‘พาณิชย์’ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 2.38% สูงสุดในรอบ 5 เดือน เหตุราคา ‘น้ำมัน-ผักสด-ข้าวราดแกง’ แพงขึ้น คงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 64 ที่ 0.8-1.2% เชื่อรัฐบาลเข้ามาตรึงราคาน้ำมันไม่ให้เพิ่มขึ้น
..............................
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือน ต.ค.2564 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ต.ค. ขยายตัว 2.38% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัว 0.74% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2564 ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.2564) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปขยายตัว 0.99%
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค.2564 ที่ขยายตัว 2.38% ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 5 เดือน นั้น มีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงตามราคาพลังงานในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ,ราคาผักสดสูงขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้ผลผลิตน้อยลง และความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลกินเจ รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น
นายรณรงค์ กล่าวต่อว่า สำหรับในเดือน ต.ค. มีสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 226 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันพืช ผัดกาดขาว ผักคะน้า แตงกวา ผักชี ไข่ไก่ ไก่ย่าง และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) ส่วนสินค้าที่มีราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน 133 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื้อสุกร หอมหัวแดง เงาะ มะม่วง และมะนาว เป็นต้น
ส่วนอัตราเงินเฟ้อฟื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน ต.ค.2564 ขยายตัว 0.21% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ 10 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-ต.ค.2564) อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัว 0.23%
นายรณรงค์ ระบุว่า สนค.ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ 0.8-1.2% ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์เดิม อย่างไรก็ตาม สนค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ แม้ว่ายังคงมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่จะไม่สูงขึ้นมากจนเกินไป เนื่องจากคาดว่ารัฐบาลจะเข้ามาพยุงราคาน้ำมันในประเทศไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ประกอบเม็ดเงินจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจะสิ้นสุดลงในเดือน ธ.ค.2564
“อัตราเงินเฟ้อจากนี้ไปยังมีแนวโน้มขาขึ้น แต่ไม่ได้ขึ้นอย่างกระโดดอย่างในเดือน ต.ค. ที่มีอัตราการขึ้นจะสูงมาก ซึ่งพอไปถึง พ.ย.-ธ.ค.2564 แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น แต่การขึ้นจะไม่ก้าวกระโดดสูงเหมือนกับในเดือน ต.ค. และหากเทียบกับประเทศอื่นๆ อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับไม่สูงมาก โดยในเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เงินเฟ้อสหรัฐอยู่ที่ 5.4% สหราชอาณาจักร 2.9% จีน 0.7% และเวียดนาม 2.6% อัตราเงินเฟ้อของไทยก็ยังอยู่ในกรอบ” นายรณรงค์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม สนค.จะติดตามสถานการณ์ราคาสินค้าบางชนิดอย่างใกล้ชิด เพราะอาจทำให้อัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้สูงกว่าที่คาดการณ์ได้ เช่น วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร สินค้าหรือส่วนประกอบนำเข้า เนื่องจากค่าขนส่งทางน้ำเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก และสินค้าเหล็กและผลิตภัณฑ์ที่ยังมีราคาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งจะมีผลต่อราคาอาหารกระป๋อง ที่ใช้สังกะสีเป็นวัตถุดิบในการผลิตกระป๋อง ส่วนราคาน้ำมันปาล์ม แม้ว่าจะเพิ่มขึ้น แต่จะไม่แตกต่างจากในเดือน ต.ค.2564
อ่านประกอบ :
เพิ่มขึ้นเดือนที่ 4! ‘พาณิชย์’ เผยเงินเฟ้อทั่วไป ก.ค. ขยายตัว 0.45%
‘น้ำมัน-หมู-ไข่ไก่’ขึ้นราคา! เงินเฟ้อทั่วไป มิ.ย.ขยายตัว 1.25% เพิ่มเป็นเดือนที่ 3
เงินเฟ้อทั่วไป เม.ย.พุ่ง 3.41% สูงสุดรอบ 8 ปี 4 เดือน-ห่วงโควิดทำเศรษฐกิจสะดุด
เงินเฟ้อทั่วไปมี.ค.ลบ 0.08% หดน้อยสุดรอบ 13 เดือน-รัฐเผยเก็บรายได้ลด 14.7%
รัฐช่วยค่าไฟฟ้า-ประปา! ฉุดเงินเฟ้อทั่วไปก.พ.ลบ 1.17% หดต่อเป็นเดือนที่ 12
คุมโควิดระบาด-ท่องเที่ยวหด! ฉุดจับจ่ายชะลอตัว- เผยเงินเฟ้อ ม.ค.ลบ 0.34%
4 ปัจจัยกระทบกำลังซื้อ! ‘พาณิชย์’ คาดเงินเฟ้อทั่วไปปี 64 ขยายตัว 0.7-1.7%
อานิสงส์'คนละครึ่ง-ประกันรายได้'! เงินเฟ้อพ.ย.หดน้อยสุดรอบ 9 เดือน-แนะรัฐเข็นเมกะโปรเจกต์
ศบศ.เคาะ'คนละครึ่ง'เฟส 2 แจกเพิ่ม 5 ล้านสิทธิ์ ขยายวงเงิน 3,500 บาทใช้ถึงสิ้น มี.ค.64
จองสิทธิ์9.27ล้านคนใช้จ่าย1.8หมื่นล.!ผลสำเร็จ‘คนละครึ่ง’ก่อนรัฐบาลเปิดเฟสสอง 1 ม.ค.64
เงินเฟ้อต.ค.ลบ 0.5%! พณ.ชี้‘คนละครึ่ง-ช้อปดีมีคืน’ไม่กระทบราคา-กกพ.ลดค่าไฟฟ้า 2.89 สต.
ธปท.ย้ำเดินหน้านโยบายการเงินแบบ ‘ยืดหยุ่น’ หลังเฟดเปลี่ยนใช้ ‘เป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ย’
กำลังซื้อในประเทศฟื้น! ดันเงินเฟ้อพื้นฐานพลิกบวก 0.39%-สะท้อนเศรษฐกิจดีขึ้น
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/