"...ข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ก.ย.2564 ยอดหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 9.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 58.15% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.49 ล้านล้านบาท โดยสาเหตุที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ..."
...............................
ปี 2564 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป
นับเป็นปีที่ 2 ที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่ ‘ยากลำบาก’ จากผลกระทบของโควิด-19 โดยเฉพาะการประกาศ ‘ล็อกดาวน์’ รอบสอง ในพื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ในช่วงเดือน ก.ค.-ต.ค.2564 เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 นั้น ส่งผลให้เศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว ต้องฟุบลงอีกครั้ง
แม้ว่าวันนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศจะค่อยๆกลับมาคึกคักมากขึ้น หลังรัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการฯ ประกอบกับได้รับแรงส่งจาก ‘งบประมาณ’ ของรัฐบาลผ่านโครงการต่างๆ และ ‘เม็ดเงิน’ จาก พ.ร.ก.กู้เงินฯ รวมถึงการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวที่ 16% ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจปี 2564 ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 1%
แต่ทว่าการผ่านพ้นห้วงเวลาในปี 2564 นั้น ผ่านไปพร้อมๆกับการ ‘ก่อหนี้’ นับล้านล้านบาท ทั้งการก่อหนี้ของรัฐบาล หรือ ‘หนี้สาธารณะ’ และการก่อหนี้ของครัวเรือน
@ปีงบ 64 หนี้สาธารณะเพิ่ม 1.49 ล้านล้าน แตะ 58% ต่อ GDP
จากข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ก.ย.2564 ยอดหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ 9.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 58.15% ต่อ GDP เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 1.49 ล้านล้านบาท โดยสาเหตุที่เพิ่มขึ้นเกิดจากการกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้กฎหมายพิเศษ 2 ฉบับ
ได้แก่ พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และพ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคม จากการระบาดของโรคโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท (อ่านประกอบ : ครม.รับทราบสัดส่วน ‘หนี้สาธารณะ’ แตะ 58.15% ต่อจีดีพี-ภาระหนี้ต่อรายได้ฯทะลุ 32.27%)
(ที่มา : รายงานสัดส่วนหนี้สาธารณะตามมาตรา 50 และรายงานหนี้สาธารณะ หนี้ภาครัฐ และความเสี่ยงทางการคลัง ตามมาตรา 76 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของภาครัฐ พ.ศ.2561 ณ สิ้นปีงบ 2564 ที่รายงานต่อ ครม.เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2564)
ที่สำคัญการก่อหนี้ของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ยังไม่มีจุดจบ เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวล่าช้า เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ และการจัดทำงบประมาณ ‘ขาดดุล’ อีกอย่างน้อย 4 ปีนับจากนี้ (ปีงบ 2566-69)
ส่งผลให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องขยับระดับ ‘เพดานหนี้สาธารณะ’ เป็นไม่เกิน 70% ต่อ GDP จากเดิมไม่เกิน 60% ต่อ GDP
ขณะที่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประเมินว่าในปีงบ 2569 ยอดหนี้สาธารณะคงค้างของไทยจะอยู่ที่ 13.46 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 67.15% ต่อ GDP (อ่านประกอบ : ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน)
(ที่มา : แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569 ที่ครม.เห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ธ.ค.2564)
@หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.1 แสนล้าน ดันสัดส่วนใกล้ 90% ต่อ GDP
ส่วนสถานะ ‘หนี้สินครัวเรือน’ นั้น ข้อมูลล่าสุดจากของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ณ ไตรมาส 3/2564 (30 ก.ย.2564) ครัวเรือนไทยมีหนี้สินทั้งสิ้น 14.34 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.3% ต่อ GDP เทียบกับ ณ สิ้นไตรมาส 4/2563 ที่ครัวเรือนไทยมีหนี้สิน 14.03 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 89.4% ต่อ GDP
ทั้งนี้ แม้ว่าสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนไทยต่อ GDP จะทรงตัวอยู่ที่ระดับไม่เกิน 90% ต่อ GDP แต่จะพบว่าในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา ยอดหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้น 3.11 แสนล้านบาท ในขณะที่หนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ที่อยู่ในระดับสูงนั้น ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญของเสถียรภาพระบบการเงินไทย
“เศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวได้มั่นคงขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูงและไม่เท่าเทียม ทำให้ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งกว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับสู่ระดับก่อนการระบาด ส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจบางกลุ่ม ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทย
โดยภาคครัวเรือนยังมีภาระหนี้ในระดับสูง และเร่งตัวขึ้นในช่วงโควิด 19 รวมถึงยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ขณะที่ธุรกิจ SMEs และธุรกิจในภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ยังมีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องและฐานะการเงินสูงกว่าภาคธุรกิจอื่นๆ เนื่องจากฟื้นตัวได้ช้า” ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน ธปท. ระบุ (อ่านประกอบ : ‘ธปท.’ห่วงปัญหาหนี้‘ครัวเรือน-ธุรกิจบางกลุ่ม’-พร้อมออกมาตรการเพิ่มเอื้อศก.ฟื้นตัว)
สอดคล้องกับความเห็นชอบของที่ประชุมร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2564 ที่ระบุว่า หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน และเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
“หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน และเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปนั้น ควรเร่งผลักดันมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูงอย่างต่อเนื่อง” เอกสารแถลงผลการประชุม ร่วม กนง.และ กนส. ระบุ (อ่านประกอบ : 'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน')
@จับตารัฐบาล ‘ปฏิรูปภาษี’ หารายได้ ลดขาดดุลงบประมาณ
เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) โดยประเมินว่า ในปี 2565 มีแนวโน้มที่หนี้สาธารณะของไทยยังคงเพิ่มขึ้นอยู่ เนื่องจากรัฐบาลจำเป็นต้องกู้เงิน เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณในปีงบ 2565
“หนี้สาธารณะจะยังเพิ่มขึ้น จากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจ และสถานการณ์โควิด ไม่ได้เป็นเพราะรัฐบาลบริหารอะไรไม่ดี และในปีใกล้ๆนี้ ก็ยังไม่รู้ว่า รัฐบาลจะเปลี่ยนจาก ‘งบขาดดุล’ มาเป็น ‘งบสมดุล’ ได้เมื่อไหร่ ในขณะที่สถานการณ์โควิด ยังไม่เอื้อให้รัฐบาลเก็บภาษีเพิ่มขึ้น” เชาว์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เชาว์ ระบุว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายไปแล้ว 3-4 ปี สิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการให้เป็นรูปธรรม นั่นก็คือ การปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อนำรายได้เข้ารัฐ แต่หากรัฐบาลไม่ทำ ก็จะเกิดคำถามว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณอย่างไร และมีแผนในการปรับโครงสร้างภาษีอย่างไรที่จะทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีเพิ่มขึ้น
“หากผ่านไป 3-4 ปี การขาดดุลงบประมาณยังไม่ลดลง และเศรษฐกิจก็ยังไม่ดีขึ้นอีก ตรงนี้จะมีคำถามตามมาว่า รัฐบาลต้องปฏิรูปภาษีอย่างไร โดยเฉพาะจัดเก็บรายได้ใหม่ๆเข้ามาทดแทน เพื่อลดการขาดดุลให้แคบลง ซึ่งตอนนี้รัฐบาลอ้างเหตุผลเรื่องโควิดได้ แต่ถ้าผ่านไปอีกระยะหนึ่ง รัฐบาลไม่ทำอะไรก็จะเกิดคำถามได้” เชาว์ กล่าว
เชาว์ เก่งชน (กลาง)
ส่วนเรื่องหนี้สินครัวเรือนนั้น แม้ว่าในปี 2564 ยอดหนี้สินครัวเรือนคงค้างที่เป็นบาทจะเพิ่มขึ้น ซึ่งหลักๆมาจากการขยายตัวของการกู้ซื้อบ้าน ซื้อรถ แต่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP ยังทรงๆที่อยู่ที่ 90-91% ต่อ GDP และหากเศรษฐกิจในปี 2565 ขยายตัวดี สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะไม่เพิ่มขึ้น แม้ว่ายอดหนี้คงค้างเป็นบาทยังเพิ่มขึ้นอยู่
“ยอดขายบ้าน ยอดขายรถที่ยังเพิ่มขึ้น จะไปเพิ่มหนี้ครัวเรือน แต่สำหรับคนทำงานและมีหนี้อยู่ เขาจะคืนหนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเขามีรายได้เพิ่ม ซึ่งถ้าเศรษฐกิจยังโตเพียง 3% กว่าๆ คงจะไม่เห็นคนมีรายได้เพิ่มเยอะๆ แล้วเอามาจ่ายหนี้คืนมากๆ
แต่ทั้งนี้ ในเรื่องหนี้ครัวเรือนนั้น ต้องแยกว่า เราพูดถึงครัวเรือนกลุ่มไหน ถ้าเป็นครัวเรือนของคนทำงานในเมือง คนกลุ่มนี้จะเกาะกับกระแสเศรษฐกิจไป ถ้าเศรษฐกิจปี 2565 ไม่ได้แย่กว่าปี 2564 คนกลุ่มนี้คงไม่แย่เท่าไหร่ ยกเว้นถ้าการท่องเที่ยวเปิดไม่ได้ รายได้ของคนที่อยู่ในธุรกิจท่องเที่ยวก็จะกลับมาช้ากว่าที่คาด
แต่ประเด็นสำคัญจะไปอยู่ที่หนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในภาคเกษตรมากกว่า เพราะเป็นอีกโลกหนึ่งไปเลย คนกลุ่มนี้มีรายได้น้อยมาก และรายได้จะขึ้นอยู่กับราคาผลผลิต สภาพดินฟ้าอากาศที่แทบจะคุมอะไรไม่ได้ ” เชาว์ กล่าว
ทั้งนี้ เชาว์ มองว่า หากเปรียบเทียบภาระหนี้รัฐบาลและหนี้ครัวเรือนแล้ว ตนไม่ค่อยกังวลกับภาระหนี้ของรัฐบาลมากนัก เพราะแม้ว่ารัฐบาลจะมีหนี้สูงและขาดดุลงบประมาณจำนวนมาก แต่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่ได้สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และยังไม่ใช่ประเด็นที่สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมหภาคของประเทศไทยในขณะนี้
เชาว์ ยังกล่าวด้วยว่า ในปี 2565 หากไม่มีเหตุผิดปกติรุนแรงจริงๆ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงไม่อยากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพราะเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวเต็มร้อย ซึ่งหาก กนง.ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และสถาบันการเงินไม่ได้มีปัญหาเรื่องสภาพคล่อง สถาบันการเงินก็จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย
ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ออกบทวิเคราะห์ล่าสุด โดยประเมินว่า แม้ว่าในปี 2565 จะยังคงเห็นยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนเติบโตต่อเนื่อง แต่ก็น่าจะเป็นอัตราการเติบโตในระดับที่ใกล้เคียงกับเศรษฐกิจมากขึ้น จึงคาดว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2565 จะอยู่ในกรอบ 90-92% ต่อจีดีพี โดยสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีมีโอกาสขยับขึ้นเล็กน้อยจากตัวเลขคาดการณ์ในปี 2564 ที่อยูที่ 90.5%
“โจทย์เฉพาะหน้าของครัวเรือนไทยที่มีภาระหนี้ ยังคงเป็นการดูแลรายจ่ายอย่างระมัดระวังและสมดุลกับสถานการณ์รายได้ที่ไม่แน่นอน เพื่อให้ยังคงมีความสามารถในการชำระหนี้ได้อยู่” ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุ
@ห่วงหนี้ครัวเรือนสูง แต่เศรษฐกิจโตช้า-คาด ‘ธปท.’ ไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย
ด้าน อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย (CIMBT) ให้มุมมองว่า แม้ว่าภาครัฐและครัวเรือนจะมีการก่อหนี้เป็นจำนวนมาก จนทำให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP อยู่ในระดับที่สูง แต่ถือว่าเป็นเสี่ยงที่อยู่ในระดับที่รับได้ และคาดว่าในปี 2565 ธปท.คงไม่รีบขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งจะไม่ทำให้ภาระดอกเบี้ยในการกู้ยืมเพิ่มขึ้น
“ผมมองว่าแบงก์ชาติคงไม่รีบขยับดอกเบี้ย เพราะเงินเฟ้อบ้านเราในปี 2565 เฉลี่ยทั้งปีน่าจะไม่เกิน 2% แต่หากมีแรงกดดันที่ทำให้ดอกเบี้ยของเราขึ้น เช่น เฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ขึ้นดอกเบี้ย 4 ครั้ง แล้วทำให้เงินไหลออก ซึ่งน่าจะเกิดในช่วงครึ่งปีหลัง ตรงนี้เราจะทนแรงกดดันได้หรือไม่” อมรเทพ กล่าว
อย่างไรก็ดี อมรเทพ ระบุว่า การที่สัดส่วนหนี้สินครัวเรือนอยู่ที่อยู่ในระดับใกล้ 90% ต่อ GDP และการขยายเพดานหนี้ภาครัฐ (หนี้สาธารณะ) เป็น 70% ต่อ GDP ซึ่งมีโอกาสที่หนี้สาธารณะอาจชนเพดานอีกรอบ นั้น เป็นสิ่งที่ต้องกังวล เพราะการขยายตัวของหนี้สินดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่โตช้า
“ถ้าดอกเบี้ยขึ้น ในภาวะที่เศรษฐกิจปรับตัวได้ โตขึ้น ก็ไม่น่าห่วง แต่ที่น่าห่วง คือ ดอกเบี้ยขึ้น ในขณะที่เศรษฐกิจยังโตช้าอยู่ ดังนั้น จึงต้องดูว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 แบงก์ชาติจะมีนโยบายดอกเบี้ยอย่างไร” อมรเทพ ย้ำ
อมรเทพ ยังกล่าวถึงการก่อหนี้ใหม่ของรัฐบาลในปี 2564 ที่สูงถึง 1.49 ล้านล้านบาท ว่า “ไม่ได้เชียร์ให้กู้ แต่ก็เข้าใจสถานการณ์ว่า มันไม่มีทางเลือกนัก เพราะเกิดการแพร่ระบาด (โควิด-19) รอบ 2 และรอบ 3 ประกอบกับเศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะที่ค่อนข้างจะโตช้า แต่ไม่ใช่ว่ากู้ไปเรื่อยๆพอถึง 70% ก็ขยับ รัฐบาลต้องสรรหามาตรการในหารายได้ด้วย”
เหล่านี้เป็นสถานการณ์การก่อหนี้สินของรัฐบาลและครัวเรือนไทยในห้วงปี 2564 ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไป และด้วยจำนวนการก่อหนี้ที่เพิ่มขึ้นระดับ 'ล้านล้านบาท' ในช่วงเวลาเพียง 1 ปี ทำให้ปี 2564 เป็น ‘ปีแห่งการก่อหนี้’ ก็ว่าได้
อ่านประกอบ :
ครม.รับทราบสัดส่วน ‘หนี้สาธารณะ’ แตะ 58.15% ต่อจีดีพี-ภาระหนี้ต่อรายได้ฯทะลุ 32.27%
ครม.เคาะ ‘แผนการคลังระยะปานกลาง’ ปีงบ 66-69 คาด 4 ปี รัฐบาลขาดดุลเพิ่ม 2.8 ล้านล้าน
แพร่ประกาศขยายเพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อจีดีพี
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน
ครม.ไฟเขียว 'แผนบริหารหนี้สาธารณะ' กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน รับมือโควิด
โชว์กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 64 ยอดพุ่ง 7.5 แสนล้าน! หนี้สาธารณะใกล้ทะลุ 60%
'บิ๊กตู่'สั่งรัฐมนตรีเตรียมพร้อมอภิปรายงบปี 65 เน้นสร้างการรับรู้มากกว่าตอบโต้
เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?
ชำแหละงบปี 65 ! ‘งบกองทัพ’ สำคัญกว่า เงินอุดหนุน ‘เด็กเล็ก’ ถ้วนหน้า?
เปิดงบปี 65 หั่น ‘รายจ่ายฉุกเฉินฯ’ โปะ ‘เบี้ยหวัด-บำนาญ’-ตัดงบกลาโหม 5.24%
กู้ชดเชยขาดดุลฯพุ่งแซง ‘งบลงทุน’! ครม.เคาะรายละเอียดงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล.