“…การฟื้นตัวเศรษฐกิจดีขึ้น จากปีนี้ไปถึงปีหน้า แต่การฟื้นตัวก็ยังเป็น k-shaped อยู่ คือ การกระจายตัวยังไม่สม่ำเสมอ แต่ว่าตัว K ขาล่าง ขาจะถ่างน้อยลงหรือชันน้อยลง…”
...................................
หมายเหตุ : เมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวถึงทิศทางเศรษฐกิจไทย อัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และทุนสำรองระหว่างประเทศของไทย ในงาน BOT press trip 2022 เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2565
@เศรษฐกิจฟื้นตัวต่อเนื่อง-‘k-shaped’ ชันน้อยลง
สำหรับเศรษฐกิจไทย กนง. (คณะกรรมการนโยบายการเงิน) มั่นใจว่า จะฟื้นตัวต่อเนื่องทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยปีนี้เราคิดว่าจะขยายตัว 3.3% ส่วนปีหน้าคาดว่าขยายตัว 3.8% เพิ่มขึ้นมาจาก 1.5% ในปีที่แล้ว ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากประเทศอื่น ซึ่งเขาฟื้นตัวอย่างร้อนแรงไปแล้ว แต่ปีหน้าเศรษฐกิจเขาจะลง
ส่วนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของเรา เราย้ำมาตลอดว่า มาจากเรื่องภาคการท่องเที่ยว ซึ่งปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะอยู่ใกล้ๆ 10 ล้านคน ซึ่งรวมจีนแล้ว แต่รวมน้อยมาก โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 ประมาณ 1.8 ล้านคน ส่วนปีหน้าคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 21 ล้านคน
อีกเรื่อง คือ การบริโภค ซึ่งช่วงโควิดมีการอั้นการบริโภค โดยเฉพาะผู้ที่มีรายได้ปานกลาง รายได้สูง พอโควิดคลาย เปิดเมือง มีการผ่อนคลายด้านสาธารณสุข คนก็ออกไปจับจ่ายใช้สอยกันมาก ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดี ประมาณการพวกนี้ เราคิดถึงเรื่องส่งออกที่จะชะลอตัว และแรงกระตุ้นภาครัฐที่จะหดตัวแล้ว
“การฟื้นตัวเศรษฐกิจดีขึ้น จากปีนี้ไปถึงปีหน้า แต่การฟื้นตัวก็ยังเป็น k-shaped อยู่ คือ การกระจายตัวยังไม่สม่ำเสมอ แต่ว่าตัว K ขาล่าง ขาจะถ่างน้อยลงหรือชันน้อยลง”
โดยเซ็กเตอร์ที่เกี่ยวกับอิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเลียมนั้น ไปสูงกว่าช่วงโควิดแล้ว ส่วนภาคบริการ การท่องเที่ยว การขนส่ง และภัตตาคาร ค่อยๆกลับมา และดีขึ้นค่อนข้างเร็วๆ เมื่อไปโยงกับรายได้ของคนทำงานที่อยู่ในเซ็กเตอร์เหล่านี้ ก็จะเห็นว่าดีขึ้น ส่วนพวกที่มีรายได้ประจำก็ยังดีอยู่ และรายได้ภาคเกษตรก็ถือว่าค่อนข้างดีในปีนี้
“ภาคท่องเที่ยวดีขึ้น และคิดว่าจะกลับมาดีมากขึ้นในปีนี้และปีหน้า”
@เศรษฐกิจจะกลับสู่ปกติแล้ว ต้อง ‘normalize’ ดอกเบี้ย
เมื่อดูจากภาพเศรษฐกิจแล้ว ก็น่าจะต้อง normalize (ทำให้กลับสู่ภาวะปกติ) ดอกเบี้ยแล้ว เพราะเศรษฐกิจจะกลับไปเป็นระดับปกติแล้ว ส่วนเงินเฟ้อที่เพิ่มเข้ามานั้น เราคิดว่าตัวเงินเฟ้อทั่วไปจะสูงสุดไตรมาสที่ 3 แล้วค่อยๆลดลงเข้าสู่กรอบเป้าหมายในช่วงกลางปีหน้า ซึ่งตรงนี้เราคิดว่ามีความเป็นได้สูง
ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน พวกราคาอาหารนอกบ้านที่เรากินที่ศูนย์การค้า ไปกินที่ร้านอาหาร พอราคาขึ้นแล้วก็จะไม่ลด แล้วก็อาจจะขึ้นต่อได้อีก ถ้าเราไปดูต้นทุนของผู้ผลิต จะเห็นว่าตอนนี้ขึ้นไปประมาณ 10% การส่งผ่านไปยังผู้บริโภคจึงมีการส่งผ่านพอสมควร แต่อาจจะส่งผ่านน้อยลงในปีหน้า หากต้นทุนของเขายังสูงขึ้น
“ที่เราประมาณว่าเงินเฟ้อพื้นฐานปีหน้าจะอยู่ที่ 2.4% ซึ่งสูงกว่าในอดีตที่ผ่านมานั้น เราถือว่าเราระมัดระวัง ไม่พยายามกดเงินเฟ้อ แต่ให้อยู่ใน base line จริงๆ และเมื่อมาดูทั้งเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อแล้ว ยังไงๆก็ต้อง normalize (ทำให้กลับสู่ภาวะปกติ) ซึ่งเราทำมา 2 ครั้งแล้ว ครั้งละ 0.25% จนมาอยู่ที่ 1%”
อย่างไรก็ดี การขึ้นดอกเบี้ย กนง. ต้องชั่งน้ำหนัก ถ้าขึ้นเยอะ ขึ้นเร็ว คนก็เดือดร้อน เพราะเศรษฐกิจเรายังไม่ถึงช่วงก่อนโควิด ยังต่ำกว่าก่อนโควิด และเป็นคนละวัฏจักรกับต่างประเทศ ก็คงต้องค่อยๆขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลในเป้าหมายแต่ละด้าน ส่วนเงินเฟ้อในระยะต่อไป คงลง และเงินเฟ้อทั่วไปก็ลงเช่นกัน แต่ลงช้ากว่าในอดีต
“ตอนนี้เราถอนคันเร่ง และการ normalize ส่วนหนึ่งก็เพื่อทำให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ สภาวะเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงินของเรา ขณะเดียวกัน ก็สร้าง policy space ไปพร้อมกันด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเราไม่ยอมขึ้น โดยบอกว่าเราห่วงคนเป็นหนี้ เงินเฟ้อเดี๋ยวก็ลงเอง แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้น เราก็จะไม่มีช่องทาง”
@ย้ำ ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย’ ไม่เชื่อมโยง ‘บาทอ่อน-บาทแข็ง’
อีกเรื่องที่คนสนใจ คือ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน มีการพูดกันเยอะเรื่องส่วนต่างดอกเบี้ย บอกว่าเราขึ้นดอกเบี้ยช้า แต่คนๆเดียวกันนี้ ก็พูดว่า ถ้าขึ้นดอกเบี้ย เดี๋ยวคนเดือดร้อน แล้วบอกอีกว่า ขึ้นดอกเบี้ยช้า ขึ้นดอกเบี้ยน้อย จะทำให้เงินบาทอ่อน ตกลงแล้วจะให้ขึ้นมากหรือขึ้นน้อย เราก็งงๆอยู่ว่าเอาตรรกะมาจากไหน ส่วนเราเองคิดว่าเราต้องสร้างสมดุล
“บาทอ่อนหรือบาทแข็ง ไม่ต้องมี flow (เงินทุนเคลื่อนย้าย) มันก็แข็งได้ อ่อนได้ ถ้าตลาดคาดหรือตลาดผิดคาดไป อย่างเงินบาทที่อ่อนค่า เงินสกุลอื่นๆก็อ่อนเช่นกัน และถ้าไปดู flow ก็แทบไม่ค่อยเห็นอะไรเลย แต่ตลาดปรับไปแล้ว
แม้แต่ดอกเบี้ย พอเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) บอกว่าจะเปลี่ยนฐานการขึ้นดอกเบี้ย (Fed Dot Plot) Yield Curve ก็เปลี่ยนทันที ทั้งๆที่คนยังไม่ได้ออกพันธบัตรใหม่ รัฐบาลยังไม่ออกพันธบัตรใหม่ และยังไม่มีคนซื้ออะไร ก็กระโดดเลย
ดังนั้น การ link (การเชื่อมโยง) เรื่อง Flow กับเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เป็นการ Link ที่อาจไม่ถูกต้อง ซึ่งถ้าเราดู fact (ข้อเท็จจริง) ไทยยังมี inflow (เงินทุนไหลเข้า) อยู่ แม้ว่าช่วงหลังมีออกไปบ้าง แต่ Net-inflow ยังอยู่ที่ 3-4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
และประเทศเรา ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเรากับสหรัฐก็ต่างกันมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ แต่ค่าเงินเกาหลีใต้อ่อนกว่าเราอีก โดยตั้งแต่ต้นปีดอกเบี้ยเขา (เกาหลีใต้) อยู่ที่ 2.5% ส่วนดอกเบี้ยสหรัฐ 3-3.25% ดังนั้น ดอกเบี้ยที่ขึ้นไปก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะมีปัจจัยอื่นที่ทำให้มี out-flow (เงินทุนไหลออก) ซึ่งแต่ละประเทศจะไม่เหมือนกัน
หรืออย่างประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ญี่ปุ่น ดอกเบี้ยเขาไม่เปลี่ยนเลย ยังอยู่ที่ 0% ส่วนอังกฤษดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.25% แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ต้นปีค่าเงินอังกฤษอ่อนค่า 19.8% และญี่ปุ่นอ่อน 20.2% ซึ่งพอๆกัน ดังนั้น จึงมี factor (ปัจจัย) เยอะ ถ้าแค่ไปดูส่วนต่างดอกเบี้ยแล้ว บอกค่าเงินจะอ่อนลงหรือจะแข็งขึ้น คงไม่ใช่ เพราะต้องดูอย่างอื่นประกอบกันด้วย
และตัวที่นำมาพิจารณาประกอบนั้น แต่ละบริบทก็แตกต่างกัน ดังนั้น การวิเคราะห์จะต้องไม่ใช่แบบเป็นศาสนา คือ คิดว่าอย่างนี้ ก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ไปเชื่ออย่างนั้นเลย โดยที่ไม่เชื่อเรื่องอื่น อย่างนี้ผมว่าไม่ถูกต้อง จึงต้องดูเรื่องอื่นด้วย ดูจากความเป็นจริง ดูจากข้อมูล อันนี้ผมว่าสำคัญ”
ส่วนเงินบาทที่อ่อนค่า เราดูแลความผันผวนให้มันอยู่ระดับที่ไม่ได้นำชาวบ้าน ภูมิภาค และประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซึ่งเราทำได้ดี โดยดัชนีค่าเงินบาท (NEER) อ่อนไปแค่ 2% เมื่อเทียบกับชาวบ้านเขา แต่หากเทียบกับดอลลาร์สหรัฐก็จะอ่อนค่าลง 12% แต่อันนี้ถือว่าไม่ได้แย่ ดีด้วยซ้ำ และเป็นระดับที่มีเสถียรภาพ
“จริงแล้ว มี factor (ปัจจัย) อื่นที่มากระทบค่าเงิน คือ ดอลลาร์สหรัฐมันแข็งจากนโยบายการเงินของเขา แต่นโยบายการคลังของเรา แม้ว่าเราจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด แต่ยังถือว่าเรายังรักษาวินัยอยู่ เราไม่ได้ใช้จ่ายประชานิยม เอาอกเอาใจใครเกินกว่าเหตุ”
@ทุนสำรองฯของไทยไม่ได้ลดลงฮวบฮวบจนน่ากลัว
ส่วนทุนสำรองฯที่ลดลงนั้น ลดลง เพราะเราตีมูลค่าเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐ คือ พอดอลลาร์ฯแข็ง เงินที่เราลงทุนในหลายสกุลมาก เพื่อกระจายความเสี่ยงนั้น พอเปลี่ยนค่ามาเป็นดอลลาร์ฯ การตีค่านั้น ก็จะทำให้ทุนสำรองฯลดลง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเราไปต่อสู้ค่าเงิน และถ้าไปดูประเทศอื่นหรือกองทุนอื่นที่กระจายความเสี่ยง ก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น
“เราเข้าไป (แทรกแซง) บ้าง เป็นบางครั้ง เพื่อชะลอความผันผวน และลดความผันผวน ต่างจากบางประเทศที่เขาประกาศว่า เขาเข้าทุกวัน แต่เราคงไม่ได้เป็นอย่างนั้น”
อย่างไรก็ดี แม้ว่าตอนนี้ทุนสำรองฯของเราจะลดในรูปดอลลาร์สหรัฐ แต่ก็ยังสูงอยู่ ไม่ใช่ลดฮวบฮาบจนน่ากลัว หรือลดลงจนลดไปต่ำกว่าชาวบ้านเขา โดยทุนสำรองฯเราอยู่อันดับที่ 6 เมื่อเทียบกับจีดีพี และจำนวนทุนสำรองฯอยู่ในอันดับ 12 ถ้าเทียบกับโลก ซึ่งสูงกว่ายุโรป และประเทศพัฒนาแล้วหลายๆประเทศ
“ทุนสำรองที่ลดลงไม่ได้น่ากลัวอะไร และก็จะช่วยในเรื่องการประเมินความมั่นคงทางด้านต่างประเทศ เพราะไม่ว่าใครมาประเมิน เช่น IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ) สถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง พอเขาเห็นพวกนี้ ก็จะบอกว่าประเทศไทยเข้มแข็งมากด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ไม่มีใครสงสัยตรงนี้เลย ผมคิดว่าตรงนี้ ไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วง”
อ่านประกอบ :
ไม่น่าห่วง!'ธปท.'ย้ำ'ทุนสำรองฯ'ลด เหตุตีมูลค่าสินทรัพย์-เร่งสร้าง'กันชน'รับมือโลกผันผวน
‘แบงก์ชาติ’ คัดท้าย 5 ‘หางเสือ’ ขับเคลื่อนนโยบายปี 66
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
มติเอกฉันท์! กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จับตา‘เงินบาท’ใกล้ชิด-มองจีดีพีปีนี้โต 3.3%
‘ผู้ว่าฯธปท.’ย้ำไม่จำเป็นต้อง‘รีบเร่ง’ขึ้นดอกเบี้ย-คาด‘เงินเฟ้อ’กลับสู่กรอบกลางปี 66
‘ผู้ว่าฯธปท.’ยันการขึ้นดอกเบี้ยของไทยไม่ได้ช้าไป-ชี้โอกาสเกิด Stagflation เป็นไปได้น้อย
ผู้ว่าฯธปท. : ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ‘ส่วนต่างดอกเบี้ย-ค่าเงิน-ทุนเคลื่อนย้าย-ทุนสำรอง’
กลับสู่ภาวะปกติ!‘ผู้ว่าฯธปท.’ชี้ไม่ได้ขึ้น‘ดอกเบี้ย’ทีเดียวแล้วจบ-คาดGDPไตรมาส 2 โต 3%