ครม.ไฟเขียว ร่าง พ.ร.ก.แลกเปลี่ยนข้อมูล ‘ภาษี-บัญชีการเงิน’ ระหว่างประเทศ สกัดการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ พร้อมให้อำนาจ ‘สรรพากร’ ตามรีดภาษี ‘บ.นอกอาณาเขต’
.....................................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ก.กำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ... และให้ส่งร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว ไปให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยสามารถเข้าร่วมกติกาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอากรระหว่างประเทศได้
พร้อมกันนั้น ที่ประชุม ครม. ยังมีมติให้ถอนร่าง พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ....ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการฯแล้ว และยังอยู่ในขั้นตอนเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 เนื่องจากสภาฯใกล้ครบวาระ 4 ปีแล้ว และอยู่ในช่วงปิดสมัยประชุมฯ จึงไม่สามารถพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ และประกาศใช้ได้ทันภายในเดือน มิ.ย.2566
ก่อนหน้านี้ นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ว่า กรมสรรพากรอยากให้ร่างกฎหมายกำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร มีผลบังคับใช้ได้ทันภายในเดือน มิ.ย.2566 เพราะหากไทยไม่สามารถผลักดันให้กฎหมายฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้ได้ จะทำให้ไทยไม่สามารถเข้าร่วมกติกาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอากรได้ และอาจทำให้ประเทศไทยถูกกดดันจากประเทศทั่วโลกได้ เช่น การแซงก์ชั่นเรื่องการค้าขาย เพราะทั่วโลกได้เข้าร่วมกติกานี้แล้ว
“ถ้ากฎหมายออกไม่ทันภายใน มิ.ย.2566 จะมีผลเสียกับไทย เพราะเราจะไม่ได้ข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยน ขณะที่ประเทศอื่นๆอาจจะมีความสงสัยว่าเรามีการปิดบังข้อมูลหรือไม่ และแม้ว่าที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าข้อมูลของผู้เสียภาษีนั้นเป็นความลับ แต่ตอนนี้จะไม่เป็นความลับระหว่างหน่วยงานด้านภาษีด้วยกันอีกแล้ว ขณะที่กติกาเหล่านี้จะทำให้โลกนี้สะอาด น่าอยู่ โปร่งใส และมีความเป็นธรรม” นายลวรณ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา
นายลวรณ ยังย้ำว่า การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงในการแลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีและบัญชีทางการเงินดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก คือ กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลำดับสูงสุดอยู่ในประเทศไทย จะสามารถยื่นรายงานข้อมูลการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report : CbCR)
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะได้รับรายงานข้อมูล จากประเทศภาคีที่เป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัทข้ามชาติและมีกิจการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมความโปร่งใส สร้างความเป็นธรรม และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ รวมถึงส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป
สำนักข่าวอิศรารายงานเพิ่มเติมว่า สำหรับร่าง พ.ร.ก.กำหนดการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ... ที่ ครม.มีมติเห็นชอบดังกล่าว มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงถ้อยคำจาก ร่าง พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ. ....ที่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร แล้ว ใน 2 ประเด็น ได้แก่
1.กรณีเพิ่มหลักการต่างตอบแทนในมาตรา 10 ครม.ให้คงหลักการต่างตอบแทนตามที่ปรากฏอยู่แล้วตามมาตรา 10 (5) ของร่าง พ.ร.ก.เสนอ เนื่องจาก ครม.เห็นว่า ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเติม ตามข้อเสนอของคณะกรรมธิการฯ ที่ระบุว่า “ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยปฏิเสธ การแลกเปลี่ยนข้อมูลตามหมวดนี้ตามหลักต่างตอบแทนที่ระบุไว้ในความตกลงหรืออนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง และหากปรากฎเหตุหนึ่งเหตุใด ดังต่อไปนี้...”
2.กรณีเพิ่มหลักการแจ้งเจ้าของข้อมูลในวรรคท้ายของมาตรา 12 (กรณีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ) และวรรคสองของมาตรา 14 (กรณีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ) ครม.เห็นควรให้คงตามร่างเดิม เนื่องจากการแจ้งดังกล่าวเป็นการขัดต่อความตกลงระหว่างประเทศ และในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นผู้อยู่ในต่างประเทศ
ในขณะที่ คณะกรรมาธิการฯได้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในร่าง มาตรา 12 (กรณีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแบบร้องขอ) ว่า “ในกรณีที่จะส่งข้อมูลของบุคคลตามหมวดนี้ ซึ่งถูกระบุในคำร้องขอให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญาให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยสั่งการให้อธิบดีแจ้งบุคคลดังกล่าวถึงการส่งข้อมูลนั้น ......
และมาตรา 14 (กรณีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินแบบอัตโนมัติ) มีการเพิ่มเติมถ้อยคำว่า “ในกรณีที่จะส่งข้อมูลของบุคคลตามหมวดนี้ ให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของคู่สัญญา ให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจของประเทศไทยสั่งการให้อธิบดีแจ้งบุคคลดังกล่าวถึงการส่งข้อมูลนั้น....”
อ่านประกอบ :
ชำแหละร่างกม.แลกข้อมูล'ภาษี-บัญชีการเงิน'ระหว่างปท. กรุยทาง'สรรพากร'ไล่บี้'บ.นอกอาณาเขต'
ให้อำนาจสรรพากรบี้‘บ.นอกอาณาเขต’! ลุ้น กม.ภาษีระหว่างประเทศมีผล มิ.ย.-ป้องกันโยกทรัพย์สิน
ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง:เบื้องลึก 'ปานามา-แพนโดรา' เปเปอร์ส ย้อนรอย'คนดัง' ซุกทรัพย์สิน
ส่องคดีทุจริตโลก:บ.ลับปานามาเปเปอร์สรับโอน 1.5 พัน ล.โครงการเรือรบมาเลเซีย 7.2 หมื่นล้าน
แพนโดราเปเปอร์ส :'คองเกรส'เล็งออก กม.จี้ บ.ทรัสต์ตรวจประวัตินักลงทุน
แพนโดรา เปเปอร์ส! เจาะฐานข้อมูล บ.นอกอาณาเขตทั่วโลก 'มหาเศรษฐีไทย’ หลายตระกูล
ส่องท่าทีโลก หลังเปิดโปง 'แพนโดราเปเปอร์ส' ปลุกกระแสสกัดกลธุรกิจมหาเศรษฐี-ไทยยังเงียบ?
ส่วนร่วมเล็กๆ 'อิศรา' ในข่าวพูลิตเซอร์ 'ปานามาเปเปอร์ส' กับงานข่าวโลกยุค 'Big Data'