ครม.รับรายรายงาน ‘รับ-จ่าย’ งบปี 65 พบรัฐจัดเก็บรายได้ได้ 2.55 ล้านล้าน สูงกว่าประมาณการ 1.5 แสนล้านบาท ขณะที่ยอดกู้ชดเชยขาดดุลงบฯลดเหลือ 6.5 แสนล้าน
......................................
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 (1 ต.ค.2564 ถึง 30 ก.ย.2565) โดยในปีงบ 2565 ภาครัฐสามารถจัดเก็บรายได้ได้ 2.55 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 1.51 แสนล้านบาท ขณะที่การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอยู่ที่ 6.52 แสนล้านบาท จากประมาณการที่ตั้งไว้ 7 แสนล้านบาท
สำหรับรายละเอียดรายงานการรับจ่ายเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ 2565 มีดังนี้
1.รายได้แผ่นดินที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำเงินส่งคลัง ประมาณการ 2,400,000 ล้านบาท จัดเก็บจริง 2,551,223 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 151,223 ล้านบาท หรือสูงกว่าประมาณการ สาเหตุที่รายได้สูงกว่าประมาณการ เนื่องจากมีรายได้จากภาษีอากร การขายสิ่งของและบริการ และรัฐพาณิชย์เพิ่มขึ้น
2.รายรับจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ประมาณการ 700,000 ล้านบาท กู้จริง 652,553 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 47,447 ล้านบาท สาเหตุที่ต่ำกว่าประมาณการ 6.3% เนื่องจากมีการปรับลดกรอบวงเงินกู้
3.รายจ่ายตามงบประมาณ ประมาณการ 3,100,000 ล้านบาท จ่ายจริง 2,900,727 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 8,717 ล้านบาท (ยังไม่รวมเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 190,556 ล้านบาท) สาเหตุที่รายจ่ายต่ำกว่าประมาณการ เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้หน่วยงานของรัฐใช้จ่ายเงินงบประมาณช้าไม่ทันตามระยะเวลาที่กำหนด
4.รายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง จำนวน 33,655 ล้านบาท
5.ดุลการรับ-จ่ายเงิน ประกอบด้วย 1.รายรับทั้งสิ้นที่เกิดขึ้นจริง 3,203,775 ล้านบาท (รวมรายได้แผ่นดินที่ได้รับจริง 2,551,223 ล้านบาท และเงินกู้ฯ ที่รับจริง 652,553 ล้านบาท) 2.รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงตามประมาณ 3,148,060 ล้านบาท (รวมรายจ่ายงบประมาณตามงบประมาณ 2,900,727 ล้านบาท รายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่จ่ายจริง (ปี 2564) 213,678 ล้านบาท และรายจ่ายตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง 33,655 ล้านบาท)
ทั้งนี้ รายรับสูงกว่ารายจ่าย 55,715 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานของรัฐจัดเก็บและนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีสินค้าเข้า–ออก
น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า ครม.ยังมีมติเห็นชอบหลักการและกรอบการจัดทำยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 โดยมีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 ซึ่งประกอบด้วย 6 ด้าน
คือ 1.ความมั่นคง 2.สร้างความสามารถในการแข่งขัน 3.พัฒนาเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ 4.สร้างโอกาสความเสมอภาคทางสังคม 5.สร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 6.ปรับสมดุลพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ ส่วนโครงการที่หน่วยราชการเสนอเข้ามาในเบื้องต้นมีจำนวนประมาณ 1,026 โครงการ
สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ในระยะต่อไปนั้น ในช่วงเดือน ธ.ค.2565-ม.ค.2566 หน่วยรับงบประมาณจัดทำรายละเอียดคำขอรับงบประมาณ ช่วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2566 พิจารณารายละเอียดงบประมาณ ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2566 เปิดรับฟังความคิดเห็นช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย.2566 และสภาพิจารณางบประมาณ วาระที่ 1
อ่านประกอบ :
ปิดบัญชีงบปี 65 รัฐโอนเงินฉุกเฉินฯ 1.4 หมื่นล. สมทบ‘จ่ายเบี้ยหวัด-ค่ารักษาพยาบาลขรก.’
เปิดลิสต์รัฐ'ก่อหนี้ฯ'ปีงบ 66 จัดหาบินรบ F35 'ตร.'เช่ารถหมื่นล.-ซื้อ ฮ. ภารกิจบุคคลสำคัญ
'กมธ.' 2 สภาชำแหละงบ 66 รายจ่ายประจำสูง-หนี้รอชดเชย 1 ล้านล. ก่อนครม.เคาะแนวทางทำงบปี 67
รัฐเทงบปี 66 จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 2 แสนล.-ก่อหนี้ใหม่ 1.15 แสนล้าน บริหารค่า Ft-ตรึงดีเซล
ก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้าน! ครม.ไฟเขียว ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 66
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้'ปีงบ 65-กู้ 1 หมื่นล. เพิ่มสภาพคล่อง'กองทุนน้ำมันฯ'
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้ฯ’ ปีงบ 65 เพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่ 2.07 หมื่นล้าน
ปี 2564 : ปีแห่งการก่อหนี้ 'ภาครัฐ-ครัวเรือน'
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน