ธปท.ประกาศมาตรการส่งเสริมการจัดตั้ง ‘บ.ร่วมทุน AMC’ รับซื้อ 'หนี้ด้อยคุณภาพ-สินทรัพย์รอการขาย' หวังช่วยให้ ‘แบงก์พาณิชย์’ ตัวเบา เปิดทาง ‘JV AMC’ ปรับโครงสร้างหนี้ช่วยลูกหนี้ได้
...................................
เมื่อวันที่ 27 ม.ค. นางรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แม้ว่าระบบธนาคารพาณิชย์จะยังแข็งแกร่ง ทั้งด้านเงินกองทุน สภาพคล่อง และเงินสำรองอยู่ในระดับสูง และมาตรการช่วยเหลือในปัจจุบันทำให้สินเชื่อด้อยคุณภาพจะไม่เร่งตัวขึ้นเร็ว แต่เพื่อรองรับความไม่แน่นอนและดูแลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง นอกเหนือไปจากมาตรการทางการเงินที่หลากหลายเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบแล้ว
ธปท.เห็นความจำเป็นของการเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับสถาบันการเงินเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพที่อาจทยอยเพิ่มขึ้นในระยะถัดไป จึงมีมาตรการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) สามารถร่วมลงทุนในกิจการร่วมทุน (Joint Venture) ภายใต้มาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้วยคุณภาพ (JV-AMC)
ทั้งนี้ การจัดตั้งกิจการร่วมทุนฯดังกล่าว ธนาคารพาณิชย์ และ AMC จะต้องยื่นขอจัดตั้งภายในระยะเวลา 3 ปี และมีระยะเวลาในการดำเนินการกิจการร่วมทุนฯ 15 ปี ขณะเดียวกัน กิจการร่วมทุนฯจะต้องให้ความช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ต่อให้กับลูกหนี้ด้อยคุณภาพที่ได้รับโอนมาด้วย
“ธปท. หวังว่า มาตรการนี้จะช่วยให้สถาบันการเงินสามารถบริหารสินทรัพย์ด้อยคุณภาพได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของบริษัทบริหารสินทรัพย์มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งจะช่วยให้สถาบันการเงินมีทรัพยากรเพิ่มเติมในการดูแลลูกหนี้ที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ ด้วยกลไกการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่จะดำเนินต่อเนื่องให้แก่ลูกหนี้ จะส่งผลให้ลูกหนี้ยังมีโอกาสได้รับความช่วยเหลือและไม่ถูกเร่งรัดให้จำหน่ายทรัพย์สินอันเป็นหลักประกันในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง ซึ่งจะช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจยังดำเนินต่อเนื่องไปได้” นางรุ่งกล่าว
(รุ่ง มัลลิกะมาส)
น.ส.สุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท. กล่าวว่า ในวันนี้ (27 ม.ค.) ธปท.จะออกประกาศมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ปัญหาสินทรัพย์ด้วยคุณภาพ เพื่อเป็นทางเลือกให้ธนาคารพาณิชย์ในการบริหารสินทรัพย์ด้วยคุณภาพ (NPL)
“แม้ว่า NPL จะยังไม่เพิ่มหรือเพิ่มขึ้นน้อยมาก แต่เนื่องจากความไม่แน่นอนที่สูง เราเห็นความจำเป็นว่า ในการสร้างความยืดหยุ่นให้สถาบันการเงิน และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (AMC) นั้น สถาบันการเงิน และ AMC อาจจะร่วมกันจัดตั้ง AMC อีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อช่วยเหลือหรือบริหารจัดการ NPL ที่อาจเพิ่มขึ้นในอนาคต เพราะวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ หนักและค่อนข้างยาวนาน รวมทั้งมีผลกระทบในวงกว้าง” น.ส.สุวรรณี กล่าว
สำหรับหลักเกณฑ์การจัดตั้งกิจการร่วมทุนฯ (JV-AMC) ได้แก่ ต้องเป็นกิจการร่วมทุนฯ ที่ร่วมกันจัดตั้งระหว่างธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทแม่ของธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทที่อยู่กลุ่มของธนาคารพาณิชย์ กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ 1 แห่ง และมีบุคคลอื่นเข้ามาร่วมถือหุ้นใน JV AMC เพื่อไม่ให้ใครมีอำนาจในการควบคุม JV- AMC เหนือใคร เช่น ธนาคารฯ ก. ถือหุ้น 49% บริษัทบริหารสินทรัพย์ A ถือหุ้น 49% และอีก 2% ถือหุ้นโดยบุคคลอื่น
การจัดตั้ง JV-AMC ให้ยื่นขอจัดตั้งได้ตั้งแต่วันที่ประกาศฯ หรือตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.2565 ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค.2567 หรือต้องยื่นขออนุญาตจัดตั้งให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2567 ,เมื่อ JV-AMC ที่จัดตั้งประกาศฯ รับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพมาแล้ว จะต้องพิจารณาช่วยเหลือลูกหนี้ในการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ลูกหนี้มีเหตุสุดวิสัย เช่น ปิดกิจการ ติดต่อไม่ได้ และตามตัวไม่พอ เป็นต้น ซึ่งเงื่อนไขนี้ไม่ได้กำหนดใน AMC ทั่วไปที่มีอยู่ในปัจจุบัน
JV-AMC ที่จัดตั้งขึ้น สามารถรับซื้อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) และสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ในประเทศ ส่วนทรัพย์ที่ซื้อขายจะต้องเป็นราคายุติธรรม (fair value) ตามมาตรฐานทางบัญชี โดยผู้ซื้อและผู้ขายจะต้องตกลงกัน ไม่ต้องมาขออนุมัติจาก ธปท. ก่อน และเนื่องจากมาตรการนี้เป็นมาตรการชั่วคราว JV-AMC จะต้องเคลียร์หนี้ให้แล้วเสร็จและปิดกิจการภายใน 15 ปี เว้นแต่ในอนาคตจะเกิดเหตุการณ์หรือวิกฤติที่ไม่คาดคิด ธปท.อาจพิจารณาขยายเวลาได้
น.ส.สุวรรณี ระบุว่า ที่ผ่านมามีธนาคารพาณิชย์ 2-3 แห่ง ที่ให้ข่าวว่าสนใจที่จะมีการจัดตั้ง JV-AMC และติดต่อกับทีมงานของ ธปท.ว่ามีรายละเอียดอย่างไร ซึ่งในวันนี้ (27 ม.ค.) ธปท.จะเผยแพร่ประกาศฯดังกล่าวในเว็บไซต์ และให้มีผลบังคับใช้วันนี้เช่นกัน
น.ส.สุวรรณี ย้ำว่า ธนาคารพาณิชย์เป็นกลไกสำคัญในการส่งผ่านเม็ดเงินและความช่วยเหลือไปให้ลูกหนี้ที่ยังมีโอกาสที่จะฟื้นฟูกิจการได้ในอนาคต ดังนั้น มาตรการนี้จะเป็นทางเลือกให้กับธนาคารพาณิชย์ในการบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ร่วมกับบริษัทบริหารสินทรัพย์มีความเชี่ยวชาญในเรื่องนี้ ขณะที่ลูกหนี้จะได้รับความช่วยเหลือ เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ไม่ต้องเร่งรัดขายทรัพย์สินในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง
“เราพยายามทำให้มาตรการฯอยู่ในรูปแบบของเอกชนทำกันเอง ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณของรัฐ ลดข้อจำกัด และให้แรงจูงใจเพิ่มเติมในการตั้ง AMC รูปแบบนี้ ขณะที่ธนาคารฯขายทรัพย์ไป JV-AMC นั้น หากลูกหนี้กลับมาได้ เพราะธนาคารฯสามารถตามไปช่วยลูกหนี้ได้ เมื่อความเสียหายลดลง ธนาคารจะได้กำไรในรูปเงินปันผลจาก JV-AMC อีกทั้งมาตรการนี้ จะทำให้แบงก์พาณิชย์ตัวเบา และไม่ต้องระวังหลังในการช่วยเหลือลูกหนี้ให้ฟื้นตัวในอนาคต” น.ส.สุวรรณีระบุ
น.ส.สุวรรณี ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯว่า ข้อมูล ณ วันที่ 24 ม.ค.2565 มียอดอนุมัติสินเชื่อแล้ว 1.46 แสนล้านบาท มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 4.49 หมื่นราย ส่วนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ มียอดอนุมัติเข้าร่วมโครงการฯ 3.49 หมื่นล้านบาท มีผู้ได้รับความช่วยเหลือ 266 ราย ขณะที่มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ครัวเรือนและลูกหนี้ธุรกิจล่าสุดมีผู้ที่อยู่ในมาตรการช่วยเหลือ 5.91 ล้านบัญชี ยอดหนี้ 3.6 ล้านล้านบาท
ส่วนมาตรการแก้หนี้ระยะยาวภายใต้มาตรการ 3 ก.ย.2564 นั้น ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง มีการกำหนดมาตรการแก้หนี้ระยะยาวแล้ว เช่นเดียวกับมาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์ และมาตรการรวมหนี้ (Debt Consolidation) ซึ่งสถาบันการเงินส่วนใหญ่ได้มีมาตรการรวมหนี้แล้ว
อ่านประกอบ :
‘ธปท.’ห่วงปัญหาหนี้‘ครัวเรือน-ธุรกิจบางกลุ่ม’-พร้อมออกมาตรการเพิ่มเอื้อศก.ฟื้นตัว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ. 0.5% ต่อปี มองจีดีพีปีหน้าโต 3.4%-'โอไมครอน'อาจยืดเยื้อกว่าคาด
'กนง.-กนส.'จับตาความเสี่ยง‘หนี้ครัวเรือน-ตลาดบอนด์ผันผวน'-เกาะติดผลกระทบ'โอไมครอน'
เศรษฐกิจ ต.ค.ดีขึ้น! ธปท.จับตาความเสี่ยง ‘โอไมครอน’-มองทั้งปี 64 จีดีพีโตเกิน 0.7%
‘ธปท.’ประเมินน้ำท่วมปี 64 ฉุดจีดีพี 0.1% เผยเศรษฐกิจ ก.ย.ดีขึ้น-เปิดปท.ฟื้นเชื่อมั่น
‘ธปท.’ ดูแล‘ค่าบาท’ไม่ให้ผันผวนเร็วเกินไป เผยเครื่องชี้เศรษฐกิจ ส.ค.ลงต่อ-ส่งออกแผ่ว
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดบ.นโยบาย 0.5%-คาดศก.ไทยต่ำสุดไตรมาส 3 มองจีดีพีปีนี้โต 0.7%