‘พาณิชย์’ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ธ.ค.64 ขยายตัว 2.17% เหตุราคา ‘น้ำมัน-หมู-ไข่ไก่’ แพงขึ้น มองเงินเฟ้อทั้งปี 65 ขยายตัว 0.7-2.4% พร้อมระบุราคาหมูแพงขึ้น เพราะเกิดโรคระบาด ทำให้ปริมาณสุกรในประเทศลดลง 50%
...............................
เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือน ธ.ค.2564 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ธ.ค.2564 ขยายตัว 2.17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และราคาผักสดบางชนิด เช่น มะเขือเทศ และมะเขือ ที่ปรับตัวสูงขึ้น จากสภาพอากาศที่ไม่เอื้ออำนวย
ประกอบกับราคาเนื้อสุกรปรับตัวสูงขึ้น เพราะผู้เลี้ยงสุกรลดปริมาณการเลี้ยงสุกรลง หรือจำนวนสุกรในฟาร์มลดลง เนื่องจากมีความเสี่ยงในเรื่องการบริหารจัดการและต้นทุนการเลี้ยงสุกรสูงขึ้น อันเนื่องมาจากโรคระบาดในสุกร รวมถึงการบริโภคที่ลดลงในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่ราคาไข่ไก่ปรับเพิ่มขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะค่าอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ราคาอาหารบริโภคทั้งในบ้านและนอกบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาวัตถุดิบและต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนเครื่องประกอบอาหาร โดยเฉพาะน้ำมันพืชที่ทำมาจากปาล์มน้ำมันมีราคาปรับเพิ่มขึ้น ตามต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น และราคาของใช้ส่วนตัว เช่น สบู่ถูตัว แชมพู ครีมนวดผม มีราคาเพิ่มขึ้น หลังจากสิ้นสุดการทำโปรโมชั่น เช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์นม เช่น นมถั่วเหลือง นมสด และนมเปรี้ยวที่มีราคาเพิ่มขึ้นจากการสิ้นสุดโปรโมชั่น
สำหรับสินค้าที่มีราคาลดลง เช่น ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว เนื่องจากปริมาณผลผลิตในปีนี้มีมากกว่าปีที่ผ่านมา และการส่งออกข้าวไทยชะลอตัว , ผลไม้ เพราะความต้องการยังไม่กลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะความต้องการจากนักท่องเที่ยว และค่าเช่าบ้าน ยังมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่เดือน ก.พ.2564 จนถึงปัจจุบัน เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ผู้เช่าลดลง ผู้ประกอบการจึงปรับลดค่าเช่าลงเพื่อดึงดูดผู้เช่า
นายรณรงค์ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค.2564 กับเดือนที่แล้ว (พ.ย.2564) พบว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง -0.38% เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในเดือน ธ.ค.2564 ลดลงจากเดือน พ.ย.2564 ประกอบกับ ราคาผัก ผลไม้สดบางชนิด เช่น ผักชี ผักคะน้า ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า และกล้วยหอม มีราคาลดลง เพราะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 ขยายตัว 1.23% เมื่อเทียบปี 2563 โดยมีสาเหตุหลักจากปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทั้งปี 2564 ขยายตัว 0.23% เมื่อเทียบปี 2563
นายรณรงค์ ระบุว่า สนค.ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2565 ว่า จะขยายตัวที่ 0.7-2.4% มีค่ากลาง 1.5% ภายใต้สมมติฐานที่ว่าเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3.5-4.5% ราคาน้ำมันดิบดูไบทั้งปีอยู่ที่เฉลี่ย 63-73 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีเฉลี่ยอยู่ที่ 31.5-33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะโอไมครอนนั้น ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าจะมีการติดเชื้อในประเทศมากน้อยเพียงใด แต่มั่นใจว่าไม่มีการล็อกดาวน์
“ปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจะมาจากราคาน้ำมัน และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลกระทบไปถึงราคาปิโตรเคมี เม็ดพลาสติก และสารเคมีด้วย ดังนั้น ถ้าน้ำมันยังสูงอยู่ ก็จะมีผลต่อเงินเฟ้อแน่นอน เพียงแต่ตอนนี้เทรนด์ของราคาน้ำมันไม่ได้สูงขึ้นแล้ว โดยราคาจะทรงๆอยู่ในระดับนี้ก่อนที่จะลดลง จึงคาดว่าอัตราเงินเฟ้อคงไม่เฟ้อเกินกว่า 3% แน่นอน โดยค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1.5% ตลอดทั้งปี” นายรณรงค์ กล่าว
นายรณรงค์ กล่าวถึงสถานการณ์ราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (5 ม.ค.) จะมีการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยสินค้าและบริการ ซึ่งที่ประชุมจะหารือเกี่ยวกับราคาสินค้าสุกร และมาตรการที่ชัดเจนต่อไป
อย่างไรก็ตาม การที่ราคาเนื้อหมูปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เป็นเรื่องของกลไกการผลิต โดยโรคอหิวาห์แอฟริกาในสุกรที่แพร่ระบาดเข้ามาในประเทศไทยในปีที่แล้ว ทำให้สุกรตายหรือต้องฆ่าสุกร เพราะไม่มีวัคซีน โดยฟาร์มขนาดเล็กต้องฆ่าสุกร 40-50% หรือบางแห่งต้องฆ่า 100% แต่หากเป็นฟาร์มปิดหรือฟาร์มที่มีขนาดใหญ่พบว่ามีการฆ่าสุกรไป 30% ส่งผลให้ปริมาณเนื้อหมูในภาพรวมลดลง 50% และทำให้ราคาเนื้อหมูในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายรณรงค์ ย้ำว่า ราคาเนื้อหมูที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะประเทศไทยโชคดีที่สามารถผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคได้หลากหลาย
อ่านประกอบ :
สูงสุดรอบ 7 เดือน!เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.โต 2.71%-'น้ำมันแพง'ดันราคาสินค้าปีหน้า‘ขาขึ้น’
บทวิเคราะห์พิเศษ: ทำไมอัตราเงินเฟ้อโลกจึงสูงต่อเนื่อง?
‘น้ำมัน-ผักสด-ข้าวราดแกง’แพงขึ้น!ดันเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.พุ่ง 2.38% สูงสุดในรอบ 5 เดือน
เพิ่มขึ้นเดือนที่ 4! ‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.ค. ขยายตัว 0.45%
‘น้ำมัน-หมู-ไข่ไก่’ขึ้นราคา! เงินเฟ้อทั่วไป มิ.ย.ขยายตัว 1.25% เพิ่มเป็นเดือนที่ 3
เงินเฟ้อทั่วไป เม.ย.พุ่ง 3.41% สูงสุดรอบ 8 ปี 4 เดือน-ห่วงโควิดทำเศรษฐกิจสะดุด
เงินเฟ้อทั่วไปมี.ค.ลบ 0.08% หดน้อยสุดรอบ 13 เดือน-รัฐเผยเก็บรายได้ลด 14.7%
รัฐช่วยค่าไฟฟ้า-ประปา! ฉุดเงินเฟ้อทั่วไปก.พ.ลบ 1.17% หดต่อเป็นเดือนที่ 12
คุมโควิดระบาด-ท่องเที่ยวหด! ฉุดจับจ่ายชะลอตัว- เผยเงินเฟ้อ ม.ค.ลบ 0.34%
4 ปัจจัยกระทบกำลังซื้อ! ‘พาณิชย์’ คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 ขยายตัว 0.7-1.7%
อานิสงส์'คนละครึ่ง-ประกันรายได้'! เงินเฟ้อพ.ย.หดน้อยสุดรอบ 9 เดือน-แนะรัฐเข็นเมกะโปรเจกต์