‘พาณิชย์’ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.พ. พุ่ง 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี เหตุสินค้า ‘หมวดพลังงาน’ เพิ่มขึ้น 29.22% ส่วน ‘หมวดอาหาร’ เพิ่มขึ้น 4.51% พบมีสินค้าปรับขึ้นราคา 260 รายการ
.................................
เมื่อวันที่ 4 มี.ค. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือน ก.พ.2565 ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ.2565 ขยายตัว 5.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยมีสาเหตุหลักจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ที่ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ในเดือน ก.พ.2565 ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 62.26% มีราคาเพิ่มขึ้น 29.22% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีราคาเพิ่มขึ้น 26.86% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ส่วนกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เช่น เนื้อสัตว์ ผักสด เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้าน-นอกบ้าน ไข่และผลิตภัณฑ์นม ซึ่งมีสัดส่วนผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 35.05% มีราคาเพิ่มขึ้น 4.51% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่กลุ่มอื่นๆ เช่น ค่าแรง สิ่งที่เกี่ยวกับความสะอาดส่วนบุคคล ของใช้ส่วนบุคคล เป็นต้น ซึ่งมีสัดส่วนผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ 2.69% มีราคาเพิ่มขึ้น 0.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
“เงินเฟ้อในเดือน ก.พ.ที่ขึ้นไป 5.28% เราเทียบกับฐานเมื่อเดือน ก.พ.ปีที่แล้ว ซึ่งฐานปีแล้วต่ำมาก ถ้าฐานต่ำ ปีนี้คำนวณอย่างไรก็สูง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ต้องติดตาม แต่ไม่ต้องห่วงมาก เพราะฐานมันต่ำ และถ้าดูจากเงินเฟ้อในเดือน ก.พ.2565 พบว่าเป็นอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวสูงสุดในรอบ 13 ปี” นายรณรงค์ กล่าว
นายรณรงค์ ระบุว่า ในเดือน ก.พ.2565 มีสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน 260 รายการ เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า น้ำประปา เนื้อหมู ไข่ไก่ กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง ข้าวราดแกง น้ำมันพืช และกระดูกซี่โครงหมู เป็นต้น ,สินค้าที่มีราคาไม่เปลี่ยนแปลง 65 รายการ เช่น ค่าบริการโทรศัพท์มือถือ ค่าอินเตอร์เน็ต ค่าเบี้ยและค่าประกันรถยนต์ เป็นต้น และสินค้าที่มีราคาลดลง 105 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า และส้มเขียวหวาน เป็นต้น
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (core CPI) ในเดือน ก.พ.2565 ขยายตัว 1.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น หลักๆจะมาจากราคาอาหารกลุ่มที่บริโภคนอกบ้าน หรือที่ซื้อกลับไปรับประทานที่บ้าน ที่มีราคาเพิ่มขึ้น 5.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หากเป็นอาหารที่รับประทานที่ร้าน พบว่ามีราคาเพิ่มขึ้น 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
นายรณรงค์ กล่าวว่า ขณะนี้ สนค.ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ จะปรับเพิ่มขึ้นไปเป็นเท่าไหร่ และจะต้องมีการทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อปีนี้ที่กำหนดไว้ 0.7-2.4% ในเร็วๆนี้ หรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะสถานการณ์การสู้รบในยูเครน แต่หากสถานการณ์ราคาน้ำมันยังคงเพิ่มสูงขึ้นทุกเดือน แน่นอนว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าตัวเลขที่ สนค.ได้คาดการณ์ไว้ ซึ่ง สนค. จะมีการทบทวนคาดการณ์เงินเฟ้อทุกๆสิ้นไตรมาส
“ถ้าการสู้รบที่ยูเครนมีต่อเนื่องต่อไป เงินเฟ้อก็อาจเพิ่มสูงขึ้นก็ได้ แต่ใครจะรู้ว่าในสัปดาห์หน้าการเจรจาจะเสร็จแล้ว หรือหยุดยิงก็ได้ ดังนั้น สนค.จึงยังไม่คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในระยะต่อไปจะเป็นอย่างไร ต้องขอดูสถานการณ์ไปอีกระยะ ซึ่งเรื่องราคาน้ำมันมีผลต่อเงินเฟ้อค่อนข้างเยอะ เพราะถ้าดูจาก CPI ในเดือน ก.พ. ราคาน้ำมันจะมีผลต่อเงินเฟ้อถึง 62.26% ถ้าน้ำมันสูงขึ้นไป 110-112 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล ก็คาดเดาได้ว่าจะทำให้เงินเฟ้อขึ้นแน่นอน” นายรณรงค์ กล่าว
นายรณรงค์ ระบุด้วยว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน มี.ค.2565 อาจขยายตัวที่ระดับ 4-5% หากราคาน้ำมันดิบดูไบเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 110 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล แต่ทั้งนี้ จะต้องดูปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย
อ่านประกอบ :
น้ำมันแพง! ดันเงินเฟ้อ ม.ค.พุ่ง 3.23%-‘พาณิชย์’ชี้แค่‘เงินเฟ้ออ่อนๆ-ยังไม่ต้องสกัด'
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด
สูงสุดรอบ 7 เดือน!เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.โต 2.71%-'น้ำมันแพง'ดันราคาสินค้าปีหน้า‘ขาขึ้น’
บทวิเคราะห์พิเศษ: ทำไมอัตราเงินเฟ้อโลกจึงสูงต่อเนื่อง?
‘น้ำมัน-ผักสด-ข้าวราดแกง’แพงขึ้น!ดันเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.พุ่ง 2.38% สูงสุดในรอบ 5 เดือน