สศช.เผยไตรมาส 4/64 มีผู้ว่างงาน 6.3 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อน แต่แรงงาน ‘กลุ่มจบใหม่’ ตกงานเพิ่มขึ้น 4.1% ขณะที่ ‘หนี้สินครัวเรือน’ ขยายตัวชะลอลง ห่วง ‘ค่าครองชีพ’ พุ่งแซง ‘ค่าจ้างขั้นต่ำ’ แนะรัฐช่วยเหลือแรงงานที่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ
................................
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. น.ส.จินางค์กูร โรจนนันต์ รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 4/2564 ว่า ไตรมาส 4/2564 มีการจ้างงาน 37.9 ล้านคน ลดลง 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของกำลังแรงงาน แต่หากเทียบปี 2564 กับปีก่อน พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 0.2% โดยการจ้างงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1.8% ส่วนการจ้างงานนอกภาคเกษตรหดตัว 0.6%
ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 4/2564 แรงงานมีจำนวนชั่วโมงการทำงาน 45.6 ชั่วโมง/สัปดาห์ ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เช่นเดียวกับผู้ทำงานต่ำระดับและผู้เสมือนว่างงานที่มีจำนวนลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน โดยผู้ทำงานต่ำระดับมี 4.38 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มี 7.78 แสนคน และผู้เสมือนว่างงานมี 2.6 ล้านคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มี 3.2 ล้านคน อย่างไรก็ตาม ผู้มีงานทำมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์ หดตัว 12.5% สะท้อนว่าแรงงานยังไม่ได้ทำโอที
ส่วนอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 4/2564 อยู่ที่ 1.64% หรือมีจำนวนผู้ว่างงาน 6.3 แสนคน ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อัตราว่างงานอยู่ที่ 2.25% หรือมีผู้ว่างงาน 8.7 แสนคน และเป็นอัตราการว่างงานที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 โดยเฉพาะจำนวนผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนมีจำนวน 3.79 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนที่มีจำนวน 5.84 แสนคน
อย่างไรก็ตาม การว่างงานในกลุ่มแรงงานที่จบการศึกษาใหม่อยู่ที่ 2.52 แสนคน เพิ่มขึ้น 4.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สำหรับประเด็นที่ สศช.เห็นว่าภาครัฐควรต้องให้ความสำคัญในระยะถัดไป ได้แก่ 1.การดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจที่เอื้อต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการควบคุมการระบาด 2.การหามาตรการจูงใจให้แรงงานนอกระบบสมัครเข้าเป็นผู้ประกันตน 3.การดูแลค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะขณะนี้ค่าครองชีพสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ จึงต้องมีมาตรการเข้าไปช่วยเหลือกลุ่มแรงงานที่รับค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ ไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน
และ4.การส่งเสริมให้การเกิดการพัฒนาทักษะแรงงาน หรือปรับเปลี่ยนทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับความต้องการของสถานประกอบการและท้องถิ่น
น.ส.จินางค์กูร ระบุว่า สำหรับสถานการณ์หนี้สินครัวเรือน จากข้อมูลล่าสุดในช่วงไตรมาส 3/2564 พบว่าหนี้สินครัวเรือนมีจำนวน 14.35 ล้านล้านบาท ขยายตัว 4.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีที่ 89% อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวของหนี้สินครัวเรือนในช่วงไตรมาส 3/2564 ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2/2564 ที่มีอัตราการขยายตัว 5.1% ตามการชะลอตัวของสินเชื่อทุกกลุ่ม
ส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) มีมูลค่า 1.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมที่ 2.89% ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 2.92% แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ สัดส่วนหนี้สินค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (SM) ต่อสินเชื่อรวม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสินเชื่อเกือบทุกประเภท
“หนี้สินครัวเรือนไตรมาส 4/2564 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เพราะหากพิจารณาจากสถานการณ์ที่ผ่านมา จะพบว่า ครัวเรือนที่ไม่เดือดร้อนและมีสินทรัพย์อยู่ มีแนวโน้มก่อหนี้เพิ่ม โดยเฉพาะในเรื่องยานยนต์ เห็นได้จากยอดจองรถในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปในช่วงปลายปี มียอดจองเกินเป้า และการซื้ออสังหาริมทรัพย์เองก็มีมาตรการที่ผ่อนคลายขึ้น
ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด มีความต้องการสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคเพิ่มขึ้น เพื่อนำมาชดเชยสภาพคล่องที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ดังนั้น ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ การแก้ปัญหาหนี้ให้ตรงความต้องการแต่ละกลุ่ม ได้แก่ การส่งเสริมให้ครัวเรือนเข้าถึงสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง โดยต้องไม่เกินศักยภาพในการคืนหนี้ รวมทั้งส่งเสริมให้ครัวเรือนมีได้รับการจ้างงานที่มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเน้นการยกระดับทักษะแรงงาน” น.ส.จินางค์กูร กล่าว
อ่านประกอบ :
‘สศช.’เผยจีดีพีปี 64 ขยายตัว 1.6% มองปีนี้โต 3.5-4.5%-นักท่องเที่ยวต่างชาติ 5 ล้านคน
สูงสุดนับตั้งแต่เกิดโควิด!‘สศช.’เผยไตรมาส 3 ตกงานพุ่ง 2.25%-ว่างงานชั่วคราวอีก 9 แสน
‘สศช.’เผยจีดีพีไตรมาส 3 หด 0.3% คาดทั้งปี 64 เติบโต 1.2%-มองปีหน้าขยายตัว 3.5-4.5%
‘สศช.’เผยจีดีพีสังคมไตรมาส 2 พบ‘ว่างงานสูง-หนี้เพิ่ม-รายได้หด-เงินออมลด-เครียดโควิด’
'สศช.’ หั่นเป้าเศรษฐกิจปี 64 เหลือ 0.7-1.2%-จีดีพีไตรมาส 2 โต 7.5% ส่งออกดี-ฐานต่ำ
จีดีพีไตรมาส 1 ลบ 2.6%! สศช.หั่นเป้าปี 64 โต 1.5-2.5%-คาดคุมโควิดระลอก 3 ได้มิ.ย.นี้
รายได้ลด-หนี้เพิ่ม! สศช.ห่วง 3 ปัจจัยกระทบแรงงาน-เกษียณ 60 ปีต้องมีเงินออม 2.8-4 ล.
เซ่นโควิดรอบใหม่! สศช.หั่นจีดีพีปีนี้เหลือ 2.5-3.5%-ศก.ปี 63 หดหนักสุดรอบ 22 ปี
จีดีพีไตรมาส 3 ลบ 6.4%! สภาพัฒน์ฯคาดทั้งปีหดตัวร้อยละ 6 จับตา 'โควิดรอบ 2-การเมือง'