“…ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รัฐบาลมีภาระที่ต้องชดเชยค่าใช้จ่ายตามโครงการดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 34.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งใกล้ถึงกรอบเพดานตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ว่า ต้องไม่เกินร้อยละ 35 และการที่รัฐบาลมีภาระหนี้ภาครัฐที่ต้องชดเชยเป็นจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลเหลืองบประมาณในการพัฒนาประเทศด้านต่าง ๆ น้อยลงไปด้วย…”
........................................
สืบเนื่องจากกรณีที่เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธาน มีมติเห็นชอบแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ตามที่ สำนักงบประมาณ เสนอ ซึ่งประกอบด้วย 5 แนวทาง ได้แก่
1.ดำเนินการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นโยบายสำคัญของรัฐบาล แผนปฏิบัติราชการของกระทรวง รวมทั้งการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการจัดสรรงบประมาณ
โดยคำนึงถึงความจำเป็นและภารกิจของหน่วยรับงบประมาณ ความต้องการในพื้นที่และแผนพัฒนาพื้นที่ตามความต้องการของประชาชนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์ในการบริหารจัดการภาครัฐ และให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนหน่วยรับงบประมาณภายใต้หลักธรรมาภิบาล สุจริต โปร่งใส เป็นธรรม
2.ให้ความสำคัญกับการดำเนินการเพื่อยกระดับศักยภาพของประเทศในทุกมิติ โดยมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และประสิทธิภาพของภาครัฐ เพื่อให้การขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจเกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และยั่งยืน
3.ให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มศักยภาพการถ่ายโอนภารกิจการจัดบริการสาธารณะ ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ และประสิทธิผลการใช้จ่ายขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4.เพิ่มประสิทธิภาพการจัดทำงบประมาณให้ครอบคลุมทุกแหล่งเงิน โดยให้หน่วยรับงบประมาณพิจารณานำเงินนอกงบประมาณหรือเงินสะสมคงเหลือ มาใช้ดำเนินภารกิจของหน่วยรับงบประมาณเป็นลำดับแรก ควบคู่ไปกับการพิจารณาทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินโครงการที่มีความสำคัญในระดับต่ำ หรือหมดความจำเป็น
พิจารณาถึงความพร้อมและขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ จากการนำความสำเร็จในการปฏิบัติงานและผลการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 และ พ.ศ.2566 รวมทั้งข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มาประกอบการพิจารณาจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับศักยภาพการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณ
5.ดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 กฎหมาย ระเบียบ และมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีอย่างครบถ้วน นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงบประมาณเผยแพร่ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สภาผู้แทนราษฎร และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วุฒิสภา สรุปได้ดังนี้
@ภาระชดเชยค่าใช้จ่าย ‘โครงการรัฐ’ ใกล้แตะ 35% ของงบประมาณ
ภาพรวมข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย 14 ประเด็น ได้แก่
1.การจัดทำงบประมาณไม่สอดคล้องกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน เนื่องจากมีภาระชดเชยหนี้ภาครัฐเป็นจำนวนมาก
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ยังไม่จบลง เกิดปัญหาภาวะเงินเฟ้อขึ้นทั่วโลก และสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย
แต่การขออนุมัติงบประมาณของรัฐบาล ในปีนี้มีจำนวน 3,185,000 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพียง 85,000 ล้านบาทเท่านั้น หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 ซึ่งต่ำกว่างบประมาณประจำปีในช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 แม้จะมีการตั้งงบประมาณแบบขาดดุลสูงถึงร้อยละ 22 ก็ตาม
แสดงให้เห็นว่า การจัดทำงบประมาณของรัฐบาลไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่การใช้จ่าย ภาครัฐต้องเป็นเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจที่จำเป็นต่อการประคับประคองให้เศรษฐกิจฟื้นตัว และต้องการงบประมาณที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ตั้งในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจจะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการจัดเก็บรายได้ที่ลดลงตามสภาวะเศรษฐกิจ ทำให้แม้จะมีการตั้งงบประมาณขาดดุล และกู้เพื่อชดเชยขาดดุลมากจนเกือบเต็มเพดานสูงสุดที่กฎหมายอนุญาตแล้ว ยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จะมีงบประมาณน้อยลง แต่มีการเพิ่มงบประมาณให้กับรัฐวิสาหกิจสูงถึง 162,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยเป็นการตั้งงบประมาณเพิ่มขึ้นเพื่อใช้หนี้เป็นส่วนใหญ่ราว 118,822 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 73 ของงบประมาณรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยแบ่งเป็นงบประมาณตามแผนงาน บริหารจัดการหนี้ภาครัฐเป็นเงิน 44,509 ล้านบาท อยู่ในแผนงานอื่นๆ อีก 74,313 ล้านบาท
เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นจากเดิม 15,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อชดเชยภาระหนี้ของรัฐที่ใช้เงินของหน่วยงานออกไปก่อน จากโครงการประกันรายได้เกษตรกร และโครงการรับจำนำผลผลิต ทางการเกษตร
หรือธนาคารออมสินได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น 4,296.72 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 109 โดยงบประมาณที่เพิ่มขึ้นเป็นการชดเชยภาระหนี้ที่ใช้เงินของหน่วยงานออกไปก่อนเพื่อชดเชยต้นทุนเงินและภาระดอกเบี้ยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำของผู้ประกอบการรายย่อย (SME) และชดเชยหนี้เสีย (NPL) จากโครงการสินเชื่อรายย่อยเพื่อใช้จ่ายฉุกเฉินในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2565 รัฐบาลมีภาระที่ต้องชดเชยค่าใช้จ่ายตามโครงการดังกล่าวอยู่ที่ร้อยละ 34.2 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ซึ่งใกล้ถึงกรอบเพดานตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ที่กำหนดไว้ว่า ต้องไม่เกินร้อยละ 35 และการที่รัฐบาลมีภาระหนี้ภาครัฐที่ต้องชดเชยเป็นจำนวนมาก จึงทำให้รัฐบาลเหลืองบประมาณในการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ น้อยลงไปด้วย
@สัดส่วน ‘รายจ่ายประจำ-งบผูกพัน’ สูง ทำให้ ‘พื้นที่ทางการคลัง’ แคบ
2.งบประมาณรายจ่ายส่วนใหญ่เป็นงบรายจ่ายที่ต้องจ่ายตามกฎหมายหรืองบรายจ่ายที่ต้องผูกพัน หากต้องการมีงบประมาณเพิ่มเติมหรือเพื่อแก้ปัญหาในแต่ละปี มีความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มขึ้นและปรับโครงสร้างงบประมาณ
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 คาดการณ์ว่า รัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ประมาณ 2,490,000 ล้านบาท และเมื่อหักลบรายการงบประมาณที่จำเป็นต้องจ่ายทุกปี เช่น งบบุคลากร งบผูกพันข้ามปีของหน่วยงาน และงบสำหรับสวัสดิการต่างๆ ของประชาชน ซึ่งมีมากถึงประมาณ 2,260,0000 ล้านบาท ทำให้เหลือ “พื้นที่ทางการคลัง” หรืองบประมาณเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศเพียง 230,000 ล้านบาท
“พื้นที่ทางการคลัง” ที่แคบเป็นความท้าทายที่รัฐบาลเผชิญในทุกปี และมีแนวโน้มจะรุนแรงขึ้น ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รัฐบาลตัดสินใจกู้เงินจำนวนประมาณ 695,000 ล้านบาท เพื่อทำให้รัฐบาลมี “พื้นที่ทางการคลัง” เพิ่มขึ้นมาที่ประมาณ 925,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบสัดส่วนการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก พบว่าประเทศไทยจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้มาโดยตลอด
ทั้งนี้ แนวทางในการลดการกู้เงินของรัฐบาล เพื่อลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ประกอบด้วย 2 ส่วนที่สำคัญ ดังนี้
(1) รัฐบาลควรหามาตรการเพิ่มรายได้ให้รัฐ เช่น การเพิ่มจำนวนคนที่เข้าสู่ระบบภาษีรายได้ (ที่ปัจจุบันมีเพียง 10 ล้านคน) การเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีที่ดิน (ที่เป็นรายได้ที่ใช้ในการพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) และภาษีมรดก (ที่ในแต่ละปีสามารถจัดเก็บได้เพียง 200 ล้านบาท) รวมทั้งการพิจารณาภาษีรูปแบบใหม่ เช่น ภาษีลาภลอย และภาษีกำไรจากเงินลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น
(2) รัฐบาลควรหามาตรการเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างงบประมาณในระยะยาว ผ่านการลดสัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายที่ตายตัวและเปลี่ยนแปลงไม่ได้ในแต่ละปีให้เหลือเท่าที่จำเป็น (เช่น การลดโครงการที่เป็นการตั้งงบผูกพันไปหลายปี) รวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นจาก “เงินนอกงบประมาณ”
@เงิน ‘นอกงบประมาณ’ พุ่ง 4.5 ล้านล้าน แต่ ‘กรรมาธิการฯ’ ตรวจสอบไม่ได้
3.ควรปรับปรุงกระบวนการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รัฐบาลคาดว่าจะมีเงินนอกงบประมาณ สูงถึง 4,530,638 ล้านบาท และสำนักงบประมาณได้รับรายงานจากหน่วยรับงบประมาณว่า มีการใช้เงินนอกงบประมาณ เพื่อมาสมทบในโครงการต่างๆ สูงถึง 105,516 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนมาก เมื่อเปรียบเทียบกับงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับจัดสรรในแต่ละปี
แต่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า มีโครงการใดที่หน่วยงานใช้เงินนอกงบประมาณจัดทำโครงการที่อาจซ้ำซ้อนกันกับโครงการที่ใช้งบประมาณแผ่นดิน ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ ควรต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ ทั้งในส่วนที่นำมาสมทบโครงการที่ของบประมาณและในส่วนที่ไม่ได้นำมาสมทบ
ทั้งนี้ หากมีการใช้จ่ายงบประมาณไปหลังจากการพิจารณางบประมาณแล้ว หน่วยงานต่างๆ ต้องจัดส่งข้อมูลและรายงานให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณาในปีงบประมาณต่อไปด้วย โดยคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อาจพิจารณาแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเงินนอก งบประมาณของหน่วยงานต่างๆ เป็นการเฉพาะ
นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ควรให้ข้อมูลรายได้ส่วนอื่นๆ ที่มีความสัมพันธ์กับหน่วยงานด้วย เช่น มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ รายได้จากเงินทุนหมุนเวียน และกองทุนสวัสดิการของหน่วยงานต่างๆ เป็นต้น
@แนะรัฐบาลแยกการใช้จ่าย ‘งบที่ไม่จำเป็นฉุกเฉิน’ ออกจาก ‘งบกลาง’
4.การใช้จ่ายงบกลางหน่วยงานควรใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉิน หรือไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้าเท่านั้น เพื่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณ
โดยหลักการแล้ว งบกลาง คือ งบประมาณส่าหรับการใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน หรือกรณีที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าเกี่ยวกับปริมาณหรือหน่วยรับงบประมาณที่จะรับผิดชอบในการดำเนินงาน
แต่ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีโครงการที่คาดการณ์ได้ไม่ใช่เหตุฉุกเฉิน และควรจะมีการขอรับการจัดสรรงบประมาณแบบปกติ แต่ยังมีการขอรับการจัดสรรจากงบกลาง ซึ่งเป็นงบประมาณที่ตรวจสอบยาก เช่น
(1) โครงการที่ตั้งงบประมาณไว้น้อยกว่าที่คาดว่าจำเป็นต้องใช้โดยหวังพึ่งงบกลางหรือการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากโครงการอื่น หากงบประมาณที่ตั้งไว้เดิมไม่เพียงพอ
(2) โครงการที่เคยได้รับจัดสรรงบกลางในปีก่อน เพราะเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินที่เพิ่งเกิดขึ้นเป็นปีแรก แต่ไม่มีการตั้งงบประมาณปกติเพื่อรองรับในปีงบประมาณถัดๆ ไป แม้จะเป็นเหตุการณ์ที่คาดการณ์ได้แล้ว
เนื่องจากงบกลางเป็นรายการงบประมาณที่ไม่ได้ผ่านการตรวจสอบจากคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา ทำให้ขาดความโปร่งใสไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตหรือความเหมาะสมได้ ดังนั้น หน่วยงานต่างๆ จึงควรขอรับจัดสรรงบประมาณผ่านงบกลางให้น้อยที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ และเฉพาะกรณีจำเป็น ฉุกเฉิน หรือไม่ได้คาดการณ์ไว้เท่านั้น
นอกจากนี้ รัฐบาลควรแยกการใช้จ่ายงบกลางที่ไม่ใช่งบจำเป็นฉุกเฉิน ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของงบกลาง ได้แก่ เงินช่วยเหลือข้าราชการ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ เงินเบี้ยหวัดบำเหน็จบำนาญ เงินสำรองเงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ
รวมทั้งเงินสมทบของลูกจ้างประจำ เป็นต้น ออกจากงบกลาง ไปตั้งเป็นหมวดสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ เบี้ยหวัด บำเหน็จบำนาญ เป็นการเฉพาะ เพื่อให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สามารถตรวจสอบได้ชัดเจนมากขึ้น แต่หากงบประมาณไม่เพียงพอจึงขอรับจัดสรรงบประมาณผ่านงบกลางเพิ่มเติมเป็นกรณี ๆ ไป
@เสนอควบรวมหน่วยงานที่มีภารกิจ ‘ซ้ำซ้อน’ ช่วยประหยัดงบประมาณ
5.หน่วยงานที่มีภารกิจเหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันควรมีการควบรวมหน่วยงานกันหรือบูรณาการกัน หรือแบ่งแยกภารกิจกันให้ชัดเจน เพื่อลดความซ้ำซ้อน และประหยัดงบประมาณของประเทศ
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ประเทศไทยมีหน่วยรับงบประมาณ จำนวน 734 หน่วยงาน และเมื่อพิจารณาวิสัยทัศน์และพันธกิจของหน่วยงาน รวมทั้งจากวัตถุประสงค์ของโครงการในแต่ละหน่วยงาน พบว่ามีหน่วยรับงบประมาณจ่านวนมาก ที่มีพันธกิจหรือโครงการที่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งหน่วยงานภายในกระทรวงเดียวกันหรือหน่วยงานต่างกระทรวงกัน
ทั้งนี้ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณ หน่วยงานที่มีพันธกิจหรือโครงการที่คล้ายคลึงกัน ควรพิจารณาด่าเนินการ ดังนี้
(1) หากหน่วยงานต่างๆ มีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่เหมือนกัน ควรพิจารณาควบรวมหน่วยงานดังกล่าวให้เหลือเพียงหน่วยงานเดียว
(2) หากหน่วยงานต่างๆ มีวิสัยทัศน์และพันธกิจบางส่วนที่คล้ายกัน แผนงานประจำที่คล้ายคลึงกัน หรือ มีทรัพยากรที่สามารถใช้ร่วมกันได้ควรบูรณาการการด่าเนินงานร่วมกัน
(3) หากหน่วยงานต่างๆ มีวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ต่างกัน แต่มีการจัดทำโครงการที่คล้ายคลึงกันควรวางกระบวนการพิจารณาเพื่อคัดกรองและตัดงบประมาณส่วนที่ซ้ำซ้อนกันออก
@แนะปรับปรุง ‘ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ’ ให้สอดคล้องกับเอกสารงบประมาณ
6.การจำแนกมาตราในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีควรสอดคล้องกับเอกสารงบประมาณ
การจัดทำงบประมาณที่ผ่านมายังไม่มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์และวินัยการเงินการคลังตามความในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 และพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 เท่าที่ควร
เช่น การจำแนกมาตราตามแผนงานบุคลากร แผนงานพื้นฐาน แผนงานยุทธศาสตร์ แผนงานบูรณาการในร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยอ้างอิงมาจากพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2561 ซึ่งไม่ได้รวมงบประมาณของทุกแผนงานให้อยู่ในหน่วยรับงบประมาณเดียวกัน จึงไม่สอดคล้องกับเอกสารงบประมาณ (เล่มขาวคาดแดง) ที่สำนักงบประมาณจัดส่งให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พิจารณา
ซึ่งมีการจำแนกงบประมาณของแต่ละหน่วยรับงบประมาณโดยเริ่มจากแผนงานบุคลากร แผนงานพื้นฐาน แผนงานยุทธศาสตร์ และแผนงานบูรณาการ ทั้งนี้ หากรวมทุกแผนงานของหน่วยรับงบประมาณให้เป็นไปตามเอกสารงบประมาณ (เล่มขาวคาดแดง) จะสอดรับกับรายงานการเงินที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตรวจสอบและรายงานมาที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ
ด้วยเหตุนี้ หากรายงานการเงินที่ได้รับการตรวจสอบจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินกับการจำแนกรายมาตราตามความในพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 จึงจะมีความสอดคล้องกับเอกสารงบประมาณซึ่งจะทำให้การพิจารณางบประมาณของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
7.ทุกหน่วยงานควรศึกษาระเบียบกฎหมายและความเหมาะสมของงบประมาณที่เสนอขอรับจัดสรรงบประมาณ
การพิจารณางบประมาณในชั้นกรรมาธิการไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการพิจารณาในคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ หรือคณะอนุกรรมาธิการ พบว่าการขอรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานต่างๆ มีรูปแบบที่ไม่ชัดเจนและไม่เป็นปัจจุบัน
เช่น ในการขอรับจัดสรรงบประมาณผูกพัน หน่วยรับงบประมาณไม่ได้มีการตรวจสอบว่าพื้นที่การใช้จ่ายงบประมาณเป็นที่ดินเวนคืน ซึ่งเมื่อมีการอนุมัติงบประมาณไปแล้ว แต่ไม่สามารถใช้จ่ายงบประมาณตามวัตถุประสงค์ได้
ทั้งนี้ หน่วยงานต่างๆ จึงควรศึกษาและพิจารณาเกี่ยวกับระเบียบ กฎหมาย รูปแบบการขอรับจัดสรรงบประมาณ และความเหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างก่อนขอรับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อให้การพิจารณางบประมาณเป็นไปด้วยความถูกต้องและรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้การจัดสรรงบประมาณมีประสิทธิภาพมากขึ้น
@ต้องมีนโยบายเปิดเผยข้อมูล ‘ยอดหนี้คงค้าง’ ทั้งหมดต่อ ‘สาธารณะ’
8.การสำรองงบประมาณของหน่วยงานต่างๆต้องเปิดเผยสูงสาธารณะเพื่อความโปร่งใส
จากมาตรการของกระทรวงการคลัง ซึ่งมีการให้หน่วยงานต่างๆ สำรองงบประมาณจ่ายไปก่อนได้ หากมีเหตุจำเป็นทางการคลัง ซึ่งเป็นการดำเนินงานที่สามารถทำได้ ตามความในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 ที่มอบหมายให้หน่วยงานของรัฐด่าเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ โดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการด่าเนินการนั้น
ตัวอย่างโครงการที่ใช้งบประมาณส่วนนี้ ได้แก่ โครงการประกันรายได้ โครงการชดเชยดอกเบี้ยสินเชื่อธนาคารรัฐตามนโยบายรัฐบาล เป็นต้น และคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้กพหนดอัตรายอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดใช้ค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้
ในการดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 28 ต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต่อมาต้องมีการขยายอัตราเป็นร้อยละ 35 และ ณ วันที่ 11 มีนาคม 2565 ยอดคงค้าง ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1,060,940.4 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 34.2
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียดข้อมูลยอดคงค้างต่อสาธารณะ เนื่องจากพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ไม่ได้ระบุว่าต้องเปิดเผย แต่ได้ระบุไว้ในรายงานความเสี่ยงทางการคลัง ซึ่งไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณจึงขอให้กระทรวงการคลังควรมีนโยบายในการเปิดเผยข้อมูลยอดคงค้างรวมทั้งหมดของภาระที่รัฐต้องรับชดใช้ค่าใช้จ่ายหรือสูญเสียรายได้ตามมาตรา 28 ซึ่งในส่วนนี้เป็นความเสี่ยงทางการคลังที่ควรจะเปิดเผย
@ส่งเสริมประชาชนมีส่วนร่วม-‘หัวหน้าส่วนราชการ’ ต้องมาชี้แจงงบฯเอง
9.กระบวนการพิจารณางบประมาณต้องเปิดเผย โปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯควรได้รับข้อมูลจากหน่วยงานก่อนการประชุมพิจารณางบประมาณ
ความโปร่งใสในการพิจารณางบประมาณ เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกฝ่าย ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน นอกจากนี้ หน่วยงานราชการควรมีโอกาสชี้แจงเหตุผลในการขอรับจัดสรรงบประมาณต่อฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาได้ทำหน้าที่ในการพิทักษ์ภาษีอากรของประเทศ
นอกจากนี้ กระบวนการพิจารณางบประมาณที่โปร่งใส ยังเป็นส่วนสำคัญของการสร้างรัฐที่เปิดเผย (Open Government) โดยการพิจารณางบประมาณในปีถัดๆ ไป จึงควรมีการดำเนินการเพื่อเพิ่มความโปร่งใส โดยหน่วยงานควรเปิดเผยเอกสารงบประมาณและเอกสารที่ใช้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ พร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องผ่านทางเว็บไซต์ของหน่วยงาน ในรูปแบบที่เรียกว่า Machine Readable
เช่น ไฟล์รูปแบบ CSV เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำไปวิเคราะห์ตรวจสอบสืบค้นข้อมูลได้อย่างเปิดเผย และควรจัดส่งเอกสารการชี้แจงให้คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ก่อนวันประชุม เพื่อให้กรรมาธิการมีเวลาในการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลของหน่วยงาน ซึ่งจะทำให้การพิจารณางบประมาณมีความรอบคอบ โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
10 หัวหน้าหน่วยรับงบประมาณควรบริหารจัดการเวลาเพื่อให้สามารถเข้าชี้แจงได้ตามปฏิทินงบประมาณด้วยตัวเอง
“งบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน” ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐบาลที่จะทำให้การบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่คณะรัฐมนตรีได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา สามารถบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายได้ ดังนั้น งบประมาณรายจ่ายประจ่าปี จึงมีความสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนประเทศในแต่ละปี
โดยในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาจะมีกรอบระยะเวลาที่แน่นอน ตามความในมาตรา 143 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร
ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้น ไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา
ทั้งนี้ จากความสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ จึงได้มีมติร่วมกันที่จะให้เฉพาะ “หัวหน้าหน่วยงาน” เท่านั้น ที่จะสามารถเข้าชี้แจงงบประมาณของหน่วยงานต่อคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ได้
แต่ในทางปฏิบัติมีหัวหน้าหน่วยงานบางหน่วยงาน ติดภารกิจทางราชการหรือภารกิจส่วนตัว จนไม่สามารถเข้าร่วมชี้แจงได้ หรือต้องขอเลื่อนการพิจารณาออกไปอย่างกะทันหัน ซึ่งการขอเปลี่ยนแปลงเวลาการเข้าชี้แจงงบประมาณของหัวหน้าหน่วยงานดังกล่าว ได้ส่งผลกระทบต่อแผนการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ และความพร้อมของหน่วยงานที่ต้องเข้าชี้แจงแทนอย่างกะทันหันด้วย
จากกรณีดังกล่าว ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ของกรรมาธิการแต่ละท่านซึ่งมีการเตรียมข้อมูลไว้ล่วงหน้าเพื่อสอบถามหรือเสนอแนะหน่วยงานตามที่ได้นัดหมายเอาไว้ ไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งทำให้การพิจารณางบประมาณของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ไม่มีประสิทธิภาพและมีความยากลำบากอย่างมาก
ด้วยเหตุนี้ ในการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจ่าปีในปีต่อๆ ไป หัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งรับทราบช่วงเวลาการเข้าชี้แจงงบประมาณตามปฏิทินงบประมาณอยู่แล้ว ไม่ควรจะเดินทางไปราชการในช่วงเวลาดังกล่าว และไม่ควรติดภารกิจในช่วงที่มีการพิจารณางบประมาณ ในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้
@เสนอส่ง‘ร่างพ.ร.บ.งบ’ เร็วขึ้น-แนะจัดสรรงบลงพื้นที่ต้อง ‘โปร่งใส-เป็นธรรม’
11. รัฐบาลควรส่งร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ....มาที่สภาผู้แทนราษฎรให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 143 ได้กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 105 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมาถึงสภาผู้แทนราษฎร
ถ้าสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินั้นไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลา ให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบกับร่างพระราชบัญญัตินั้น และให้เสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต่อวุฒิสภาเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่ให้ความเห็นชอบภายใน 20 วัน นับแต่วันที่ร่างพระราชบัญญัตินั้นมาถึงวุฒิสภา
อย่างไรก็ตาม ในข้อกำหนด 105 วันดังกล่าว จะมีการเริ่มนับทันทีที่นายกรัฐมนตรีมีหนังสือมาถึงสภาผู้แทนราษฎร
ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพสูงสุด สำนักงบประมาณและหน่วยรับงบประมาณควรส่งเอกสารงบประมาณและเอกสารประกอบการชี้แจงทั้งหมดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พร้อมทั้งเผยแพร่เอกสารดังกล่าวต่อสาธารณะให้สามารถตรวจสอบให้เร็วขึ้นกว่าเดิม
12.การจัดสรรและการกระจายงบประมาณโครงการต่างๆไปในแต่ละจังหวัดหรือแต่ละพื้นที่ต้องโปร่งใส เป็นธรรม ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาของประชาชน
ในการจัดสรรงบประมาณด้านใดก็ตาม “ความเป็นธรรม” ในการจัดสรรและกระจายงบประมาณไปตามจังหวัดต่าง ๆ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโครงการที่มีการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมาก และเป็นความต้องการของหลายพื้นที่ทั่วประเทศ เช่น แหล่งน้ำ ถนน โรงพยาบาล
“ความเป็นธรรม” ไม่ได้หมายความว่างบประมาณส่าหรับโครงการทุกประเภท จะต้องมีปริมาณที่เท่ากันในทุกจังหวัดทุกพื้นที่ หากบางจังหวัดหรือบางพื้นที่มีสภาพปัญหาและความจำเป็นที่สูงกว่าพื้นที่อื่นๆ เช่น บางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงเรื่องสภาวะภัยแล้งอาจมีความจำเป็นเรื่องแหล่งทรัพยากรน้ำมากกว่าพื้นที่ที่ไม่มีความเสี่ยงเรื่องสภาวะภัยแล้ง
แต่เพื่อความเป็นธรรม การกำหนดหลักเกณฑ์ในการประเมินว่า งบประมาณควรถูกจัดสรรให้กับโครงการในจังหวัดใด จำเป็นต้องยึดอยู่บนพื้นฐานของความโปร่งใส ความเป็นธรรม ตอบโจทย์การแก้ปัญหาของประชาชน
ดังนั้น หน่วยงานจึงควรชี้แจงและเปิดเผยหลักเกณฑ์ในการจัดสรรและอนุมัติโครงการ เพื่อให้ประชาชนมั่นใจว่าหน่วยงานได้พิจารณาจัดสรรงบประมาณอย่างเป็นธรรมบนพื้นฐานของความเร่งด่วนของโครงการและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ มิใช่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของดุลยพินิจหรือผลประโยชน์ของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด
ทั้งนี้ การกระจายอำนาจให้แต่ละจังหวัดและคนในพื้นที่ มีอ่านาจในการตัดสินใจด้วยตนเองว่าจะใช้งบประมาณไปกับโครงการใดเป็นอีกหนทางหนึ่ง ที่จะทำให้งบประมาณถูกใช้อย่างตรงจุดมากขึ้น โดยลดดุลพินิจจากหน่วยงานในราชการส่วนกลาง
@การประเมินประสิทธิภาพการใช้ ‘งบประมาณ’ ต้องมุ่งเน้น ‘ผลลัพธ์’
13.การประเมินตัวชี้วัดประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของหน่วยงานต้องมุ่งเน้นผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ (Outcomes) มากกว่าผลผลิต (Output) หรือปัจจัยนำเข้า (Input)
ตัวชี้วัดของหน่วยงานและโครงการ นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการกำหนดทิศทางที่ถูกต้องให้กับหน่วยงาน และในการประเมินประสิทธิภาพการใช้งบประมาณของแต่ละหน่วยงาน
ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ตัวชี้วัดในการประเมินหน่วยงานและโครงการ จึงควรมีความสอดคล้องกับพันธกิจของหน่วยงาน และวัตถุประสงค์ของโครงการ รวมทั้งควรมุ่งเน้นการวัดที่ผลลัพธ์หรือผลสัมฤทธิ์ (Outcomes) ซึ่งเป็นการวัดว่า “ดำเนินการแล้ว ได้ผลอย่างไร” มากกว่าการวัดที่ผลผลิต (Output) ซึ่งเป็นการวัดว่า “ดำเนินการเสร็จแล้วจำนวนเท่าใด” หรือ วัดที่ปัจจัยนำเข้า (Input) ซึ่งเป็นการวัดว่า “ดำเนินอะไรไปแล้ว”
14.สำนักงบประมาณควรวางแนวทางการขอรับจัดสรรงบประมาณรายการครุภัณฑ์นอกบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ให้มีมาตรฐานและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
หน่วยรับงบประมาณ ควรพิจารณาตรวจสอบการขอรับการจัดสรรงบประมาณรายการครุภัณฑ์นอกบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์ให้ถูกต้อง โดยควรมีรายละเอียดคุณลักษณะเฉพาะของครุภัณฑ์ ข้อมูลใบเสนอราคาในแต่ละรายการของทุกบริษัทอย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปอย่างรอบคอบ
อย่างไรก็ดี หน่วยรับงบประมาณควรพิจารณาจัดหาครุภัณฑ์ในบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์เป็นลำดับแรก เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ
นอกจากนี้ สำนักงบประมาณ ควรมีข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้เพื่อใช้เป็นหลักเกณฑ์ในการตรวจสอบรายการครุภัณฑ์ที่อยู่นอกบัญชีราคามาตรฐานครุภัณฑ์นอกเหนือจากการพิจารณาจากใบเสนอราคาที่หน่วยรับงบประมาณน่ามาเสนอและร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาจัดทำมาตรฐานรายการครุภัณฑ์รวมถึงสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นจากที่มีอยู่เดิม เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณมีแนวทางการจัดท่าค่าขอที่มีมาตรฐาน และเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
@‘วุฒิสภาฯ’ ชี้สัดส่วน ‘รายจ่ายประจำ’ยังสูง-เสนอปรับโครงสร้างบริหารภาครัฐ
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจ าปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 วุฒิสภา เช่น
-สัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำต่อกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปียังคงมีอัตราสูง
ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 งบประมาณรายจ่ายประจำคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 75.3 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี โดยงบประมาณรายจ่ายประจำมีจำนวน 2,396,942 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 2,373,009 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 23,932.7 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาโครงสร้างงบประมาณย้อนหลัง 15 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552-2566) พบว่า สัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายประจำต่อกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีอัตราสูงมากกว่าร้อยละ 70 โดยมีค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปี อยู่ที่ร้อยละ 76.8
-วงเงินงบประมาณรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อน ในขณะที่สัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายลงทุนต่อกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปียังคงใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐ
ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 รายจ่ายลงทุนอยู่ที่จำนวน 695,077.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน ที่มีจำนวน 611,933.4 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 83,144 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.6 ในขณะที่สัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายลงทุนต่อกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 อยู่ที่ร้อยละ 21.8 ซึ่งยังคงมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาโครงสร้างงบประมาณย้อนหลัง 15 ปี (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552-2566) พบว่า สัดส่วนของงบประมาณรายจ่ายลงทุนต่อกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 19.4
และเมื่อพิจารณารายจ่ายลงทุนจำนวน 695,077.4 ล้านบาท พบว่ายังคงมีจำนวนไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี พ.ศ.2566 ที่มีจำนวน 695,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามกรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561
นอกจากนี้ ยังเห็นได้ชัดเจนว่า สัดส่วนของรายจ่ายลงทุนต่อกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปียังคงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนของรายจ่ายประจำต่อกรอบวงเงินงบประมาณ รายจ่ายประจำปีที่มีสัดส่วนอยู่ในระดับที่สูงมากกว่าร้อยละ 70 อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น ควรปรับโครงสร้างการบริหารภาครัฐ โดยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรควบคู่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดรายจ่ายประจำ ในขณะเดียวกันต้องเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ภาครัฐให้สูงขึ้น
@เผยปีงบ 66 ภาระผูกพันข้ามปีแตะ 1.09 ล้านล.-ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรพุ่ง
-ภาระอื่นที่มีข้อผูกพันตามกฎหมาย
ภาระอื่นที่มีข้อผูกพันตามกฎหมายเป็นข้อสังเกตเดิมที่เคยเสนอในปีก่อนที่ขอนำมาเป็นข้อสังเกตอีกครั้งในช่วงที่ประเทศไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเห็นว่า ภาระผูกพันดังกล่าวเป็นข้อจำกัดในการจัดทำงบประมาณในอนาคต
ประการแรก คือ ปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ภาระผูกพันข้ามปีงบประมาณทั้งสิ้นสูงถึง 1,095,654.4 ล้านบาท จำแนกเป็น เงินงบประมาณ 1,049,816.5 ล้านบาท เงินนอกงบประมาณ 32,848.6 ล้านบาท และเงินสำรองเผื่อเหลือเผื่อขาด 12,989.3 ล้านบาท
ทั้งนี้ พบว่าภาระผูกพันข้ามปีงบประมาณทั้งสิ้น โดยส่วนมากเป็นภาระผูกพันงบประมาณที่ได้รับอนุมัติแล้วก่อนปีงบประมาณ พ.ศ.2566 จำนวนสูงถึง 873,001.3 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 79.7 ของภาระผูกพันข้ามปีงบประมาณทั้งสิ้น และอีกร้อยละ 20.3 ของภาระผูกพันข้ามปีงบประมาณทั้งสิ้น เป็นภาระผูกพันงบประมาณรายการใหม่ที่เริ่มในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ซึ่งมีจำนวน 222,653.1 ล้านบาท
ประการที่สอง คือ ภาระผูกพันจากการดำเนินนโยบายโครงการรัฐ (Quasi-fiscal Policy) ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 มีจำนวน 953,378 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.01 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2564 แม้ว่าจะอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังของรัฐที่กำหนดให้ไม่เกินร้อยละ 30 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี
แต่ทั้งนี้ ภาระดังกล่าวถือเป็นภาระผูกพันที่รัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณ เพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้จากการดำเนินโครงการรัฐให้หน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินโครงการตามนโยบายรัฐ
-การควบคุม/ลดค่าใช้จ่ายในส่วนของรายจ่ายประจำ (งบบุคลากร/งบดำเนินงาน/งบอื่น ๆ) เพื่อไม่ให้เป็นภาระกับรัฐบาลในภาพรวมและนำไปสู่การลดการขาดดุลงบประมาณ โดยเฉพาะการควบคุมค่าใช้จ่ายบุคลากร
ตามที่สถานภาพกำลังคนภาครัฐในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น ความต้องการเพิ่มอัตรากำลังของส่วนราชการเพื่อรองรับภารกิจสำคัญเร่งด่วนตามนโยบายรัฐบาล จึงส่งผลให้เกิดการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ตามกฎหมายหลายหน่วยงานและมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มสูงขึ้น
ในการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากร สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ได้จัดทำข้อเสนอในการบริหารอัตราก าลังภาครัฐ โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักงบประมาณ ในการควบคุมอัตรากำลังบุคลากรและงบประมาณด้านบุคลากรอย่างบูรณาการ
โดยให้มีการทบทวนบทบาทภารกิจ โครงสร้างองค์กรและกรอบอัตรากำลังที่เหมาะสมกับสถานการณ์ที่แปรเปลี่ยน โอนงานบางประเภทให้เอกชนดำเนินการ รวมทั้งเน้นการใช้รูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายเพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรในระยะยาว
@‘หน่วยงานรัฐ’ บางส่วน ใช้จ่ายงบที่ไม่เกิดประโยชน์กับประชาชน
ข้อเสนอแนะในการจัดทำงบประมาณในห้วงเวลาต่อไป ประกอบด้วย 11 ประเด็น ได้แก่
1.การใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณในภาพรวมยังขาดประสิทธิภาพ บางส่วนยังไม่สร้างประโยชน์ให้กับประชาชน
การจัดทำแผนงานของหน่วยรับงบประมาณภายใต้ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 นั้น ในภาพรวมพบว่า โครงการและกิจกรรมต่างๆที่หน่วยรับงบประมาณจัดทำ ยังคงให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายค่าบริหารงานบุคลากรและค่าใช้จ่ายประจำเป็นหลัก เช่น ค่าจ้าง ค่าวัสดุ ค่าพาหนะ ค่าอาคารสถานที่ เป็นต้น ขณะที่งบประมาณที่มุ่งเน้นการกระจายรายได้ให้กับประชาชนกลับมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
รูปแบบการใช้จ่ายจำนวนมากปรากฏในลักษณะของกิจกรรมฝึกอบรมและศึกษาดูงาน ส่งผลให้งบประมาณแผ่นดินที่รัฐบาลมุ่งหวังที่จะลงทุนผ่านโครงการและกิจกรรม เพื่อสร้างรายได้และกระตุ้นการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ (Circular Economy) ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะสร้างประโยชน์ให้กับประชาชน
นอกจากนั้น โครงการและกิจกรรมที่มีการออกแบบยังมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับที่เคยดำเนินการมาในปีก่อนหน้า ไม่มีการออกแบบบนฐานของนวัตกรรมหรือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประชาชนหรือยกระดับประสิทธิภาพของภาครัฐ ทำให้ประชาชนไม่สามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงปฏิรูปที่รัฐบาลมุ่งหวัง
ดังนั้น ข้อเสนอแนะในการจัดทำงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณในปีต่อไป มีดังนี้
(1) หน่วยรับงบประมาณ ควรจัดทำให้มีกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลและสถานการณ์ต่างๆ ที่เปิดให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและออกแบบโครงการและกิจกรรมรองรับการใช้จ่ายงบประมาณตามภารกิจของแต่ละหน่วยรับงบประมาณ
(2) สำนักงานงบประมาณ ต้องพิจารณากลั่นกรองความต้องการงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณก่อนเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่มุ่งเน้นการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อตอบสนองต่อการหมุนเวียนของงบประมาณภาครัฐในระบบเศรษฐกิจและสร้างรายได้ให้กับประชาชน
@การขับเคลื่อน ‘แผนยุทธศาสตร์-แผนงบประมาณ’ ไม่สอดคล้องกัน
2.การจัดทำและขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์และแผนงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณยังไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
ปัจจุบันการบริหารงานภาครัฐเป็นไปในลักษณะของการขับเคลื่อนงานเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Driving) ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการสร้างการเปลี่ยนแปลงของประเทศ จึงได้มีการจัดทำแผนงานในระดับต่างๆ
ประกอบด้วย แผนงานหลัก ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี พ.ศ. 2561-2570 แผนแม่บทภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติฯ และแผนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2561-2565 แผนงานลำดับรอง ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570
หน้าที่ของหน่วยรับงบประมาณในฐานะผู้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์จะต้องจัดทำแผนงานระดับกระทรวงและกรมให้มีความสอดคล้องกับแผนงานหลักและแผนงานลำดับรอง ทั้งแผนยุทธศาสตร์หน่วยงานระยะ 5 ปี แผนงบประมาณรายจ่ายประจำปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปี ในลักษณะของการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายลดหลั่นลงมา (Cascade) เพื่อนำไปสู่การบรรลุผลสัมฤทธิ์โดยรวมตามแผนงานลำดับรองและแผนงานหลักของชาติ
อย่างไรก็ตาม สภาพปัญหาและข้อจำกัดในปัจจุบันที่ทำให้หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถดำเนินการร่วมขับเคลื่อนภารกิจร่วมกันเพื่อสร้างผลสัมฤทธิ์ในภาพรวมได้มีหลายประการด้วยกัน
ดังนั้น ข้อเสนอต่อการจัดทำและขับเคลื่อนแผนงานและแผนงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณในระยะต่อไป มีดังนี้
(1) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะผู้จัดทำแผนงานลำดับรอง “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ” ต้องทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ และกำกับควบคุมการจัดทำตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายให้กับหน่วยรับงบประมาณ
(2) สำนักงบประมาณ ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบพิจารณากลั่นกรอง แผนงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ จะต้องทำหน้าที่ในการพิจารณาทบทวนและวิเคราะห์ ความสอดคล้องของลักษณะโครงการและกิจกรรม รวมทั้งตัวชี้วัดและการกำหนดเป้าหมายที่หน่วยรับงบประมาณกำหนด ว่ามีความซ้ำซ้อนและไม่สอดคล้องกับแผนงานหลักและแผนงานลำดับรองระดับชาติหรือไม่
(3) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ต้องเร่งการปรับโครงสร้างของหน่วยรับงบประมาณให้มีขนาดเล็กและกระชับ แต่มีประสิทธิภาพสูง ในกรณีที่พบว่ามีการทับซ้อนกันของอำนาจหน้าที่และภารกิจมากกว่าหนึ่งหน่วยงาน ให้มีการเสนอยกเลิกอำนาจหน้าที่และภารกิจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องน้อยกว่าออกไป
3.การจัดทำแผนงานและแผนงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณ ไม่เป็นไปตามหลักการบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานเชิงยุทธศาสตร์ (SPBBS) ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ข้อเสนอแนะที่สำคัญที่จะทำให้การบริหารงบประมาณของหน่วยรับงบประมาณเป็นไปตามหลักการบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานเชิงยุทธศาสตร์ (SPBBS) มีดังนี้
(1) หน่วยรับงบประมาณ จะต้องพิจารณำและทบทวนความสอดคล้องของแผนยุทธศาสตร์หน่วยงาน แผนงบประมาณรายจ่าย และแผนปฏิบัติราชการ ให้มีความสอดคล้องกับแผนงานระดับชาติ ทั้งวิสัยทัศน์ยุทธศาสตร์ พันธกิจ และตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ รวมทั้งทบทวนการจัดทำโครงการและกิจกรรมต่างๆ ให้มุ่งเน้นการสร้างความเปลี่ยนแปลง
(2) หน่วยรับงบประมาณ ต้องมีการทบทวนภารกิจหรือบริการสาธารณะใดที่เห็นว่าไม่มีความจำเป็นจ้างข้าราชการเพิ่มเติม อันจะเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมากให้กับภาครัฐในระยะยาว
(3) สำนักงบประมาณ ต้องมีการออกแบบกระบวนการพิจารณากลั่นกรองโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ (เช่น อาคารสถานที่) ให้มีความรัดกุมและรอบคอบจากความจำเป็นและความเหมาะสมให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น
@เสนอตั้ง ‘หน่วยงานกลาง’ ประเมินผลการใช้จ่ายงบภาครัฐ
4.การติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์การใช้จ่ายงบประมาณ
ที่ผ่านมาประเทศไทยในภาพรวมมีเพียงการประเมินผลการใช้จ่ายเงินภาครัฐที่ดำเนินการโดยสำนักงบประมาณ และการติดตามสถานภาพการดำเนินโครงการและกิจกรรมต่างๆของหน่วยรับงบประมาณว่า ได้มีการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศในห้วงระยะเวลาที่กำหนดหรือไม่
แต่ในภาพรวมการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐกลับยังไม่สามารถประเมินผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายงบประมาณแบบองค์รวมได้อย่างแท้จริง ทำให้ประเทศประชาชนไม่สามารถรับรู้และสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่และประโยชน์ที่ประชาชนได้รับ
ดังนั้น ข้อเสนอแนะเพื่อให้การประเมินผลสัมฤทธิ์และการกำหนดตัวชี้วัดการใช้จ่ายงบประมาณ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลและรัฐสภา จึงควรร่วมกันกำหนดให้มี “หน่วยงานกลาง” ซึ่งสมควรเป็นหน่วยงานที่มีอยู่แล้วและมีความเป็นอิสระ ทำหน้าที่ติดตามประเมินผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ แผนปฏิรูป และการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐ
5.การสร้างเปลี่ยนแปลงการบริหารงานภาครัฐบนฐานนวัตกรรม (Innovative Based)
ที่ผ่านมาพบว่า ในภาพรวมการพัฒนานวัตกรรมของภาครัฐมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเครื่องมือดิจิทัล (Digital Tools) โดยเฉพาะแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาหน่วยรับงบประมาณจัดทำออกมาเป็นจำนวนมาก แต่หลายแอพพลิเคชั่นมีความซ้ำซ้อนขาดการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกัน หรือไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้รับบริการส่งผลให้งบประมาณ ค่าใช้จ่ายของภาครัฐสูญ เสียไปโดยไม่เกิดประโยชน์อย่างน่าเสียดาย
ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) จะต้องเข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถในการสรรค์สร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในภาครัฐ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวม เพื่อทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด
ขณะที่รัฐบาลและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ต้องมีนโยบายปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานที่ผูกขาดการวางแผน ออกแบบ และดำเนินกิจกรรมโดยภาครัฐฝ่ายเดียวไปสู่การบริการงานภาครัฐแบบเปิดรับการมีส่วนร่วม (Open Government) ที่เปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถร่วมออกแบบ (Co-creation) ได้ เป็นต้น
@เผยภาครัฐมีรายได้เงินนอกงบ 1.7 ล้านล้านบาท แต่ส่งกลับคลังแค่ 1 แสนล.
6.การพัฒนาระบบการบริหารและตรวจสอบใช้จ่ายเงินนอกงบประมาณ
ปัจจุบันหน่วยงานที่มีรายได้เงินนอกงบประมาณ มีจำนวน 567 หน่วยงาน แต่ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีหน่วยงานที่ส่งเงินสมทบคืนคลังเพียง 187 หน่วยงาน เท่านั้น ขณะที่ในภาพรวมภาครัฐมีรายได้เงินนอกงบประมาณ ประมาณการไว้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท หรือประมาณครึ่งหนึ่งของงบประมาณ รายจ่ายประจำปี
และมีเงินนอกงบประมาณที่สมทบคืนคลังประมาณเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น จะเห็นได้ว่า เงินนอกงบประมาณซึ่งเป็นรายได้ที่หน่วยงานของรัฐจัดเก็บได้เอง มิได้ถูกนำมาใช้ในการนำเข้าสู่ระบบการการพิจารณาวางแผนการใช้จ่ายของรัฐบาลและขอความเห็นชอบจากรัฐสภา
หน่วยรับงบประมาณมีอำนาจในการบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณค่อนข้างอิสระ ขณะที่เงินในงบประมาณเริ่มไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศและแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารเงินนอกงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเพิ่มทางเลือกการบริหารงบประมาณแผ่นดินในภาพรวมที่จะสามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ของประเทศได้มากยิ่งขึ้น มีข้อเสนอแนะดังนี้
(1) รัฐบาล ควรกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณจัดทำ “แผนการบริหารจัดการเงินนอกงบประมาณ” เสนอให้คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาสามารถร่วมกันพิจารณารายละเอียดต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินในภาพรวมของประเทศมากยิ่งขึ้น
(2) สำนักงานการตรวจเงินแผ่น ซึ่งทำหน้าที่กำกับดูแลและตรวจสอบบัญชีเงินนอกงบประมาณ ต้องมีการจัดท ารายงานตรวจสอบเงินนอกงบประมาณ และรวมรวบข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึง และสามารถร่วมตรวจสอบติดตามสถานะของเงินนอกงบประมาณได้
7.การจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความรู้
เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจของประเทศและประชาชน พร้อมกับเพิ่มโอกาสในการหารายได้ให้กับประชาชนในอนาคต ภาครัฐจำเป็นต้องมีนโยบายการพัฒนาทักษะและรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัล (Digital Literacy) และด้านการเงิน (Financial Literacy) ให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เป็นต้น
@ปีงบ 66 รัฐตั้งงบรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการ 2.7 แสนล้าน
8.การตั้งเงินสำรอง เงินสมทบ และเงินชดเชยของข้าราชการ
ในระยะที่ผ่านมา รายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ตั้งงบประมาณไว้ประมาณ 270,000 ล้านบาท ทำให้ต้องตั้งงบประมาณเข้าบัญชีเงินสำรองตามนัยมาตรา 72 พระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 และที่แก้ไข เป็นจำนวนสูงประมาณ 54,000 ล้านบาท
ซึ่งเงินในส่วนนี้หากสามารถนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญ จำเป็น เร่งด่วน หรือนำไปลงทุนเพื่อการพัฒนาประเทศ จะส่งผลให้การใช้งบประมาณแผ่นดินมีความคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
จึงเห็นสมควรให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนการกำหนดสัดส่วนการตั้งงบประมาณรายจ่ายรายปีเพื่อนำเข้าบัญชีเงินสำรองทุกปี และหรือสัดส่วนของเงินสำรอง เงินกองกลาง และดอกผลของเงินดังกล่าวต่องบประมาณรายจ่ายบำเหน็จบำนาญของข้าราชการประจำปีเท่าที่จำเป็น
9.การให้ความสำคัญกับวินัยทางการเงินการคลังของรัฐ
การขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล ควรให้ความสำคัญกับวินัยการเงินการคลัง โดยคำนึงถึงการดำเนินนโยบายว่าด้วยวินัยทางการคลัง (Fiscal Discipline) ตามความหมายอย่างกว้างที่มุ่งเน้นการลดการขาดดุลทางการคลัง (Fiscal Deficit) เพื่อให้ฐานะทางการคลังมีความมั่นคงมากขึ้น แรงกดดันเงินเฟ้อลดลง และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยลง
รัฐบาลจึงควรแถลงนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการในการดูแลนโยบายการคลังให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น เช่น การดำเนินนโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ การดูแลระดับการขาดดุลทางการคลัง
การกำหนดเป้าหมายและแนวทางการขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) การลดสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ เป็นต้น รวมทั้งรัฐต้องหาทางเพิ่มรายได้และการจัดเก็บของภาครัฐ และมุ่งลดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคม
@เสนอทบทวนรายจ่าย ‘งบอุดหนุน’-พบปีงบ 66 รายจ่าย 1.12 ล้านล้าน
10.การทบทวนการจัดลำดับความสำคัญของรายจ่ายของรัฐ
การจัดสรรงบประมาณตามงบรายจ่าย พบว่ารายจ่ายที่เป็นงบเงินอุดหนุน ซึ่งเป็นรายจ่ายที่เป็นค่าบำรุงหรือเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนการดำเนินงานหน่วยงานขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งมิใช่ราชการส่วนกลางตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงานในกำกับของรัฐ องค์การมหาชน รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สภาตำบล องค์การระหว่างประเทศ นิติบุคคล เอกชน หรือกิจการอันเป็นสาธารณประโยชน์
ในปีงบประมาณ พ.ศ.2566 มีจำนวน 1,122,946.5 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่องบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ตั้งไว้ร้อยละ 35.3 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ.2565 ร้อยละ 5.0
ทั้งนี้ การจัดตั้งหน่วยงานบางแห่งที่ได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่อาจสะท้อนถึงการขาดประสิทธิภาพในการด าเนินการ และยังเป็นการบิดเบือนการได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) กรณีดังกล่าวจึงเห็นควรให้มีการพิจารณาถึงแนวทางการยกเลิกหรือลดการให้เงินอุดหนุน (Subsidy) ที่อาจสะท้อนการเกื้อกูลให้เกิดความไม่มีประสิทธิภาพของการบริหารจัดการงบประมาณที่ดำรงอยู่
11.การทบทวนบทบาทและความเหมาะสมในการจัดตั้งหรือการยกเลิกองค์การมหาชน
การจัดตั้งองค์การมหาชนขึ้นไม่ต่างกับการตั้งส่วนราชการใหม่ที่ต้องมีอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งน่าจะสวนทางกับความพยายามจำกัดงบดำเนินงานและงบบุคลากรให้อยู่ในกรอบที่เหมาะสม
ดังนั้น จึงควรพิจารณาอย่างรอบครอบทุกด้าน ว่าสมควรตั้งองค์การมหาชนเพิ่มขึ้นหรือไม่ อย่างไร และพิจารณาว่าองค์การมหาชนใดที่ปฏิบัติงานตามกฎหมายที่จัดตั้งแล้วเสร็จหรือที่มีภารกิจซ้ำซ้อนกับส่วนราชการแล้ว ควรพิจารณาเสนอยุบเลิกหรือยกเลิกเสีย
เหล่านี้เป็นข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 ของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา และถือ 1 ใน 5 แนวทางที่หน่วยรับงบประมาณและสำนักงบประมาณ จะต้องนำมาพิจารณาตามแนวทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปีงบ 2567 ต่อไป
อ่านประกอบ :
รัฐเทงบปี 66 จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 2 แสนล.-ก่อหนี้ใหม่ 1.15 แสนล้าน บริหารค่า Ft-ตรึงดีเซล
ก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้าน! ครม.ไฟเขียว ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 66
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้'ปีงบ 65-กู้ 1 หมื่นล. เพิ่มสภาพคล่อง'กองทุนน้ำมันฯ'
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้ฯ’ ปีงบ 65 เพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่ 2.07 หมื่นล้าน
ปี 2564 : ปีแห่งการก่อหนี้ 'ภาครัฐ-ครัวเรือน'
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน