'อธิบดีกรมสรรพากร' เผย 'ร่าง พ.ร.บ.แลกเปลี่ยนข้อมูลภาษีระหว่างประเทศฯ' ผ่านกรรมาธิการฯแล้ว รอเข้าสภาวาระ 2-3 ลุ้นมีผลบังคับใช้ภายใน มิ.ย.66 ให้ 'สรรพากร' มีอำนาจตามเก็บภาษี ‘บริษัทนอกอาณาเขต’ ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษี โดยการโยกย้ายเงินหรือสินทรัพย์ทางการเงินไปเก็บไว้ที่ต่างประเทศได้
...................................
นายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าในการตราร่าง พ.ร.บ.การแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากร พ.ศ...ว่า ขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯแล้ว และกำลังรอเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาในวาระ 2 และ 3 ต่อไป
อย่างไรก็ตาม กรมสรรพากรอยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ได้ทันภายในเดือน มิ.ย.2566 เพราะหากไทยไม่สามารถผลักดันให้ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ให้มีผลบังคับใช้ได้ ซึ่งจะทำให้ไทยไม่สามารถเข้าร่วมกติกาในการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับภาษีอากรได้ ก็อาจทำให้ประเทศไทยถูกกดดันจากประเทศทั่วโลกได้ เช่น การแซงก์ชั่นเรื่องการค้าขาย เพราะทั่วโลกได้เข้าร่วมกติกานี้แล้ว
“ถ้ากฎหมายออกไม่ทันภายใน มิ.ย.2566 จะมีผลเสียกับไทย เพราะเราจะไม่ได้ข้อมูลที่จะแลกเปลี่ยน ขณะที่ประเทศอื่นๆอาจจะมีความสงสัยว่าเรามีการปิดบังข้อมูลหรือไม่ และแม้ว่าที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าข้อมูลของผู้เสียภาษีนั้นเป็นความลับ แต่ตอนนี้จะไม่เป็นความลับระหว่างหน่วยงานด้านภาษีด้วยกันอีกแล้ว ขณะที่กติกาเหล่านี้จะทำให้โลกนี้สะอาด น่าอยู่ โปร่งใส และมีความเป็นธรรม” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ ยังระบุว่า การตรากฎหมายการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อปฏิบัติตามความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับภาษีอากรฯ เป็นไปตามข้อตกลงระหว่างภาคีสมาชิกกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศ เกี่ยวกับการส่งเสริมความโปร่งใสทางภาษี ผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศ (Global Forum on Transparency and Exchange of Informationfor Tax Purposes หรือ Global Forum) ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD)
ขณะที่การแลกเปลี่ยนข้อมูลดังกล่าว จะทำผ่านความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีในความตกลงระหว่างประเทศแบบพหุภาคีเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงิน เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2565 โดยประเทศอื่นๆ ในอาเซียนที่เป็นภาคีแล้ว ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย
นายลวรณ กล่าวด้วยว่า นอกจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีแล้ว ภายใต้ข้อตกลงฯดังกล่าว จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีทางการเงินตามมาตรฐาน OECD ที่เรียกว่า Common Reporting Standard (CRS) กับประเทศคู่สัญญาตามความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 119 ประเทศ โดยข้อมูลที่จะมีการแลกเปลี่ยนชุดนี้ จะเป็นข้อมูลบัญชีทางการเงินของผู้ที่ไม่ได้มีถิ่นที่อยู่ทางภาษีในประเทศไทย
“สถาบันการเงินต่างๆ เช่น ธนาคาร ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน บริษัทหลักทรัพย์ และบริษัทประกันชีวิต จะเป็นผู้มีหน้าที่รายงานบัญชีทางการเงินของลูกค้าที่เข้าเงื่อนไขต้องส่งข้อมูลฯ โดยส่งมายังกรมสรรพากร เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนข้อมูลกับต่างประเทศภายในเดือน ก.ย.ของทุกปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรฐานในการเพิ่มความโปร่งใสทางภาษีเช่นเดียวกัน” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ กล่าวต่อว่า หากกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ กรมสรรพากรจะต้องยกระดับการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางภาษีระหว่างประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยการแลกเปลี่ยนข้อมูลนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ได้รับข้อมูลจากสรรพากรต่างประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลที่ไม่สามารถหาได้ในประเทศ และนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษีภายในประเทศให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
“ไทยจะเริ่มแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศในเดือน มิ.ย.2566 นี้ โดยมีประเทศภาคีที่จะแลกเปลี่ยน 96 ประเทศ ซึ่งข้อมูลชุดนี้จะทำให้สรรพากรได้รู้ข้อมูลของบริษัทในเครือทั้งหมด โดยในส่วนของประเทศไทยมีบริษัทที่ต้องรายงานข้อมูลให้กรมสรรพากร เพื่อนำไปแลกเปลี่ยนประมาณ 200 ราย ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายรองรับเรียบร้อยแล้ว” นายลวรณ กล่าว
นายลวรณ ย้ำว่า การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงดังกล่าว จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมาก คือ กลุ่มบริษัทข้ามชาติที่มีบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลลำดับสูงสุดอยู่ในประเทศไทย จะสามารถยื่นรายงานข้อมูลการแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลรายประเทศ (Country-by-Country Report : CbCR)
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยจะได้รับรายงานข้อมูล จากประเทศภาคีที่เป็นที่ตั้งของกลุ่มบริษัทข้ามชาติและมีกิจการที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งข้อมูลดังกล่าวจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการบริหารจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นการช่วยส่งเสริมความโปร่งใส สร้างความเป็นธรรม และต่อต้านการหลีกเลี่ยงภาษีข้ามชาติ รวมถึงส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้านการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป
“การที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีในความตกลงนี้ ถือเป็นการแสดงจุดยืนที่สำคัญในการยกระดับความโปร่งใสและความเป็นธรรมทางด้านการบริหารจัดเก็บภาษีของประเทศไทย ป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีโดยการโยกย้ายเงินหรือสินทรัพย์ทางการเงินไปเก็บไว้ที่ต่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดตั้งบริษัทนอกอาณาเขต (Offshore) ตามเกาะต่างๆ ก็ต้องส่งข้อมูลบัญชีมาให้กับสรรพากรของไทยด้วย ซึ่งจะทำให้สามารถตรวจสอบภาษีได้ทั้งหมด ทั้งนี้ ประเทศต่างๆ ที่ได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลชุดนี้แล้ว พบว่ามีผลในเชิงบวกเป็นอย่างมาก โดยสามารถจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น และส่งเสริมให้ผู้เสียภาษีแสดงรายการสินทรัพย์ต่างๆที่มีอยู่ในต่างประเทศด้วยความสมัครใจ” นายลวรณ กล่าว
อ่านประกอบ :
ปรางค์ทิพย์ ดาวเรือง:เบื้องลึก 'ปานามา-แพนโดรา' เปเปอร์ส ย้อนรอย'คนดัง' ซุกทรัพย์สิน
ส่องคดีทุจริตโลก:บ.ลับปานามาเปเปอร์สรับโอน 1.5 พัน ล.โครงการเรือรบมาเลเซีย 7.2 หมื่นล้าน
แพนโดราเปเปอร์ส :'คองเกรส'เล็งออก กม.จี้ บ.ทรัสต์ตรวจประวัตินักลงทุน
แพนโดรา เปเปอร์ส! เจาะฐานข้อมูล บ.นอกอาณาเขตทั่วโลก 'มหาเศรษฐีไทย’ หลายตระกูล
ส่องท่าทีโลก หลังเปิดโปง 'แพนโดราเปเปอร์ส' ปลุกกระแสสกัดกลธุรกิจมหาเศรษฐี-ไทยยังเงียบ?
ส่วนร่วมเล็กๆ 'อิศรา' ในข่าวพูลิตเซอร์ 'ปานามาเปเปอร์ส' กับงานข่าวโลกยุค 'Big Data'