‘ครม.’ รับข้อสังเกตที่ประชุม 4 หน่วยงาน เร่งรัดเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบฯ พร้อมทบทวนโครงสร้างบุคลากรภาครัฐให้มีจำนวนเหมาะสม-กำหนดเป้าหมายการลดอัตรากำลังข้าราชการแต่ละปีให้ชัดเจน หวังลดค่าใช้ด้านบุคลากร
.................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 3.35 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.65 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.18% เมื่อเทียบกับ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ที่กำหนดวงเงินรายจ่ายไว้ที่ 3.185 ล้านล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : เพิ่มขึ้น 5.18%! ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงินงบปี 2567 แตะ 3.35 ล้านล้าน-รายจ่ายลงทุน 6.9 แสนล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานเพิ่มเติมว่า ในการพิจารณาวาระดังกล่าว ที่ประชุม ครม. ได้รับทราบข้อสังเกตของที่ประชุม 4 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการตามข้อสังเกตดังกล่าว ได้แก่
1.เห็นควรให้ สศช. ประเมินผลการใช้จ่ายด้านการลงทุนของภาครัฐ รวมถึงการดำเนินมาตรการของภาครัฐในการส่งเสริม สนับสนุนและเอื้อให้เกิดการลงทุนในประเทศในระยะที่ผ่านมาว่ามีผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มรายได้ให้ประเทศอย่างไร
2.เห็นควรให้มีการทบทวนโครงสร้างบุคลากรภาครัฐให้มีจำนวนที่เหมาะสมตามความจำเป็น เนื่องจากภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยพิจารณากำหนดเป้าหมายการลดอัตรากำลังข้าราชการในแต่ละปีที่ชัดเจน รวมถึงการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะ การจ้างงานระยะสั้น และการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อให้สามารถลดภาระค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในอนาคต
3.เห็นควรเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณโดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน โดยให้กระทรวงการคลังพิจารณากระบวนการอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ให้สามารถดำเนินการได้โดยเร็ว เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด
ขณะเดียวกัน ในการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 10 ม.ค. ครม. ยังรับทราบรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.-9 ธ.ค.2565 โดยหน่วยรับงบประมาณมีการเบิกจ่ายงบฯแล้วทั้งสิ้น 8.48 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 26.65% ต่ำกว่าเป้าหมาย (เดือน ธ.ค.2565) 5.35% และมีการใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว) 9.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 30.29% ต่ำกว่าเป้าหมาย (เดือน ธ.ค.2565) 3.79% จำแนกเป็น
1.รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 7.46 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 29.59% ต่ำกว่าเป้าหมาย (เดือน ธ.ค.2565) 5.41% และมีการใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว) 7.55 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 29.93% ต่ำกว่าเป้าหมาย (เดือน ธ.ค.2565) 5.4%
2.รายจ่ายประจำ เบิกจ่ายแล้ว 1.03 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 15.49% ต่ำกว่าเป้าหมาย (เดือน ธ.ค.2565) 3.51 และมีการใช้จ่ายแล้ว (ก่อหนี้ผูกพันแล้ว) 2.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 31.66% สูงกว่าเป้าหมาย (เดือน ธ.ค.2565) 2.7%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาผลการเบิกจ่ายงบลงทุนจำแนกเป็นรายกระทรวงพบว่า กระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด 10 อันดับแรก ได้แก่ 1.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 2.กระทรวงการคลัง 3.สำนักนายกรัฐมนตรี 4.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 5.กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 6.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 7.กระทรวงอุตสาหกรรม 8.กระทรวงพาณิชย์ 9.กระทรวงกลาโหม และ 10.กระทรวงคมนาคม
ส่วนกระทรวงที่มีผลการเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำสุด 10 ลำดับแรก ได้แก่ 1.กระทรวงการต่างประเทศ 2.กระทรวงพลังงาน 3.กระทรวงศึกษาธิการ 4.กระทรวงยุติธรรม 5.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 6.กระทรวงสาธารณสุข 7.กระทรวงแรงงาน 8.กระทรวงวัฒนธรรม 9.กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ 10.กระทรวงมหาดไทย
ขณะที่ผลการเบิกจ่ายงบลงทุนที่สำคัญนั้น พบว่า รายจ่ายลงทุนที่มีวงเงินต่อรายการเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 18 รายการ วงเงิน 4.46 หมื่นล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 2.46 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 55.11% ส่วนรายจ่ายลงทุนรายการก่อหนี้ผูกพันใหม่ที่มีวงเงินรวม 1,000 ล้านบาทขึ้นไป จำนวน 27 รายการ วงเงิน 9,616 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 221 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.3% ของวงเงินงบประมาณ
นอกจากนี้ มีหน่วยงานที่ได้รับรายจ่ายลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท และมีผลเบิกจ่ายงบลงทุนต่ำกว่าเป้าหมาย 19% (ไม่รวมงบกลาง) จำนวน 30 หน่วยงาน วงเงิน 4.22 แสนล้านบาท มีการเบิกจ่ายแล้ว 3.26 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 7.72% ของวงเงินงบประมาณ
สำหรับปัญหาอุปสรรคต่อการเบิกจ่ายงบลงทุน ยังคงเป็นปัญหาเดิมเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ได้แก่ 1.ปัญหาด้านกระบวนการดำเนินงาน ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงรายการ และ/หรือยกเลิกโครงการ เนื่องจากสาเหตุต่างๆ เช่น ได้รับงบประมาณซ้ำซ้อน เป็นต้น และการปรับปรุงราคากลาง/ราคากลาง สูงกว่างบประมาณที่ได้รับ
และ 2.ปัญหาด้านการเตรียมความพร้อมของโครงการก่อนดำเนินการ ได้แก่ การดำเนินการยังอยู่ในระหว่างการปรับปรุงรูปแบบรายการแบบแปลนงานก่อสร้างให้สอดคล้องกับความต้องการ/พื้นที่จริง และมีโครงการบางส่วนต้องชะลอการดำเนินการ เนื่องจากติดปัญหาเรื่องที่ดินที่ยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ก่อสร้าง และ/หรืออยู่ระหว่างขออนุญาตเข้าใช้พื้นที่
ทั้งนี้ ครม.รับทราบข้อเสนอแนะของคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐ กระทรวงการคลัง ในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ ได้แก่ 1.หน่วยรับงบประมาณต้องให้ความสำคัญกับการเตรียมความพร้อมของโครงการก่อนดำเนินการ เช่น การกำหนดรายละเอียดหรือคุณลักษณะเฉพาะ (Specification) คุณสมบัติผู้เสนอราคา เงื่อนไขในการจัดซื้อจัดจ้าง รูปแบบและเนื้อหาของสัญญาที่จะลงนาม เป็นต้น เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณจะได้ดำเนินการได้ทันที
โดยกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเวียน เรื่อง ซ้อมความเข้าใจการเตรียมการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 เพื่อให้หน่วยงานของรัฐสามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และสามารถก่อหนี้ผูกพันและเบิกจ่ายเงินได้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2566
2.หัวหน้าหน่วยงานเจ้าของงบประมาณต้องกำกับดูแล และเร่งรัดการดำเนินงาน เพื่อให้สามารถก่อหนี้และเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยกรมบัญชีกลางได้มีหนังสือเร่งรัดการดำเนินการ รวมทั้งแจ้งเวียนมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อให้หน่วยรับงบประมาณถือปฏิบัติตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2565 แล้ว
อ่านประกอบ :
เพิ่มขึ้น 5.18%! ครม.ไฟเขียวกรอบวงเงินงบปี 2567 แตะ 3.35 ล้านล้าน-รายจ่ายลงทุน 6.9 แสนล.
เปิด‘แผนการคลัง’ฉบับปี 67-70 รัฐเล็งกู้ใหม่ 4.7 ล้านล้าน-ภาระผูกพันคงค้างพุ่ง 1.03 ล้านล.
รอปรับตัวเลข! ‘บิ๊กตู่’ ยังไม่เคาะกรอบวงเงินงบปี 67 หลังนั่งหัวโต๊ะหารือ 4 หน่วยงาน
คุมขาดดุลไม่เกิน 3%! ครม.เคาะ‘แผนคลังระยะปานกลาง’ใหม่-ชงงบปี 67 รายจ่ายพุ่ง 3.35 ล้านล.
รัฐซุกหนี้ 1 ล้านล.! พบไม่รวมอยู่ใน‘หนี้สาธารณะ’-‘คลัง’ห่วงภาระช่วยเหลือ‘เกษตรกร’พุ่ง
ฉบับล่าสุด! เปิดรายงาน 'ความเสี่ยงการคลัง' ภาครัฐ รายจ่ายสวัสดิการฯพุ่ง-ชงทบทวนภาษี
'อดีตผู้ว่าฯธปท.'ห่วงภาครัฐ'ขาดดุลนาน-หนี้สูง' ฝาก'แบงก์ชาติ'ต้องอิสระจากผู้มีอำนาจ