ครม.เห็นชอบปรับปรุง ‘แผนการบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 65 ครั้งที่ 2 พบกู้เพิ่ม 1 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่อง ‘กองทุนน้ำมันฯ’ พร้อมไฟเขียวบรรจุ 21 โครงการ 'เพิ่มเติม' ในแผนบริหารหนี้ฯ
..................................
เมื่อวันที่ 12 เม.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 2 ตามที่คณะกรรมการ นโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอ ดังนี้
1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,415,103.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49,619.73 ล้านบาท
2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,501,163.56 ล้านบาท ลดลง 35,794.42 ล้านบาท
3.แผนการชำระหนี้ วงเงิน 363,269.01 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,035.29 ล้านบาท
สำหรับการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 นี้ มีปัจจัยมาจาก 1.การกู้เงินเพิ่มเพื่อเสริมสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 10,000 ล้านบาท เพื่อให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสามารถรักษาเสถียรภาพระดับราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมและไม่กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน
2. การปรับเพิ่มวงเงินปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนดในปีงบประมาณ 2565 ซึ่งเป็นหนี้เงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดกู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 เพื่อบริหารความเสี่ยงวงเงินกู้ต่างประเทศที่คาดว่าจะลงนามสัญญาและหรือรองรับการระดมทุนในสกุลเงินตราต่างประเทศที่อาจจะเกิดขึ้น จำนวน 29,345 ล้านบาท
3.การกู้เงินเพื่อลงทุนในโครงการพัฒนาและเพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง จำนวน 39,445.05 ล้านบาท อาทิ การรถไฟแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มวงเงินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ช่วงบางซื่อ - ตลิ่งชัน (ระบบไฟฟ้า เครื่องกล และตู้รถไฟฟ้า) จำนวน 1,660.28 ล้านบาท การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยปรับเพิ่มเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565-2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ ที่ประชุมเห็นชอบบรรจุโครงการเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2 จำนวน 21 โครงการ และให้รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่มีสัดส่วนความสามารถในการหารายได้เทียบกับภาระหนี้ของกิจการ (DSCR) ต่ำกว่า 1 สามารถกู้เงินและบริหารหนี้ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ครั้งที่ 2
“กระทรวงการคลังประมาณการหนี้สาธารณะคงค้างต่อ GDP ภายหลังการปรับปรุงแผนในครั้งนี้ว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 62.76 ซึ่งไม่เกินร้อยละ 70 ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐกำหนด ขณะที่หนี้สาธารณะดังกล่าว 70% จะเป็นเงินกู้เพื่อการลงทุน แบ่งเป็นด้านคมนาคม 26% ด้านการศึกษาและวิทยาศาสตร์ 13% ด้านเศรษฐกิจและสังคม 13% ด้านสาธารณูปการ 9% ด้านลงทุนทั่วไป 6% และด้านสาธารณสุข 2%”น.ส.รัชดากล่าว
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้ฯ’ ปีงบ 65 เพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่ 2.07 หมื่นล้าน
ปี 2564 : ปีแห่งการก่อหนี้ 'ภาครัฐ-ครัวเรือน'
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน
ครม.ไฟเขียว 'แผนบริหารหนี้สาธารณะ' กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน รับมือโควิด
โชว์กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 64 ยอดพุ่ง 7.5 แสนล้าน! หนี้สาธารณะใกล้ทะลุ 60%
'บิ๊กตู่'สั่งรัฐมนตรีเตรียมพร้อมอภิปรายงบปี 65 เน้นสร้างการรับรู้มากกว่าตอบโต้
เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?