‘ครม.’ รับทราบรายงานประเมินความเสี่ยงทางการคลังปีงบ 2564 พบภาระดอกเบี้ยต่อรายได้เพิ่มขึ้น สวนทางการจัดการเก็บรายได้ต่อ GDP ลดลง แนะรัฐบาลทบทวนมาตรการ ‘ยกเว้น-ลดหน่อยภาษี’
.............................
เมื่อวันที่ 29 มี.ค. นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติรับทราบรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปีงบประมาณ 2564 ซึ่งเป็นการดำเนินการตามมาตรา 78 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่กำหนดกระทรวงการคลังต้องจัดทำรายงานความเสี่ยงทางการคลังประจำปี เสนอให้ ครม.รับทราบภายในเดือน มี.ค.ของทุกปี
สำหรับรายงานความเสี่ยงฯดังกล่าว ระบุว่า รัฐบาลยังมีพื้นที่ทางการคลังสำหรับดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลได้ในกรณีที่จำเป็นภายใต้ความระมัดระวังที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง ปีงบประมาณ 2566–2569 ที่กำหนดให้รัฐบาลดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่องตามความจำเป็นในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจ และมีการส่งสัญญาณการทยอยลดสัดส่วนขาดดุลต่อ GDP ในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ รัฐบาลจะต้องพิจารณาแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้ รวมถึงการลดทอนรายจ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็นลง ควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อลดสัดส่วนการขาดดุลงบประมาณต่อ GDP ในระยะยาวต่อไป
อย่างไรก็ตาม จากการประมาณการสัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ในอนาคตพบว่า มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น
“ในระยะสั้นถึงปานกลางคาดว่า ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้จะยังอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ภายใต้การวิเคราะห์ติดตามอย่างใกล้ชิด ในขณะที่ในระยะยาว รัฐบาลควรเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้เพื่อให้สัดส่วนภาระดอกเบี้ยต่อรายได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และต้องจัดสรรงบประมาณรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐอย่างพอเพียง” นายพรชัยระบุ
ส่วนประมาณการสัดส่วนรายได้รัฐบาลสุทธิต่อ GDP พบว่า ยังคงมีแนวโน้มลดลง ดังนั้น รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการพิจารณาทบทวนมาตรการยกเว้นภาษีและมาตรการลดหย่อนต่างๆ ที่ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ควบคู่ไปกับการพิจารณาผลักดันแนวทางในการเพิ่มความสามารถในการจัดเก็บรายได้รัฐบาลให้มีผลในทางปฏิบัติอย่างจริงจัง โดยคำนึงให้สอดคล้องตามความเหมาะสมและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมในระยะต่อไป
นอกจากนี้ รัฐบาลต้องพิจารณาบริหารจัดการด้านรายจ่ายให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด รวมถึงรัฐบาลจำเป็นต้องพิจารณาขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐนอกเหนือจากภาคงบประมาณ และเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้เม็ดเงินลงทุนของภาครัฐยังสามารถเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
อ่านประกอบ :
เปิดรายละเอียดงบปี 66 ‘กลาโหม’ลด 2%-กษ.เพิ่ม 1.6 หมื่นล. ค่าใช้จ่ายบุคลากรรัฐเกือบ 40%
พลิกแฟ้มครม.! เคาะคำของบปี 66 ตช.เช่ารถ 9 พันคัน 1.3 หมื่นล. ทอ.ซื้อฝูงบิน-ยธ.สร้างคุก
ครม.เคาะกรอบงบปี 66 วงเงิน 3.185 ล้านล้าน-ขาดดุล 6.95 แสนล้าน
เปิดแนวทางของบปี 66! เงินลงทุน 500 ล.ขึ้นไป ต้องประเมินความเสี่ยง ‘ทุจริตเชิงนโยบาย'
รัฐวาง 4 แนวทางกระตุ้นเบิกจ่าย ‘งบปี 65-พ.ร.ก.กู้เงินฯ’ หนุนเศรษฐกิจฟื้นตัวหลังโควิด
‘บิ๊กตู่’มอบนโยบายจัดทำงบปี 66 หนุนเศรษฐกิจฟื้น-มุ่งแก้จนแบบพุ่งเป้า-อย่าทุจริตเด็ดขาด
ปีหน้าลงทุน 1 ล้านล้าน! ‘อาคม’ มองจีดีพี 65 โต 4%-มุ่งสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจชนบท
ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน