‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มิ.ย.65 ขยายตัว 7.66% จากปัจจัยราคา ‘พลังงาน-อาหารสด’ ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ ‘เงินเฟ้อพื้นฐาน’ ขยายตัว 2.51% คาดไตรมาส 4 เงินเฟ้อจะต่ำลง เหตุปีที่แล้วฐานสูง
..................................
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือน มิ.ย.2565 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน มิ.ย.2565 ขยายตัว 7.66% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง และราคาอาหารสดที่ทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนที่แล้ว
“เงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.ที่สูงขึ้นนั้น ไม่ได้สูงขึ้นมาก และเป็นการสูงขึ้นในทางเทคนิคมากกว่า เพราะฐานดัชนีราคาที่ใช้คำนวณอัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.นั้น อยู่ที่ระดับ 99.93 ซึ่งเป็นฐานดัชนีราคาฯของปีที่แล้ว เมื่อนำมาคำนวณกับดัชนีราคาเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย.ปีนี้ จึงทำให้ได้ตัวเลขที่ 7.66% แต่ถ้าฐานในปีที่แล้วสูงกว่า 99 หรือ 100 อัตราเงินเฟ้อของเดือนนี้จะไม่ถึง 7.66% แต่จะอยู่ที่ระดับ 7% ต้นๆเท่านั้นเอง” นายรณรงค์ กล่าว
นายรณรงค์ ระบุว่า เมื่อพิจารณาอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน มิ.ย.2565 ที่ขยายตัว 7.66% เทียบกับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือน มิ.ย.2565 ที่ขยายตัวที่ระดับ 13.8% จะพบว่าผู้ผลิตยังไม่ส่งผ่านต้นทุนทั้งหมดไปยังราคาขายปลีก เนื่องจากผู้ประกอบการให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการพยายามตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ขณะที่รัฐบาลได้เข้าไปกำกับดูแลราคาสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบกับภาระค่าครองชีพของประชาชนสูงเกินไป
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน มิ.ย.2565 ขยายตัว 2.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นระดับเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2565) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 5.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในช่วง 6 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.2565) ขยายตัว 1.85%
นายรณรงค์ กล่าวว่า สนค.ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ว่าจะขยายตัวที่ 4-5% โดยมีค่ากลางที่ 4.5% เท่าเดิม และจะไม่มีทบทวนตัวเลขจนกว่าสถานการณ์ต่างๆจะชัดเจนกว่านี้ เพราะต้องยอมรับว่าขณะนี้สถานการณ์ต่างๆคาดการณ์ได้ยาก ไม่ว่าจะเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่จะมีผลต่อกำลังซื้อของประชาชน ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด
“สนค.ยังคงคาดการณ์ตัวเลขเงินเฟ้อไว้เท่าที่ 4-5% โดยมีค่ากลางที่ 4.5% เท่าเดิม ซึ่งในเดือน มิ.ย. เงินเฟ้อก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นมา และต่ำกว่าตัวเลขที่หลายสำนักฯคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ 8% ขณะที่ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกได้คาดการณ์เงินเฟ้อของไทยปี 65 ว่าจะอยู่ที่ 5.2% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ดังนั้น เราจึงยังไม่ปรับคาดการณ์จนกว่าสถานการณ์จะชัดกว่านี้ อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 เงินเฟ้อจะต่ำลงมาก เพราะฐานปีที่แล้วสูงมาก” นายรณรงค์ กล่าว
อ่านประกอบ :
‘พาณิชย์’ เงินเฟ้อทั่วไป พ.ค. พุ่ง 7.1%-พบสินค้าขึ้นราคา 298 รายการ
'พาณิชย์'เผยเงินเฟ้อทั่วไป เม.ย.เพิ่ม 4.65% 'ก๋วยเตี๋ยว-ข้าวแกง-อาหารตามสั่ง'ขึ้นยกแผง
น้ำมันพุ่ง-อาหารแพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.เพิ่ม 5.73%-พบสินค้าขึ้นราคา 280 รายการ
สูงสุดรอบ 13 ปี! อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ. พุ่ง 5.28%-สินค้าขึ้นราคา 260 รายการ
น้ำมันแพง! ดันเงินเฟ้อ ม.ค.พุ่ง 3.23%-‘พาณิชย์’ชี้แค่‘เงินเฟ้ออ่อนๆ-ยังไม่ต้องสกัด'
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด
สูงสุดรอบ 7 เดือน!เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.โต 2.71%-'น้ำมันแพง'ดันราคาสินค้าปีหน้า‘ขาขึ้น’
บทวิเคราะห์พิเศษ: ทำไมอัตราเงินเฟ้อโลกจึงสูงต่อเนื่อง?
‘น้ำมัน-ผักสด-ข้าวราดแกง’แพงขึ้น!ดันเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.พุ่ง 2.38% สูงสุดในรอบ 5 เดือน