ธปท.ย้ำ ‘ทุนสำรองฯ’ ลดลง เพราะ ‘ดอลลาร์แข็ง’ ทำให้การตีค่าสินทรัพย์ในรูป ‘เงินสกุลดอลลาร์’ ลดลง ย้ำ ‘ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย’ ไม่ได้เป็นปัจจัยเดียวที่ทำให้เงินทุนไหลออก พร้อมเดินหน้าสร้าง ‘กันชน’ รับมือโลกผันผวน
...............................
เมื่อวันที่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมา นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยกรณีที่ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ว่า ทุนสำรองฯที่ลดลงดังกล่าว มีสาเหตุมาจากการตีมูลค่าสินทรัพย์เป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะเงินสกุลต่างๆหลายสกุลที่ ธปท.ถืออยู่ ซึ่งเมื่อค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่า ก็ทำให้ทุนสำรองฯที่ตีค่ามาเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐลดลง
“ทุนสำรองที่ลด มาจากการที่เราตีค่าเป็นดอลลาร์ คือ เมื่อดอลลาร์แข็ง เงินที่เราลงทุนในหลายสกุล พอเปลี่ยนค่ามาเป็นดอลลาร์ ก็ทำให้ทุนสำรองฯลดลง ส่วนใหญ่มาจากตรงนี้ ไม่ใช่ว่าเราไปต่อสู้ค่าเงิน และจริงๆแล้ว ถ้าดูประเทศอื่นหรือกองทุนอื่นๆที่กระจายความเสี่ยง ก็เป็นอย่างนี้ทั้งนั้น อย่างไรก็ดี เราเองเข้า (แทรกแซง) บ้างเป็นบางครั้ง เพื่อชะลอความผันผวน ลดความผันผวน ต่างจากบางประเทศที่ประกาศว่าเขาเข้าทุกวัน แต่เราคงไม่เป็นอย่างนั้น” นายเมธีระบุ
นายเมธี ระบุว่า แม้ว่าทุนสำรองฯที่ตีค่าเป็นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐจะลดลง แต่ทุนสำรองฯของไทยก็ยังสูง ไม่ใช่ลดลงฮวบฮาบจนหน้ากลัว หรือลดต่ำกว่าชาวบ้านเขา โดยขณะนี้ทุนสำรองฯต่อจีดีพีของไทยอยู่อันดับที่ 6 ของโลก และมีมูลค่ามากที่สุดเป็นอันดับที่ 12 ของโลก ซึ่งสูงกว่ายุโรป และประเทศพัฒนาแล้วหลายๆประเทศ
“ทุนสำรองฯที่ลดลงไม่ได้น่ากลัวอะไร ซึ่งในการประเมินความมั่นคงทางด้านต่างประเทศว่า ไม่ว่าใครมาประเมิน เช่น IMF หรือสถาบันจัดอันดับเครดิตเรตติ้ง เมื่อเขาเห็นพวกนี้ เขาก็จะบอกว่าประเทศไทยเข้มแข็งมากด้านเสถียรภาพด้านต่างประเทศ ไม่มีใครสงสัยตรงนี้เลย ผมคิดว่าตรงนี้ ไม่ใช่สิ่งที่น่าเป็นห่วง” นายเมธี กล่าว
นายเมธี ยังกล่าวว่า แม้ว่าที่ผ่านมาค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลง แต่เมื่อพิจารณาดัชนีค่าเงินบาท (NEER) พบว่าอ่อนลง 2% เมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ แต่หากเทียบกับดอลลาร์สหรัฐพบว่าอ่อนค่า 12% ซึ่งถือว่าไม่ได้แย่ ยังดีด้วยซ้ำ และมีเสถียรภาพ ส่วนสาเหตุที่ดอลลาร์แข็ง ก็มาจากนโยบายทางการเงินของสหรัฐ ในขณะที่นโยบายการคลังของไทย แม้ว่าเราจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์โควิด แต่ถือว่าเรายังรักษาวินัยอยู่ ไม่ได้ใช้จ่ายประชานิยม เอาอกเอาใจใครเกินกว่าเหตุ
“ทุกอย่างต้องดูประกอบกันทั้งหมด ไม่ใช่ดูเฉพาะส่วนต่างดอกเบี้ยอย่างเดียว ต้องดูภาพรวมนโยบายเศรษฐกิจ สภาพเศรษฐกิจ วัฏจักรเศรษฐกิจ และดูปัจจัยพื้นฐานอื่นๆด้วย ซึ่งนักลงทุนเองเขาไม่ได้มีดูอย่างเดียว เขาดูทั้งระยะสั้นและระยะยาวด้วย” นายเมธีกล่าวพร้อมย้ำว่า "ตอนนี้เงินทุนยังไหล-เข้าออกเป็นปกติ ไม่ใช่มีแต่เงินทุนไหลออก และส่วนต่างดอกเบี้ยเรา ก็ต่างมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาต่างกันตอนนี้”
นายเมธี กล่าวถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ว่า ตอนนี้เราต้องถอนคันเร่ง เพื่อให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ สภาวะเงินเฟ้อ และเสถียรภาพทางการเงิน ขณะเดียวกัน ก็เป็นสร้าง policy space (ขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน) ไปพร้อมกันด้วย เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และถ้าเราไม่ยอมขึ้น โดยบอกว่าห่วงคนเป็นหนี้ และเดี๋ยวเงินเฟ้อก็ลงเอง แต่ถามว่าถ้าเกิดอะไรขึ้นมา เราก็จะไม่มีช่องทาง
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า นับตั้งแต่ต้นปี ประเทศไทยมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิ 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และแม้ว่าล่าสุดเงินทุนจะไหลออก 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ไม่ได้มากมายอะไร และเมื่อเทียบกับทุนสำรองฯก็ไม่เป็นห่วงแต่อย่างใด ทั้งนี้ เรื่องเงินเคลื่อนย้ายนั้น จะดูฝั่งเดียวไม่ได้ ต้องดูภาพรวม ต้องดูดุลบัญชีเดินสะพัดด้วย ซึ่งในปีหน้าดุลบัญชีเดินสะพัดของเราน่าจะกลับมาเป็นบวก เพราะทุกคนก็รู้ว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเมืองไทย
นายเศรษฐพุฒิ ยังระบุว่า “เราไม่มีนโยบายเกาะกับดอลลาร์สหรัฐ และขอให้ลองนึกภาพดู ถ้าสมมุติว่าเราเกาะกับดอลลาร์ฯ เราก็ต้องทำอะไรตามเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) นโยบายการเงินไทย ต้องวิ่งตามนโยบายการเงินของสหรัฐ ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เราก็ต้องขึ้นดอกเบี้ย 0.75% แต่ถามว่าบริบทเศรษฐกิจไทยเหมาะหรือไม่ ก็ไม่เหมาะ บริบทของเราต่างจากสหรัฐโดยสิ้นเชิง การเอานโยบายการเงินของสหรัฐ มาชี้นำนโยบายการเงินของไทย ก็ไม่เหมาะ”
นายเศรษฐพุฒิ ระบุว่า หากมีความจำเป็นต้องจัดประชุม กนง.นัดพิเศษ เราก็จะจัด และไม่มีอะไรที่ทำให้เราทำตรงนั้นไม่ได้
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ธปท.และ กนง. ไม่ได้กำหนดว่าอัตราดอกเบี้ยที่สมดุล (neutral rate) ควรเป็นเท่าไหร่ เพราะเราดูผลลัพธ์เป็นหลัก คือ เรามีกรอบเงินเฟ้อเป้าหมาย คือ ทำอย่างไรให้เงินเฟ้ออยู่ในกรอบ 3% จึงอยากเน้นตรงนั้นมากกว่า terminal target rate ซึ่งในบางประเทศหากเศรษฐกิจร้อนแรงมาก ก็จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงกว่า neutral rate และต้องรักษาไว้นานระดับหนึ่ง เพื่อให้เงินเฟ้อทุกอย่างกลับเข้ามาในเป้า แต่ของเราไม่ใช่อย่างนั้น
“ความจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเกิน neutral rate ของเรา ไม่ได้มากกว่าอย่างที่เราเห็นที่ต่างประเทศ อย่างไรก็ดี โดยหลักการแล้ว ในระยะยาวดอกเบี้ยที่แท้จริงควรเป็นบวกหรือเปล่า เพราะถ้าดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ จะสร้างแรงจูงใจที่ผิดเพี้ยน และไม่สร้างแรงจูงใจในการออม” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
นายเศรษฐพุฒิ ย้ำว่า การสร้าง policy space เป็นเรื่องสำคัญ เพราะเราต้องสร้างกันชนให้เพียงพอ ซึ่งส่วนหนึ่งเป้นเรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่เรื่องการมีทุนสำรองฯที่เพียงพอ ก็เป็นการสร้างกันชนที่สำคัญสำหรับเรา นอกจากนี้ เราต้องทำให้มั่นใจว่าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้ต่างประเทศ หนี้ครัวเรือนไม่สูงเกินไป และยิ่งนานวันเรื่องการสร้างกันชนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะที่เราเจอสถานการณ์ความไม่แน่นอน และความผันผวนที่ไม่เคยเห็นมาก่อน โดยเฉพาะในเรื่องภูมิรัฐศาสตร์
“เรื่องเสถียรภาพ คนจะบอกว่าแบงก์ชาติพูดแต่เสถียรภาพ น่าเบื่อๆ แต่นี่เป็นเหตุผลที่เราต้องสร้างเสถียรภาพ โดยเฉพาะในยามนี้ที่ความไม่ไม่แน่นอนสูงมาก” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อ่านประกอบ :
‘แบงก์ชาติ’ คัดท้าย 5 ‘หางเสือ’ ขับเคลื่อนนโยบายปี 66
กลับสู่ความยั่งยืน!‘ธปท.’เล็งออกมาตรการคุม‘หนี้ครัวเรือน’-ไตรมาส 2 หนี้ทะยาน 14.7 ล้านล.
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ : โครงสร้างเศรษฐกิจไทย....ต้องเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่
รัฐย้ำคุม‘ดอกเบี้ย’สินเชื่อเช่าซื้อ‘มอเตอร์ไซค์’-‘คลัง-ธปท.’เปิดงานไกล่เกลี้ยหนี้ออนไลน์