“…สมบัติเก่าเรายังมี แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะกู้เงินมาใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉกได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดวิกฤติขึ้นมาอีก ภาครัฐต้องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้สะสมอะไรไว้เลย เรามีการก่อหนี้มากกว่าการหารายได้เข้ามา…”
..........................
เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของงบประมาณปี 2564 แล้ว
แต่สถานการณ์การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลยังคง ‘ต่ำเป้า’ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) รายงานผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบ 2564 (ต.ค.63-ก.ค.64) ว่า รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 1.917 ล้านล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 216,878 ล้านบาท
อีกทั้งมีความเป็นไปได้สูงว่า การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีงบ 2564 (ส.ค.-ก.ย.2564) ยังคงต่ำเป้าต่อเนื่อง เพราะทั้งเดือน ส.ค. รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์พื้นที่สีแดงเข้ม 29 จังหวัด ซึ่งมีมูลค่าเศรษฐกิจคิดเป็น 77% ของจีดีพีประเทศ ส่วนเดือน ก.ย. แม้มีการผ่อนคลายมาตรการบ้าง แต่อาจช่วยไม่ได้มาก
“การเปิดเมือง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องการผ่อนคลายให้ธุรกิจกลับมาทำกิจกรรมได้ แต่ในแง่การจับจ่ายใช้สอยนั้น ต่อให้เปิดเมือง ก็ต้องดูว่าความเชื่อมั่นของประชาชนจะกลับมามากน้อยเพียงใด” ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าว
อย่างไรก็ดี การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่มีแนวโน้ม ‘ต่ำกว่า’ ที่เคยประเมินไว้ อาจทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบ 2564 เป็นครั้งที่ 4 ในเร็วๆนี้ โดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปีงบ 64 เพิ่มเติม เนื่องจาก ‘รายจ่ายสูงกว่ารายได้’
หลังจากเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบ 2564 ครั้งที่ 2 ซึ่งมีรายการสำคัญ คือ การเพิ่มรายการเงินกู้เพื่อรองรับกรณีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ ประจำปีงบประมาณ 2564 วงเงิน 127,430 ล้านบาท (อ่านประกอบ : โชว์กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 64 ยอดพุ่ง 7.5 แสนล้าน! หนี้สาธารณะใกล้ทะลุ 60%)
และต่อมาวันที่ 27 ก.ค. ครม.มีมติเห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบ 2564 ครั้งที่ 3 โดยเพิ่มวงเงินก่อหนี้ใหม่ 150,000 ล้านบาท เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการในการก่อหนี้ใหม่ภายใต้พ.ร.ก.กู้เงินโควิด-19 เพิ่มเติม 500,000 ล้านบาท (อ่านประกอบ : ครม.ไฟเขียว 'แผนบริหารหนี้สาธารณะ' กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน รับมือโควิด)
ผลที่ตามมา คือ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของไทย ขยับเข้าใกล้เพดาน 60% ของจีดีพีทุกที หลังจากเมื่อเร็วๆนี้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) คาดการณ์ว่า สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปีงบประมาณ 2564 (30 ก.ย.2564) จะอยู่ที่ 58.88% ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง
แต่ในที่สุดแล้ว เมื่อเริ่มต้นปีงบ 2565 (1 ต.ค.2564) หนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะทะลุ 60% ของจีดีพี เนื่องจากแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบ 2565 ซึ่งจะมีการเสนอให้ ครม.เห็นชอบนั้น จะมีการก่อหนี้ใหม่เพิ่ม โดยเฉพาะการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ ปีงบ 2565 วงเงิน 7 แสนล้านบาท
@คาดรัฐบาลเร่งหารายได้หลัง ‘หนี้สาธารณะ’ ทะลุเพดาน
“เราคาดว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 จะอยู่ 60% หรือขยับแตะเหนือ 60% นิดหน่อย ส่วนปีหน้า เราประเมินว่าหนี้สาธารณะจะอยู่ที่ 62% ของจีดีพี แต่คงไม่ใช่ประเด็นที่สถาบันจัดอันดับฯ จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของไทย” เชาว์ เก่งชน ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org)
อย่างไรก็ตาม เชาว์ บอกว่า แม้กรณีหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่อยู่เหนือ 60% ของจีดีพี จะไม่ทำให้ไทยถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ แต่สิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงคลังต้องชี้แจง คือ แนวโน้มข้างหน้าหนี้สาธารณะจะเป็นอย่างไร จะมีแนวทางในการลดการขาดดุลงบประมาณอย่างไร และมีแผนการจัดเก็บรายได้อย่างไร
“ผมคิดว่าเขาจะถามว่าจะลดการขาดดุลงบประมาณลงได้อย่างไร การขยายตัวเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า จะมีแรงขับเคลื่อนจากอะไร หรือรัฐบาลจะขยายฐานการจัดเก็บภาษีจากอะไร แล้วดูว่าคำตอบนั้นจะทำให้เกิดความมั่นใจในการจัดการหนี้สาธารณะหรือไม่ ถ้าเขาฟังแล้วสบายใจ เขาคงไม่ปรับอะไร” เชาว์ ย้ำ
(เชาว์ เก่งชน)
เชาว์ ระบุด้วยว่า ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 หากรัฐบาลจะจัดเก็บรายได้ได้ต่ำกว่าเป้าก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ ส่วนปีหน้าคงต้องติดตามว่า จะมีการระบาดระลอกใหม่หรือมีการกลายพันธุ์ของไวรัสอีกหรือไม่ หากไม่มีการแพร่ระบาดอีก เศรษฐกิจจะค่อยๆฟื้นกลับมา ซึ่งปีนี้ศูนย์ฯประเมินว่าจีดีพีจะหดตัว -0.5% ส่วนปี 2565 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัว 3.7%
“ถ้าเศรษฐกิจโตได้ดีตามที่คาด รายได้ของรัฐบาลก็จะมาเอง แต่ผมมองว่าในระยะอันใกล้ รัฐบาลคงยังไม่ไปเก็บภาษีอะไรเพิ่ม” เชาว์ กล่าว
ด้าน นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้ความเห็นว่า แม้ว่าฐานะของประเทศไทยยังสามารถกู้เงินได้เกินระดับ 60% ของจีดีพี โดยที่ไม่ถูกสถาบันจัดอันดับฯปรับลดความน่าเชื่อถือ แต่รัฐบาลก็ไม่ควรกู้เงินมาใช้แบบอีลุ่ยฉุยแฉก
“สมบัติเก่าเรายังมี แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะกู้เงินมาใช้อย่างอีลุ่ยฉุยแฉกได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่เกิดวิกฤติขึ้นมาอีก ภาครัฐต้องใช้เงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในขณะที่ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เราไม่ได้สะสมอะไรไว้เลย เรามีการก่อหนี้มากกว่าการหารายได้เข้ามา” นณริฏ กล่าว
นณริฏ ประเมินว่า ในปีนี้ระดับหนี้สาธารณะของไทยน่าจะอยู่ที่ 59% ของจีดีพี แต่หากไม่รวมหนี้ของรัฐวิสาหกิจระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะลดลง 6% ส่วนปีหน้า หากรัฐบาลไม่มีการกู้เพิ่มตามข้อเสนอของเอกชนหรือ ธปท. ก็คาดว่าระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีน่าจะเกิน 60% ไม่มากนัก แต่หากมีการกู้เพิ่มสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีกระโดดขึ้น
“ผมไม่อยากให้ไปเน้นที่ตัวหนี้ หรือการก่อหนี้ แต่อยู่ที่ว่าเราก่อหนี้แล้ว เราเอาไปทำอะไร และเราต้องวางแผนว่าจะลดหนี้สาธารณะอย่างไร และจะรัฐจะสร้างรายได้ในอนาคตอย่างไรด้วย เพราะถ้าเกิดวิกฤติขึ้นมา โควิดกลับมาระบาดอีก เกิดภัยพิบัติ หรือเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ เราจะไม่มีเกราะคุ้มกัน” นณริฏ กล่าว
(นณริฏ พิศลยบุตร)
นณริฏ ระบุว่า แม้ว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน การปรับเพิ่มอัตราภาษีเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่สิ่งที่รัฐบาลทำได้ คือ การเพิ่มประเภทการจัดเก็บภาษี เช่น ที่ทำไปแล้ว คือ การเก็บภาษีอี-เซอร์วิส และธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ หรือการขยายฐานภาษี โดยการนำคนเข้ามาอยู่ในฐานภาษีให้มากขึ้น จากปัจจุบันที่มีผู้ที่อยู่ในฐานภาษีเพียง 10 ล้านรายเท่านั้น
“เราเห็นคนเสียภาษีแค่ 10 ล้านคน ทั้งๆที่ธุรกรรมรายได้รายจ่ายเกิดขึ้นตลอด เราจึงต้องบูรณาฐานข้อมูลให้เห็นรายได้ของทุกคน และในท้ายที่สุดแล้ว ทุกคนที่มีรายได้ต้องเสียภาษี ถ้าไม่เสียภาษี พอเวลาที่ได้รับผลกระทบ ก็ไปขอความช่วยเหลือจากรัฐ ซึ่งไม่ถูก รัฐไม่สามารถเสกเงินฟรีขึ้นมาได้” นณริฏ ย้ำ
ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อ และหนี้สาธารณะของประเทศที่พุ่งทะยานต่อเนื่องนั้น จะสร้างแรงกดดันให้รัฐบาลต้องหารายได้เพิ่ม หรือไม่เช่นนั้นอาจต้องกู้เงินเพิ่มอีก
จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และ ‘ขุนคลัง’อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ต้องคิดหนัก
อ่านประกอบ :
ครม.ไฟเขียว 'แผนบริหารหนี้สาธารณะ' กู้เพิ่ม 1.5 แสนล้าน รับมือโควิด
โชว์กู้ชดเชยขาดดุลงบปี 64 ยอดพุ่ง 7.5 แสนล้าน! หนี้สาธารณะใกล้ทะลุ 60%
'บิ๊กตู่'สั่งรัฐมนตรีเตรียมพร้อมอภิปรายงบปี 65 เน้นสร้างการรับรู้มากกว่าตอบโต้
เข็น พ.ร.ก.กู้เงินฯ 5 แสนล้าน ซื้อเวลารอ ‘วัคซีน’ ?
ชำแหละงบปี 65 ! ‘งบกองทัพ’ สำคัญกว่า เงินอุดหนุน ‘เด็กเล็ก’ ถ้วนหน้า?
เปิดงบปี 65 หั่น ‘รายจ่ายฉุกเฉินฯ’ โปะ ‘เบี้ยหวัด-บำนาญ’-ตัดงบกลาโหม 5.24%
กู้ชดเชยขาดดุลฯพุ่งแซง ‘งบลงทุน’! ครม.เคาะรายละเอียดงบปี 65 วงเงิน 3.1 ล้านล.
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/