพหุภาคีระหว่างเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ
ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสมาชิก Global Forum on Transparency and Exchange of Information for Tax Purposes ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) อันมีผลผูกพันให้ประเทศไทย ในฐานะสมาชิกต้องดำเนินการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรและข้อมูลบัญชีทางการเงินกับคู่สัญญาตามความตกลงดังกล่าว
ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อผูกพันในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีอากรและข้อมูลบัญชีทางการเงินดังกล่าวได้ จึงจำเป็นต้องตรา พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ....
@ให้อำนาจ‘เจ้าหน้าที่’สั่ง‘บุคคล’รวบรวมข้อมูลตามที่‘คู่สัญญา’ร้องขอ
1.การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ
-กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจสั่งให้บุคคลรวบรวม และนำส่งข้อมูลของตนเองหรือของผู้อื่นที่อยู่ในการครอบครองหรือการควบคุมของตน ตามที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา โดยไม่คำนึงว่าข้อมูลนั้นจะเป็นประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีตามประมวลรัษฎากรหรือไม่ก็ตาม
รวมทั้งให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวตามที่ได้รับคำร้องขอ ตามมาตรฐานการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอจากคู่สัญญาตามอนุสัญญา เพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อน (DTA) และความตกลงพหุภาคีว่าด้วยการให้ความช่วยเหลือด้านการบริหารภาษี (MAC)
สำหรับหลักเกณฑ์ ‘การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ’ ให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ใน ‘หมวด 1 การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ’ ในร่างมาตรา 7-12 ได้แก่
ร่างมาตรา 8 บัญญัติว่า “ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยมีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลตามที่ได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา ทั้งนี้ การแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าวต้อง
(1) เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อการบริหารการจัดเก็บภาษีอากรและการบังคับใช้กฎหมายภาษีอากรของคู่สัญญาผู้ร้องขอ และ
(2) เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ การสอบสวน การดำเนินคดีหรือการบังคับคดีในทางภาษีอากรโดยคู่สัญญาผู้ร้องขอ รวมทั้งข้อมูลของบุคคลซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว”
ร่างมาตรา 9 บัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาใดประสงค์จะขอข้อมูลภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญานั้นทำคำร้องขอข้อมูลส่งมายังเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทย โดยอย่างน้อยต้องมีสาระสำคัญ ดังต่อไปนี้
(1) รายละเอียดข้อมูลของบุคคลซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ การสอบสวนการดำเนินคดี หรือการบังคับคดีในทางภาษีอากรโดยคู่สัญญาผู้ร้องขอ หรือข้อมูลของบุคคล ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว
(2) ข้อมูลที่ร้องขอ รวมถึงลักษณะและรูปแบบของข้อมูลที่คู่สัญญาผู้ร้องขอประสงค์ จะให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยจัดส่งให้
(3) วัตถุประสงค์ในทางภาษีที่เป็นเหตุในการขอข้อมูล
(4) เหตุที่ทำให้เชื่อว่ามีข้อมูลที่ร้องขออยู่ในประเทศไทย หรือมีข้อมูลที่ร้องขออยู่ในความครอบครองหรือควบคุมของบุคคลซึ่งอยู่ในประเทศไทย
(5) ชื่อและที่อยู่ของบุคคลซึ่งเชื่อว่าครอบครองข้อมูลที่ร้องขอ
(6) ข้อความซึ่งแสดงให้เห็นว่าการร้องขอดังกล่าวสอดคล้องกับกฎหมายหรือแนวปฏิบัติในทางบริหารของคู่สัญญาผู้ร้องขอ เพื่อแสดงให้เห็นว่าหากข้อมูลนั้นอยู่ในดินแดนของคู่สัญญาผู้ร้องขอ เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาผู้ร้องขอจะสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ตามกฎหมายหรือแนวปฏิบัติปกติในทางบริหารของคู่สัญญาผู้ร้องขอ และการขอข้อมูลนั้นสอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร
(7) ข้อความซึ่งแสดงให้เห็นว่าคู่สัญญาผู้ร้องขอได้ดำเนินมาตรการทั้งหมดเท่าที่ตนจะสามารถกระทำได้ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าวแล้ว หรือในกรณีที่มีมาตรการที่สามารถดำเนินการ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลดังกล่าว แต่การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดความยากลำบากเกินสมควร”
ร่างมาตรา 10 บัญญัติว่า “ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยปฏิเสธการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามหมวดนี้ตามหลักต่างตอบแทนที่ระบุไว้ในความตกลงหรืออนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง และหากปรากฏเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้
(1) การได้มาซึ่งข้อมูลเพื่อแลกเปลี่ยนตามหมวดนี้จะเป็นการขัดต่อกฎหมายหรือแนวปฏิบัติปกติในทางบริหารของประเทศไทยหรือของคู่สัญญาผู้ร้องขอ
(2) การแลกเปลี่ยนข้อมูลจะเป็นการขัดต่อกฎหมายหรือแนวปฏิบัติปกติในทางบริหารของประเทศไทยหรือของคู่สัญญาผู้ร้องขอ
(3) การแลกเปลี่ยนข้อมูลจะมีผลเป็นการเปิดเผยความลับทางการค้า ธุรกิจ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือความลับทางวิชาชีพ หรือกรรมวิธีทางการค้า หรือข้อมูลที่เปิดเผยจะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
(4) มีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่าคู่สัญญาผู้ร้องขอจะไม่สามารถรักษาข้อมูลที่ได้รับไว้เป็นความลับ
(5) เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาผู้ร้องขอ จะไม่สามารถจัดส่งข้อมูลลักษณะเดียวกันที่มีอยู่ในดินแดนของตน หากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยร้องขอข้อมูลดังกล่าว
(6) หลักการในการจัดเก็บภาษีอากรของคู่สัญญาผู้ร้องขอ ขัดหรือแย้งกับหลักการในการจัดเก็บภาษีอากรซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วไปหรือขัดต่อบทบัญญัติของความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร
(7) คู่สัญญาผู้ร้องขอยังมิได้ดำเนินมาตรการทั้งหมดเท่าที่จะทำได้เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ภายใต้กฎหมายหรือแนวปฏิบัติทางบริหาร เว้นแต่การดำเนินมาตรการดังกล่าวจะทำให้เกิดความยากลำบากเกินสมควร
(8) การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามคำร้องขอของคู่สัญญาจะมีผลทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อบุคคลผู้มีสัญชาติไทย”
ขณะที่ร่างมาตรา 11 บัญญัติว่า “เมื่อได้รับคำร้องขอข้อมูลตามมาตรา 9 แล้ว ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยพิจารณาว่าคำร้องขอข้อมูลนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 8 หรือไม่ และคำร้องขอข้อมูลนั้นมีรายการครบถ้วนและมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอต่อการดำเนินการหรือไม่ รวมทั้งมีเหตุปฏิเสธการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 10 หรือไม่
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยเห็นว่าคำร้องขอข้อมูลนั้น มีรายการไม่ครบถ้วน หรือมีรายละเอียดไม่ชัดเจนหรือไม่เพียงพอต่อการดำเนินการตามคำร้องขอข้อมูลได้ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาผู้ร้องขอว่าคำร้องขอดังกล่าวมีรายการไม่ครบถ้วน หรือมีรายละเอียดไม่ชัดเจนหรือไม่เพียงพอต่อการดำเนินการตามคำร้องขอได้ และแจ้งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาผู้ร้องขอให้จัดทำข้อมูลเพิ่มเติมส่งมายังเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยภายในระยะเวลาที่กำหนด
ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยพิจารณาคำร้องขอข้อมูลแล้วเห็นว่าคำร้องขอข้อมูลนั้น ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 8 หรือเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาผู้ร้องขอไม่ดำเนินการจัดทำและส่งข้อมูลเพิ่มเติมภายในระยะเวลาที่กำหนดในวรรคสองโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือมีเหตุปฏิเสธการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยปฏิเสธคำร้องขอข้อมูลพร้อมแจ้งเหตุผลของการปฏิเสธให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาผู้ร้องขอทราบ”
ร่างมาตรา 12 บัญญัติว่า “เมื่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยพิจารณาคำร้องขอข้อมูลตามมาตรา 11 แล้วเห็นว่าคำร้องขอข้อมูลนั้นอยู่ในหลักเกณฑ์การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 8 และมีรายการครบถ้วนและมีรายละเอียดที่ชัดเจนเพียงพอต่อการดำเนินการ รวมทั้งไม่มีเหตุปฏิเสธการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามมาตรา 10 ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยดำเนินการรวบรวมข้อมูลตามที่ได้รับการร้องขอ ทั้งนี้ หากยังไม่มีข้อมูลดังกล่าว ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยสั่งการให้อธิบดีดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลตามที่ได้รับการร้องขอนั้น และส่งให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทย เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามที่ได้รับการร้องขอได้
ในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลตามวรรคหนึ่ง ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้บุคคลซึ่งครอบครองหรือควบคุมข้อมูลของบุคคลซึ่งถูกระบุในคำร้องขอ มาให้ถ้อยคำ หรือส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือ หรือรวบรวมและนำส่งข้อมูลนั้นให้แก่อธิบดีได้
ในกรณีที่จะส่งข้อมูลของบุคคลตามหมวดนี้ซึ่งถูกระบุในคำร้องขอให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยสั่งการให้อธิบดีแจ้งบุคคลดังกล่าวถึงการส่งข้อมูลนั้น เว้นแต่เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญามีคำร้องขอไม่ให้แจ้งบุคคล ซึ่งถูกระบุในคำร้องขอนั้นเนื่องจากมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าจะเป็นการกระทบต่อกระบวนการตรวจสอบ การสอบสวน การดำเนินคดี หรือการบังคับคดี ในทางภาษีอากรของคู่สัญญา”
@กำหนด 'ผู้มีหน้าที่รายงาน' ข้อมูลบัญชีทางการเงิน 9 ประเภท
2.การแลกเปลี่ยนข้อมูลทางการเงินแบบอัตโนมัติ
-กำหนดนิยามของ “ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงิน’ ซึ่งได้แก่ ‘บัญชีรับฝากเงิน บัญชีรับฝากสินทรัพย์บัญชีเพื่อการลงทุน หรือกรมธรรม์ประกันชีวิต ของลูกค้าของผู้มีหน้าที่รายงาน’ นั้น ให้หมายความว่า นิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ซึ่งไม่รวมถึงสาขาของนิติบุคคลดังกล่าวที่อยู่ในต่างประเทศ หรือสาขาของนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ อันประกอบด้วย นิติบุคคล บุคคล หรือผู้ประกอบธุรกิจ รวม 9 ประเภท ได้แก่
(1) สถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน
(2) บริษัทหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
(3) สถาบันการเงินของรัฐที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น
(4) ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยการประกันชีวิต
(5) ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
(6) ผู้ดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญาตามกฎหมายว่าด้วยการดูแลผลประโยชน์ของคู่สัญญา
(7) ผู้ประกอบธุรกิจบัตรเครดิตตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 58 ลงวันที่ 26 มกราคม พุทธศักราช 2515
(8) ทรัสตีตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน
(9) บุคคลอื่นใดซึ่งมีข้อมูลบัญชีทางการเงินตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด
โดยบุคคลผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูลบัญชีทางการเงินต้องมีลักษณะหรือการให้บริการหรือทำธุรกรรมตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 15)
@ให้ลูกค้ายืนยัน ‘ถิ่นที่อยู่ทางภาษี’ ทุกครั้ง ที่มีการเปิดบัญชีใหม่
-กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานจัดให้ลูกค้า หรือผู้ใช้อำนาจควบคุมของลูกค้าที่เปิดหรือมีบัญชีทางการเงินกับผู้มีหน้าที่รายงาน แสดงตนตามวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
-กำหนดให้ลูกค้าของผู้มีหน้าที่รายงานหรือผู้ใช้อำนาจควบคุมของลูกค้าของ ผู้มีหน้าที่รายงาน แจ้งข้อความในการแสดงตนโดยถูกต้องและครบถ้วน
-กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานมีหน้าที่รวบรวมและตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับบัญชีทางการเงินที่ตนเก็บรักษาของลูกค้า เพื่อบ่งชี้บัญชีทางการเงินของผู้ที่ต้องถูกรายงาน
-กำหนดให้เมื่อผู้มีหน้าที่รายงานได้ดำเนินการรายงานข้อมูลแล้ว ปรากฏว่า มีบัญชีทางการเงินที่ถือโดยลูกค้าที่เป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน หรือโดยลูกค้าที่มีผู้ใช้อำนาจควบคุมเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ผู้มีหน้าที่รายงานรายงานข้อมูลที่ต้องรายงานต่อเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ
-กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานเก็บรักษาข้อมูลและเอกสารหลักฐานใดๆ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 ปีนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาที่ผู้มีหน้าที่รายงานต้องดำเนินการฯ
-กำหนดให้ผู้มีหน้าที่รายงานจะแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการรายงานข้อมูลได้
-กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจออกคำสั่งให้กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการ พนักงานของผู้มีหน้าที่รายงาน พยาน หรือผู้ซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้มีหน้าที่รายงาน มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจง หรือส่งบัญชี บัญชีทางการเงิน เอกสาร หรือหลักฐานใดๆ อันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลโดยอัตโนมัติ
-กำหนดให้ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจว่า ผู้มีหน้าที่รายงานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่กำหนดข้างต้น หรือปฏิบัติตามแต่ข้อมูลที่รายงานไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจสั่งให้ผู้มีหน้าที่รายงานนั้น ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือปฏิบัติ หรือแก้ไขให้ถูกต้องหรือเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด
ดังที่ปรากฏในร่างมาตรา 17-24 ได้แก่
ร่างมาตรา 17 บัญญัติว่า “ให้ผู้มีหน้าที่รายงานจัดให้ลูกค้าแจ้งและยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับถิ่นที่อยู่ทางภาษีทุกครั้งที่มีการเปิดบัญชีทางการเงินใหม่
บัญชีทางการเงินที่ผู้มีหน้าที่รายงานต้องดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ได้แก่ บัญชีทางการเงินที่มีลักษณะและไม่เป็นบัญชีทางการเงินที่ถูกยกเว้นการรายงานตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
เมื่อลูกค้าแจ้งและยืนยันตามวรรคหนึ่งแล้ว ให้ผู้มีหน้าที่รายงานตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว และหากพบว่าบัญชีทางการเงินใดถือโดยลูกค้าซึ่งเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน หรือถือโดยลูกค้าซึ่งมีผู้มีอำนาจควบคุมเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน ให้ผู้มีหน้าที่รายงานกำหนดให้บัญชีทางการเงินดังกล่าวเป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน
ผู้ที่ต้องถูกรายงานตามวรรคสาม ไม่หมายความรวมถึงหน่วยงานของรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ ธนาคารกลาง และหน่วยงานทางการเงินอื่น ทั้งนี้ เฉพาะที่มีลักษณะตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และผู้ซึ่งรัฐมนตรีประกาศกำหนด
ผู้มีอำนาจควบคุม หมายความว่า บุคคลธรรมดาซึ่งใช้อำนาจควบคุมเหนือลูกค้าซึ่งไม่ใช่บุคคลธรรมดา ทั้งนี้ ลักษณะของลูกค้าและการใช้อำนาจควบคุมเหนือลูกค้าแต่ละประเภท ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง หลักเกณฑ์และวิธีการในการพิจารณาถิ่นที่อยู่ทางภาษีของผู้ที่ต้องถูกรายงาน การแจ้งและยืนยันข้อมูล และการตรวจสอบข้อมูล ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ กฎกระทรวงอาจกำหนดให้แตกต่างกันตามประเภทหรือมูลค่าของบัญชีทางการเงินก็ได้”
ร่างมาตรา 18 บัญญัติว่า “เมื่อผู้มีหน้าที่รายงานกำหนดบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานแล้ว ให้ส่งข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานและข้อมูลของผู้มีหน้าที่รายงานดังต่อไปนี้ ไปยังอธิบดีภายในวันที่ 30 มิถุนายน ของปีถัดไป เพื่อส่งให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติต่อไป
(1) ข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าของบัญชีหรือผู้มีอำนาจควบคุมของเจ้าของบัญชี ได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ หมายเลขประจำตัวผู้เสียภาษี วัน เดือน ปีเกิด และสถานที่เกิด หรือข้อมูลอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
(2) ข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีทางการเงิน ได้แก่ เลขที่บัญชี ยอดเงินในบัญชีหรือมูลค่าเงินสดในกรมธรรม์ ดอกเบี้ยที่ได้รับ หรือผลประโยชน์อื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
(3) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้มีหน้าที่รายงาน ได้แก่ ชื่อและหมายเลขระบุตัวตนของผู้มีหน้าที่รายงาน ทั้งนี้ ให้ใช้ข้อมูล ณ วันสิ้นปีปฏิทิน หรือ ณ วันอื่นตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
การส่งข้อมูลตามวรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และรูปแบบการส่งข้อมูลที่อธิบดีประกาศกำหนด
ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร รัฐมนตรีมีอำนาจออกประกาศผ่อนผันการส่งข้อมูลบางรายการ หรือขยายกำหนดเวลาการส่งข้อมูลนั้นออกไปก็ได้”
ร่างมาตรา 19 บัญญัติว่า “ภายหลังจากการดำเนินการตามมาตรา 17 แล้ว หากปรากฏข้อเท็จจริงแก่ผู้มีหน้าที่รายงานว่ามีข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป อันมีผลทำให้บัญชีทางการเงินใดเป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน หรือทำให้ไม่เป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานอีกต่อไป ให้ผู้มีหน้าที่รายงานกำหนดเพิ่มให้บัญชีนั้น เป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานหรือยกเลิกการกำหนดให้บัญชีทางการเงินนั้นเป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงาน แล้วแต่กรณี”
ร่างมาตรา 20 บัญญัติว่า “ให้ผู้มีหน้าที่รายงานเก็บรักษารายการและหลักฐานการดำเนินการต่างๆ ว่าได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ และข้อมูลที่ได้รวบรวมมาจากกระบวนการตรวจสอบบัญชีทางการเงินตามหมวดนี้ เป็นระยะเวลาหกปีนับแต่วันสิ้นปีปฏิทินที่เสร็จสิ้นกระบวนการตรวจสอบบัญชีทางการเงินนั้น”
ร่างมาตรา 21 บัญญัติว่า “ผู้มีหน้าที่รายงานอาจแต่งตั้งตัวแทนเพื่อดำเนินการตามมาตรา 17 มาตรา 18 หรือมาตรา 20 ก็ได้ ทั้งนี้ ให้ผู้มีหน้าที่รายงานยังคงมีความรับผิดหากตัวแทนมิได้ดำเนินการถูกต้องครบถ้วนตามมาตรา 17 มาตรา 18 หรือมาตรา 20 แล้วแต่กรณี”
ร่างมาตรา 22 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามหมวดนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้มีหน้าที่รายงาน กรรมการ ผู้จัดการ บุคคลผู้มีอำนาจในการจัดการของผู้มีหน้าที่รายงาน หรือตัวแทนซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำเนินการตามมาตรา 21 มาให้ถ้อยคำ ส่งคำชี้แจงเป็นหนังสือหรือส่งบัญชีทางการเงิน เอกสาร หรือหลักฐานใดๆ อันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้”
ร่างมาตรา 23 บัญญัติว่า “ในกรณีที่ความปรากฏแก่อธิบดีว่า
(1) ผู้มีหน้าที่รายงานไม่ปฏิบัติตามมาตรา 17 มาตรา 18 หรือมาตรา 32 ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้มีหน้าที่รายงานนั้นปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
(2) ผู้มีหน้าที่รายงานปฏิบัติตามมาตรา 17 มาตรา 18 หรือมาตรา 32 แต่ข้อมูลที่รายงานนั้น ไม่ถูกต้องครบถ้วน ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้มีหน้าที่รายงานนั้น แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด”
และร่างมาตรา 24 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติตามหมวดนี้ หากความปรากฏแก่อธิบดีว่า ผู้มีหน้าที่รายงาน ผู้ที่ต้องถูกรายงาน หรือบุคคลอื่นใด กระทำการใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ผู้มีหน้าที่รายงานหรือผู้ที่ต้องถูกรายงานไม่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ผู้มีหน้าที่รายงาน หรือผู้ที่ต้องถูกรายงาน หรือบุคคลอื่นดังกล่าวปฏิบัติตามบทบัญญัติในหมวดนี้”
@เจ้าหน้าที่มีอำนาจเปิดเผยข้อมูลแก่ 'เจ้าพนักงานประเมินภาษี'
3.กำหนดให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีอำนาจเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามสัญญา แก่เจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากรหรือหน่วยงานอื่น ทั้งนี้ ตามความที่กำหนดในความตกลง แล้วแต่กรณี
ดังร่างมาตรา 25 ที่บัญญัติว่า “ภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากรตามหมวด 1 การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ หรือความตกลงตามหมวด 2 การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยมีอำนาจเปิดเผยข้อมูลที่ได้รับตามพระราชบัญญัตินี้ หรือข้อมูลที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา ให้แก่เจ้าพนักงานประเมินตามประมวลรัษฎากร หรือกฎหมายว่าด้วยภาษีเงินได้ปิโตรเลียม หรือกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง"
4.กำหนดให้บรรดาเอกสารหลักฐาน หรือหนังสืออื่นซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจมีถึงผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลใดตาม พ.ร.บ.นี้ ให้ส่งโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ หรือให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจนำไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลนั้น ในระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาทำการของผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลนั้น ถ้าไม่พบผู้รับ ณ ภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่ หรือสำนักงานของผู้รับจะส่งให้แก่บุคคลใดซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว และอยู่หรือทำงานในบ้าน หรือสำนักงานที่ปรากฏว่าเป็นของผู้รับนั้นก็ได้
กรณีไม่สามารถส่งตามวิธีในวรรคหนึ่งได้ หรือบุคคลนั้นออกไปนอกราชอาณาจักร ให้ใช้วิธีปิดเอกสารหลักฐาน หรือหนังสืออื่นแล้วแต่กรณีในที่ซึ่งเห็นได้ง่าย ณ ที่อยู่หรือสำนักงานของผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลนั้น หรือบ้านที่บุคคลนั้นมีชื่ออยู่ในทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรครั้งสุดท้าย หรือโฆษณาข้อความย่อในหนังสือพิมพ์ที่จำหน่ายเป็นปกติในท้องที่นั้นก็ได้ (ร่างมาตรา 4)
5.กำหนดให้บรรดาเอกสารหลักฐาน หรือหนังสืออื่นที่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจต้องใช้ ในการติดต่อกับผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลใด หรือที่ผู้มีหน้าที่รายงานหรือบุคคลใดต้องใช้ในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจ อาจกระทำด้วยกระบวนการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ (ร่างมาตรา 5)
6.กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ไม่ให้ใช้บังคับกับการแลกเปลี่ยนข้อมูลตามพระราชบัญญัติการปฏิบัติการตามความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อความร่วมมือในการปรับปรุงการปฏิบัติตามการภาษีอากรระหว่างประเทศ พ.ศ.2560
@กำหนดบทลงโทษผู้ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง 'อธิบดี'-เปิดเผยข้อมูล
บทกำหนดโทษ
ร่างมาตรา 26 บัญญัติว่า “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีตามมาตรา 12 วรรคสอง โดยปราศจากเหตุอันสมควร ให้อธิบดีมีอำนาจพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินสองแสนบาท”
ร่างมาตรา 27 บัญญัติว่า “ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของอธิบดีตามมาตรา 23 หรือมาตรา 24 โดยปราศจากเหตุอันสมควร ให้อธิบดีพิจารณามีคำสั่งลงโทษปรับทางปกครองไม่เกินสองแสนบาท”
ร่างมาตรา 28 บัญญัติว่า “ผู้ใดเจตนาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดความจริง ในการดำเนินการหรือการให้ข้อมูลตามมาตรา 12 มาตรา 17 หรือมาตรา 18 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าหมื่นบาทถึงห้าแสนบาท”
ร่างมาตรา 29 บัญญัติว่า “ผู้มีหน้าที่รายงานผู้ใดไม่ปฏิบัติตามมาตรา 20 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสามแสนบาท”
ร่างมาตรา 30 บัญญัติว่า “ผู้ใดล่วงรู้ข้อมูลอันเนื่องจากการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ แล้วนำไปเปิดเผยแก่บุคคลอื่น เว้นแต่เป็นการเปิดเผยตามหน้าที่และอำนาจตามพระราชบัญญัตินี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
และร่างมาตรา 31 “ความผิดตามมาตรา 28 และมาตรา 29 ให้อธิบดีมีอำนาจเปรียบเทียบได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด
เมื่ออธิบดีได้ทำการเปรียบเทียบ และผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่อธิบดีกำหนดแล้ว ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ถ้าผู้ต้องหาไม่ยินยอมตามที่เปรียบเทียบ หรือเมื่อยินยอมแล้ว ไม่ชำระเงินค่าปรับภายในระยะเวลาที่กำหนด ให้ดำเนินคดีต่อไป”
บทเฉพาะกาล
ร่างมาตรา 32 บัญญัติว่า “เพื่อประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติตามหมวด 2 การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ เมื่อพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้ผู้มีหน้าที่รายงานตามมาตรา 15 ตรวจสอบบัญชีทางการเงินที่มีอยู่ในวันก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับของลูกค้าของตน และหากพบว่าบัญชีทางการเงินใดถือโดยลูกค้าซึ่งเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน หรือถือโดยลูกค้าซึ่งมีผู้มีอำนาจควบคุมเป็นผู้ที่ต้องถูกรายงาน ให้ผู้มีหน้าที่รายงานกำหนดให้บัญชีทางการเงินดังกล่าวเป็นบัญชีทางการเงินที่ต้องถูกรายงานตามหมวด 2 การแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบอัตโนมัติ
หลักเกณฑ์และวิธีการในการตรวจสอบบัญชีทางการเงินตามวรรคหนึ่ง และระยะเวลาในการส่งข้อมูลให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ กฎกระทรวงอาจกำหนดให้แตกต่างกันตามประเภทหรือมูลค่าของบัญชีทางการเงินก็ได้ ให้นำบทบัญญัติเกี่ยวกับบัญชีทางการเงิน ผู้ที่ต้องถูกรายงาน ผู้มีอำนาจควบคุม และการพิจารณาถิ่นที่อยู่ทางภาษีของผู้ที่ต้องถูกรายงานตามมาตรา 17 และบทบัญญัติมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 23 และมาตรา 24 รวมทั้งบทกำหนดโทษที่เกี่ยวข้อง มาใช้บังคับแก่การดำเนินการตามมาตรานี้ด้วย”
ร่างมาตรา 33 บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ใช้บังคับบทบัญญัติมาตรา 17 มาตรา 18 และมาตรา 32 ในการลงโทษหรือในทางที่จะเป็นผลร้ายแก่ผู้มีหน้าที่รายงาน จนกว่ากฎกระทรวงหรือประกาศตามมาตราดังกล่าวจะมีผลใช้บังคับ”
ทั้งหมดนี้ คือ สาระสำคัญของ ร่าง พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ....ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2 และ 3 และยังต้องติดตามต่อไปว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้ทันเดือน มิ.ย.2566 หรือไม่ ในขณะที่อายุสภาฯใกล้หมดลงทุกที!
อ่านประกอบ :
ให้อำนาจสรรพากรบี้‘บ.นอกอาณาเขต’! ลุ้น กม.ภาษีระหว่างประเทศมีผล มิ.ย.-ป้องกันโยกทรัพย์สิน
ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง:เบื้องลึก 'ปานามา-แพนโดรา' เปเปอร์ส ย้อนรอย'คนดัง' ซุกทรัพย์สิน
ส่องคดีทุจริตโลก:บ.ลับปานามาเปเปอร์สรับโอน 1.5 พัน ล.โครงการเรือรบมาเลเซีย 7.2 หมื่นล้าน
แพนโดราเปเปอร์ส :'คองเกรส'เล็งออก กม.จี้ บ.ทรัสต์ตรวจประวัตินักลงทุน
แพนโดรา เปเปอร์ส! เจาะฐานข้อมูล บ.นอกอาณาเขตทั่วโลก 'มหาเศรษฐีไทย’ หลายตระกูล
ส่องท่าทีโลก หลังเปิดโปง 'แพนโดราเปเปอร์ส' ปลุกกระแสสกัดกลธุรกิจมหาเศรษฐี-ไทยยังเงียบ?
ส่วนร่วมเล็กๆ 'อิศรา' ในข่าวพูลิตเซอร์ 'ปานามาเปเปอร์ส' กับงานข่าวโลกยุค 'Big Data'