ครม.เห็นชอบปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 65 ครั้งที่ 1 เพิ่มวงเงินก่อใหม่ 2.07 หมื่นล้านบาท
.............................
เมื่อวันที่ 4 ม.ค. นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ครั้งที่ 1 โดยปรับเพิ่มกรอบวงเงินแผนการก่อหนี้ใหม่ ,แผนการบริหารหนี้เดิม และแผนการชำระหนี้ รวมทั้งสิ้น 75,230.19 ล้านบาท
ประกอบด้วย 1.ปรับปรุงแผนการก่อหนี้ใหม่ จากเดิมวงเงิน 1,344,783.84 เป็นวงเงิน 1,365,483.84 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 20,700 ล้านบาท 2.ปรับปรุงแผนการบริหารหนี้เดิม จากเดิมวงเงิน 1,505,369.64 ล้านบาท เป็นวงเงิน1,536,957.98 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 31,588.34 ล้านบาท และปรับปรุงแผนการชำระหนี้ จากวงเงินเดิม 339,291.87 ล้านบาท เป็นวงเงิน 362,233.72 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นสุทธิ 22,941.85 ล้านบาท
สำหรับการปรับเพิ่มวงเงินตามแผนก่อหนี้ใหม่ 20,700 ล้านบาท ได้แก่ แผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เพื่อนำไปชดเชยราคาน้ำมันขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 16 พ.ย.2564 วงเงิน 20,000 ล้านบาท ,แผนเงินกู้เพื่อการลงทุนในโครงการพัฒนาของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) 200 ล้านบาท และแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการหรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของสำนักงานธนานุเคราะห์ (สธค.) จำนวน 500 ล้านบาท
ส่วนแผนการบริหารหนี้เดิมที่ปรับวงเงิน 31,588.34 ล้านบาท ได้แก่ ปรับเพิ่มวงเงินตามแผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล 52,793 ล้านบาท และปรับลดวงเงินตามแผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ 21,204.66 ล้านบาท เช่น องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ปรับลดวงเงินกู้ธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย 5,222.30 ล้านบาท และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ปรับลดวงเงินกู้โครงการจำนำผลิตผลทางการเกษตร (ปีการผลิต 2551/2552 ,2555/2556 และ 2556/2557) จากที่ได้ชำระคืนก่อนครบกำหนด วงเงิน 19,338.36 ล้านบาท เป็นต้น
นายธนกร กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอขา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้เน้นย้ำเรื่องความเหมาะสมและความสอดคล้องกับสภาพคล่องทางการเงินในแต่ละช่วงเวลา ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการเงินกู้ อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่ง ครม.ได้ให้กระทรวงการคลัง เป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่าง ๆ ของการกู้เงิน การค้ำประกันและการบริหารความเสี่ยงในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น โดยหากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสม และจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ
อ่านประกอบ :
ปี 2564 : ปีแห่งการก่อหนี้ 'ภาครัฐ-ครัวเรือน'
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน
ครม.ไฟเขียว 'แผนบริหารหนี้สาธารณะ' กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน รับมือโควิด
โชว์กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 64 ยอดพุ่ง 7.5 แสนล้าน! หนี้สาธารณะใกล้ทะลุ 60%
'บิ๊กตู่'สั่งรัฐมนตรีเตรียมพร้อมอภิปรายงบปี 65 เน้นสร้างการรับรู้มากกว่าตอบโต้