ครม.อนุมัติแผนบริหารหนี้ฯปีงบ 65 เผย ‘ก่อหนี้ใหม่’ 1.34 ล้านล้านบาท ใช้ ‘ชดเชยขาดดุล-กู้เงินพ.ร.ก.โควิด-ลงทุน’ คาดดันหนี้สาธารณะแตะ 62.69% ของจีดีพี ไฟเขียว 'รฟท.' กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 1.43 หมื่นล้าน
........................
เมื่อวันที่ 28 ก.ย. น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2565 ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งประกอบด้วย 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงินรวม 1,344,783.84 ล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงินรวม 1,505,369.64 ล้านบาท และ 3.แผนการชำระหนี้ วงเงินรวม 339,291.87 ล้านบาท
สำหรับแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบ 2565 เป็นกรอบในการกู้เงินสำหรับรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ในการกู้เงิน ประกอบด้วย 1.การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 2.การกู้เงินเพื่อดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตามมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลงบประมาณรายจ่ายประจำปี
3.การกู้เงินภายใต้แผนงานตาม พ.ร.ก. กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 4.การกู้เงินเพื่อการลงทุนในโครงการต่าง ๆ อาทิเช่น โครงการรถไฟทางคู่ โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โครงการปรับปรุงระบบส่งไฟฟ้า เป็นต้น 5.การกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องของรัฐวิสาหกิจ และ6.การกู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้และการชำระหนี้ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ
น.ส.รัชดา กล่าวว่า การอนุมัติแผนการบริหารหนี้สาธารณะฯดังกล่าว คาดว่าจะทำให้หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนก.ย.2565 จะอยู่ที่ 62.69% ต่อจีดีพี ซึ่งไม่เกิน 70% ตามกรอบการบริหารหนี้สาธารณะกรอบใหม่ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงการคลังคาดว่า การลงทุนในแผนงานโครงการต่างๆ ตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะจะทำให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อรองรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายหลังจากที่สถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลาย
ขณะที่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) กู้เงินเพื่อบรรเทาการขาดสภาพคล่องในปีงบประมาณ 2565 วงเงิน 13,500 ล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น (วงเงินกู้เบิกเกินบัญชี) วงเงิน 800 ล้านบาท โดยให้ดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินด้วยวิธีขอเจรจาต่ออายุสัญญากู้เงิน ตามความเห็นของกระทรวงการคลัง โดยให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน
นอกจากนี้ ครม.มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินกู้เงินระยะสั้น (Credit Line) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 5,000 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อให้ กฟภ. สามารถบริหารสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมหากมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนเพิ่มเติม ในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน
ทั้งนี้ การดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นประมาณ 22,815.30 ล้านบาท ส่งผลให้ กฟภ. มีแนวโน้มขาดสภาพคล่องจากการที่ไม่สามารถติดตามจัดเก็บค่าไฟฟ้าได้ และจากประมาณการเงินสดประจำปี 2563-2565 ในช่วงเดือน มิ.ย.-ธ.ค.2564 พบว่า กฟภ.มีความต้องการเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 5,325.16-7,946.44 ล้านบาท
ณ วันที่ 30 ก.ย.2563 กฟภ.มีลูกหนี้ค่าไฟฟ้าค้างสะสม 42,427.59 ล้านบาท แยกเป็นส่วนราชการ 4,411.64 ล้านบาท ,เอกชนรายใหญ่ 25,230.99 ล้านบาท และเอกชนรายย่อย 12,784.96 ล้านบาท
อ่านประกอบ :
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน
ครม.ไฟเขียว 'แผนบริหารหนี้สาธารณะ' กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน รับมือโควิด
โชว์กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 64 ยอดพุ่ง 7.5 แสนล้าน! หนี้สาธารณะใกล้ทะลุ 60%
'บิ๊กตู่'สั่งรัฐมนตรีเตรียมพร้อมอภิปรายงบปี 65 เน้นสร้างการรับรู้มากกว่าตอบโต้
เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?
ชำแหละงบปี 65 ! ‘งบกองทัพ’ สำคัญกว่า เงินอุดหนุน ‘เด็กเล็ก’ ถ้วนหน้า?
เปิดงบปี 65 หั่น ‘รายจ่ายฉุกเฉินฯ’ โปะ ‘เบี้ยหวัด-บำนาญ’-ตัดงบกลาโหม 5.24%
กู้ชดเชยขาดดุลฯพุ่งแซง ‘งบลงทุน’! ครม.เคาะรายละเอียดงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/