เปิดใส้ใน ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ พบรัฐเทงบประมาณปี 66 จ่ายเฉพาะ ‘ค่าดอกเบี้ย-ค่าธรรมเนียม’ กว่า 2.06 แสนล้านบาท ก่อหนี้ใหม่ 1.15 แสนล้านบาท บริหารค่า Ft-ตรึงราคา ‘ดีเซล’
.........................................
จากกรณีที่เมื่อวันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 ซึ่งประกอบด้วย 1.แผนการก่อหนี้ใหม่ วงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท 2.แผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท และ 3.แผนการชำระหนี้ วงเงิน 360,179.68 ล้านบาท นั้น (อ่านประกอบ : ก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้าน! ครม.ไฟเขียว ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 66)
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า เมื่อพิจารณารายละเอียดของแผนการชำระหนี้ ซึ่งมีวงเงินรวม 360,179.68 ล้านบาท พบว่า ภายใต้แผนการชำระหนี้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานภาครัฐ จากงบประมาณประจำปีงบ 2566 ที่มีวงเงิน 306,617.96 ล้านบาท นั้น มีการกำหนดวงเงินที่ต้องนำไปชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมของหนี้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานภาครัฐ เป็นวงเงินรวม 206,617.96 ล้านบาท
โดยส่วนใหญ่ หรือ 190,059.18 ล้านบาท เป็นการชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม สำหรับหนี้ในประเทศของรัฐบาล ในขณะที่วงเงินเพื่อชำระหนี้เงินต้นของหนี้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และหนี้หน่วยงานภาครัฐ มีวงเงินอยู่ที่ 100,000 ล้านบาท
ส่วนแผนการชำระเงินจากแหล่งอื่นๆ ซึ่งวงเงิน 53,561.72 ล้านบาท นั้น พบว่า มีการกำหนดวงเงินเพื่อชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมในส่วนหนี้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ) วงเงิน 20,014 ล้านบาท และชำระเงินต้นของกองทุนฟื้นฟูฯ 2,000 ล้านบาท ส่วนหนี้รัฐวิสาหกิจ กำหนดวงเงินเพื่อชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 6,881.01 ล้านบาท และชำระเงินต้นฯ 24,666.71 ล้านบาท
สำหรับแผนก่อหนี้ใหม่ ซึ่งมีกรอบวงเงิน 1,052,785.47 ล้านบาท นั้น เมื่อพิจารณารายละเอียด พบว่าส่วนใหญ่เป็นเงินที่รัฐบาลกู้เงินมาใช้โดยตรง โดยมีวงเงินรวมอยู่ที่ 728,585.19 ล้านบาท ประกอบด้วย เงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล ประจำปีงบ 2566 วงเงิน 695,000 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 22 และ 23 ของ พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะฯ วงเงิน 33,585.19 ล้านบาท
ขณะที่เงินที่รัฐบาลกู้มาให้กู้ต่อ วงเงินรวม 46,180 ล้านบาท ประกอบด้วย
1.การกู้เงินเพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กู้ต่อ 17,700 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ 2 โครงการ คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก)
2.การกู้เงินเพื่อให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กู้ต่อ วงเงิน 28,480 ล้านบาท เพื่อดำเนินการ 6 โครงการ เช่น โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา, โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกระเบา-ชุมทางถนนจิระ, โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร, โครงการรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ และโครงการรถไฟทางคู่ สายบ้านไผ่-มหาสารคาม-ร้อยเอ็ด-มุกดาหาร-นครพนม
และ 3.รัฐบาลกู้มาเพื่อบริหารสภาพคล่องเงินคงเงิน วงเงิน 45,000 ล้านบาท
ขณะที่แผนการก่อหนี้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ (หนี้ในประเทศ) มีวงเงินรวม 202,520.28 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนเงินกู้เพื่อลงทุนโครงการพัฒนาของรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง วงเงิน 68,433.37 ล้านบาท
ส่วนแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไปของรัฐวิสาหกิจ 13 แห่ง วงเงิน 134,086.91 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแผนเงินกู้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) 8.5 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ในการบริหารภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (FT) ของ กฟผ. (อ่านประกอบ : สภาพคล่องลดต่อเนื่อง! ครม.ไฟเขียว ‘กฟผ.’ กู้เงิน 8.5 หมื่นล้าน บริหารค่าไฟฟ้า)
นอกจากนี้ ในส่วนแผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานของรัฐอื่น (หนี้ในประเทศ) ซึ่งมีวงเงิน 30,500 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนการก่อหนี้ใหม่ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) วงเงิน 30,000 ล้านบาท สำหรับใช้ตรึงราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล และแผนกู้เงินของสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) วงเงิน 500 ล้านบาท
สำหรับแผนการบริหารหนี้เดิม วงเงิน 1,735,962.93 ล้านบาท ประกอบด้วย แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐบาล วงเงิน 1,589,973.34 ล้านบาท ,แผนการบริหารหนี้เดิมของรัฐวิสาหกิจ 145,989.59 ล้านบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ส.ค.2565 หนี้สาธารณะคงค้างของไทยอยู่ที่ 10,311,731.51 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.72% ต่อจีดีพี ขณะที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2566 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นปีงบ 2566 จะอยู่ที่ 60.43% ต่อจีดีพี ซึ่งยังอยู่ใต้กรอบในการบริหารหนี้สาธารณะตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังที่ 70% ต่อจีดีพี
อ่านประกอบ :
ก่อหนี้ใหม่ 1.05 ล้านล้าน! ครม.ไฟเขียว ‘แผนบริหารหนี้สาธารณะ’ ปีงบ 66
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง‘แผนบริหารหนี้'ปีงบ 65-กู้ 1 หมื่นล. เพิ่มสภาพคล่อง'กองทุนน้ำมันฯ'
ครม.ไฟเขียวปรับปรุง ‘แผนบริหารหนี้ฯ’ ปีงบ 65 เพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่ 2.07 หมื่นล้าน
ปี 2564 : ปีแห่งการก่อหนี้ 'ภาครัฐ-ครัวเรือน'
ครม.เคาะแผนบริหารหนี้ฯ ปี 65 กู้ใหม่ 1.34 ล้านล้าน-หนี้สาธารณะแตะ 62.69% ต่อจีดีพี
ไม่เป็นอุปสรรคกู้เงิน! ‘บิ๊กตู่’ ทุบโต๊ะขยับเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของจีดีพี
เข็นจีดีพีโต-เร่งหารายได้! โจทย์รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ จ่อทะลุเพดาน