“…เมื่อพิจารณารายละเอียดงบปี 2566 พบว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดสรรงบรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ และงบบุคลากรภาครัฐอื่นๆที่ตั้งไว้ในงบกลาง เช่น ค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ เงินช่วยเหลือ เงินเลื่อนเงินเดือน และเงินสมทบ รวมแล้ว 1,261,699.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 39.61% ของวงเงินงบประมาณปีงบ 2566…”
.................................
สืบเนื่องจากกรณีที่ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 15 มี.ค.ที่ผ่านมา เห็นชอบรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วงเงิน 3,185,000 ล้านบาท พร้อมทั้งเห็นชอบแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณ (อ่านประกอบ : ครม.เห็นชอบรายละเอียดงบปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้าน-รายจ่ายลงทุน 6.95 แสนล.)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ที่ ครม.เห็นชอบ ให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
@รายจ่ายประจำ 2.39 ล้านล. เพิ่ม 1.01%-สัดส่วนงบลงทุน 21.8%
วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566
วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 จำนวน 3,185,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 3,100,000 ล้านบาท เป็นจำนวน 85,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2.74% ประกอบด้วย โครงสร้างงบประมาณ ดังนี้
1.รายจ่ายประจำ จำนวน 2,396,942.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 จำนวน 23,932.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.01% และคิดเป็นสัดส่วน 75.26% ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วน 76.55% ของปีงบ 2565
2.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ปีงบ 2566 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบ 2565 ตั้งไว้จำนวน 597.7 ล้านบาท)
3.รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ปีงบ 2566 ไม่มีรายการที่ต้องเสนอตั้งงบประมาณ (ปีงบ 2565 ตั้งไว้จำนวน 24,978.6 ล้านบาท)
4.รายจ่ายลงทุน จำนวน 695,077.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 จำนวน 83,144 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 13.59% (รวมรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ที่กำหนดเป็นรายจ่ายลงทุน 7,019.6 ล้านบาท) และคิดเป็นสัดส่วน 21.82% ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วน 19.74% ของปีงบ 2565
5.รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 100,000 เท่ากับปีงบ 2565 และคิดเป็นสัดส่วน 3.14% ของวงเงินงบประมาณ เทียบกับสัดส่วน 3.22% ของปีงบ 2565 (รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้เป็นรายจ่ายลงทุน กรณีการกู้เพื่อการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ 7,019.6)
@ตั้งรายจ่ายชำระหนี้ 3.06 แสนล. คิดเป็นสัดส่วน 9.63% ของงบปี 66
เมื่อจำแนกตามกลุ่มงบประมาณ พบว่า
1.งบประมาณรายจ่ายงบกลาง (12 รายการ) จำนวน 590,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 18.54% ของวงเงินงบประมาณปีงบ 2566
2.งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 1,090.329.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 34.24% ของวงเงินงบประมาณปีงบ 2566
3.งบประมาณรายจ่ายบูรณาการ จำนวน 218,477.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.86% ของวงเงินงบประมาณปีงบ 2566
(ที่มา : เอกสารรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565)
4.งบประมาณรายจ่ายบุคลากร จำนวน 772,199.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.24% ของวงเงินงบประมาณปีงบ 2566
5.งบประมาณรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียน จำนวน 206,985.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.40% ของวงเงินงบประมาณปีงบ 2566
6.งบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐ จำนวน 306,618.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.63% ของวงเงินงบประมาณปีงบ 2566
7.งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง ไม่มีการตั้งงบประมาณในปีงบ 2566
8.งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินทุนสำรองจ่าย ไม่มีการตั้งงบประมาณ ในปีงบ 2566
(ที่มา : เอกสารรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565)
@งบกลางสำรองจ่ายฉุกเฉินฯ 9.24 หมื่นล้าน-เยียวยาโควิด 3 พันล.
สำหรับงบประมาณรายจ่ายงบกลาง (12 รายการ) ที่รัฐบาลอนุมัติจัดสรรไว้ 590,000 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ มีจำนวน 800 ล้านบาท เท่ากับปีงบ 2565
2.ค่าใช้จ่ายชดใช้เงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มีจำนวน 2,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 5,000 ล้านบาท หรือลดลง 3,000 ล้านบาท
3.ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีจำนวน 2,300 ล้านบาท เท่ากับปีงบ 2565
4.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ มีจำนวน 76,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 74,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2,000 ล้านบาท
5.เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง มีจำนวน 500 ล้านบาท เท่ากับปีงบ 2565
6.เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐ มีจำนวน 4,200 ล้านบาท ลดลงจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 4,360 ล้านบาท หรือลดลง 160 ล้านบาท
7.เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ มีจำนวน 322,790 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 310,600 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 12,190 ล้านบาท
8.เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ มีจำนวน 10,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 11,547.32 ล้านบาท หรือลดลง 1,547.32 ล้านบาท
9.เงินสมทบของลูกจ้างประจำ มีจำนวน 500 ล้านบาท ลดลงจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 570 ล้านบาท หรือลดลง 70 ล้านบาท
10.เงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ มีจำนวน 75,980 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 72,370 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,610 ล้านบาท
11.เงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น มีจำนวน 92,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 89,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3,400 ล้านบาท
12.ค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีจำนวน 3,000 ล้านบาท ลดลงจากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 16,362.01 ล้านบาท หรือลดลง 13,362.01 ล้านบาท
(ที่มา : เอกสารรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565)
@ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐพุ่ง 1.26 ล้านล้าน คิดเป็น 39.6% ของงบปี 66
อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณารายละเอียดงบปี 2566 พบว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จัดสรรงบรายจ่ายบุคลากรภาครัฐ และงบบุคลากรภาครัฐอื่นๆที่ตั้งไว้ในงบกลาง เช่น ค่ารักษาพยาบาล บำเหน็จบำนาญ เงินช่วยเหลือ เงินเลื่อนเงินเดือน และเงินสมทบ รวมแล้ว 1,261,699.1 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน 39.61% ของวงเงินงบประมาณปีงบ 2566
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบกับการจัดสรรงบปี 2565 ซึ่งรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายบุคลากร ทั้งที่ตั้งไว้แผนงานบุคลากรภาครัฐ และค่าใช้จ่ายบุคลากรที่ตั้งไว้ในงบกลาง เป็นจำนวนรวม 1,243,607.3 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 40.1% ของงบปี 2565 แล้ว (อ่านประกอบ : 8 ปีในมือ'บิ๊กตู่'! ชำแหละงบ 65 กู้ชดเชยขาดดุล 'ชนเพดาน'-ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐทะลุ 40%)
แม้ว่าสัดส่วนค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในปีงบ 2566 จะลดลงเป็น 39.61% ของวงเงินงบประมาณ จากปีงบ 2565 ที่มีสัดส่วน 40.1% ของวงเงินงบประมาณ แต่ทว่าค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในปีงบ 2566 ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงมาก โดยคิดเป็นสัดส่วน 'มากกว่า' 1 ใน 3 ของวงเงินงบประมาณประจำปี
และเมื่อพิจารณาเป็น 'ตัวเงิน' พบว่า ค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2565 จำนวน 18,091.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.45%
@งบยุทธศาสตร์สร้างโอกาสฯ 7.59 แสนล้าน-ความมั่นคง 2.9 แสนล.
เมื่อพิจารณาจัดสรรงบปี 2566 ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ พบว่า
1.ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง มีจำนวน 296,003.6 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 9.29% ของวงเงินงบประมาณ
2.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน มีจำนวน 396,131.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.44% ของวงเงินงบประมาณ
3.ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ มีจำนวน 549,508.2 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.25% ของวงเงินงบประมาณ
4.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม มีจำนวน 759,861.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 23.86% ของวงเงินงบประมาณ
5.ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีจำนวน 122,964.9 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 3.86% ของวงเงินงบประมาณ
6 ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ มีจำนวน 658,012.7 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.66% ของวงเงินงบประมาณ
รายการค่าดำเนินการภาครัฐ มีจำนวน 402,518.0 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.64% ของวงเงินงบประมาณ
@หั่นงบ ‘กลาโหม’ 2.15%-‘เกษตรฯ’ งบเพิ่มมากสุด 14.76%
เมื่อจำแนกรายละเอียดการจัดสรรงบตามกระทรวง พบว่า 10 อันดับแรก ได้แก่
1.งบกลาง 12 รายการ มีจำนวน 590,470 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 587,409.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,060.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.52%
2.กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีจำนวน 325,900.2 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 330,426.6 ล้านบาท ลดลง 4,526.4 ล้านบาท หรือลดลง 1.37%
3.กระทรวงมหาดไทย (มท.) มีจำนวน 325,578.9 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 315,513.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10,065.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.19%
4.กระทรวงการคลัง (กค.) มีจำนวน 285,230.5 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 273,602.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11,627.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.25% ทั้งนี้ สำหรับงบประมาณที่กระทรวงการคลังที่ได้รับจัดสรรดังกล่าว พบว่า เป็นการจัดสรรงบตามแผนงานบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ 261,756.42 ล้านบาท
5.กระทรวงกลาโหม (กห.) มีจำนวน 197,292.7 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 201,666.4 ล้านบาท ลดลง 4,373.7 ล้านบาท หรือลดลง 2.17% ประกอบด้วย กองทัพบกได้รับจัดสรร 96,573.43 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 3,039 ล้านบาท
กองทัพเรือ 40,322.52 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 115.33 ล้านบาท ,กองทัพอากาศ 36,112.92 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 1,681 ล้านบาท และกองบัญชาการกองทัพไทย 14,540.95 ล้านบาท เป็นต้น
(ที่มา : เอกสารรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565)
6.กระทรวงคมนาคม (คค.) มีจำนวน 180,502.0 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 173,164.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7,337.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.24%
7.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีจำนวน 156,408.7 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 154,029.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,379.4 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.54
8.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) มีจำนวน 126,067.1 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 109,852.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16,214.5 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14.76%
9.กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มีจำนวน 124,748.2 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 123,446.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,301.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.05%
10.กระทรวงแรงงาน มีจำนวน 54,338.5 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 49,701.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,636.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 9.33%
(ที่มา : เอกสารรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565)
ขณะที่การจัดสรรงบให้กับหน่วยงานของรัฐสภา หน่วยงานศาล หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ หน่วยงานของรัฐและส่วนราชการในพระองค์ พบว่า
1.หน่วยงานของศาล มีจำนวน 22,959.5 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 22.940.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.08%
2.หน่วยงานขององค์กรอิสระและองค์กรอัยการ มีจำนวน 19,085 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 18,459 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 626 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.39%
3.ส่วนราชการในพระองค์ มีจำนวน 8,611.7 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 8,761.4 ล้านบาท ลดลง 149.7 ล้านบาท หรือลดลง 1.71%
4.หน่วยงานของรัฐสภา มีจำนวน 7,752.2 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 8,088.3 ล้านบาท ลดลง 336.1 ล้านบาท หรือลดลง 4.16%
5.หน่วยงานอื่นของรัฐ (สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และสำนักงานสภาเกษตรกรแห่งชาติ) มีจำนวน 477.4 ล้านบาท จากปีงบ 2565 ที่กำหนดไว้ 477.9 ล้านบาท ลดลง 0.5 ล้านบาท หรือลดลง 0.32%
(ที่มา : เอกสารรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565)
@ครม.ไฟเขียว 4 แนวทางปรับปรุงรายละเอียดงบปี 66
สำหรับแนวทางการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ มี 4 แนวทาง ได้แก่
1.การปรับปรุงรายละเอียดให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและแผนย่อย (ร่าง) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง)
นโยบายสำคัญของรัฐบาล รวมถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายในกรอบวงเงินของแต่ละกระทรวง/หน่วยรับงบประมาณที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี
2.งบประมาณที่ได้รับจัดสรรไว้สำหรับรายจ่ายผูกพันตามสัญญา ตามมติคณะรัฐมนตรี ตามกฎหมาย รายจ่ายชำระหนี้ เงินอุดหนุนที่จัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนรายจ่ายที่จำเป็น ต้องจ่ายสำหรับค่าใช้จ่ายบุคลากรและค่าสาธารณูปโภค ไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายการไปจัดสรรให้รายการอื่น
3.เพื่อรักษาสัดส่วนรายจ่ายลงทุนของแต่ละกระทรวงให้อยู่ในระดับที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไว้ในภาพรวม จึงไม่ควรเปลี่ยนแปลงรายจ่ายลงทุนไปเพิ่มในรายจ่ายประจำ และไม่ควรเปลี่ยนแปลงงบประมาณในแผนงานบูรณาการหรือแผนงานยุทธศาสตร์ไปเพิ่มในแผนงานพื้นฐาน
4.การปรับปรุงงบประมาณไม่ควรเพิ่มรายการใหม่ที่มีภาระผูกพันงบประมาณในปีต่อๆ ไป
ทั้งนี้ ให้หน่วยรับงบประมาณ นำเสนอการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 ตามแนวทางที่กำหนดไว้ เสนอคณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีเจ้าสังกัด แล้วแต่กรณี เพื่อให้ความเห็นชอบ และส่งผลการพิจารณาข้อเสนอการปรับปรุงให้สำนักงบประมาณภายในวันอังคารที่ 22 มี.ค.2565 และให้สำนักงบประมาณพิจารณาการปรับปรุงรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันอังคารที่ 29 มี.ค.2565
เหล่านี้เป็นรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 โดยสังเขป ที่ ครม.ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2565 และตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณ หลังจากสำนักงบประมาณเสนอรายละเอียดงบประมาณฉบับปรับปรุงให้ ครม. พิจารณาให้เห็นชอบแล้ว สำนักงบประมาณจะเสนอร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ 2566 ให้ ครม.พิจารณาอีกครั้งในเดือน พ.ค. ก่อนเสนอสภาฯพิจารณาต่อไป
อ่านประกอบ :
พลิกแฟ้มครม.! เคาะคำของบปี 66 ตช.เช่ารถ 9 พันคัน 1.3 หมื่นล. ทอ.ซื้อฝูงบิน-ยธ.สร้างคุก
ครม.เคาะกรอบงบปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้าน-ขาดดุล 6.95 แสนล้าน
เปิดแนวทางของบปี 66! เงินลงทุน 500 ล.ขึ้นไป ต้องประเมินความเสี่ยง ‘ทุจริตเชิงนโยบาย'
รัฐวาง 4 แนวทางกระตุ้นเบิกจ่าย ‘งบปี 65-พ.ร.ก.กู้เงินฯ’ หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด
‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายจัดทำงบปี 66 หนุนเศรษฐกิจฟื้น-มุ่งแก้จนแบบพุ่งเป้า-อย่าทุจริตเด็ดขาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน