‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.ค.65 ขยายตัว 7.61% จากปัจจัย ‘หมวดพลังงาน-อาหาร’ ที่มีราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่ ‘อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน’ ใกล้แตะ 3% พร้อมปรับคาดการณ์เงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีเป็นขยายตัว 5.5-6.5%
..................................
เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือน ก.ค.2565 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน ก.ค.2565 เท่ากับ 107.41 ขยายตัว 7.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัวลดลง -0.16% เมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.2565 ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 7.66% และเป็นการขยายตัวที่ชะลอตัวลงครั้งแรกรอบ 7 เดือน
สำหรับปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปใน เดือน ก.ค. ยังคงขยายตัวในระดับสูง มีสาเหตุหลักมาจากราคาหมวดพลังงาน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนน้ำหนัก 51.57% ในตะกร้าเงินเฟ้อ มีราคาเพิ่มขึ้น 33.82% ขณะที่หมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มีราคาเพิ่มขึ้น 8.02% และหมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม มีราคาเพิ่มขึ้น 7.35% แต่สาเหตุที่เงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.ค.2565 ไม่สูงกว่าเดือน มิ.ย.2565 เป็นผลมาจากการตรึงราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์
“ในเดือน มิ.ย.2565 เงินเฟ้อเราอยู่ที่ 7.66% แต่ในเดือน ก.ค.2565 เงินเฟ้อขยายตัวน้อยกว่าเดือน มิ.ย. โดยขยายตัวที่ 7.61% ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อในเดือน ก.ค. ยังคงสูงอยู่ มาจากราคาพลังงานเช่นเดียวกันเดือนที่แล้ว โดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซล ก๊าซหุงต้ม น้ำมันเตา และพลังงานต่างๆที่ไม่ได้ลดลง ส่วนที่ราคาลดลงจะเป็นกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์และเบนซิน ดังนั้น การส่งผ่านต้นทุนไปยังสินค้าขายปลีกก็ยังมีต้นทุนพลังงานสูงขึ้นอยู่
ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นด้วย เนื่องจากในภาคการท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง การส่งออกก็ดี และสินค้าเกษตรมีราคาดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็มีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงฐานที่ใช้การคำนวณเงินเฟ้อที่ใช้ตัวเลขเดือน ก.ค.2564 ซึ่งอยู่ที่ 99.81 ดังนั้น เมื่อนำตัวเลขของเดือน ก.ค.2564 และเดือน ก.ค.2565 มาคำนวณตามสูตร จึงมีผลทำให้เงินเฟ้อขยายตัวที่ 7.61%” นายรณรงค์ กล่าว
นายรณรงค์ ยังระบุว่า เมื่อพิจารณาสินค้าในหมวดอาหารพบว่า สินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น เช่น ไก่สด พริกสด ต้นหอม เครื่องประกอบอาหาร และอาหารสำเร็จรูป เป็นต้น ซึ่งราคาที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวเป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลง เช่น กลุ่มข้าว ผักและผลไม้บางชนิด อาทิ ถั่วฝักยาว มะนาว ผักคะน้า ขิง กล้วยน้ำหว้า ฝรั่ง และลองกอง เป็นต้น
ทั้งนี้ ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2565) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 5.89% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสนค.ได้ปรับประมาณการตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปี 2565 เป็นขยายตัวที่ 5.5-6.5% มีค่ากลางที่ 6% จากเดิมที่คาดว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะขยายตัวที่ 4-5% มีค่ากลางที่ 4.5% ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าเศรษฐกิจปี 2565 ขยายตัว 2.5-3.5% ,น้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 90-110 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปี 33.5-35.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ก.ค.2565 ขยายตัว 2.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในช่วง 7 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค.2565) ขยายตัว 2.01%
นายรณรงค์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อเดือน ส.ค.2565 โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวต่อเนื่อง จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญ รวมถึงสถานการณ์ โควิด-19 ที่คลี่คลาย ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมดำเนินการได้มากขึ้น นอกจากนี้ ฐานดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ส.ค.2564 อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งมีส่วนทำให้เงินเฟ้อขยายตัว
อย่างไรก็ตาม อุปสงค์โลกที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลกในหลายประเทศ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกา และความกังวลต่ออุปทานน้ำมันโลกเริ่มลดลง จะส่งผลต่อราคาน้ำมันดิบและกดดันต่อการขยายตัวของเงินเฟ้อในประเทศได้ในระยะต่อไป
“ถ้าราคาพลังงานสูงขึ้น ก็มีผลทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่ถ้าราคาพลังงานยังทรงตัวหรือลดลง อัตราเงินเฟ้อก็ไม่น่าจะเพิ่มสูงขึ้น เงินเฟ้อจึงเป็นไปได้ทั้ง 2 ทาง คือ สูงขึ้นและไม่สูงขึ้น แต่ถ้าพิจารณาในทางเทคนิค เมื่ออัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ส.ค.2564 ค่า CPI เท่ากับ 99.63 เมื่อฐานการคำนวณต่ำมาก จึงจะมีผลทำให้ตัวเลขเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.2565 เพิ่มสูงขึ้น” นายรณรงค์ กล่าวถึงแนวโน้มเงินเฟ้อในเดือน ส.ค.2565
อ่านประกอบ :
สูงขึ้นทางเทคนิค! ‘พาณิชย์’เผยเงินเฟ้อทั่วไป มิ.ย.ขยายตัว 7.66%-เงินเฟ้อพื้นฐาน 2.51%
‘พาณิชย์’ เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค. พุ่ง 7.1%-พบสินค้าขึ้นราคา 298 รายการ
'พาณิชย์'เผยเงินเฟ้อทั่วไป เม.ย.เพิ่ม 4.65% 'ก๋วยเตี๋ยว-ข้าวแกง-อาหารตามสั่ง'ขึ้นยกแผง
น้ำมันพุ่ง-อาหารแพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.เพิ่ม 5.73%-พบสินค้าขึ้นราคา 280 รายการ
สูงสุดรอบ 13 ปี! อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ. พุ่ง 5.28%-สินค้าขึ้นราคา 260 รายการ
น้ำมันแพง! ดันเงินเฟ้อ ม.ค.พุ่ง 3.23%-‘พาณิชย์’ชี้แค่‘เงินเฟ้ออ่อนๆ-ยังไม่ต้องสกัด'
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด
สูงสุดรอบ 7 เดือน!เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.โต 2.71%-'น้ำมันแพง'ดันราคาสินค้าปีหน้า‘ขาขึ้น’
บทวิเคราะห์พิเศษ: ทำไมอัตราเงินเฟ้อโลกจึงสูงต่อเนื่อง?
‘น้ำมัน-ผักสด-ข้าวราดแกง’แพงขึ้น!ดันเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.พุ่ง 2.38% สูงสุดในรอบ 5 เดือน