สนค.เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย. ขยายตัว 2.71% สูงสุดในรอบ 7 เดือน คาดปีนี้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 0.8-1.2% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเติบโต 0.7-2.4% มองราคาสินค้า ‘ขาขึ้น’ หลังราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง จับตา ‘โอไมครอน’ ระบาด
..............................
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือน พ.ย.2564 ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ย.2564 ขยายตัว 2.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 7 เดือนนับตั้งแต่เดือน พ.ค.2564 และขยายตัว 0.28% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.2564 จากราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่ใช่แอลกอฮอล์ที่ขยายตัว 0.43% และราคาสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ขยายตัว 4.25%
สำหรับสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง, สินค้าในกลุ่มผักสด ,เนื้อสุกร ,อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน , เครื่องประกอบอาหาร โดยเฉพาะน้ำมันพืชที่ทำจากน้ำมันปาล์ม และการตรวจรักษาและบริหารส่วนบุคคล เช่น ครีมนวดผม ยาแก้ปวดแก้ไข้ และค่าแต่งผมชาย ส่วนราคาสินค้าที่ปรับตัวลดลง เช่น ข้าวสารเจ้าและข้าวสารเหนียว ,ไก่สดและผลไม้ ,ไข่ไก่ ,เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ,เสื้อผ้า ,ค่าน้ำและค่าไฟฟ้า และค่าเช่าบ้าน เป็นต้น
“สาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.2564 ขยายตัว 2.71% มีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ตามสถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลก ประกอบกับราคาสินค้ากลุ่มผักสดสูงขึ้น” นายรณรงค์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.2564) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 1.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงเป็นหลัก ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ขยายตัว 0.29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วง 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.2564) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ขยายตัว 0.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายรณรงค์ กล่าวว่า สนค.คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2564 จะขยายตัว 0.8-1.2% มีค่ากลางที่ 1% และคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 จะขยายตัว 0.7-2.4% มีค่ากลางที่ 1.5% โดยมีสมมติฐานจากเศรษฐกิจปี 2565 ที่คาดว่าจะขยายตัว 3.5-4.5% ,ราคาน้ำมันดิบดูทั้งปีที่คาดว่าจะอยู่ที่เฉลี่ย 63-73 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนทั้งปีที่คาดว่าจะอยู่ที่ 31.5-33.5 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม สนค.จะติดตามความเสี่ยงเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ ‘โอไมครอน’ อย่างใกล้ชิด เพราะจะส่งผลกระทบต่อสมมติฐานในการประเมินอัตราเงินเฟ้อในครั้งนี้
“แม้ว่าในปีหน้าการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันจะไม่ได้เร่งตัวขึ้น แต่ด้วยราคาที่อยู่ในระดับที่สูงใกล้เคียงกับปัจจุบัน จะมีผลทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับในเดือน ต.ค.-พ.ย. ในขณะที่น้ำมันที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการผลิตและค่าขนส่งสูงขึ้น เช่น ค่าระวางเรือ ค่าขนส่งทางถนน ดังนั้น ปีหน้ามีโอกาสที่ราคาสินค้าจะเพิ่มขึ้นทุกตัว แต่ราคาสินค้าอาหารบางประเภทอาจลดลง เช่น ไก่สดแช่แข็งที่ราคาในเดือนพ.ย.ลดลง เพราะส่งออกลดลง” นายรณรงค์ระบุ
อ่านประกอบ :
บทวิเคราะห์พิเศษ: ทำไมอัตราเงินเฟ้อโลกจึงสูงต่อเนื่อง?
‘น้ำมัน-ผักสด-ข้าวราดแกง’แพงขึ้น!ดันเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.พุ่ง 2.38% สูงสุดในรอบ 5 เดือน
เพิ่มขึ้นเดือนที่ 4! ‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.ค. ขยายตัว 0.45%
‘น้ำมัน-หมู-ไข่ไก่’ขึ้นราคา! เงินเฟ้อทั่วไป มิ.ย.ขยายตัว 1.25% เพิ่มเป็นเดือนที่ 3
เงินเฟ้อทั่วไป เม.ย.พุ่ง 3.41% สูงสุดรอบ 8 ปี 4 เดือน-ห่วงโควิดทำเศรษฐกิจสะดุด
เงินเฟ้อทั่วไปมี.ค.ลบ 0.08% หดน้อยสุดรอบ 13 เดือน-รัฐเผยเก็บรายได้ลด 14.7%
รัฐช่วยค่าไฟฟ้า-ประปา! ฉุดเงินเฟ้อทั่วไปก.พ.ลบ 1.17% หดต่อเป็นเดือนที่ 12
คุมโควิดระบาด-ท่องเที่ยวหด! ฉุดจับจ่ายชะลอตัว- เผยเงินเฟ้อ ม.ค.ลบ 0.34%
4 ปัจจัยกระทบกำลังซื้อ! ‘พาณิชย์’ คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 ขยายตัว 0.7-1.7%
อานิสงส์'คนละครึ่ง-ประกันรายได้'! เงินเฟ้อพ.ย.หดน้อยสุดรอบ 9 เดือน-แนะรัฐเข็นเมกะโปรเจกต์
ศบศ.เคาะ'คนละครึ่ง'เฟส 2 แจกเพิ่ม 5 ล้านสิทธิ์ ขยายวงเงิน 3,500 บาทใช้ถึงสิ้น มี.ค.64
จองสิทธิ์9.27ล้านคนใช้จ่าย1.8หมื่นล.!ผลสำเร็จ‘คนละครึ่ง’ก่อนรัฐบาลเปิดเฟสสอง 1 ม.ค.64
เงินเฟ้อต.ค.ลบ 0.5%! พณ.ชี้‘คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน’ไม่กระทบราคา-กกพ.ลดค่าไฟฟ้า 2.89 สต.
ธปท.ย้ำเดินหน้านโยบายการเงินแบบ ‘ยืดหยุ่น’ หลังเฟดเปลี่ยนใช้ ‘เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย’
กำลังซื้อในประเทศฟื้น! ดันเงินเฟ้อพื้นฐานพลิกบวก 0.39%-สะท้อนเศรษฐกิจดีขึ้น