"...หลังจากการเปิดโปงดังกล่าว ก็ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย และสิ่งนี้ทำให้หน่วยงานซึ่งบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกนั้นต้องออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการตรวจสอบบุคลากรระดับสูงจนไปถึงระดับนายกรัฐมนตรี ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อไหร่ที่จะมีใครสักคนออกหลักเกณฑ์หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งนอกเหนือจากแค่การออกคำประณามในเรื่องเหล่านี้ ..."
เอกสารลับ "แพนโดรา" หรือว่า "แพนโดราเปเปอร์ส" ที่ตกมาอยู่ในความครอบครองของ เครือข่ายผู้สื่อข่าวสืบสวนนานาชาติ (The International Consortium of Investigative Journalists: ICIJ) ที่กำลังเปิดโปงขบวนการใช้บริการบริษัทนอกอาณาเขตของมหาเศรษฐีบุคคลดังระดับโลกในการหลบเลี่ยงภาษีและสั่งสมความมั่งคั่งจากการถือครองทรัพย์สินครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาอยู่ในขณะนี้
ส่งผลทำให้หลายประเทศทั่วโลก ต้องออกมาแสดงท่าทีเกี่ยวกับเรื่องอย่างจริงจัง
เมื่อเร็ว ๆ นี้ โครงการรายงานอาชญากรรมและการทุจริต หรือ OCCRP ได้เผยแพร่รายงานข่าวถึงท่าทีความเคลื่อนไหวของนานาประเทศ ต่อ เอกสารลับ "แพนโดรา" ดังกล่าว
มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
นับตั้งแต่เอกสารแพนโดราเปเปอร์สถูกเปิดโปงเมื่อประมาณ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่เอกสารเหล่านี้ได้เปิดโปง กลายเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงทั้งในการแถลงข่าวคณะกรรมการยุโรป, ผู้นำของประเทศและในแถลงการณ์ของรัฐบาลต่าง ๆ หลายแห่ง
ในขณะที่โลกกำลังจับตามองว่าเจ้าหน้าที่ทางการของประเทศต่าง ๆ จะดำเนินการอย่างไรบ้าง หลังมีกรณีการเปิดโปงเอกสารแพนโดรานี้
ซึ่งจากข้อมูลเอกสารจำนวน 12 ล้านชุด ที่รั่วไหลออกมาจาก 14 บริษัท ที่ให้บริการด้านองค์กรในพื้นที่นอกอาณาเขต ในแพนโดราเปเปอร์ส มีการระบุชัดเจนว่า เหล่าผู้นำ บุคคลสำคัญระดับโลกนั้นใช้บริษัทนอกอาณาเขตเพื่อหลบเลี่ยงจากการเสียภาษีและสั่งสมความมั่งคั่งอันตรวจสอบไม่ได้ ซึ่งมาในรูปแบบอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินอื่น ๆ ไว้ด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง
โดยในกลุ่มผู้นำประเทศและอดีตนักการเมืองที่ถูกระบุชื่อในเอกสาร หนึ่งในนั้นก็คือ สมาชิกครอบครัวของนายอิลฮัม แอลีเยฟ อดีตประธานาธิบดีประเทศอาเซอร์ไบจาน,กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 จากประเทศจอร์แดน,นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ,นายอันเดรจ บาบิส นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก,นายอูฮูรู เคนยัตตา ประธานาธิบดีเคนยา,ผู้ร่วมงานของนายอิมราน ข่าน นายกรัฐมนตรีปากีสถานและนายวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย
ซึ่งหลังจากการเปิดโปงดังกล่าว ก็ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย และสิ่งนี้ทำให้หน่วยงานซึ่งบังคับใช้กฎหมายทั่วโลกนั้นต้องออกมาให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการตรวจสอบบุคลากรระดับสูงจนไปถึงระดับนายกรัฐมนตรี
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้ตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อไหร่ที่จะมีใครสักคนออกหลักเกณฑ์หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งนอกเหนือจากแค่การออกคำประณามในเรื่องเหล่านี้
“เรื่องแพนโดราเปเปอร์สนั้น ทำให้พวกเราโกรธแค้นเหล่าบรรดาชนชั้นสูงเป็นอย่างยิ่ง” นายบรูค แฮร์ริงตัน ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาและผู้วิจัยเกี่ยวกับบริษัทนอกอาณาเขตมานานกว่า 15 ปี กล่าวในรายงานข่าวของสำนักข่าวนิวยอร์กไทมส์
“สิ่งที่ผมได้รับรู้ก็คือสิ่งที่เรียกกันว่าดินแดนภาษีต่ำ (tax havens) อันที่จริงแล้วไม่ได้มีไว้สำหรับการหลบเลี่ยงการเสียภาษี แต่ว่าเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อที่จะช่วยเหล่าบรรดาชนชั้นนำหลบเลี่ยงข้อบังคับทางกฎหมายซึ่งบังคับใช้กับคนแบบเรา ๆ ธุรกิจการเงินนอกอาณาเขตเหล่านี้นั้นแท้จริงแล้วกำลังสร้างความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการเมืองเป็นอย่างยิ่ง อันจะสั่นคลอนต่อเสถียรภาพของโลกตามมาด้วย”นายแฮร์ริงตันกล่าว
กษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 จากประเทศจอร์แดน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าสั่งสมความมั่งคั่งในบริษัทนอกอาณาเขต (อ้างอิงวิดีโอจาก CBC NEWS)
ในขณะที่นักแสดงตลก, นักเขียน, และนักกิจกรรมชาวอังกฤษอย่างนายรัสเซล แบรนด์ ได้มีการโพสต์ข้อความเปิดเผยผ่านทางเฟซบุ๊กว่า เรื่องบริษัทนอกอาณาเขตนี้เป็นที่ถูกกดถูกใจและถูกแชร์ไปมากกว่านับพันครั้ง
โดยนายแบรนด์ได้อธิบายว่าผู้ที่ถูกระบุชื่อในเอกสารดังกล่าวนี้นั้นไม่ได้ทำอะไรที่ผิดกฎหมายเลย เพราะว่ามันมีช่องโหว่ในระบบอยู่แล้ว
“มันคืออาชญากรรมที่มองไม่เห็น และมีความเป็นระบบ โดยกลุ่มของสถาบัน,ปัจเจกบุคคล,และบริษัทสามารถไปไหน ทำอะไรที่พวกเขาต้องการได้ โดยไม่ต้องเข้าระบบเศรษฐกิจที่เราทุกคนนั้นมีความผูกพันและต้องเข้าร่วม ซึ่งเราทุกคนถูกบอกมาเสมอว่าถ้าเราไม่มีส่วนร่วมนี้ เราจะไม่ใช่พลเมืองที่ดี” นายแบรนด์กล่าว
ซึ่งในประเทศอังกฤษมีรายงานว่ามีการเซ็นชื่อนับหลายหมื่นรายชื่อเพื่อที่จะเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษนั้นดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อปิดช่องโหว่ด้านภาษีสำหรับผู้ที่ร่ำรวยและทรงอำนาจ
ส่วนที่ประเทศเช็กเองเมื่อสัปดาห์ก่อนพรรคการเมืองของนายบาบิสซึ่งแพ้การเลือกตั้งไปเพียงไม่กี่คะแนน ส่งผลทำให้นายบาบิสแทบไม่มีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็กต่อไป ก็ถูกระบุในเอกสารแพนโดราว่าเขาได้มีการโยกย้ายเงินเป็นจำนวนกว่า 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (732,556,000 บาท) ผ่านทางบริษัทนอกอาณาเขตเช่นกัน และได้มีการใช้บริษัทนอกอาณาเขตที่ว่านี้ซื้อคฤหาสน์ที่ชายหาดเฟรนช์ริวีเอราในประเทศฝรั่งเศส
@ชนชั้นสูงมีปฏิกริยาอย่างไรบ้าง?
หลังจากการเปิดโปง มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในระดับโลกบางคนนั้นแสดงความกังวลออกมา จึงได้ให้คำสัญญาว่าจะมีการตรวจสอบและจะมีการเสนอกฎหมายที่จะปิดช่องโหว่ในระบบภาษีนี้
แต่อย่างไรก็ตาม ก็มีหลายคนที่มองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหญ่เช่นกัน
โดยเมื่อประมาณวันที่ 6 ต.ค.ที่ผ่านมา โฆษกของคณะกรรมการยุโรปหรือว่าอียู ได้กล่าวว่าทางอียูนั้นได้มีการลงทุนเป็นมูลค่ามหาศาลมากเพื่อที่จะดำเนินการปฏิรูปภาษีระหว่างประเทศเพื่อที่จะทำให้เกิดกฎระเบียบอันจะนำไปสู่ความโปร่งใสและความยุติธรรมทั้งในอียูและในระดับโลกอันจะทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อประชาชนผู้เสียภาษีมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม โฆษกคณะกรรมการยุโรป ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าทางคณะกรรมการนั้นไม่ได้อยู่ในจุดที่จะแสดงจุดยืนได้ในกรณีที่ปรากฎชื่อบุคคลระดับสูงอยู่ในเอกสารแพนโดรา
ขณะที่ในประเทศบัลแกเรีย สำนักงานสรรพากรแห่งประเทศบัลแกเรียได้ออกประกาศว่าพวกเขาได้ขอข้อมูลจากทาง ICIJ แล้ว และจะดำเนินการต่อไปถ้าหากมีการระบุว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีเกิดขึ้น
ซึ่ง ณ เวลานี้ ปรากฎชื่อนายเดลยัน เปเยฟสกี นักการเมืองผู้ทรงอิทธิพลในประเทศบัลแกเรียเพียงชื่อเดียวเท่านั้น ที่อยู่ในเอกสารของ ICIJ จึงทำให้ทั้งหน่วยงานต่อต้านทุจริตรวมไปถึงหน่วยงานด้านภาษีของประเทศได้ดำเนินการสืบสวนแล้ว
ขณะที่ในกรณีของกษัตริย์อับดุลเลาะห์ที่ 2 นั้น ทางราชสำนักจอร์แดนก็ได้มีการออกประกาศแล้วว่าการเปิดโปงทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่เรื่องความลับแต่อย่างใด ส่วนที่ประเทศเลบานอน ซึ่งมีกรณีที่นายนิจาบ มิคาติ ก็ถูกเปิดเผยชื่อเช่นกัน ซึ่งทางเจ้าตัวก็ได้ออกมาระบุแล้วความร่ำรวยของตระกูลเขานั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตามกฎหมายและมาจากธุรกิจโทรคมนาคมซึ่งได้รับการตรวจสอบไปแล้วก่อนหน้านี้
รายงานข่าวนายอันเดรจ บาบิส นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็กถ่ายโอนทรัพย์สินหลังแพ้การเลือกตั้ง (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าว DW)
@ผู้ที่ถูกระบุนามรายอื่นๆนั้นพยายามที่จะยืนยันในความบริสุทธิ์ของตัวเอง
ในประเทศศรีลังกา มีรายงานว่านายทิรุกุมาร ณเดสาร (Thirukumar Nadesan) สามีของนางนิรุพามะ ราชปักษา อดีตรัฐมนตรี ได้เขียนจดหมายถึงนายมาฮินดา ราชปักษา นายกรัฐมนตรีศรีลังกาคนปัจจุบัน เพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบโดยอิสระ หลังจากที่มีการเปิดเผยในเอกสารแพนโดราซึ่งกล่าวหาว่าเขาและภรรยานั้นซุกซ่อนความมั่งคั่งเอาไว้ในบริษัทนอกอาณาเขต
โดยพวกเขาได้ยืนยันกับนายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกาแล้วว่าพวกเขาบริสุทธิ์
ขณะที่ประเทศมอนเตเนโกรนั้นทางสำนักงานอัยการ ได้ออกประกาศว่าพวกเขาจะดำเนินการตรวจสอบนายมิโล ยูคาโนวิช พร้อมบุตรชายหลังจากที่ทั้ง 2 คนถูกปรากฎชื่อในเอกสารแพนโดรา
อนึ่ง สิ่งที่แพนโดราเปเปอร์สได้ดำเนินการตรวจสอบและพบเจอนั้นเป็นการตอกย้ำถึงบทบาทของทั้งประเทศสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรนั้นมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดกระบวนการหลบเลี่ยงภาษีและการฟอกเงินเกิดขึ้น และทั้ง 2 ประเทศนั้นยังเป็นต้นตอของการทำให้เกิดจุดหมายปลายทางสำหรับความมั่งคั่งอันน่ากังขา
ซึ่งหลังจากมีการรายงานข่าว ชี่ สุนัค (Rishi Sunak) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังของอังกฤษ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่าได้ให้หน่วยงานตรวจสอบภาษีของอังกฤษไปตรวจสอบข้อมูลที่ถูกเปิดโปงแล้ว และเขายังได้ย้ำอีกว่าเขาไม่คิดว่ามันเป็นเรื่องที่อัปยศแต่อย่างใด ที่กรุงลอนดอนถูกขนานนามว่าเป็นเมืองหลวงแห่งการหลบเลี่ยงภาษีของโลก
ส่วนวารสาร The British Law Gazette ได้มีการออกรายงานว่าหน่วยงานกํากับดูแลทนายความหรือ Solicitors Regulation Authority:SAR นั้นต้องการที่จะเห็นเอกสารที่ปล่อยออกมาจากแพนโดราเปเปอร์สเพื่อที่จะดำเนินการตรวจสอบว่ามีบริษัทกฎหมายใดๆมีส่วนละเมิดกฎหมายการฟอกเงินหรือไม่
ส่วนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็มีกลุ่มของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ประกาศเปิดตัวหน่วยงานใหม่ร่วมกันซึ่งหน่วยงานนี้มีชื่อแปลตรงตัวว่า “หน่วยงานใหม่สําหรับจัดการการฟอกเงินทางธุรกิจและความเสี่ยงต่อความปลอดภัย” หรือที่มีชื่อว่า New Authorities for Business Laundering and Enabling Risks to Security ซึ่งหน่วยงานนี้จะเป็นไปตามกฎหมายใหม่ชื่อว่า The ENABLERS Act” โดยการเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้นั้นเกิดขึ้นหลังจากที่สำนักข่าววอชิงตันโพสต์ได้รายงานว่าบริษัทกองทุนทรัสต์แห่งหนึ่งได้มีการช่วยเหลือนักธุรกิจชาวโคลอมเบียในการฟอกเงินยาเสพติด และสองพี่น้องชาวเอกวาดอร์เพื่อซ่อนเงินประกันตัวของรัฐบาลเอกวาดอร์ที่ถูกขโมยมาในสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนนับล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
โดยกฎหมายใหม่ดังกล่าวนี้นั้นจะเป็นการแก้ไขช่องโหว่ของกฎหมายว่าด้วยความลับทางการธนาคารที่มีอยุ่ก่อนหน้านี้ ซึ่งเหล่าผู้ร่างกฎหมายต่างกฎคาดหวังว่ากฎหมายนี้จะสามารถปกป้องชาวอเมริกันจากกรณีราคาอสังหารัมทรัพย์ที่สูงเกินจริง,การตกงาน,การค้ามนุษย์และอิทธิพลอื่นๆได้
ทั้งหมดนี้ คือ ความเคลื่อนไหวในต่างประเทศที่เกิดขึ้น ภายหลังการเปิดโปงเอกสารแพนโดราหรือว่าแพนโดราเปเปอร์ส ดังกล่าว ที่กำลังถูกปลุกเป็นประเด็นร้อนสำคัญทางสังคมในการหาทางปกปิดช่องโหว่ทางกฎหมาย
แตกต่างจากในประเทศไทย ที่ดูเหมือนประเด็นเรื่องบริษัทนอกอาณาเขต ถูกกล่าวถึงน้อยมาก ไม่ว่าจะทั้งจากภาครัฐ นักการเมือง หรือแม้แต่กลุ่มภาคประชาสังคมก็ตามที
เรียบเรียงจาก:https://www.occrp.org/en/daily/15304-the-pandora-papers-a-test-for-authorities-worldwide
อ่านข่าวประกอบ ‘แพนโดรา เปเปอร์ส’ ในส่วนของประเทศไทย
-
แพนโดราเปเปอร์ส: เปิด Google Maps ลัดฟ้ากรุงลอนดอน ตามหา อพาร์ตเม้นท์ 'จิตภัสร์'
-
แพนโดรา เปเปอร์ส! เจาะฐานข้อมูล บ.นอกอาณาเขตทั่วโลก 'มหาเศรษฐีไทย’ หลายตระกูล
-
พบ 6 ตระกูลร่ำรวยสูงสุดไทย ถือครอง บ.นอกอาณาเขต ใน ‘แพนโดรา เปเปอร์ส’
-
แพนโดราเปเปอร์ส : ‘เฉลิม อยู่วิทยา’ มี บ.นอกอาณาเขตไม่ต่ำกว่า 4 แห่ง ทรัพย์สินมหาศาล
-
แพนโดราเปเปอร์ส : แกะรอย บ.สยาม แอร์เน็ท - เครื่องบินเจ็ทหรู ครอบครัว 'เฉลิม อยู่วิทยา'
-
แพนโดราเปเปอร์ส : 'จิตภัสร์' รับโอนหุ้น บ.เจ้าของอพาร์ตเม้นท์ลอนดอน ไม่มีในบัญชี ป.ป.ช.
-
แพนโดราเปเปอร์ส : บ.นอกอาณาเขต 100 แห่ง 7หมื่นล. 'เจ้าสัวเจริญ' ก่อนซื้อที่ดินพ่อบิ๊กตู่
-
แพนโดราเปเปอร์ส : ส่องข้ามโลก ตามหา 4 บ.นอกอาณาเขต -โครงข่ายธุรกิจ 'เฉลิม อยู่วิทยา'
-
แพนโดราเปเปอร์ส : บัญชีทรัพย์สิน 664 ล. 'จิตภัสร์' ไม่มีหุ้น บ.อพาร์ตเม้นท์ในลอนดอน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage