ครม.เห็นชอบปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้ฯ’ ปีงบ 66 ครั้งที่ 1 เพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่กว่า 8.1 หมื่นล้าน หลัง ‘สกนช.’ ปรับวงเงินกู้เสริมสภาพคล่อง ‘กองทุนน้ำมันฯ’ เป็น 1.1 แสนล้าน
........................................
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ครั้งที่ 1 ประกอบด้วย
1.อนุมัติแผนการก่อหนี้ใหม่เป็น 1,134,028.36 ล้านบาท จากเดิม 1,052.785.47 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 81,242.89 ล้านบาท ประกอบด้วย การก่อหนี้ใหม่เพิ่มขึ้นของหน่วยงานอื่นของรัฐคือสำนักงานกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่ปรับเพิ่มวงเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงในประเทศ จาก 30,000 ล้านบาท เป็น 110,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 80,000 ล้านบาท
และการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น 1,242.89 ล้านบาท แยกเป็นส่วนที่ก่อหนี้เพิ่มขึ้น ได้แก่ การยาสูบแห่งประเทศไทย เพิ่มขึ้น 1,500 ล้านบาท ,บริษัท การผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด เพิ่มขึ้น 1,194 ล้านบาท ,การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เพิ่มขึ้น 300 ล้านบาท และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย เพิ่มขึ้น 250 ล้านบาท และส่วนที่การปรับลดวงเงินกู้ลง เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ลดลง 501.11 ล้านบาท เป็นต้น
2.อนุมัติแผนการชำระหนี้ เป็น 361,004.99 ล้านบาท จากเดิม 360,179.68 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 825.31 ล้านบาท ได้แก่ การเพิ่มวงเงินชำระหนี้ของการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) 825.31 ล้านบาท
3.อนุมัติการบรรจุโครงการ, โครงการพัฒนา และรายละเอียดเพิ่มเติมในการปรับปรุงแผนฯ จำนวน 19 โครงการ ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ 10 โครงการ ได้แก่ โครงการของ กฟน. 3 โครงการ วงเงิน 2,200 ล้านบาท ,โครงการของบริษัทผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด 5 โครงการ วงเงิน 1,194 ล้านบาท ,โครงการของการยาสูบแห่งประเทศไทย 1 โครงการ วงเงิน 1,500 ล้านบาท และโครงการขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย 1 โครงการ วงเงิน 250 ล้านบาท,
แผนการบริหารหนี้เดิม 8 โครงการ แบ่งเป็นโครงการบริหารหนี้ของรัฐบาลจำนวน 7 รายการ ภายใต้กรอบวงเงิน 240,000 ล้านบาท และโครงการของเอ็กซิมแบงก์ 1 โครงการ วงเงิน 2,300 ล้านบาท, และแผนการชำระหนี้ 1 โครงการ ของการยางแห่งประเทศไทย วงเงิน 825.31 ล้านบาท
ขณะเดียวกัน ครม.ยังได้รับทราบการปรับปรุงแผนฯ ในส่วนของการบริหารหนี้เดิม ซึ่งปรับลดลง 6,282.51 ล้านบาท หรือปรับลดลงเหลือ 1,729,680.42 ล้านบาท จากเดิม 1,735,962 ล้านบาท โดยมาจากการปรับลดลงจากแผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 19,781 ล้านบาท ขณะที่แผนบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล เพิ่มขึ้น 13,588.49 ล้านบาท
น.ส.ไตรศุลี ระบุว่า ภายหลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯดังกล่าว จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีอยู่ที่ 61.14% จากกรอบตามกฎหมายไม่เกิน 70% ,สัดส่วนหนี้ของรัฐบาลต่อประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณอยู่ที่ 32.92% จากกรอบตามกฎหมายไม่เกิน 35% ,สัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อหนี้สาธารณะทั้งหมดอยู่ที่ 1.66% จากกรอบตามกฎหมายไม่เกิน 10% และสัดส่วนหนี้สาธารณะที่เป็นเงินตราต่างประเทศต่อรายได้จากการส่งออกสินค้าและบริการอยู่ที่ 0.06% จากกรอบตามกฎหมายไม่เกิน 5%
อ่านประกอบ :
เพิ่มขึ้น 5.18%! ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงินงบปี 2567 แตะ 3.35 ล้านล้าน-รายจ่ายลงทุน 6.9 แสนล.
เปิด‘แผนการคลัง’ฉบับปี 67-70 รัฐเล็งกู้ใหม่ 4.7 ล้านล้าน-ภาระผูกพันคงค้างพุ่ง 1.03 ล้านล.
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้'ปีงบ 65-กู้ 1 หมื่นล. เพิ่มสภาพคล่อง'กองทุนน้ำมันฯ'
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้ฯ’ ปีงบ 65 เพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่ 2.07 หมื่นล้าน