ครม.เห็นชอบกรอบวงเงิน 'งบประมาณรายจ่าย' ปีงบ 67 วงเงิน 3.35 ล้านล้าน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.18% เผยรายจ่ายประจำพุ่ง 2.5 ล้านล้าน ขณะที่งบลงทุนอยู่ที่ 6.9 แสนล้าน คิดเป็น 20.6% ของวงเงินงบประมาณ
...........................................
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.65 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.18% เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่กำหนดวงเงินรายจ่ายไว้ที่ 3.185 ล้านล้านบาท
สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่าย ประกอบด้วย
1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2,508,990.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.06 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.43% เมื่อเทียบกับปีงบ 2566 ขณะที่รายจ่ายประจำดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 74.89% ของวงเงินงบประมาณรวม เทียบกับปีงบ 2566 ซึ่งมีรายจ่ายประจำคิดเป็นสัดส่วน 75.43% ของวงเงินงบประมาณรวม
2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงค้าง จำนวน 33,759.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 100% เมื่อเทียบกับปีงบ 2566 ซึ่งไม่มีการเสนอตั้งงบประมาณในส่วนนี้ ขณะที่รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงค้างดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 1.01% ของวงเงินงบประมาณรวม
3.รายจ่ายลงทุน จำนวน 690,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 520.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับปีงบ 2566 โดยรายจ่ายลงทุนดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 20.60% ของวงเงินงบประมาณรวม เทียบกับปีงบ 2566 ที่รายจ่ายลงทุนมีสัดส่วน 21.65 ของวงเงินงบประมาณรวม
4.รายจ่ายชำระคืนเงินต้น จำนวน 117,250 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17,250 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.25% เมื่อเทียบกับปีงบ 2566 โดยรายจ่ายชำระคืนเงินต้นดังกล่าว คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของวงเงินงบประมาณรวม เทียบกับปีงบ 2566 ที่รายจ่ายชำระคืนเงินต้นมีสัดส่วน 3.14% ของวงเงินงบประมาณรวม
ทั้งนี้ รัฐบาลคาดว่าจะมีรายได้สุทธิ จำนวน 2.757 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.67 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.72% เมื่อเทียบกับปีงบ 2566 ส่งผลให้การจัดทำงบปี 2567 เป็นงบประมาณขาดดุล 593,000 ล้านบาท ซึ่งลดลง 102,000 ล้านบาท หรือลดลง 14.68% เมื่อเทียบกับปีงบ 2566 ขณะที่การขาดดุลงบประมาณดังกล่าวคิดเป็น 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ลดลงจากปีงบ 2566 ซึ่งมีสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณคิดเป็น 3.7% ต่อ GDP
นายอนุชา ระบุว่า วงเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 จำนวน 3.35 ล้านล้านบาทดังกล่าว เป็นไปตามกรอบวงเงินตามแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบ 2567-2570) ที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2565 ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณรายจ่ายงบลงทุนและงบประมาณรายจ่ายชำระเงินคืนต้นเงินกู้ ปีงบ 2567 นั้น มีสัดส่วนอยู่ภายในกรอบที่กำหนดตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐบาล พ.ศ.2561
นายอนุชา กล่าวว่า ตามปฏิทินงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 หน่วยรับงบประมาณ จะส่งรายละเอียดคำของบประมาณฯ ให้สำนักงบประมาณภายในวันที่ 27 ม.ค.2566
“ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำชับในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนให้มีการเบิกจ่ายรวดเร็วเพื่อ ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐในอนาคตด้วย” นายอนุชา กล่าว
อ่านประกอบ :
เปิด‘แผนการคลัง’ฉบับปี 67-70 รัฐเล็งกู้ใหม่ 4.7 ล้านล้าน-ภาระผูกพันคงค้างพุ่ง 1.03 ล้านล.
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ
'มูดี้ส์'คงอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย มอง'เศรษฐกิจมหภาค-การคลังสาธารณะ'แข็งแกร่ง
ภาระดอกเบี้ยเพิ่ม-จัดเก็บรายได้ลด! 'คลัง' แนะรัฐบาลทบทวนมาตรการ 'ยกเว้น-ลดหย่อนภาษี'
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%