‘พาณิชย์’ เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป พ.ค. พุ่ง 7.1% สูงสุดในรอบ 13 ปี เหตุราคา ‘น้ำมัน-อาหาร’ เพิ่มขึ้น สิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือ 'ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้า' พบสินค้าขึ้นราคา 298 รายการ
.........................
เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการ เดือน พ.ค.2565 ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรืออัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือน พ.ค.2565 ขยายตัว 7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับการขยายตัวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่สูงที่สุดในรอบ 13 ปี
โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานเพิ่มขึ้น 31.24% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ,ราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 6.18% และสินค้าในหมวดที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 7.74% ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนบางโครงการสิ้นสุดลง เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม เป็นต้น แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะยังมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชนอยู่ก็ตาม
“อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน พ.ค.2565 ขยายตัว 7.1% อันแรกเลย มาจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อคิดเป็น 61.21% รองลงมาเป็นกลุ่มสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อคิดเป็น 35.64% และสินค้าบริการอื่นๆ เช่น ค่าของใช้ส่วนบุคคล และสิ่งที่เกี่ยวกับการทำความสะอาด ซึ่งส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ 3.15%” นายรณรงค์ ระบุ
นายรณรงค์ ระบุว่า ในเดือน พ.ค.2565 มีรายการสินค้าที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จำนวน 298 รายการ เช่น ค่ากระแสไฟฟ้า ,น้ำมันเชื้อเพลิง ,เนื้อสุกร ,กับข้าวสำเร็จรูป ,อาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) , ไข่ไก่, อาหารเช้า, ค่าน้ำประปา และไก่สด เป็นต้น และสินค้าที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลงมี 54 รายการ เช่น รองเท้ากีฬาสตรี ,เครื่องแบบอุดมศึกษาหญิง ,ค่าจัดฟัน ,ค่าโดยสารรถไฟลอยฟ้า ,ค่าใบอนุญาตขับขี่ และค่าภาษีรถยนต์ประจำปี เป็นต้น
ส่วนสินค้าที่ราคาปรับตัวลดลงมี 78 รายการ เช่น ข้าวสารเหนียว, ข้าวสารเจ้า, ขิง, กล้วยหอม, ต้นหอม ,มะเขือเทศ, ค่าเช่าบ้าน, ผักกาดขาว และถั่วฝักยาว
สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือน พ.ค.2565 ขยายตัว 2.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุจากราคาเครื่องประกอบอาหารที่เพิ่มขึ้น 10.41% โดยเฉพาะน้ำมันพืชราคาเพิ่มขึ้น 32.18% ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญที่ส่งผลต่อเนื่องทำให้ราคาอาหารบริโภคในบ้านเพิ่มขึ้น 6.84% และราคาอาหารบริโภคนอกบ้าน เช่น อาหารตามสั่ง ข้าวแกง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด และอาหารเดลิเวอรี่ เป็นต้น เพิ่มขึ้น 6.28%
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2565) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 5.19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยในช่วง 5 เดือนของปีนี้ (ม.ค.-พ.ค.2565) ขยายตัว 1.72%
นายรณรงค์ กล่าวถึงแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะต่อไปว่า เงินเฟ้อยังมีแนวโน้มขึ้น จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน รวมถึงมีการขยายเพดานการตรึงราคาน้ำมันดีเซล การปรับราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได ซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้ การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค โดยเฉพาะอาหารสดและอาหารสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับราคาสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ การขนส่งและโลจิสติกส์ การระงับการส่งออกสินค้าในหลายประเทศ และอุปสงค์ที่เริ่มฟื้นตัวจากภาคการท่องเที่ยว และการส่งออก ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เงินเฟ้อทั่วไปของไทยยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายรณรงค์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อทั่วไปของไทยทั้งปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 4-5% โดยค่ากลาง 4.5% และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง
อ่านประกอบ :
'พาณิชย์'เผยเงินเฟ้อทั่วไป เม.ย.เพิ่ม 4.65% 'ก๋วยเตี๋ยว-ข้าวแกง-อาหารตามสั่ง'ขึ้นยกแผง
น้ำมันพุ่ง-อาหารแพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป มี.ค.เพิ่ม 5.73%-พบสินค้าขึ้นราคา 280 รายการ
สูงสุดรอบ 13 ปี! อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ก.พ. พุ่ง 5.28%-สินค้าขึ้นราคา 260 รายการ
น้ำมันแพง! ดันเงินเฟ้อ ม.ค.พุ่ง 3.23%-‘พาณิชย์’ชี้แค่‘เงินเฟ้ออ่อนๆ-ยังไม่ต้องสกัด'
'น้ำมัน-หมู' แพง! ดันเงินเฟ้อทั่วไป ธ.ค.ขยายตัว 2.17%-'ข้าวเจ้า-ข้าวเหนียว' ราคาลด
สูงสุดรอบ 7 เดือน!เงินเฟ้อทั่วไป พ.ย.โต 2.71%-'น้ำมันแพง'ดันราคาสินค้าปีหน้า‘ขาขึ้น’
บทวิเคราะห์พิเศษ: ทำไมอัตราเงินเฟ้อโลกจึงสูงต่อเนื่อง?
‘น้ำมัน-ผักสด-ข้าวราดแกง’แพงขึ้น!ดันเงินเฟ้อทั่วไป ต.ค.พุ่ง 2.38% สูงสุดในรอบ 5 เดือน